การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (3)
อ่าน: 4681บันทึกนี้ เป็นตอนต่อจากการ เขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (1) ซึ่งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล แสดงปาฐกถาเนื่องใน “วันนักเขียน” เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2553 ตามที่กรุงเทพธุรกิจตีพิมพ์(ในลิงก์)
ถามว่าแล้วเราจะทำ อย่างไรกันดี เราในที่นี้ ผมหมายถึงผู้คนที่อยากเห็นการเขียนและการอ่านมีฐานะเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม และจิตวิญญาณของสังคม หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นปัจจัยเชิงบวกที่สมทบส่วนให้แก่การประคับประคองสังคม
ในฐานะคนเขียนหนังสือ คำตอบที่ผมนึกออกเป็นอันดับแรกคือ การต่อสู้เพื่อชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมยังคงต้องดำเนินต่อไป ซึ่งหมายถึงว่าพวกเรายังต้องยืนยันว่า การเขียนหนังสือเพื่อสร้างสาระทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญ ตามคุณค่าและความหมายของจิตวิญญาณที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ในฐานะนักเขียน ปฏิบัติการที่เป็นจริงในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นการผลิตงานเขียนในทิศทางดังกล่าว แม้ว่าสิ่งนั้นจะหมายถึงการสวนกระแสสังคมที่เป็นอยู่ และนำความยากจนมาให้ตัวเองก็ตาม
อย่างไรก็ดี ตรงนี้มีกับดักที่อันตรายมากอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งผมจะละเว้นไม่เอ่ยถึงไม่ได้ กล่าวคือเราจะต้องไม่ยึดถือว่าสิ่งที่ทำเป็นความสูงกว่าในทางศีลธรรม มิฉะนั้นแล้วก็อาจจะเกิดผลเสียทางจิตวิญญาณของตัวเอง ก่อให้เกิดความเย่อหยิ่งอหังการ และเกิดแนวโน้มที่จะเอาจุดยืนทางศีลธรรมมาแทนคุณภาพของงาน
ในหมู่นักเขียนไทย ความผิดพลาดดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน สมัยขบวนปัญญาชนฝ่าย ’ซ้าย’ เร่งผลิตวรรณคดีที่แสดงจุดยืนทางการเมือง ที่ดูเหมือนเข้มข้นทางด้านเนื้อหา แต่ก็อ่อนด้อยทางด้านศิลปะ จากนั้นก็ได้อาศัยความรู้สึกเหนือกว่าทางด้านศีลธรรมมากดดันให้ผู้คนเห็นชอบ ชื่นชม
อันที่จริงรูปแบบกับเนื้อหาที่เป็นของแท้นั้นย่อมแยกออกจากกันไม่ได้ เหมือนทะเลย่อมไม่อาจแยกออกจากความลึกและความกว้าง ในทำนองเดียวกัน งานเขียนที่อ่อนด้อยทางศิลปะย่อมไม่สามารถสื่อสารความลึกซึ้ง เพราะความลึกซึ้งกับความงดงามเป็นสิ่งเดียวกัน
ดังนั้น ต่อให้เรามีกุศลเจตนาแค่ไหน งานที่ผลิตออกมายังต้องมีกฎเกณฑ์ในเรื่องคุณภาพ ความหวังดีที่ตื้นเขินนั้นเป็นอันตรายต่อโลก กระทั่งอาจมากกว่าความประสงค์ร้ายในบางกรณี
แน่นอน สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดมิได้หมายความว่า จากนี้ไปเราจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับการเขียนหนังสือในแนวอื่น เราอาจจะมีความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไปเพิ่มความขัดแย้งในประเทศนี้ให้มากขึ้นไปอีก
ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่า ในหมู่นักเขียนที่เอาจริงเอาจังทางด้านเนื้อหาสาระ เราเองก็ต้องสำรวจตัวเองเช่นกันว่าได้ทำงานที่มีคุณภาพ ถึงพร้อมด้วยพลังทางศิลปะออกมามากน้อยแค่ไหน ถ้างานของเรายังมีพลังไม่มากพอ บางทีการโทษรสนิยมของผู้อ่านเพียงฝ่ายเดียวก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยุติธรรม นัก
อันที่จริง การเขียนหนังสือที่มุ่งเน้นการบำรุงจิตวิญญาณมนุษย์ ท่ามกลางข้อเสียเปรียบทั้งปวงนั้น โดยตัวของมันเองก็ต้องนับเป็นความเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง เป็นการภาวนาซึ่งเกิดขึ้น เมื่อจิตสงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับถ้อยคำที่ผุดบังเกิด โดยผู้เขียนไม่เสียสมาธิไปหวั่นไหวกับผลตอบแทนภายหน้า ไม่คิดเรื่องแก่งแย่งแข่งขันกับผู้ใด ตลอดจนไม่สะทกสะท้านสั่นคลอนกับการตอบรับหรือปฏิเสธที่จะตามหลังมา
ตามความเห็นของผม และจากประสบการณ์ที่พอมีอยู่บ้าง ถ้าเราถือการเขียนหนังสือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง บางทีผลงานที่ออกมาแทบจะเหมือนฟ้าดินดลใจ กระทั่งทำให้เราแทบไม่กล้าคิดว่าตัวเองเขียนสิ่งเหล่านั้นโดยลำพัง
จะว่าไป งานเขียนเป็นเพียงปลายทางของกระบวนการทำงานของจิตหนึ่ง ซึ่งต้องการสื่อสารกับจิตอื่น
ภาษาเขียนเป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากภาษาพูด และ (ถ้าไม่นับคำพูดที่เพ้อเจ้อแล้ว) การพูดก็สืบต่อโดยตรงมาจากการคิด การคิดส่วนใหญ่มาจากการสงสัยใคร่รู้ และการไตร่ตรองพิจารณา
เช่นนี้แล้ว เมื่อนับย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น งานเขียนจึงมีรากลึกสุดอยู่ที่การตั้งคำถามและความพยายามหาคำตอบในใจคน ด้วยเหตุนี้ ความเป็นนักคิดกับนักเขียนจึงมักแยกออกจากกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี ในจุดนี้ผมคงต้องขออนุญาตขยายความสักเล็กน้อย กล่าวคือคำว่า
“นักคิด” ที่ผมนำมาใช้นั้น เป็นการใช้อย่างหลวมๆ กว้างๆ เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิต วิญญาณกับการเขียนเพื่อประกอบอาชีพธรรมดา
แต่ถ้าจะให้เจาะลึกลงไป ก็คงต้องเรียนว่า จิตที่ถูกฝึกให้สงบนั้น บางทีก็มิได้มีการครุ่นคิดในความหมายสามัญ กระทั่งเป็นจิตที่ถูกฝึกมาให้หยุดคิดเพื่อจะสัมผัสประสบการณ์บางอย่างโดยตรง โดยไม่ผ่านแผ่นกรองของกรอบคิดใดๆ
ตามความเข้าใจของผม การหาความรู้แบบสัมผัสตรงเช่นนี้ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงความจริงแบบตะวันออก ซึ่งเห็นโลกเป็นองค์รวม โดยไม่แยกผู้เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น เมื่อบุคคลที่เดินทางธรรมเหล่านี้นำความรู้หรือประสบการณ์ทางจิตของตนมา ชี้แนะสังคม โดยผ่านการพูดการเขียน บางทีเราก็เหมารวมท่านไว้ในกลุ่ม ’นักคิด’ เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้นักเขียนส่วนใหญ่จะไม่ใช่พระอรหันต์หรือนักบุญ แต่งานเขียนที่แสดงความละเอียดอ่อนลึกซึ้งทางจิตใจก็ดี งานเขียนที่มีพลังปลดปล่อยจิตวิญญาณมนุษย์ก็ดี หรืองานเขียนที่เชิดชูศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นคนก็ดี ล้วนแล้วเป็นสิ่งสืบเนื่องมาจากหัวใจของผู้เขียนทั้งสิ้น นับเป็นความพยายามของจิตหนึ่งที่จะสื่อสารกับจิตอื่นๆ ในเรื่องราวที่ตัวเองรู้สึกอย่างแท้จริงว่ามีความสำคัญ
ปัญหามีอยู่ว่า ในการสื่อสารด้วยภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาเขียนนั้น มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากภาษาเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ใช้แทนความจริง จึงไม่สามารถสะท้อนความจริงในส่วนทั้งหมดออกมาได้
เช่นนี้แล้วการเขียนหนังสือที่มุ่งสะท้อนสัจจะ จึงต้องอาศัยทักษะทางศิลปะค่อนข้างมาก ยิ่งเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณมนุษย์ก็ยิ่งต้อง พึ่งพิงศิลปะในการถ่ายทอดมากกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อว่าผู้เขียนจะได้สามารถนำพาผู้อ่านไปมองเห็นสิ่งที่มิได้ปรากฏ ต่อสายตา กระทั่งอยู่เหนือประสาทสัมผัสทั้งปวง
บางครั้งสิ่งที่ผู้เขียนอยากบอกกับผู้อ่านอาจจะไม่สามารถใช้ถ้อยคำใดๆ มาเรียกขาน และบางทีก็ต้องใช้เรื่องราวทั้งเรื่องมาส่งทอดคุณค่าหรือสร้างความเข้าใจ
ตรงนี้เองที่ทำให้เรามักมองงานเขียนที่มีคุณภาพว่าเป็นจุดบรรจบของความจริง ความดี และความงาม จะว่าไปงานเขียนที่มีพลังย่อมไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากนำคุณค่าเหล่านั้นมาบรรจบกัน เพื่อว่าพลังที่เกิดขึ้นจะสามารถสั่นคลอนหัวใจคน
แน่ละนักเขียนไม่ใช่ศาสดา เพราะฉะนั้นนักเขียนคนหนึ่งจึงไม่จำเป็นต้องอธิบายโลกและชีวิตได้อย่างหมดจด ครบถ้วน ขอเพียงสมทบส่วนให้กับความเข้าใจบางอย่างที่ลึกซึ้งก็พอแล้ว
…ยังมีต่อ…
« « Prev : น้ำค้าง
Next : ความฉลาดคืออะไร — ไอแซค อสิมอฟ » »
2 ความคิดเห็น
เห็นด้วยว่า…งานเขียนจึงมีรากลึกสุดอยู่ที่การตั้งคำถามและความพยายามหาคำตอบในใจคน ด้วยเหตุนี้ ความเป็นนักคิดกับนักเขียนจึงมักแยกออกจากกันไม่ได้…นอกจากนี้การเขียนยังเป็นทักษะที่ขึ้นกับการฝึกฝน และเป็นการสื่อสารระดับสูงของมนุษย์ด้วยสิคะ (ไม่นับกระแสจิต ^ ^)
เราเริ่มที่การฟัง ฟังแล้วถึงเกิดการจดจำ เลียนเสียงเกิดเป็นการพูด พูดเสร็จแล้วไปอ่าน จากอ่านแล้วถึงจะเขียน…นักเขียนจึงมีฐานจากการเป็นนักอ่านเป็นสำคัญ แต่เห็นการฝึกเด็กอนุบาลบางโรงเรียนแล้วก็ยิ้ม เพราะเร่งให้เขียนเหลือเกิน ในขณะที่กล้ามเนื้อมือของเด็กยังไม่พร้อม …ไม่อยากคิดเลยว่าจะเหมือนการจำบ่มในหลาย ๆ กรณีของไทยหรือเปล่า ซึ่งส่งผลกระทบยาวนาน ร้าวลึกในอนาคตของตัวเด็กเอง
ตามอ่านทุกตอน พร้อมความคิดว่าความรู้จากผู้รู้จริงมีเสน่ห์ชวนติดตามอย่างนี้เอง
ซึ่งผมยกย่องงานเขียน ที่มีคุณค่าให้กับผู้อ่าน ไม่ว่าจะในแง่ใดนะครับ
แต่ในปัจจุบันมีงานเขียนหลากหลาย ซึ่งในตอน (2) มีข้อความน่าสนใจตอนหนึ่งว่า…
ดังนั้นหนังสือที่แต่ละคนอ่านก็อาจจะสะท้อนผู้อ่านได้ เพราะหนังสือแต่ละเล่ม วางอยู่เฉยๆ ใครจะอ่านอะไร ต่างก็เลือกสรรเองทั้งนั้น
ก่อนจะเขียนได้ ยังมีกระบวนการเรียนรู้ก่อนหน้านั้นคือ การสดับรับฟัง ค้นคว้าหาข้อมูล การพิจารณาความเป็นเหตุเป็นผล ความถูกผิด การสอบทาน การตั้งคำถาม ฯลฯ สุ จิ ปุ ลิ ครับ
ในสื่อแบบสองทาง ผมคิดว่าสิ่งที่น่ายินดีที่สุด คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบที่มีคุณภาพ มีประเด็น เป็นการแสดงความคิดเห็น+การต่อยอดจากบันทึกซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว ให้กลายเป็นการเรียนรู้ร่วมกันครับ ต่อให้อ่านบันทึก+ความคิดเห็นอย่างเดียวโดยไม่แสดงความเห็นอะไรเพิ่ม(เห็นด้วยเฉยๆ ไม่ต้องแสดงก็ดี แฮ่ๆๆ) ก็จะได้ประโยชน์มากกว่าอ่านบันทึกอย่างเดียว