ความฉลาดคืออะไร — ไอแซค อสิมอฟ

โดย Logos เมื่อ 1 June 2010 เวลา 4:34 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 5270

What Is Intelligence, Anyway? จากหนังสืออัตชีวประวัติของ ไอแซค อสิมอฟ

เมื่อตอนที่ผมยังเป็นทหาร ผมทำแบบทดสอบอันหนึ่งได้คะแนน 160 จากค่าปกติที่ 100 ไม่มีใครเลยที่ฐานเคยเห็นตัวเลขแบบนี้มาก่อน แล้วพวกเขาก็มาวุ่นวายกับผมต่อไปอีกสองชั่วโมง

(มันไม่ได้มีความหมายอะไรหรอก วันรุ่งขึ้น ผมก็ยังเป็นพลทหารเหมือนเดิม โดยมีตำแหน่ง “ผู้ตรวจครัว” เป็นหน้าที่สูงที่สุดเท่าที่เคยได้รับมอบหมาย)

ตลอดชีวิตของผม ได้คะแนน “ความฉลาด” ในลักษณะอย่างนั้นเสมอๆ ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมรู้สึกพึงพอใจมากที่ตัวเองฉลาดเป็นกรด แล้วก็อยากให้ผู้คนเข้าใจอย่างนั้นเสียด้วยซิ

แต่ที่จริงแล้ว การได้คะแนน “ความฉลาด” สูงนั้น อาจเป็นไปเพราะผมตอบคำถามในแบบที่ผู้ที่ทำการทดสอบให้คุณค่าสูง อาจเป็นเพราะผู้ทำการทดสอบเป็น “คนฉลาด” แบบที่ผมเป็นนะ

ยกตัวอย่างเช่น มีช่างซ่อมรถยนต์คนหนึ่งมาทำการทดสอบแบบนี้ด้วย ดูท่าทางแล้วคงจะได้คะแนนไม่เกิน 80 หรอก ผมฉลาดกว่าเขามากมายอย่างแน่นอน (ฮาๆๆๆ)

แต่ทุกคราวที่รถผมเสีย ผมต้องรีบแจ้นไปหาช่าง เฝ้าดูเขาตรวจสอบหาสาเหตุ ฟังเขาบ่นพึมพำเหมือนท่องมนต์ศักดิ์สิทธิ์ แล้วเขาก็แก้รถผมได้สำเร็จทุกครั้งไป

ทีนี้ ถ้าหากช่างซ่อมรถเป็นผู้ทำการทดสอบความฉลาดล่ะ

หรือว่า ถ้าช่างไม้ ชาวไร่ชาวนา หรือแม้กระทั่งคนทั่วไป เป็นผู้ออกข้อสอบการวัดความฉลาดล่ะ ผมก็จะกลายเป็นไอ้งั่งไปในทันที

ในโลกที่ผมไม่สามารถใช้ความสามารถทางวิชาการ หรือไม่สามารถใช้ทักษะทางภาษาของผม แต่ต้องทำการทดสอบที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน ต้องใช้มือทำ ผมคงแย่

ความฉลาดของผม จึงไม่ได้เป็นค่าสัมบูรณ์ แต่เป็นเพียงคุณค่าหนึ่งซึ่งแปรผันตามสังคมที่ผมอยู่ และเป็นความจริงที่ว่าเพียงเสี้ยวเดียวของสังคมใหญ่ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมทั้งมวล ก็จะเป็นกลุ่มที่กำหนดคุณค่า(ของความฉลาดหรือคุณค่าในมิติอื่นๆ ของสังคม)

กลับมาที่ช่างซ่อมรถของผมอีกครั้งหนึ่ง

เขาชอบเล่าเรื่องตลกให้ผมฟังทุกครั้งที่ได้เจอกัน

มีอยู่คราวหนึ่ง เขาเงยหน้าขึ้นมาจากกระโปรงรถแล้วพูดว่า “ด็อก มีชายหูหนวกและเป็นใบ้คนหนึ่ง เดินเข้าไปในร้านขายของเพื่อหาซื้อตะปู เขาเอาสองนิ้ววางไว้บนเคาน์เตอร์ แล้วเอาอีกมือหนึ่งทำท่าตอกตะปู”

คนขายของไปหยิบฆ้อนมาให้ เขาส่ายหัวเป็นสัญญาณว่าไม่ใช่ แล้วก็เอามือที่ทำเป็นฆ้อนชี้ไปที่สองนิ้วที่อยู่บนเคาน์เตอร์ นั่นแหละคนขายของถึงได้ไปหยิบตะปูมาให้เลือก ซึ่งเขาก็เลือกขนาดที่ต้องการแล้วจากไป ลูกค้ารายต่อไปก็เข้ามา ทีนี้ลูกค้ารายนี้ตาบอด เขาอยากได้กรรไกร แล้วจะสื่อความกันยังไงล่ะ?”

โดยไม่ต้องคิดเลย ผมยกสองนิ้วขึ้นมา ทำสัญญาณกรรไกรเหมือนเวลาเล่นเป่า-ยิ้ง-ฉุบ

ช่างซ่อมรถระเบิดหัวเราะออกมาอย่างอึกทึกในทันที แล้วบอกว่า “โธ่ โง่จัง เขาก็ใช้ปากบอกคนขายนั่นแหละ”

แล้วเขาก็อวดอีกว่า “ผมพยายามเล่นมุกนี้กับลูกค้าทุกรายของวันนี้เลยนะ” ผมถาม “แล้วมีใครหลงกลไหม?” เขาว่า “ก็มีบ้างล่ะ แต่ผมมั่นใจว่าคุณเสร็จผมแน่!”

“ทำไมล่ะ” ผมถาม “ก็เพราะคุณมีการศึกษาสูงน่ะซิ ด็อก ดังนั้นคุณไม่ฉลาดแน่ๆ”

ผมเดินออกจากอู่มาด้วยความรู้สึกไม่สบายนัก และช่างซ่อมรถผู้นี้มีบางอย่างที่ไม่ธรรมดาเลย

« « Prev : การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (3)

Next : ศาสตร์แห่งการกระตุ้น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 คนผ่านมา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 June 2010 เวลา 7:57
    เรื่องราวที่ยกมานั่นค่อนข้างจะไม่มีความชัดเจนระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “ความฉลาด” กับ “ความรู้ความเชี่ยวชาญ”
    ความฉลาดคือความสามารถของสมองที่จะเรียนรู้ หาความเชื่อมโยง และหาข้อสรุป
    ในขณะที่ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสม
    ผมจะยกตัวอย่างในกรณีที่เป็นการพิสูจน์ค้านดังนี้
    คงไม่ปฏิเสธว่าลิงนั้นมีความสามารถในการดำรงชีวิตในป่า สามารถที่จะเลือกหาผลไม้ในป่าได้อย่างเชี่ยวชาญ
    เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลในบทความทั้งคนซ่อมรถและพลทหาร เราจะสามารถสรุปได้ว่าลิงนั้นฉลาดว่าคนทั้งคู่
    เมื่อใช้การให้เหตุผลแบบเดียวกันเราจะสามารถไปถึงข้อสรุปที่่ว่า แบคทีเรียนั้นมีความฉลาดว่ามนุษย์เพราะมันเชี่ยวชาญในการดำรงชีวิต
    ในที่สุดโต๊ะเก้าอี้ก็จะฉลวดกว่าเราเพราะมันมีความ “เชี่ยวชาญ” ในการเป็นที่นั่งให้กับคนเรา

    เราต้องแยกความฉลาดออกจากความรู้ให้ได้เสียก่อน

    ถ้าให้คนที่มีไอคิว 160 ไปเรียนรู้วิธีการซ่อมรถพร้อมๆกับๆ คนที่มีไอคิว 100 แน่นอนว่าคนที่ฉลาดกว่าจะใช้เวลาน้อยกว่า
    นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความฉลาด
  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 June 2010 เวลา 8:14
    แหม จนใจไม่รู้จะไปบอก Asimov ยังไง เขาตายไป 18 ปีแล้วครับ ผมไม่คิดจะรีบตามไป
  • #3 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 June 2010 เวลา 9:14

    อ่านบทความแล้วย้อนพิจารณาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา…

    …………………………….

    เจริญพร

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 June 2010 เวลา 9:33
    สาธุ

    มานะ ละวางยากครับ ถ้าละวางได้ก็บรรลุอรหันต์ไปแล้ว

  • #5 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 June 2010 เวลา 10:50

    อ่านไปสองรอบ อ่านแล้วหัวเราะจนปวดท้อง…ชอบเรื่องเล่าของคนฉลาด ๆ อย่างนี้จัง ^_^

    ช่างซ่อมรถ “ฉลาด” จริง ๆ  แต่ ไอแซค อสิมอฟ ฉลาดกว่า เพราะ “เห็น” และยังทำให้เราได้หันมาคิด พิจารณาถึง ความฉลาดของช่างซ่อมรถ

    คนที่มีไอคิวสูง ๆ หากไม่รู้จักประยุกต์ใช้ความฉลาด ในทางที่ถูกที่ควร ให้เหมาะกับบริบทของตนเอง ยังประโยชน์แก่ตนเอง แก่สังคมและโลก… คนไอคิวสูงก็อาจไม่นับว่าเป็น “คนฉลาด”

    คนไอคิวสูง บางครั้งก็กลายเป็น คนไม่ฉลาด ไปได้ เพราะ ไม่เข้าใจในบริบทที่ตนกำลังดำรงอยู่นั่นเอง…มัวเอาชนะคะคานด้วยมานะ อหังการ และมมังการ

    ส่วนตัวคิดว่าตัวเอง ไม่ฉลาดนัก เพราะคนรอบตัวมักบอกว่า เธอนี่…ทำไมโง่ในเรื่องง่าย ๆ แต่ฉลาดในเรื่องโง่ ๆ ล่ะนี่… (กำลังพัฒนาตัว ลดมานะ 6 ในข้อการไม่ดูถูกตัวเอง เราทุกคนล้วนมีศักยภาพในการบรรลุธรรม)

    อ่านแล้วอมยิ้ม รู้สึก (ไปเอง) เริ่มฉลาดขึ้นหน่อยนึงแล้ว

    ขอบคุณมากค่ะ
    ;)

  • #6 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 June 2010 เวลา 12:04

    อมยิ้มกับความสามารถในการพิจารณา ความเชื่อมโยง การคิด การตัดสินใจที่ลุ่มลึกและไม่อหังการ์ของอสิมอฟค่ะ นี่สิคะคนฉลาดจริง (เหมือนที่คุณ freemind กล่าวมา)

    ชอบอันนี้ค่ะ…ความฉลาดของผม จึงไม่ได้เป็นค่าสัมบูรณ์ แต่เป็นเพียงคุณค่าหนึ่งซึ่งแปรผันตามสังคมที่ผมอยู่ และเป็นความจริงที่ว่าเพียงเสี้ยวเดียวของสังคมใหญ่ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมทั้งมวล ก็จะเป็นกลุ่มที่กำหนดคุณค่า(ของความฉลาดหรือคุณค่าในมิติอื่นๆ ของสังคม)

    ในการทดสอบเชาวน์ปัญญาแน่นอนว่ามันไม่ใช่”ทั้งหมด”ของความสามารถที่มี ตามที่อสิมอฟพูดจริง ๆ …หายากนะคะที่คนตัวเลขนี้สูง ๆ แล้วเข้าใจได้ขนาดนี้ เพราะส่วนใหญ่จะ”ภูมิใจ”จนอยู่เหนือคนอื่นทั้งปวง (ไม่ต้องถึง 160 หรอกค่ะ แค่อยู่ในระดับฉลาดกว่าปกติคือ 110-119 ก็เนื้อเต้นแล้ว)

    ตัวเลขที่ว่าคือการบอกถึง”ต้นทุน”บางอย่าง แต่ไม่ใช่”ทั้งหมด”ของชีัวิต (และมันแกว่งไกวได้ด้วยนา ไม่คงที่ที่เลขนี้ตลอดจนตายหรอกค่ะ) เพียงแต่บังเอิญไปสอดคล้องกับการให้คุณค่าในสังคมก็คือ”ความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน” จึงกลายเป็นตัวตัดสินหนึ่งไปโดยปริยายเท่านั้นเองค่ะ

    ช่างซ่อมรถยนต์น่าจะมีความสามารถเชิงช่างที่เกี่ยวข้องกับ”การใช้มือ”(Performance Part) มากกว่า”ภาษา”(Verbal Part) แต่อสิมอฟน่าจะโดดเด่นทั้ง 2 ด้าน(ไม่คิดว่าจะแตกต่างกันมากนะคะเพราะเค้าเป็นนักเคมีด้วยเช่นกัน ไม่ได้เป็นแค่นักเขียนอย่างเดียว)

    ชอบตรงนี้อีกอันด้วยค่ะ

    แล้วเขาก็อวดอีกว่า “ผมพยายามเล่นมุกนี้กับลูกค้าทุกรายของวันนี้เลยนะ” ผมถาม “แล้วมีใครหลงกลไหม?” เขาว่า “ก็มีบ้างล่ะ แต่ผมมั่นใจว่าคุณเสร็จผมแน่!

    “ทำไมล่ะ” ผมถาม “ก็เพราะคุณมีการศึกษาสูงน่ะซิ ด็อก ดังนั้นคุณไม่ฉลาดแน่ๆ

    ผมเดินออกจากอู่มาด้วยความรู้สึกไม่สบายนัก และช่างซ่อมรถผู้นี้มีบางอย่างที่ไม่ธรรมดาเลย

    …”ความฉลาด”ในความเข้าใจของเรา เป็นแบบเดียวกันหรือเปล่าคะ และ”การตัดสิน”ทั้งที่อสิมอฟพูดเป็นนัยเกี่ยวกับตัวเลขที่เขาประมาณการเอาเกี่ยวกับช่างซ่อมรถ รวมทั้งสิ่งที่ช่างซ่อมรถมั่นใจนั้นกระตุกให้เราคิดอะไรกันได้อีกหรือเปล่า ;)

  • #7 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 June 2010 เวลา 13:34

    My intelligence, then, is not absolute but is a function of the society I live in and of the fact that a small subsection of that society has managed to foist itself on the rest as an arbiter of such matters….

    …Then he said smugly, “I’ve been trying that on all my customers today.” “Did you catch many?” I asked. “Quite a few,” he said, “but I knew for sure I’d catch you.”

    “Why is that?” I asked. “Because you’re so goddamned educated, doc, I knew you couldn’t be very smart.”

    And I have an uneasy feeling he had something there. ประโยคนี้แปลให้อ่อนลงนิดหน่อยครับ ขืนแปลว่า ผมมีความรู้สึกไม่ดีที่ช่างคนนี้ไม่ธรรมดาเลย อ่านแล้วเราคงรู้สึกไม่ดีเช่นกัน

    เรื่องนี้เริ่มเขียนตอนที่ฟังการโต้ตอบกันแบบยาวเหยียดในทีวีกลางดึก โลกนี้มีโศกนาฏกรรมมากพอแล้วครับ อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.89519381523132 sec
Sidebar: 0.33428406715393 sec