เก็บตกการบรรยายในค่าย THNG #2
บ่ายวันนี้ ถึงจะไม่ค่อยสบาย ก็ยังไปบรรยายในงาน THNG Camp ครั้งที่ 2 ทั้งนี้เป็นเพราะผู้จัดได้ทาบทามล่วงหน้ามาหกเดือนแล้ว หลังจากที่เคยไปบรรยายในค่ายครั้งแรกเมื่อปีก่อน — เจออธิการบดีด้วย (เรียนศศินทร์รุ่นดึกดำบรรพ์พร้อมกัน) เพิ่งรู้ว่าวันนี้เพื่อนร่วมรุ่นนัดสังสรรค์กันตอนเย็น ซึ่งผมต้องขอตัว ฮี่ฮี่ฮี่
เพราะค่าย #THNGCamp ต้องการเอาเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดการภัยพิบัติ ดังนั้นแทนที่จะบรรยายตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมายมา (OpenCARE เครือข่ายเพื่อการเตือนภัย เชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ) ผมตัดสินใจเพิ่ม framework เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งที่รู้ว่าเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะ ผู้เข้าร่วมค่าย THNG อาจจะมีประสบการณ์เรื่องนี้มาไม่มากนัก ก็ยิ่งจำเป็นต้องตั้งทิศทางกันเสียก่อน (ถ้าฟังทัน)
โหลดสไลด์ได้ที่นี่ครับ (6.2 MB) แต่สิ่งที่ผมพูดมักไม่เขียน ถ้าหากอ่านไม่รู้เรื่องก็ขออภัยด้วยนะครับ มันเป็นสไลด์สำหรับการบรรยาย ไม่ใช่สไลด์สำหรับอ่าน
ส่วนเรื่องที่ไม่มีเวลาให้รายละเอียดมีดังนี้
- ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ ผมเป็นผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนอยู่ เป็นเรื่องที่อธิบายได้ลำบากว่าทำไมผู้บริหารสูงสุด จึงมาใช้เวลาทุ่มเทกับเรื่องที่บริษัทไม่ได้กำไร (ที่จริงถ้าสังคมอยู่ไม่ได้หรือเกิดความทุกข์ยากไปทั่ว ความสำเร็จของบริษัทก็ไม่มีความหมายอะไรหรอกนะครับ) ดังนั้น ผมจึงขอให้ HS1WFK ซึ่งเป็นเลขาธิการสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินงานแทน
- จริงอยู่ที่ว่าเซอร์เวอร์ของโอเพ่นแคร์ตั้งอยู่บนอินเทอร์เน็ต แต่ช่องทางการติดต่อสื่อสาร มีผ่านสื่ออื่น เช่นวิทยุสมัครเล่น วิทยุของราชการ โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ดาวเทียม จานดาวเทียม ฯลฯ เพื่อให้คนในพื้นที่ รับส่งแลกเปลี่ยนข้อมูลของสถานการณ์จริงได้ โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ
- โอเพ่นแคร์เป็นไปตามมาตรฐานชุด ISO 22300 Societal Security (ไม่มีในพจนานุกรมหรอกครับ แปลคร่าวๆ ได้ว่าความปลอดภัยของสังคม) มีขอบเขตรวมถึงภัยต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตไม่สามารถจะดำเนินไปได้ตามปกติ เช่นภัยจากธรรมชาติ ภัยจากอุตสาหกรรม ภัยจากความไม่สงบ สงคราม ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ประปาไม่มี การอพยพคนจำนวนมาก ฯลฯ — โอเพ่นแคร์เป็น liason (ที่ปรึกษาผู้ประเมิน) ของ TC223/WG3 ผู้ร่างมาตรฐานนี้ในนาม ISO ในส่วนของระบบข้อมูล
- สภากาชาดสากล เคยเสนอให้พื้นที่สำนักงานแก่โอเพ่นแคร์ฟรีๆ ในเจนีวา และขอให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาคนี้ แต่เรื่องนี้เราปฏิเสธไป แค่จ้างเลขานั่งเฝ้าสำนักงานในเจนีวาคนเดียว เงินก็หมดแล้ว สู้เอาเงินมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเมืองไทยจะดีกว่า
- ภาคีที่โอเพ่นแคร์มีอยู่ในขณะนี้ ก็ครอบคลุมหน่วยงานที่ทำเรื่องการเตือนภัยและการบรรเทาทุกข์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ (แต่ยังไม่มีกรมอุตุนิยมวิทยาหลังจากที่ได้พยายามมาหลายปีแล้ว) ในส่วนของการประสานงานกับต่างประเทศ ใช้มาตรฐาน EDXL ซึ่งจะทำให้เชื่อมต่อกับระบบจัดการภัยพิบัติได้ในหลายๆ ประเทศ
- ระบบโอเพ่นแคร์ ออกแบบไว้ในลักษณะที่ไม่มีหัว ไม่มีหาง ไม่มีผู้ควบคุม ไม่มีการเซ็นเซอร์ เป็นระบบเปิดที่เซอร์เวอร์ตัวหนึ่ง ทำงานร่วมกับเซอร์เวอร์ตัวอื่นๆ ได้โดยไม่ยุ่งยาก ดังนั้นหากเซอร์เวอร์ตัวใดตัวหนึ่งเกิดตายไป ระบบจะไม่หยุดทำงาน (ยกเว้นตายหมดทุกตัวพร้อมกัน ก็ช่วยไม่ได้)
- ในการทำงานกับคนนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ดั่งใจเรา (ถ้าทำได้ กรุณาบันดาลไม่ให้เกิดภัยพิบัติขึ้น) ยิ่งทำงานกับผู้ประสบภัยซึ่งเครียดจากการสูญเสีย กับเจ้าหน้าที่ซึ่งอ่อนล้าจากการบรรเทาทุกข์ และกับอาสาสมัครซึ่งมาจากหลากหลายทิศทาง คงไม่เหนือความคาดหมายที่จะมีเรื่องมากระทบอารมณ์บ้าง แต่ต้องไม่ยอมให้อารมณ์เสียเหล่านี้ มาเบี่ยงเบนการทำงานไปจากเป้าหมายหลัก คือชาวบ้านผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาทุกข์ หรือการฟื้นฟู
1 ความคิดเห็น
เปิดสไลด์ได้ช้าแต่ก็จะพยายามรอดู อิอิ