ปัญหาชวนคิดของน้ำป่า

อ่าน: 3595

อนุสนธิจากการประชุมกับกลุ่ม CSR โคราชเมื่อวันอาทิตย์ (บันทึกที่แล้ว) มีข้อมูลของคุณอลงกต ผอ.กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย

คุณอลงกตอยู่ในพื้นที่ เดินป่า และรู้จักเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่ารุ่นบุกเบิกมากมาย เล่าให้ฟังว่าน้ำท่วมคราวที่แล้ว ท่วมมิดหลังช้างซึ่งติดอยู่กับกอไผ่ ช้างต้องชูงวงขึ้นเหนือน้ำเอาตัวรอด จนเจ้าหน้าที่ไปช่วยแก้ไขนำออกมา

ในป่าเขาใหญ่ ลำน้ำที่ไปลงลำตะคองผ่านปากช่องนั้น ต้นน้ำอยู่ลึกเข้าไปในป่า กลางทางเป็นน้ำตกเหวสุวัต ความเร็วของกระแสน้ำตั้งแต่ต่นน้ำจนถึงน้ำตกเหวสุวัต พวกเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าเก่าๆ บอกว่าไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่กระแสน้ำมีความเร็วสูงขึ้นมาก ตั้งแต่น้ำตกเหวสุวัตลงไปยังเขื่อนลำตะคอง ผ่านหมูสี ขนงพระ หนองน้ำแดง ปากช่อง จันทึก ทั้งนี้เป็นเพราะผู้คนเข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำให้สภาพริมตลิ่งเปลี่ยนแปลงไป

เปลี่ยนอย่างไร: คุณอลงกตอธิบายว่าเมื่อก่อน ริมตลิ่งมี swamp (พื้นที่ปะทะของน้ำ) เมื่อน้ำป่าไหลบ่ามาชนตลิ่งที่คดเคี้ยว ก็จะไหลท่วมตลิ่งเข้าสู่ที่ลุ่มชุ่มน้ำ ลดความรุนแรงลง แล้วก็จะไหลออกไปตามแรงดึงดูด

ต่อมาเมื่อมีการตั้งบ้านเรือน พื้นที่ swamp ถูกปรับปรุง ถูกถม มีเขื่อน ทำให้น้ำป่าไหลบ่าไปตามทางน้ำ โดยไม่มีอะไรมาชะลอความเร็วลง ดังนั้นเมื่อฝนตกหนัก น้ำป่าใช้เวลาไม่นานที่จะไหลเข้าท่วมชุมชนในที่ต่ำกว่า ทำให้ชาวบ้านมีเวลาในการขนของหนีน้ำน้อย ข้าวของจึงเสียหายมาก


คลิกบนรูปเพื่อดูแผนที่ใหญ่

จุดแดงในแผนที่คือน้ำตกเหวสุวัตครับ แต่น้ำตกก็ยังไม่ใช่ต้นน้ำ ทางทิศใต้ของน้ำตกเหวสุวัต เป็นพื้นที่รับน้ำฝนขนาดกว้างใหญ่ ฝนที่ตกในบริเวณนี้ จะไหลลงไปรวมกันเป็นต้นทางของน้ำตกเหวสุวัต

จะให้ดีที่สุดคือชะลอน้ำไว้ตั้งแต่ต้นทางเลย แต่ว่าบริเวณพื้นที่รับน้ำเป็นเขตป่าอุทยานแห่งชาติ ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี

ในเมื่อชะลอน้ำไว้ไม่ได้ น้ำจะไหลลงมาตามทางน้ำ ก็ควรจะมีระบบเตือนภัยชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนในเขตที่น้ำท่วมถึง ปัจจุบันเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำที่อยู่ต้นทางที่สุดคือที่หมูสี ซึ่งเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับ ขนงพระ หนองน้ำแดง ปากช่อง และจันทึกได้ แต่เตือนหมูสีไม่ทันเพราะถ้าเครื่องมือตรวจจับได้ ก็แปลว่าน้ำป่ามาถึงหมูสีแล้ว ทีนี้การติดเครื่องมือในจุดที่ลึกเข้าไป ก็ยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าและระบบสื่อสารอีก

ธรรมดาการวัดน้ำในร่องน้ำนั้น ไม่ใช่แต่เพียงระดับ แต่จะวัดปริมาณการไหลของน้ำ ทำให้รู้ว่าน้ำไหลผ่านจุดวัดกี่ลูกบาศก์เมตร/วินาทีด้วย เมื่อรู้ว่าในร่องน้ำมีปริมาณน้ำเท่าไหร่ ก็จะรู้ว่าท้ายน้ำกำลังจะเจอกับอะไรในเวลาอีกเท่าไหร่

ปริมาณน้ำ(ลูกบาศก์เมตร/วินาที) นอกจากวัดจากความเร็วในการไหลของน้ำ(เมตร/วินาที) x พื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ(ตารางเมตร)แล้ว ยังพอประมาณได้จากปริมาณฝนตก(มิลลิเมตร/ชั่วโมง) x พื้นที่รับน้ำฝน(ตารางกิโลเมตร)อีกด้วย

ดังนั้น ถึงไม่มีร่องน้ำ ก็ยังพอประมาณปริมาณน้ำป่าได้จากปริมาณฝน — ทิศทางของลม บางทีก็มีส่วน เรียกว่า rain shadow คือฝนตกด้านเดียวของภูเขา อาจทำให้ฝกตกหนักผิดปกติ หรือวัดไม่ได้เลยเพราะตกอีกด้านหนึ่งของเขา (หรือตกสองฝั่งของสันเขาไม่เท่ากัน)

« « Prev : การประชุมกับ CSR โคราช

Next : วัดปริมาณน้ำฝน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.28986287117 sec
Sidebar: 1.0987961292267 sec