การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (ตอนจบ)
อ่าน: 2986เมื่อวาน คม-ชัด-ลึก ไม่เอาบทความขึ้นเว็บเหมือนกับสามตอนที่ผ่านมา (แต่ตีพิมพ์ในฉบับที่พิมพ์ขาย) อันนี้ไม่ว่าอะไรหรอกนะครับ เป็นสิทธิ์ของเขาจริงๆ
แต่ผมก็ไปเจอบทความฉบับเต็ม ใน thaiwriter.net จึงขอนำส่วนที่เหลือมาโพสต์ต่อนะครับ
ผู้อ่านเองก็ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเล่มเดียว หากสามารถเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างได้ด้วยการอ่านหนังสือดีอย่างต่อเนื่อง พวกเขาสามารถเพิ่มพูนความเข้าใจโลกและชีวิตตลอดจนรู้สึกดีต่อเพื่อนมนุษย์ ได้ โดยการล่องใจไปตามสายธารทางปัญญา
ยกตัวอย่างเช่น
วรรณกรรมต้นแบบอย่างดอน กิโฮเต้ของเซอร์วานเตส อาจทำให้เราเห็นความงดงามของอุดมคติ ขณะเดียวกันก็เตือนเราไว้ด้วยว่าโลกที่เป็นอยู่มักทำร้ายคนที่รักมัน
ในหนังสือชื่อพี่น้องคารามาซอฟ แม้ดอสโตเยฟสกี้จะชี้ให้เห็นด้านมืดของมนุษย์ โดยผ่านตัวละครอย่างมิตยาและอิวาน แต่ก็แอบแนะไว้ด้วยว่าคนเราสามารถข้ามพ้นทวิภาวะ(dualism) ได้ โดยผ่านตัวละครชื่ออโลชา
ส่วนเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ในหนังสือชื่อ The Old Man and the Sea ก็ได้ยืนยันว่าแม้ชีวิตมนุษย์จะดูไร้แก่นสารและต้องผจญกับความทุกข์ต่างๆที่ ไม่สมเหตุสมผล แต่โดยธาตุแท้แล้ว คนเรามีความกล้าหาญในการเอาชนะชตากรรมได้โดยไม่ต้องมีใครมารู้เห็น “มนุษย์อาจถูกทำลายได้ แต่แพ้ไม่ได้” นี่เป็นประโยคอันลือลั่นที่เขาทิ้งไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ขบคิด
ต้นส้ม แสนรัก บทประพันธ์ของโจเซ่ วาสคอนเซลอส นักเขียนชาวบราซิล นับเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมอีกเล่มหนึ่ง ที่บอกเราว่ามนุษย์ที่โดดเดี่ยวแปลกแยกนั้นสามารถเติมเต็มให้กันได้ด้วยความรักและความเข้าใจที่มอบให้กัน และการสูญเสียสิ่งล้ำค่าเช่นนี้ไปนับเป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวง
ตัวอย่างที่ผมยกมาเหล่านี้เป็นเพียงหนังสือไม่กี่เล่ม แต่ทุกท่านที่เคยอ่านก็คงเห็นด้วยกับผมว่านี่เป็นวรรณกรรมในระดับเปลี่ยนโลก ได้ อย่างน้อยที่สุดก็โลกใบเล็กๆของคนที่เคยอ่านมัน แล้วเราลองนึกภาพของสังคมที่คนจำนวนมากอ่านงานประเภทนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน อะไรจะเกิดขึ้นกับจิตสำนึกและจิตวิญญาณที่สังคมดังกล่าวอาศัยเป็นรากฐานทางวัฒนธรรม
ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่านักเขียนที่สร้างงานในแนวนี้และในคุณภาพระดับนี้คงต้องทำงานหนักมิใช่น้อย อันนี้ผมมิได้หมายถึงชั่วโมงทำงาน หากหมายถึงการเตรียมความพร้อมในการผลิตงาน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ตรงและการศึกษาค้นคว้า นักเขียนคนหนึ่งอาจจะต้องอ่านหนังสือมากกว่าที่เขาเขียนหลายเท่า และทุกครั้งที่เป็นไปได้ควรมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในชีวิตภาคปฏิบัติ ซึ่งรวมทั้งการแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ทางสังคม ตลอดจนการเดินทางไปดูโลกและพบปะผู้คน
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เชื่อหรอกว่าชีวิตของศิลปินจะต้องปล่อยตัวเรื่อยเปื่อยตามอารมณ์ หรือยึดถือความพอใจของตัวเองเป็นใหญ่โดยไม่สนใจว่าทำร้ายใครไปบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากวิถีชีวิตดังกล่าวขัดแย้งกับการเติบโตทางจิตวิญญาณในระดับประสานงา
กล่าวสำหรับการเดินทาง ถ้าเป็นแค่การเก็บระยะทางหรือบันทึกความยากลำบากมาเสริมอัตตาก็อาจจะไม่ช่วยอะไร แต่ถ้าหากผนวกการเดินทาง’ข้างใน’เอาไว้ด้วย โดยสามารถอ่านนิมิตจากภูเขา สายน้ำและเกลียวคลื่น มาเสริมสร้างความเข้าใจที่มีต่อโลกและชีวิต การเดินทางก็นับว่ามีประโยชน์มหาศาล
ทั้งนี้และทั้งนั้น เราพึงเข้าใจว่าประโยชน์สูงสุดของการเดินทาง สำหรับคนที่แสวงหาทางจิตวิญญาน คือการฝึกถอนตัวจากความผูกพัน และเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่งของปรารถนา
อันที่จริง แม้บ่อยครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าการเติบโตของชีวิตคนมีส่วนคล้ายการเดินทาง นั่นเป็นเพราะเรายังคงหมุนวนอยู่กับการค้นหาจุดหมายและหาทางไปสู่จุดหมาย แต่ในระดับที่ข้ามพ้นคุณค่าและความหมาย ชีวิตกลับเหมือนการร่ายรำอยู่กับที่มากกว่า
กล่าวคือในแต่ละห้วงขณะของลมหายใจ คนเป็นหนึ่งเดียวกับเสียงเพลง ใจเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกาย ชีวิตไม่ได้เคลื่อนที่เป็นระยะทาง แต่พลิ้วไหวเพียงเพื่อรักษาเอกภาพของการดำรงอยู่ ระหว่างนั้นความปีติเบิกบานย่อมผุดพรายขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลใดๆมารับรอง
สรุปรวมความแล้วก็คือว่าการเขียนหนังสือเพื่อช่วยสร้างเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม และจิตวิญญาณให้กับสังคมนั้น ค่อนข้างจะเรียกร้องจากตัวผู้เขียนมากทีเดียว พูดง่ายๆคือคนเขียนต้องสร้างพลังทางปัญญาและความสามารถทางศิลปะให้กับตัวเองก่อน หาไม่แล้วก็จะไม่มีแรงส่งสารที่เพียงพอ
ทั้งนี้และทั้งนั้น ในโลกดังที่เป็นอยู่ เราคงต้องยอมรับว่าลำพังความพยายามของนักเขียนเพียงฝ่ายเดียวคงไม่พอ บทบาทของสำนักพิมพ์ และองค์กรอย่างสมาคมนักเขียนก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในการช่วยเปิดพื้นที่ให้กับงานเขียนที่ส่งเสริมมนุษยชาติและจรรโลงสังคมมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เราจำเป็นต้องอาศัยผู้คนหลายฝ่าย มาช่วยกันจัดหาสถานที่เผยแพร่ผลงานให้ได้อย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ ช่วยต่อรองกับร้านหนังสือให้เห็นความสำคัญของมิติทางด้านวัฒนธรรม หรือช่วยรณรงค์ให้สังคมยกระดับรสนิยมในการเสพศิลปวรรณคดี เป็นต้น
เพื่อนนักเขียน และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย…
ผมเริ่มบทสนทนาวันนี้ด้วยการเอ่ยถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยยืนยันว่าการเมืองเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากมิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ในวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่าความเจริญทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้ยาก ในสังคมที่เสื่อมทรุดทางด้านวัฒนธรรมและแตกสลายทางจิตวิญญาณ
แน่นอน ผมยอมรับว่าการกล่าวเช่นนั้นอาจจะรวบรัดตัดความหรือมีลักษณะกลไกอยู่บ้าง อันที่จริงการเมืองยังถูกกำหนดด้วยปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่าง อีกทั้งสถานการณ์เลวร้ายก็อาจพลิกผันไปสู่แสงสว่างได้ ถ้ามันผลักดันให้ผู้คนเกิดสติตื่นรู้ขึ้นมาอย่างฉับพลัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมกล่าวไว้ในตอนแรกยังคงเป็นความจริงโดยพื้นฐาน และความสำคัญของประเด็นวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่มีต่อความอยู่รอดหรือความ เจริญของบ้านเมืองยังคงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
ไม่เพียงแต่เรื่องการเมืองเท่านั้นที่ต้องอาศัยวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งเป็นรากฐาน แม้ในเรื่องของเศรษฐกิจก็เช่นกัน ถ้าหากไม่มีวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกและจิตวิญญานที่สูงพอคอยกำกับ การเติบโตหรือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจก็เป็นเพียงกระบวนการผลิตอนารยชนรุ่น ใหม่เท่านั้นเอง
กล่าวเช่นนี้แล้ว ผมไม่ได้หมายความว่าการเขียนหนังสืออย่างสร้างสรรค์จะต้องมีฐานะเป็นแกนกลาง ของวิถีวัฒนธรรมหรือเป็นหัวใจของกระบวนการขัดเกลาทางด้านจิตวิญญาณ การเขียนหนังสือเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ส่วนทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ และกำลังตกอยู่ในสภาพน่าห่วงยิ่ง
เรียนตรงๆว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราจะสามารถรักษาการเขียนหนังสือและนักเขียนในแนวนี้ ไว้ได้หรือไม่ หรือได้อีกนานแค่ไหน ผมเพียงแต่รู้สึกว่าเรายังต้องพยายาม และขอเชิญชวนท่านทั้งหลายมาพยายามร่วมกัน
รบกวนเวลาของท่านมามากแล้ว ขอขอบพระคุณที่กรุณารับฟัง
« « Prev : น้ำไม่มี
2 ความคิดเห็น
อ่าน ๒-๓ ย่อหน้าแรก พอมาถึงข้อความว่า “นักเขียนคนหนึ่งอาจจะต้องอ่านหนังสือมากกว่าที่เขาเขียนหลายเท่า” … ก็นึกขำตอนเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ซึ่งถูกอาจารย์เอกภาษาอังกฤษวิจารณ์ตั้งแต่คำว่า supererogation อาจเขียนผิดเพราะไม่เคยเจอ (……..) ทำให้คิดต่อไปว่า *อ่านหนังสือคนละเป็นเข่ง แล้วก็มาเถียงกัน…
พอมาถึงข้อความว่า “ถ้าเป็นแค่การเก็บระยะทางหรือบันทึกความยากลำบากมาเสริมอัตตาก็อาจจะไม่ช่วยอะไร” … ก็บอกได้ว่า “ถูก ถูกต้องแล้วคร๊าบบบบบบ…
เช่้านี้ ตื่นมาก็กวาดศาลา เพราะหากสายหน่อย บางครั้งลมแรงไม่อาจกวาดได้สะดวก กวาดไปก็คิดไป อย่างหนึ่งที่ขึ้นสู่คลองความคิดก็คือ พระพุทธเจ้าตอบมาณพคนหนึ่งว่า “โลกมีความเพลิดเพลิน ผูกพันอยู่ ความตรึกเป็นเครื่องสัญจรของโลก”
ความเห็นส่วนตัวปัจจุบัน การอ่านหนังสือหรือการเขียนหนังสือเป็นเพียงความเพลิดเพลินของจิต เป็นเพียงความตรึกหรือความคิดเท่านั้นที่ท่องเที่ยวไปในโลกแห่งจินตนาการ… แต่ถ้าอ่านอะไรแล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นในทางที่เป็นคุณต่่อผู้อ่าน นั่นแหละคือสิ่งประเสริฐในการอ่าน
เคยอ่านนิยายเรื่องมือปืนตะวันออก ตอนเป็นวัยรุ่น (น่าจะสามสิบปีกว่าปีก่อน) ผู้ประพันธ์ได้บรรยายถึงอดีตของหัวหน้าซุ่มมือปืนว่า ก่อนนั้นเค้าเป็นเด็กสิบล้อและพัฒนามาเป็นคนขับรถสิบล้อ ซึ่งถูกรังแกข่มเหงอยู่ตลอด… ต่อมาเค้าไปพบแผ่นกระดาษข้างถนนแผ่นหนึ่ง หยิบขึ้นมาอ่าน ในแผ่นกระดาษนั้นบรรยายทำนองว่า ถ้าคุณมีผมเป็นเพื่อนดีกว่ามีเพื่อนอื่นๆ ดูแลผมให้ดี จะช่วยได้เสมอยามมีปัญหา (บรรยายยาว…) ผมคือใครหรือ ผมคือ .๔๕ แมกนั่ม ฯ และนั่นทำให้เค้าสะสมเงินซื้อปืน ต่อมาตัดสินใจด้วยปืน แล้วก็พัฒนามาเป็นมือปืน….
จากนิยายเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เพียงเศษกระดาษที่อ่านก็อาจมีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านมาก (แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่เป็นคุณก็ตาม)
เจริญพร
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะชี้เกี่ยวกับการเขียนบันทึกเสมอมาครับ ถ้าเขียนแล้วไม่มีใครได้อะไรแม้แต่แง่คิด ก็ไม่แน่ใจว่าจะเขียนไปทำไมนะครับ