ส่งความสุขปีใหม่ พ.ศ. 2552
อ่าน: 3283แฮ่ๆๆ ยอมรับว่ารีบเขียนบันทึกแรกของปีครับ
เพื่อความเป็นสิริมงคลของลานปัญญา จึงขอนำธรรมะบรรยายของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก สัทวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) มาเป็นธรรมะบรรณาการแก่ชาวเฮในลานปัญญา ตลอดจนแฟนบล็อกที่ไม่แสดงตัวครับ
บางทีคำตอบก็อยู่ใกล้มาก ไม่ต้องไปหาขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า เพียงแต่มองหาในที่ที่ถูกต้องเท่านั้นเองครับ
พระอาจารย์มิตซูโอะ แห่งวัดสุนันทวนาราม อ.ไทรโยค กาญจนบุรี บรรยายธรรม มีตัวอย่างทางโลก มีเหตุ มีผล ทำให้เข้าใจง่าย
บันทึกนี้ ตัดตอนมาจากหนังสือ “ผิดก่อน-ผิดมาก”
แม่ถูกลูกสาวบ่น
เมื่อเราใช้ชีวิตร่วมกัน การไม่ถูกใจกันเป็นธรรมดา ถึงแม้ว่า รักกันขนาดไหน อยู่ใกล้ชิดกัน อยู่ร่วมกัน ก็เกิดปัญหาได้ ยิ่งรักมาก ยิ่งเกิดปัญหามาก การแก้ปัญหาในชีวิตนั้น ท่านให้แก้ไขตัวเองก่อนเสมอ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็จะค่อยๆ คลี่คลายตามกัน ละความชั่วของตน ทำแต่ความดีความถูกต้องด้วยตัวเองก่อน เรามีความรู้สึกว่าเขาผิดเขาไม่ดี ความชั่วของเขาปล่อยไว้ก่อน ใช้หลักอุบาย การเตือนสติสอนใจตัวเองว่า “ผิดก่อน - ผิดมาก”
ที่ประเทศญี่ปุ่น วันหนึ่ง ผู้หญิงวัยกลางคน มาเยี่ยมมาสนทนาธรรม ระบายอารมณ์ในใจออกมาให้ฟังว่า เขากลุ้มใจเรื่องลูกสาวคนหนึ่ง เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยได้ปริญญาตรี แล้วกำลังทำงานอยู่ เขาคอยจับผิดและว่าแม่ตลอดเวลา เช่น ทานข้าวไม่เรียบร้อย เดินเสียงดัง ปิดประตูเสียงดัง วางของหยิบของไม่เรียบร้อย เรื่องเล็กๆ น้อยก็คอยเก็บมาว่า แม่รำคาญมาก จนมีความรู้สึกว่าไม่อยากเข้าบ้านเลย เสียใจ น้อยใจ ที่ได้ลูกสาวอกตัญญูแบบนี้ เขาไม่น่าพูด ไม่น่าทำ อย่างนี้เลย……
อาจารย์ก็นั่งฟังไปเรื่อยๆ จนเขาพูดจบ อาจารย์เพิ่งพบเขาเป็นครั้งแรกในวันนั้น เขาได้ดูโทรทัศน์รายการธุดงค์ในญี่ปุ่น เกิดศรัทธา สนใจธรรมแล้วมาเยี่ยม ขณะนั้นเขาทำงานแปลหนังสือ เขาเป็นปัญญาชน สังเกตดูลักษณะบุคลิกแล้ว เป็นคนเจ้าระเบียบ มักสะอาด อาจจะโทสะจริตก็ได้ อาจารย์ก็ถามเขาว่าลูกสาวกับพ่อเป็นอย่างไร เขาบอกว่าไม่เป็นอะไรธรรมดาๆ เหมือนทั่วๆ ไป มีปัญหาเฉพาะกับแม่เท่านั้น
ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุ เมื่อซักถามว่าตอนที่ลูกเล็กๆ แม่สอนจู้จี้ใช่ไหม เขาก็ยอมรับว่าใช่ วินิจฉัยได้ว่า ด้วยความหวังดีหรือหงุดหงิดก็ตาม แม่พูดสอนลูกสาวเกินเหตุ ไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ลูกทำอะไรแม่ก็ว่าตลอด อย่าทำ อย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น ลูกทำอะไรก็ผิดหมด ลูกอึดอัดใจมาตลอด เมื่อเขาโตแล้วก็ดุแม่ เขาคงจะไม่ตั้งใจ แต่อุปาทานมันมีอยู่ แม่ก็ผิดเหมือนกัน เลยพูดออกมาเป็นนิสัย แม่ทำไมทำอย่างนี้ ทำไมอย่างนั้น
คำพูดของลูกสาวก็ไม่ใช่อื่น คือคำพูดของแม่ที่เคยสอนลูกทั้งนั้น ตัวเองทำไว้เป็นเหตุ กลับมากระทบจากลูกสาวเป็นปัจจัย ต้องใช้หลัก ทุกข์เพราะคิดผิด คิดถูกแก้ทุกข์ได้ การคิดว่าลูกสาวเป็นเด็กไม่ดี เป็นลูกอกตัญญู ไม่น่าพูดอย่างนั้น ไม่น่าทำอย่างนั้นเป็นการคิดผิด ควรคิดใหม่ว่า เราผิดก่อน คำพูดต่างๆ ที่ทำให้แม่ไม่ถูกใจ เขาไม่ได้คิดอะไรมากมาย ไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย ลูกพูดออกมาโดยอัตโนมัติ แม่กลุ้มใจ น้อยใจ เสียใจ เป็นทุกข์มากกว่าเขาในขณะนี้ แม่เป็นบาปเป็นทุกข์ นั้นแหละ ผิดมาก ท่านจึงให้เตือนตัวเองเสมอว่า ผิดก่อน - ผิดมาก
ถ้าแม่เข้าใจอย่างนี้ ต้องตั้งใจปฏิบัติ พยายามไม่ยินร้ายเมื่อกระทบอารมณ์ ทำใจหนักแน่น ไม่ให้หวั่นไหว รักษาใจเป็นปกติ สงบ เป็นศีล ไม่ให้แสดงความไม่พอใจทางหน้าตา วาจา และกิริยาทางกาย ทำความรู้สึก ทำกิริยา วาจา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรผิดปกติ ทำเหมือนตบมือข้างเดียวไม่ดัง เราอย่าเป็นคล้ายระฆังในวัด เสียงดังเมื่อไร เราก็ตีกลับมาตลอดทุกครั้ง แล้วบ่นว่าเสียงดังรำคาญ ทีนี้เราหยุดก่อน เสียงก็จะค่อยๆ เบาลง และระฆังก็หยุดนิ่งในที่สุด
เมื่อเราเข้าใจลูกแล้ว ก็จะเกิดเมตตาสงสาร นอกจากนั้นก็ต้องปฏิบัติคือ รักษาใจให้เป็นปกติ กาย วาจา เป็นปกติ เรียบร้อย
การให้ทานจะเป็นกำลังสนับสนุนให้แก้ปัญหาได้โดยเร็ว
ให้ทานด้วยสายตาที่ประกอบด้วยเมตตาปราณี
ให้ทานด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
ให้ทานด้วยวาจาพูดดีน่าฟัง
ให้อภัยทาน ให้อภัยซึ่งกันและกัน อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน
ให้ทานด้วยสิ่งของที่เขาชอบเล็กน้อย ๆ ก็ได้ เช่น ขนม ผลไม้ที่ลูกชอบ ผู้รับจะเปลี่ยนความรู้สึกทันที เขาจะดีใจ มีความสุข เกิดความรัก เป็นต้นปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาหนักเท่าไร ถ้าเราเข้าใจเหตุผล และปฏิบัติตามหลักธรรมะ ปฏิบัติถูกแล้วปัญหานี้จะค่อยๆ คลี่คลายไปเป็นลำดับ
สรุป ให้เราพิจารณาวิเคราะห์กรรมในแง่ต่างๆ
เรามีกรรมเป็นของของตน
เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล
เรามีกรรมเป็นแดนเกิด
เรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม
เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยแล้วสรุปได้ว่า จักทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัวจริงๆ ให้เกิดเมตตาและความไม่ประมาท ให้เกิดศรัทธาและกำลังใจที่จะละความชั่วและตั้งอยู่ในความดี ความถูกต้องได้ในทุกกรณี ให้เกิดหิริโอตตัปปะ ทำให้เกิดศีลบริสุทธิ์ จิตใจของเราจะค่อยๆ เลื่อนขึ้นไป ละความชั่ว ทำแต่ความดี
ในที่สุดก็จะเข้า “สะจิตตะปะริโยทะปะนัง” การชำระจิตของตนให้ขาวรอบบริสุทธิ์ อยู่นอกเหนือ ความดี ความชั่ว ซึ่งเป็นโลกิยะ เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติธรรม นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผิดก่อน
ในเรื่องของแม่เด็กที่ถูกลูกสาวบ่นอยู่เรื่อยๆ จนเบื่อที่จะอยู่บ้าน โกรธและรำคาญใจมากก็ดี เรื่องของท่านโมคคัลลานะที่ถูกโจร 500 ฆ่าก็ดี เรื่องของท่านอุบาสกมหากาลก็ดี เรื่องของสุภาพสตรีเกิดอุบัติเหตุแขนขาดก็ดี
ในทุกกรณีผู้ที่ได้รับทุกข์โทษแต่ละท่านแต่ละคน ได้ก่อกรรมทำความผิดมาก่อนทั้งนั้น จะเป็นในชีวิตนี้หรือในชีวิตก่อนๆ ก็ดี เช่นในกรณีของท่านโมคคัลลานะ และท่านอุบาสกมหากาลนั้น เป็นเรื่องของบุพกรรมในอดีตชาติ ส่วนเรื่องของแม่เด็กและเรื่องของสุภาพสตรีแขนขาดนั้น เป็นกรรมในชาตินี้นี่เอง ท่านจึงว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา ที่ทำให้เราผิดหวัง ทำให้เราเสียใจ น้อยใจ ทำให้เราเป็นทุกข์นั้น ให้เราคิดว่า เราผิดก่อน เสมอ
ถึงแม้ว่าจะทุกข์มากขนาดไหน เราต้องทำใจให้ได้ พยายามไม่ให้คิด ถ้าคิดได้อย่างนี้ เราก็ไม่กล่าวโทษผู้อื่น แม้ผู้ที่เขามาฆ่าเราก็ตาม เพราะเราก็รับผลกรรมของเราเองนั่นแหละ เราเป็นผู้สร้างเหตุ “เขา” ก็เป็นเพียงปัจจัยเท่านั้น ผลก็เกิดแต่เหตุ
ผิดมาก
เด็กทำแก้วน้ำแตกแล้วเราโกรธก็ดี กรณีของลูกสาวที่บ่นว่าแม่แล้วแม่โกรธ น้อยใจก็ดี ถ้าเขาพูดไม่ดี เราโกรธ บ่นนินทาตลอดคืนก็ดี เรามักจะคิดว่าเด็กทำผิด เพราะเด็กทำแก้วน้ำแตก ลูกสาวผิดเพราะลูกสาวไม่ควรว่าแม่
แต่ในทางธรรมะแล้ว ท่านว่าเด็กทำแก้วน้ำแตกก็ไม่ได้เจตนาจะทำเช่นนั้น เป็นความผิดทางกาย กายกรรม ใจเขาไม่เสีย ลูกสาวบ่นว่าแม่ก็คงจะทำไปตามอุปนิสัยสันดานที่สั่งสมมา จากการที่ถูกแม่บ่นว่าสมัยตัวเองยังเป็นเด็กๆ คงไม่มีเจตนาจะทำให้แม่เสียใจอะไรมากมาย แต่ทำไปโดยอัตโนมัติ ใจเขาก็ไม่เสีย ผิดก็ผิดทางวาจา เป็น วจีกรรม
ความผิดของเขาทั้ง 2 กรณี ก็มีอยู่แต่ไม่มากมาย ผิดทางกายกรรม วจีกรรม แต่คนที่โกรธ แม่ที่โกรธนี่สิที่กำลังสร้าง มโนกรรม ทำใจตัวเองให้เศร้าหมอง ท่านว่าผู้ที่โกรธและแม่นั่นแหละ คงจะบาปมากกว่า ทุกข์มากกว่า ผิดมากกว่า ในขณะนั้น ถ้าบังเอิญมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราบังเอิญตายไปพร้อมๆ กัน คนที่โกรธก็ดี แม่ของลูกสาวก็ดี อาจจะตกนรกได้ เพราะความโกรธ แต่เด็กทำแก้วน้ำแตกและลูกสาวที่พูดไปบ่นไปโดยไม่มีเจตนาก็คงไม่เป็นอะไรหรอก
ท่านจึงสอนว่า ถ้าใครเตือนใจได้เสมอว่าๆ ผิดก่อน – ผิดมาก เราก็จะไม่โกรธใคร ไม่น้อยใจ ไม่คิดฟุ้งซ่านแล้ว มีแต่ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ และข้อวัตรปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ หรือปล่อยวางทุกข์ เอาศีล สมาธิ ปัญญา มาตั้ง ต่อสู้กับทุกข์ เมื่อมรรคเกิด นิโรธก็เกิด การปฏิบัติก็ได้ผล
ผิดทีหลังไม่มี
การปฏิบัตินั้น เราต้องโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาดูตัวเองเสมอ และเมื่อตรวจดูตัวเองในทุกกรณีแล้ว เราก็เป็นผู้ผิดก่อนทุกทีไป ฉะนั้น ผิดทีหลังจึงไม่มี
ธรรมะเป็นยาที่มีฤทธิ์มาก
ถ้าใช้ถูกจะได้ผลดี ถ้าใช้ผิดก็ให้โทษมากเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึง “เรื่องกรรม” เบื้องแรกให้เราตังสติพิจารณาตรวจตราดูสภาพของตนว่า “ใจเราปกติดีไหม ใจมีเมตตาปรารถนาดี หวังดีไหม” เมื่อดีแล้ว พิจารณาดูสภาพจิตของเขาว่า “เขาพร้อมที่จะรับฟังและจะเกิดผลดีไหม ไม่แพ้ยาใช่ไหม” พิจารณาดูรอบคอบทั้งสองฝ่ายแล้ว มั่นใจว่าจะเกิดผลดี จึงจะพูดได้
อย่าพูด เมื่อใจเราไม่ดี
อย่าพูด เมื่อใจเขาไม่ดีไม่พร้อมเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือไม่เกิดศรัทธา เพราะพวกเราใช้ธรรมะไม่ถูกกาละเทศะ ไม่เหมาะไม่พอดี เป็นเหตุทำลายน้ำใจเขาและเพิ่มกิเลสความเห็นแก่ตัวของตน เช่น มีใครด้อยโอกาสหรือกำลังประสบทุกข์ เราพูดอย่างสะใจว่า “นี้แหละทำชั่วได้ชั่ว” ใช้ธรรมะเป็นคำด่า คำดูหมิ่นดูถูก เบียดเบียนทำลายเขาให้เกิดท้อแท้ หมดแรงหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
ตรงกันข้ามกับพุทธประสงค์ที่สั่งสอนพวกเราว่าให้ พิจารณา “กรรม” เพื่อให้เกิดเมตตาและความไม่ประมาท เป็นไปเพื่อสันติสุขในชีวิต
Next : เขียนบันทึกจาก Microsoft Word 2007 » »
12 ความคิดเห็น
สาธุ…และ…อิอิ…ขำ..ขำ..คนรีบเขียนบันทึก…มอบตำแหน่งแชมป์ตลอดกาลให้เลย….สุขสันต์วันแรกของปีใหม่ค่า
คนที่เราน่าจะเข้าใจที่สุด กลับเป็นคนที่เราไม่เข้าใจที่สุด เจอหน้ากันทุกวัน แต่ไม่รู้จักเขาเลย (สลับคำว่า “เขา” กับ “ตัวเรา” ก็เหมือนๆ กันครับ)
ขอให้คุณรอกอด มีความสุขตลอดเวลา และตลอดไป มีเรื่องราวดี ดี มาให้พวกเราได้อ่านเรื่อย ๆ นะคะ
สุขสันต์วันปีใหม่ มีความสุข สุขภาพแข็งแรงนะคะ ……(ที่จุดๆ ให้นึกเอาได้ค่ะ และสมปรารถนาด้วยค่ะ)จากน้องราณี อิอิอิ.
สวัสดีปีใหม่ท่านรอกอด ขอให้สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตเข้มแข็ง
ผมค่อยเขียนวันที่สองของปีก็ได้ครับ อิอิ
เรื่องธรรมของอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก น่าสนใจมาก ง่ายๆแต่ลึกซึ้ง
ประสบการณ์ที่มีคล้ายๆกันน่ะ เคยรู้สึกเหมือนกันว่าคนใกล้ตัวคือคนที่เข้าใจยากที่สุด แต่เมื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดภายในตัวเองแล้ว ดูเหมือนจะเข้าใจเขามากขึ้น ที่ใช้คำว่าดูเหมือนนั้นเพราะเขายังไม่ได้ทำให้เรารู้จักมากขึ้น การทำความรู้จักตัวเขาโดยแลกที่ “เขา” “เรา” ทำให้เหมือนกับตัวเรายืนส่องกระจกเงาในบางเวลา ซึ่งมันจะรู้สึกอย่างนี้เมื่อบางเรื่องมันสะกิดความรู้สึกเอา ทำให้เรียนรู้เลยว่า “สติแตก” นะเกิดขึ้นเสมอ แม้ว่าเราจะ “คิดว่ามีสติ” อยู่แล้ว ฉะนั้นมาชวนฝึกต่อไป ในปีใหม่ที่มาเยือนค่ะ
สุขสันต์วันปีใหม่นะน้องชายที่รัก
#6 อาจะเป็นเพราะคนที่ใกล้ตัวที่สุด มีค่าที่สุด เราแคร์มากที่สุดมั๊งครับพี่ ก็เลยอยากให้เขา “ได้ดี” ที่สุด เพียงแต่คำว่า “ดี” ของเรากับของเขาอาจไม่เหมือนกัน เพราะคนเราแตกต่างกันใช่ไหมครับ ดังนั้น ไม่ว่าจะสนิทกันขนาดไหน ก็ควรจะมีช่องว่างสำหรับความเป็นส่วนตัว และตัวของตัวเองบ้างครับ — สนิทใกล้ชิดไม่ใช่ครอบครอง (แม้แต่สายเลือดดังตัวอย่างในบันทึก)
อ่านเรื่องนี้แล้ว นึกถึงธรรมที่พระอาจารย์ ของผมสอนไว้คราวที่บวช
ท่านให้ใช้มหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งเป็นเรื่องยากมากๆสำหรับปุถุชนอย่างเรา
แต่กระนั้นก็ตาม “การมีสติเป็นพื้นฐาน เข้มงวดกับตัวเอง แต่ผ่อนคลายกับคนอื่นๆ..”
ขอบคุณที่เปิดศักราชที่มีสาระทางจิตใจดีเยี่ยม
สวัสดีปีใหม่ค่ะ ท่านรอกอด
คนที่รักกันมากๆ บางทีก็มองข้ามเพราะมัวไปเกรงใจคนที่ไม่รู้จักนะคะ
#9: เรียกว่าเบาปัญญาครับ
ปากไม่มีหูรูด ตับหดเลยงานนี้
คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑