ภัยอะไรน่ากลัว (2)
ผมไม่เขียนภัยจาก ลม ไฟ ต่อจาก ดิน น้ำ ที่เขียนในตอนที่แล้วหรอกครับ คงพอจะพิจารณาต่อกันได้เองแล้ว
ตอนนี้ เป็นภัยจากอวกาศ ซึ่งตื่นเต้น เร้าใจ น่าติดตาม และถูกขยายผลโดยใช้ข้อความเพียงบางส่วน; อวกาศ กว้างใหญ่และทรงพลัง สิ่งที่เกิดในอวกาศอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ซึ่งบางส่วนก็ได้รับการพิสูจน์แล้ว แต่มีอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เช่นเดียวกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เกินจากความเข้าใจของคนทั่วไป เช่นทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ เมื่อประกาศออกมาก็มักจะได้รับการท้าทาย กาลครั้งหนึ่ง คนที่มีความคิดแปลกๆ ก็ยังถูกฆ่าขัดกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ได้
พอกล่าวถึงภัยจากอวกาศ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือมากมาย ซึ่งเมืองไทยไม่มีสักอย่าง ถึงมีก็คงแตะต้องไม่ได้ เราต้องอาศัยข้อมูลมือสองจากต่างประเทศทั้งนั้น เค้าจะเปิดหรือไม่เปิดให้ก็ได้ จะพลิกแพลงแบบเนียนๆ ก็ไม่มีใครรู้ แต่เราก็ยังเชื่อกันเป็นตุเป็นตะ (หรือเป็นวรรคเป็นเวรก็ไม่รู้)
มีทฤษฎีต่างๆ มากมายที่อธิบายความเป็นไปได้ของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังในอวกาศ ซึ่งหากดาวฤกษ์ในกาแลกซีทางช้างเผือกซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เกิดระเบิดขึ้น เราคงไม่รอดมายืนยันทฤษฎีนั้น เพราะรังสีที่ปลดปล่อยออกมาจะเกินกว่ามนุษย์จะต้านทานได้ เช่นกรณีดาวนิวตรอน SGR 1806-20 ขนาด 20 กม. เกิดระเบิดขึ้น และแสงเดินทางมาถึงโลกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 หนึ่งวันหลังจากเกิดสึนามิทางฝั่งอันดามัน SGR 1806-20 ปล่อยพลังงานทั้งหมดออกมาใน 0.1 วินาที มากกว่าพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาในแสนปี — ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในระยะ 10 ปีแสงจากโลก ชั้นโอโซนคงถูกทำลายหมด และชีวิตบนโลกคงดับลงหมด
การเกิดและแตกดับของดาว เป็นไปตามกฏเกณฑ์ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แต่ก็ยังมีทฤษฎีใหม่ๆอีกมาก เช่น ทฤษฎี Superwave ซึ่งยังรอการพิสูจน์ || นาซาสำรวจพบการแผ่รังสีแกมมาความเข้มข้นสูงจากกลางกาแลกซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นระยะพอๆ กับระยะจากโลกไปยังศูนย์กลางของกาแลกซีทางช้างเผือก อย่างไรก็ตาม ในเมื่อตรวจจับรังสีที่ตั้งฉากกับระนาบการหมุนของดาวได้ ก็หมายความว่าเหตุการณ์นั้น เกิดขึ้นในอดีตนานแล้ว || ผลของ Superwave กับการเปลี่ยนแปลงโลก
มีทฤษฎีและสมมุติฐานต่างๆ พยายามจะอธิบายและพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตมากมาย เจ้าของทฤษฎีก็พยายามอธิบาย ต่างคนต่างเชื่อว่าทฤษฎีของตนถูกต้อง ซึ่งสำหรับคนฟังแล้ว การเชื่อถือไปเลยนั้นออกจะพิลึกไปสักหน่อย แต่ว่าการปฏิเสธไม่เชื่อโดยไม่ได้ศึกษานั้น ยิ่งพิลึกกว่าอีกครับ เราจะตอบรับหรือปฏิเสธสิ่งที่ไม่รู้ได้อย่างไร?
ส่วนหนึ่งของทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ ใช้สนับสนุนเรื่องเหตุการณ์ 2012 — ถึงแม้จะเป็นไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็น ต่อให้เห็นในเชิงประจักษ์ เราก็ไม่เห็นเบื้องลึกเบื้องหลัง ซึ่งอาจไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่ผลปรากฏให้เห็น — สำหรับผมแล้ว เรื่องสำคัญไม่ใช่เชื่อหรือไม่เชื่อ ถูกหรือผิด แต่เป็นความเข้าใจจากหลายมุมที่สุดเท่าที่สติปัญญาจะพึงมี ไม่ต้องรีบร้อนตัดสินฟันธงหากไม่พร้อมต่างหาก
มีภัยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมาจากอวกาศ ภัยกลุ่มนี้ ถูกเผยแพร่ถึงข้อสังเกตในเมืองไทยโดย ดร.ก้องภพ อยู่เย็น มีปรากฏการณ์อยู่สามอย่างใหญ่ๆ คือ (ก) รังสีจากนอกระบบสุริยจักรวาล (ข) ปรากฏการณ์ดาวเรียงตัว และ (ค) การระเบิดบนดวงอาทิตย์
สำหรับรังสีจากนอกระบบสุริยะ กำลังบุกทะลวงเข้ามาถึงระบบสุริยะชั้นใน เมื่อสุริยจักรวาลโคจรผ่านระนาบการหมุนของกาแลกซีทางช้างเผือก ข้อสังเกตนี้มาจากการวัดระยะไกลแถวแถบไคเปอร์และแถวเมฆออร์ต อยู่ปลายของของสุริยจักรวาล ซึ่งว่ากันว่าเป็นแหล่งของดาวหาง — ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นข้อสังเกตนะครับ หากจะมีผลของรังสีคอสมิกหรือรังสีใดๆ ที่เข้มข้นเป็นพิเศษในแนวระนาบการหมุนของกาแลกซีทางช้างเผือก ทะลวงลมสุริยะเข้ามา คงไม่ใช่ว่ามันเพิ่งเกิดหรือจะรอมาถึงโลกพอดีในวันที่ 21 ธันวาคม 2012
ปรากฏการณ์ดาวเรียงตัว ผมได้ยินชัดว่า ดร.ก้องภพตั้งไว้เป็นข้อสังเกตว่ามี correlation สูง (เกินกว่าการเดาสุ่ม) เมื่อพล็อตเวลาที่ดาวเคราะห์หรือดวงอาทิตย์เรียงตัวกัน+การทำนายกิจกรรมของดวงอาทิตย์ กับเหตุการณ์ที่โลกมีแผ่นดินไหวหรือมีพายุใหญ่ จะพบว่าอยู่ในช่วงเดียวกัน (±2-3 วัน) มีเหมือนกันที่ดาวเรียงตัวแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น และมีเหมือนกันที่เกิดแผ่นดินไหวหรือเกิดพายุโดยไม่มีดาวเรียงตัว ตลอดการบรรยาย ผมไม่ได้ยินสักครั้งเดียว ว่าผู้บรรยายบอกให้นำไปใช้สำหรับพยากรณ์ภัยพิบัติ แต่กลับเป็นการเรียกร้องของให้ช่วยกันสังเกตครับ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุหรือไม่ และที่ไหน
ส่วนการระเบิดบนดวงอาทิตย์นั้น พอเข้าใจได้ว่าดวงอาทิตย์ระเบิดและปล่อยมวลสาร เป็นพลาสมาซึ่งมีประจุ (และมีสนามแม่เหล็ก) ออกมา เรียกว่า Coronal Mass Ejection (CME) อาจกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลกได้ มีทฤษฎีและการทดลองสองสามอันที่ตั้งสมมติฐานของความเชื่อมโยงเอาไว้ แต่จำไม่ได้แล้ว — สนามแม่เหล็กโลกเกิดจากแกนโลกเคลื่อนตัว แกนโลกเป็นเหล็กหลอมเหลว มีมวล 84% ของโลกแต่มีปริมาตรเพียง 15% ทีนี้หากสนามแม่เหล็กโลกถูกรบกวนจาก CME จากดวงอาทิตย์ แกนโลกไม่น่าจะหมุนไปตามเดิม คงจะถูกรบกวนบ้างล่ะครับ ถ้า core เคลื่อน mantle เคลื่อน crust อาจจะเคลื่อนได้เหมือนกัน ก็แผ่นดินไหวไงครับ
เรื่องทั้งหมดนี้ เกินความเข้าใจของผม แต่ก็ยังน่าสนใจอยู่ดีครับ อะไรใช่หรือไม่ใช่ บางทีก็ไม่ได้อยู่ที่เหตุผลนะครับ เพราะว่าเราไม่ได้รู้อะไรทั้งหมดพอที่จะตัดสินได้
ความคิดเห็นสำหรับ "ภัยอะไรน่ากลัว (2)"