ภัยอะไรน่ากลัว (1)
อ่าน: 3239ทีแรกจะตั้งชื่อบันทึกนี้ว่าภัยอะไรน่ากลัวที่สุด แต่ในที่สุดก็ตัดคำว่าที่สุดออกไป เพราะว่าคำว่าที่สุดเป็นการเอาตัวเองตัดสิน
ภัยจากแผ่นดินไหวเป็นข่าวอึกทึกทุกทีจนผู้คนประสาทเสีย แผ่นดินไหวขนาดมดตด (น้อยกว่า 4 ริกเตอร์) ที่เขาไกรลาส ก็ยังก่อให้เกิดความแตกตื่นได้ — แผ่นดินไหวไม่ได้ฆ่าใครหรอกครับ แต่สิ่งปลูกสร้างที่หล่นลงมา สามารถฆ่าคนได้ ความประหวั่นพรั่นพรึงคือเราทำนายแผ่นดินไหวล่วงหน้าไม่ได้ เมื่อไหวเบาๆ เราไม่รู้ว่าจะมีการไหวที่รุนแรงตามมาอีกหรือไม่ ไม่รู้ว่าจะไหวอีกใกล้หรือไกล เมื่อไหร่ และรุนแรงไหม
ภัยจากน้ำก็น่ากลัว เพราะเราเป็นสัตว์บก หายใจในน้ำไม่ได้ น้ำมีพลังอันน่ากลัว น้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตรหนักหนึ่งตัน น้ำท่วมทีหนึ่ง ก็หมดตัวทีหนึ่ง — เขื่อนกันคลื่นและถนนสูง สร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง ถ้าน้ำไม่สูงกว่าที่กั้น ก็ยังไม่เป็นไรมาก แต่เมื่อไหร่ที่ระดับน้ำสูงกว่าที่กั้น พอน้ำทะลักเข้ามาแล้ว ทีนี้ระบายออกไม่ได้ เหมือนเขื่อนกั้นคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น น้ำสูงกว่าเขื่อน พัดเข้ามาแล้วออกไม่ได้ จึงไหลบ่าไปท่วมที่ลุ่มอื่นๆ ลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นสิบกิโลเมตรก็มี (แล้วแต่ภูมิประเทศ) หรืออย่างน้ำท่วมครึ่งประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว ถนนกลายเป็นเขื่อนเตี้ยที่ขวางทางน้ำไหล เมื่อน้ำไหลบ่าข้ามถนนเข้าท่วมแล้ว ถนนนั่นแหละที่กักน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำขังและเน่าเสียอยู่ในที่ทำกินของชาวบ้าน
ฝนหนักไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิด ที่หนักหนามากคงจะเป็นอุทกภัยทางภาคใต้เมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีปริมาณน้ำฝน 1,200 มม.ใน 24 ชั่วโมง นี่เรียกว่าเป็นปริมาณน้ำฝนในระดับคลุ้มคลั่ง น้ำท่วมอีสานใต้เมื่อปลายปีที่แล้ว เกิดจากฝนตกหนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 600 มม.ใน 6 วัน คิดคร่าวๆ ได้ว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่ 2,100 ตร.กม. ฝนตก 0.6 เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 1,260 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำตะคอง (ซึ่งไม่ได้แห้งในขณะนั้น) มีปริมาตรกักเก็บน้ำ 325 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง (ซึ่งก็ไม่ได้แห้งเช่นกัน) มีปริมาตรกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม. ทั้งสองเขื่อนรับน้ำไว้เกินปริมาตรกักเก็บแต่ก็ยังรับไม่ไหว น้ำที่ล้นจากเขื่อน ควบคุมไม่ได้ ไหลบ่าลงที่ต่ำ ท่วมเทือกสวนไร่นาและบ้านเรือนประชาชนตลอดแนวแม่น้ำมูล
ส่วนน้ำท่วมเมืองนั้น ใช้กรุงเทพเป็นตัวอย่างเพราะที่อื่นผมไม่ได้ศึกษาไว้ และขอพึ่ง topic stock ของ pantip.com ครับ; ตัวกรุงเทพเอง น้ำไม่ค่อยท่วมจากน้ำเหนือไหลบ่า ทั้งนี้เป็นเพราะแถบบางโผงเผง อ.ป่าโมก อ่างทอง แม่น้ำเจ้าพระยาแยกเป็นสองทาง เมื่อน้ำเหนือไหลบ่ามาถึงแยกนี้ หากมีปริมาณน้ำเกิน 1,800 ลบ.ม./วินาที น้ำก็จะยกตัวล้นตลิ่งไหลเข้าท่วม อ.บางบาล พระนครศรีอยุธยา (เรียกได้ว่าท่วมทุกปี) จากนั้นก็จะไหลไปตามความลาดเอียงของพื้นที่ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ คือไปสุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ไม่ไหลย้อนข้ามถนน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากลับมาท่วมกรุงเทพ
ส่วนเขตทางตะวันออกของกรุงเทพ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง อันได้แก่ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และสนามบินสุวรรณภูมิ เคยอยู่ใต้ความเสี่ยงจากน้ำเหนือไหลบ่าเมื่อน้ำจากแม่น้ำป่าสักล้นตลิ่ง แต่หลังจากสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามด้วยเขื่อนขุนด่านปราการชล ลดความเสี่ยงจากน้ำไหลบ่าลงได้เยอะ
แม้ความเสี่ยงจากน้ำเหนือไหลบ่าจะลดลง แต่ความเสี่ยงจากฝนยังมีเหมือนเดิม “ฝนพันปี” ของอดีตผู้ว่า กทม. มีปริมาณ 200 มม.ในสี่วัน กรุงเทพมีพื้นที่ 1,500 ตร.กม. คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 300 ล้าน ลบ.ม.; สมมุติว่าตกเฉลี่ยวันละ 50 มม. คูณกับ 1,500 ตร.กม. คิดเป็นปริมาณน้ำวันละ 75 ล้าน ลบ.ม. — ถ้าแก้มลิงเป็นบึงลึก 1 เมตร (แก้มลิงต้องต่ำกว่ากรุงเทพ แต่กรุงเทพก็อยู่ต่ำอยู่แล้ว) ก็ต้องมีพื้นที่รวม 75 ตร.กม. (46,875 ไร่ หรือเท่ากับระวางขับน้ำของเรือบรรทุกเครื่องบินนิวเคลียร์ Enterprise กว่า 790 ลำรวมกัน) ซึ่งคงหาไม่ได้ แถมต้องระบายน้ำลงทะเลให้หมดเกลี้ยงทุกวัน เพื่อรับน้ำของวันใหม่ — ดังนั้นความเสี่ยงของน้ำท่วมจากฝนตกหนัก จึงยังมีอยู่
พื้นที่อื่น ต้องวิเคราะห์กันเอง คืนนี้เหนื่อยแล้ว เอาไว้แค่นี้ก่อนครับ
« « Prev : เก็บตกการบรรยายในค่าย THNG #2
2 ความคิดเห็น
ภัยอะไรก็น่ากลัวทั้งนั้น ถ้ามันมาถูกจังหวะ ราบเป็นน่ากลอง แต่ก็ยังพอทน แต่ภัยจากนักกวนเมือง ก็น่ากล้วน่าเกลียดกว่าภัยธรรมมชาติเสียอีก อิ