หัวใจนักปราชญ์ ตีความแบบตามใจฉัน

อ่าน: 9283

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต วัดราชโอรสาราม กล่าวในหนังสือ พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด ถึงคาถาบาลีบทหนึ่งว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กถัง โส ปํณฑิโต ภเว แปลว่า ผู้ปราศจาก สุ จิ ปุ ลิ จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร คาถาบทนี้ เป็นที่ถือกันว่าเป็นหัวใจนักปราชญ์

ผมลองค้นพระไตรปิฎกดู ไม่พบทั้ง “สุ จิ ปุ ลิ” และ “หัวใจนักปราชญ์” และเมื่อพิจารณาดูว่าสมัยพุทธกาล อักษรเทวนาครี/อักษรพราหมณ์ มีไว้เพื่อจารึกพระเวทย์ และมีไว้ใช้ในวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เท่านั้น ตัว ลิ (ลิขิต/เขียน) จึงไม่น่าจะเกิดจากสมัยนั้น น่าจะเป็นเกจิอาจารย์แต่งเสริมขึ้นในสมัยหลัง เลยค้นไม่พบในพระไตรปิฎก [พาหุสัจจะ ตามความหมายในพระไตรปิฎก]

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า สุ จิ ปุ ลิ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมาก เพียงแต่การตีความนั้น ผมขยายออกไปอีก ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวครับ บางส่วนเล่าให้ฟังแล้วในกิจกรรมอ่างปลา

ความรู้ไม่ได้ถ่ายให้กันได้ง่ายๆ เหมือนเทน้ำจากถังหนึ่งไปยังอีกถังหนึ่ง ฝั่งผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดนั้น เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ต้องใช้แสวงหาเอา แต่ปัจจัยที่เกิดขึ้นในตัวเรา (ซึ่งไม่ต้องไปโทษใคร) นั้น คือ สุ จิ ปุ ลิ ของกระบวนการเรียนรู้นั่นล่ะครับ

สุตะ (สุ) ฟัง

หมายถึงการเป็นผู้สดับตรับฟังมาก เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ หรือนิสัยการไม่ปิดกั้นการรับข้อมูลใหม่เข้ามา (ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว) นอกจากจะเป็นการฟัง การอ่านแล้ว ยังรวมถึงการสังเกต และการตั้งข้อสังเกต ใช้สติเป็นอย่างมาก ที่จะแยกแยะสาระออกจากสิ่งที่ไม่ใช่สาระ

จินตะ (จิ) คิด

หมายถึงการพินิจพิจารณา ไตร่ตรอง ไม่เชื่อ+ไม่ปฏิเสธในทันทีที่ได้รับข้อมูลใหม่เข้ามา [เรา สอน "กาลามสูตร" ไม่ครบ ตามพระไตรปิฎก] การปักใจเชื่อหรือปฏิเสธไปทันทีเลย เป็นการตัดสินโดยใช้อคติ ซึ่งแม้มีโอกาสถูกต้อง แต่เป็นเช่นเดียวกับการเชื่อหมอดู

ปุจฉา (ปุ) ถาม

ปุจฉา ไม่ได้หมายถึงการถามเฉพาะสิ่งที่ไม่เข้าใจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการสอบทานในสิ่งที่ “คิดว่า” เข้าใจด้วย เป็นการสอบทานว่าสิ่งที่เรียนรู้มานั้น เป็นแก่นของความรู้ ซึ่งจำเป็นมากต่อการประยุกต์ใช้ในอนาคต; อย่ากลัวว่าถามแล้วจะโง่ เพราะรู้ไปผิดๆ แล้วไม่ถามนั้น โง่แน่ๆ แต่ถ้าถามแล้วอาจฉลาดขึ้น

ลิขิต (ลิ) เขียน

อานิสงส์ของการเขียนนั้น ไม่เพียงเป็นเครื่องมือช่วยให้จดจำความรู้ที่เรียนรู้มาใหม่ได้เท่านั้น แต่การเขียนยังเป็นการเรียบเรียงความคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อถ่ายทอดต่อ (ให้กับตนเอง หรือให้กับผู้อื่น) ถ้าไม่ถ่ายทอด ก็ไม่เจอคำถาม อาจเกิดความช่ำชองได้น้อยหรือช้ากว่า

ผมคิดว่า สุ จิ ปุ ลิ เป็นทักษะ ซึ่งก็หมายความว่าฝึกฝนได้ครับ

ปราชญ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า ผู้มีปัญญารอบรู้

ปราชญ์ไม่เคยติดไฟกระพริบไว้ที่หน้าผากบอกว่าข้าพเจ้าเป็นปราชญ์ ข้าพเจ้ารู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง; ผู้เป็นปราชญ์นั้น ไม่เคยยกตัวเองว่าเป็นปราชญ์ เพราะปราชญ์รู้จักตัวเองดี รู้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ทั้งข้อดีและข้อด้อย มี self-esteem รู้อยู่ว่าคุณค่าของตน ไม่ได้ขึ้นลงตามคำยกย่องหรือก่นด่าของใคร; แต่เป็นผู้อื่นเอง ที่กลับยกย่องท่านว่าเป็นปราชญ์ ด้วยมองเห็นว่าเป็นผู้มีปัญญารอบรู้

การที่ผู้อื่นมองเห็นได้นั้น คงจะต้องมีปฏิสัมพันธ์เชิงอธิบายความมาก่อน อาจกล่าวได้ว่าผู้เป็นปราชญ์ใช้ภาษาได้ดี มีความคิดที่เป็นระบบ และสามารถถ่ายทอดความคิดเหล่านั้น จนผู้อื่นมองเห็นความจริงตามที่เป็น

ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้รู้กล่าวไว้ว่าภาษาเป็นเครื่องมือของปราชญ์ หมายความว่าปราชญ์จะใช้ภาษาได้ดีเสมอ เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ หรือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ใช้ภาษาได้ดีจะเป็นปราชญ์เสมอไปหรอกนะครับ

ผู้มีลักษณะเป็นปราชญ์ มีสามอย่างที่โดดเด่น คือกระบวนการเรียนรู้ (รับคุณค่าจากภายนอก) การพิจารณาและเรียบเรียงความคิด (เพิ่มคุณค่าภายใน) และความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่นและกับตนเอง (เพิ่มคุณค่าให้กับผู้อื่นที่สามารถรับไปได้)

« « Prev : เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

Next : เมื่อเอาใจนำ ทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุข — ศ.นพ.ประเวศ วะสี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

11 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 April 2009 เวลา 0:44

    สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตฺโต      กถํ โส ปณฺฑิโต ภเว
    สุ จิ ปุ ลิ สุสมฺปนฺโน    ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจเต ฯ

    • สุ จงตั้งใจฟังอย่าขี้เกียจ
    • จิ คิดให้ละเอียดข้อสงสัย
    • ปุ ลืมหลงจงถามอย่าเกรงใจ
    • ลิ จำไม่ได้เขียนไว้ก็ดีเอย ฯ

    สมัยเรียนบาลี พอเลิกเรียน จะสวดมนต์ไหว้พระ แล้วก็มาจบที่ตรงนี้…

    อีกอย่างหนึ่ง จำมาว่า หน้าแรกหนังสือประถมจินดา เขียนไว้ว่า…

    • เริ่มเรียนให้เร่งรู้            ทั้งสี่องค์ประมาณหมาย
    • หนึ่งฟังอย่าฟังดาย        ให้ตั้งจิตกำหนดจำ
    • หนึ่งให้อุตสาหะ             เอาจิตคิดพินิจคำ
    • หนึ่งห้ามอย่าเอื้อนอำ     ฉงนใดให้เร่งถาม
    • หนึ่งให้หมั่นพินิจ           ลิขิตข้อสุขุมความ
    • สี่องค์จึงทรงนาม          ว่าศิษย์แท้ที่ศึกษา

    ประการหลังนี้ ไม่รับประกันว่าจะถูกต้องตามต้นฉบับหรือไม่ เพราะจำมานานแล้ว (……….)
    เจริญพร

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 April 2009 เวลา 0:59
  • #3 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 April 2009 เวลา 8:28

    สาธุ สาธุ สาธุ เจริญธรรมแต่เช้า

  • #4 panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 April 2009 เวลา 9:52
    • สาธุ 5 ครั้งนะครับ…….55555 เช้าวันนี้ ได้รับรู้ (ฟัง) โดยไม่ต้องอ่านแต่เช้า…..อิอิ
    • ต้องเข้ามา แสดงความคิดเห็น หน่อยนะครับ เพื่อการ ลปรร.
    • ฝรั่ง นำธรรมะ ไปแปลงเป็น วงจรการเรียนรู้ ขายได้ ดูดี ทันสมัย…..ท่านไร้กรอบ จับมารวมกัน….อิอิ
  • #5 panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 April 2009 เวลา 9:54
    • ขออภัยครับ คำว่า ฝรั่ง แปลว่า ชาวต่างประเทศ นะครับ…..ท่านโนนะคะ กับ ป้าท่านเน้น….อิอิ
  • #6 b ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 July 2009 เวลา 22:40

    สาธุ ขอขอบพระคุณ กับข้อความสุจิปุลิ จะเป็นประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้ามาก

  • #7 จรูญ ฤทธิ์เดช ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 October 2009 เวลา 18:52

    จรูญ ฤทธิ์เดช    โทร 0879362656
    การปฏิรูปการศึกษาไทย…..สู่แนวปรัชญา สุ.จิ.ปุ.ลิ.

    นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้ทุกภาคส่วนการศึกษา มีการปฏิรูปการศึกษา โดยให้ “ ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” ซึ่งประกาศใช้มา 10 ปีที่แล้ว ยังไปไม่ถึงไหน ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวคิดเห็น สิ่งที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวดังนี้
    นักการศึกษาไทยไม่สร้างปรัชญา ปรัชญาสร้างได้หรือไม่ ปรัชญาสร้างได้อย่างไร ทำไมต้องสร้าง ปรัชญา แล้วปรัชญาคืออะไร เป็นคำถามที่คนทั่วไปอยากรู้
    “ ปรัชญา ” มีความหมายตามพจนานุกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า เป็น “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง ” ปรัชญาการศึกษาเป็นความเชื่อความศรัทธา ความเห็นดีเห็นงาม ความเชื่อถือในแนวคิดทางการศึกษา ซึ่งความเชื่อถือและความเห็นคุณค่านี้เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้บุคคลคิดและกระทำในเรื่องที่มีความสอดคล้องกับความศรัทธาเชื่อถือนั้นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ความศรัทธาเชื่อถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักจะเกิดได้ 2 ทาง คือ ทางแรกเกิดจากความคิด ความรู้สึกภายในหรือแรงบันดาลใจ ซึ่งเกิดขึ้นกับตนเองจากประสบการณ์ต่างๆทางที่สองเกิดจากการได้เรียนรู้ในเรื่องนั้นจากบุคคลหรือประสบการณ์ผู้อื่นจัดให้ จนกระทั่งเห็นคุณค่า หรือศรัทธาเชื่อถือขึ้นมา หนทางแรกมักเกิดกับผู้เป็นต้นคิดของปรัชญาต่างๆ ซึ่งเรามักถือว่าเป็น นักปรัชญา ส่วนทางที่สอง มักเกิดกับผู้ศึกษาเล่าเรียน ที่มีโอกาสได้เรียนรู้ความคิด ได้เห็นแบบอย่าง และได้รับประสบการณ์ในเรื่องนั้น จนเกิดการซึมซับความคิดนั้นเข้าไปในตนเอง สรุปได้ว่าผู้เป็นต้นคิดของปรัชญาหรือนักปรัชญามีไม่มาก แต่ผู้ที่เชื่อในปรัชญาและผู้ทำตามปรัชญามีจำนวนมากกว่า ส่วนปรัชญาใดจะมีผู้ตามจำนวนมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ อีกมาก เช่น สาระของปรัชญา ความยากง่ายของปรัชญา วิธีจูงใจ ความเหมาะสมกับปัญหาและสถานการณ์ในยุคนั้น และสถานะของบุคคลที่คล้อยตามเป็นต้น( ทิศนา แขมมณี 2550 ,หน้า 24)
    ปรัชญาการศึกษาไทย
    ในช่วงของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือระหว่างปี พ.ศ. 2325 – 2426 ประเทศไทยไม่มีโรงเรียน จะเรียนที่วัดหรือที่บ้าน มุ่งให้นักเรียนอ่าน – เขียนภาษาไทย และคิดเลขได้ ถ้าต้องการเรียนช่างก็เรียนที่บ้าน หนังสือตำราที่ใช้คือ จินดามณี ปฐม ก กา ปฐมมาลา วิธีสอนให้ท่องจำ และฝึกหัดทำตาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับอิทธิพลการศึกษาจากทางยุโรป พระองค์ทรงตั้งโรงเรียนตำหนักสวนกุหลาบ และเริ่มให้การศึกษาแก่ประชาชน โดยมุ่งหมายฝึกหัดคนเข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยเริ่มมีแผนการศึกษา นำปรัชญาและทฤษฎีจากยุโรปมาดัดแปลงใช้ในโรงเรียนฝึกหัดครู โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาทั่วหน้า เน้นองค์ 3 คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา เพื่อความเป็นพลเมืองดี ในสมัยราชการที่ 7 เป็นยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง การศึกษาของชาติปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตย การศึกษาได้ขยายถึงอุดมศึกษา รวมทั้งศึกษาผู้ใหญ่ มีการนำการสอนของแฮร์บาร์ท
    ( Herbart ) มาใช้สอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาต่อในประเทศอเมริกา และยุโรป ต่อมานักเรียนที่สำเร็จการศึกษาได้นำแนวคิดการจัดการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป เข้ามาประยุกต์ในการจัดการศึกษาของไทย เป็นเหตุให้ประเทศไทยรับเอาปรัชญาการศึกษาสากล เช่น ปรัชญาสารัตถนิยม ( Essentialism ) ปรัชญาสัจนิยมวิทยา ( Perennialism ) ปรัชญาพิพัฒนนิยม ( Progressivism ) และปรัชญาอื่นๆมาใช้ในการจัดการศึกษาของไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานักคิด นักการศึกษาไทยจำนวนหนึ่งได้เริ่มตระหนักในอิทธิพลของต่างประเทศ และเริ่มหันมาศึกษาค้นหาสิ่งดีมีคุณค่าในวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ซึ่งเชื่อว่า น่าเหมาะสมกับประเทศและคนไทยมากกว่าสิ่งที่รับมาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจากไทย นักการศึกษาไทยได้เริ่มตั้งคำถามเชิงปรัชญา การศึกษาไทยควรใช้ปรัชญาอะไร เรามีปรัชญาการศึกษาไทยแล้วหรือยัง ปรัชญาการศึกษาไทยของเราคืออะไร (ทิศนา แขมมณี 2550 , หน้า 29 )
    ปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา
    ทิศนา แขมมณี ( 2550 ,หน้า 34 ) ปรัชญาการศึกษาเป็นแนวคิด ความเชื่อ ที่ใช้เป็นหลักในการคิด และการจัดหลักสูตรและการสอนให้แก่ผู้เรียนดังนั้น ผู้เป็นครูซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียน
    การสอนให้แก่ผู้เรียน จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของปรัชญาการศึกษาด้วย ปัญหาพื้นฐานที่พบบ่อยๆมี 2 ประการคือ
    1. ครูส่วนใหญ่ตอบคำถามไม่ได้ เหตุใดจึงจัดการเรียนการสอนแบบที่ทำอยู่ ทำไมจึงทำอย่างนี้ ทำไมไม่สอนแบบอื่น หรือถ้ายิ่งถามตรงๆ ว่า ครูใช้ปรัชญาหรือหลักการอะไรในการสอน ครูมักจะตอบไม่ได้ ทั้งๆที่ได้ทำไปแล้ว ความจริงก็คือ ครูส่วนใหญ่ปฏิบัติการสอนไปตามที่เคยได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาและฝึกฝนมา เคยเห็น เคยทำอย่างไร ก็ทำตามนั้น โดยไม่ตระหนักว่า สิ่งที่ทำนั้นๆ มาจากหลักการหรือฐานความคิดอะไร หรือไม่รู้ตัวว่า ตนทำสิ่งนั้นๆ เพราะอะไร ที่เป็นเช่นนี้ เพราะครูเหล่านั้นมักมุ่งความสนใจ หรือได้รับการสอนที่มุ่งไปที่วิธีการทำ วิธีปฏิบัติ หรือเทคนิควิธีการ มากกว่าการทำความเข้าใจในพื้นหลักการของเทคนิควิธีเหล่านั้น ซึ่งบางท่านอาจจะแย้งว่า การที่ครูปฏิบัติได้ แต่ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การทำได้และอธิบายได้ด้วยนั้น เป็นการดีที่สุด ครูที่ไม่แม่นในหลักการ สนใจแต่เทคนิควิธีการต่างๆ อาจปฏิบัติได้จริง แต่การปฏิบัติมักอยู่ในรูปแบบของการเลียนแบบ ไม่สามารถยืดหยุ่นการสอนของตนให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้ และไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งนั้นให้งอกงามได้ เพราะขาดหลักที่มั่นคง จะผิดกับครูที่ปฏิบัติโดยแม่นในหลักการ เขาจะสามารถแก้ปัญหา ปรับการสอน ใช้เทคนิควิธีการอื่นๆที่นอกเหนือจากแบบอย่างที่เห็นหรือเคยได้รับมา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
    ซึ่งยังอยู่บนหลักการเดียวกันได้
    2. ในทางตรงกันข้ามกับข้อแรกครูบางคนบอกว่าตนมีความเชื่อถือเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดหนึ่ง และสอนตามแนวคิดนั้น แต่ปรากฏว่า พฤติกรรมในการสอนตลอดจนการกระทำหลายๆอย่างของครูกลับไม่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวคิดนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ครูรู้ว่า ครูควรมีคุณสมบัติของ
    ความเป็นประชาธิปไตย ครูควรรับฟัง ยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน และควรฝึกให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติดังกล่าวด้วย แต่ปรากฏว่า ครูมีการกระทำหลายอย่างที่เป็นในทางตรงกันข้าม เช่น เมื่อผู้เรียนเสนอความคิดที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน ก็แสดงกิริยาท่าทางที่ไม่พอใจ บางครั้งก็เผลอใช้วาจาดูถูกผู้เรียนที่เรียนอ่อน และแสดงความพอใจ สนับสนุนผู้เรียนที่เรียนเก่ง โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างไม่เสมอภาค ยุติธรรม กรณีทำนองนี้ มีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากครูส่วนใหญ่รับความคิด ความเชื่อ หรือปรัชญาต่างๆ มาจากการศึกษา หรือรับรู้มาว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้ดี ควรกระทำ จนกระทั่งคิดว่าตนมีความเชื่อถือ ศรัทธา ในแนวคิดนั้นจริงๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ในความเป็นจริงหรือใจจริงเล็กๆแล้ว มิได้มีความเชื่อถือ ศรัทธาอย่างแท้จริงเกิดขึ้น เป็นผลทำให้เกิดการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อที่ตนคิดว่าเชื่อ หรืออาจเป็นเพราะสิ่งที่เชื่อนั้นยังไม่เข้มข้น ความเชื่ออื่นหรือความเชื่อเก่าซึ่งแฝงอยู่ในส่วนลึกอาจมีพลังมากกว่าก็เป็นได้ ที่กล่าวมาเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ครูเหล่านั้นมีความผิดที่ไม่สามารถปรับหรือพัฒนาตนเองให้มีพฤติกรรมตามปรัชญาการศึกษาที่พึงประสงค์ เพียงแต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาลักษณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เนื่องจากการศึกษาเล่าเรียนหรือการรับรู้ในแนวคิดใดๆนั้น แม้จะสามารถปลูกฝังความคิด ความเชื่อ ต่างๆได้ แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้เต็มที่ว่า จะช่วยให้บุคคลนั้นมีความเชื่อถือ ศรัทธาในความคิดนั้นอย่างแท้จริง ความเชื่อถือศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแท้จริง จนกระทั่งการกระทำต่างๆ ของตนมีความสอดคล้อง กลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเชื่อของตนนั้น ต้องอาศัยปัจจัยอย่าง ที่สำคัญคือ เวลา ประสบการณ์ บทพิสูจน์ ผลที่ได้รับ ซึ่งสามารถช่วยปรับระดับความเชื่อให้มากขึ้นหรือลดลงได้ แล้วแต่กรณี
    ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธศาสนา โดย จรูญ ฤทธิ์เดช
    ในพระพุทธศาสนา การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากทวารทั้ง 6 ได้แก่ ทางหู ทางตา ทางจมูก
    ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของมนุษย์ทั่วไป
    การสัมผัสทางหู เกิด การฟัง การสัมผัสทางตา เกิด การดู การสัมผัสทางจมูก เกิด การรับกลิ่น การสัมผัสทางลิ้น เกิด การรับรู้รส และการพูด การอ่าน การสัมผัสทางกาย เกิด ทักษะทางกาย (การเขียน)
    และการสัมผัสทางใจ เกิด การคิดและจินตนาการ ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฟัง คิด ถาม และเขียน ซึ่งมาจากคำว่า สุ.จิ.ปุ.ลิ.
    การเรียนรู้ต้องอาศัยหลักการของไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา
    1.ศีล คือ ความประพฤติที่ถูกต้อง รู้จักยับยั้งควบคุมปัญหาให้อยู่ในขอบเขตและสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในสภาวะปลอดโปร่ง จิตแจ่มใส เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความพร้อมที่จะรับรู้
    2. สมาธิ คือ การสำรวมจิต ให้จิตมีเพียงอามณ์หนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ
    3.ปัญญา คือ การเห็นทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
    พระพุทธเจ้าทรงแบ่งปัญญาออกเป็น 3 ระดับ
    1. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่ได้จากการคิด คิดด้วยตนเอง คิดทบทวนหลายๆครั้ง
    2. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่ได้จาการเรียนรู้ จะต้องอาศัยหลัก สุ.จิ.ปุ.ลิ.
    สุ คือ สุตวา การฟัง การฟังมาก และฟังอย่างมีสมาธิ
    จิ คือ จินตนา การคิดสร้างสรรค์ การคิดบวก เป็นการพัฒนาโลกที่ไม่มีการหยุดยั้ง
    ปุ คือ ปุจฉา การซักถามให้เกิดองค์ความรู้ ในสิ่งที่ต้องการจะรู้
    ลิ คือ ลิขิต การเขียนเป็นการบันทึกองค์ความรู้ไว้เป็นหลักฐาน ป้องกันการลืม
    3. ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ได้มาจากการหยั่งรู้ จากการกำหนดสติและสมาธิเท่านั้น
    เป็นปัญญาขั้นสูงสุด
    การประยุกต์ใช้ในการศึกษา
    พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนาได้ทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอนเกี่ยวกับ
    “ สัจธรรม ” ซึ่งเป็นความจริงสูงสุดหรือความจริงแท้ มาประมาณ 2500 กว่าปีแล้ว หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอน หัวใจนักปราชญ์ คือ สุ.จิ.ปุ.ลิ. ได้แก่ สุ : สุตวา คือ การฟัง จิ : จินตนา คือ การคิด และจินตนาการ ปุ : ปุจฉา คือ การซักถาม ลิ : ลิขิต คือ การเขียนและการบันทึก พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ยังเป็นที่ยึดถือของพุทธศาสนิกชน สืบต่อกันมาจนปัจจุบันอย่างได้ผล ผู้เขียนจึง ได้นำหลักการ
    สุ.จิ.ปุ.ลิ. ของพระองค์นำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับ
    นักการศึกษา ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ได้ใช้เป็นแนวทางในการเรียนการสอนต่อไป
    ควรส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่มีความคิดใหม่ สร้างดาวฤกษ์ ที่มี แสงสว่างในตัวเอง มองหาช้างเผือกในวงการศึกษา ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและความเป็นไทย เราจะต้องเข้าใจและเรียนรู้ ประเพณี วัฒนธรรมไทย เข้าใจนิสัยของคนไทย เช่น คนไทยไม่กล้าคิด กลัวผิด ทำงานกลุ่มไม่เป็น ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าซักถาม จากการติดตามชมภาพข่าวในพระราชสำนัก ได้เห็นพระอริยะบถของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในการมุ่งมั่นต่อการจดบันทึก สิ่งที่เป็นสาระความรู้ด้านต่างๆ พระองค์ทรงเป็นครูให้กับคนไทยทุกคนในด้านการจดบันทึก จากภาพประทับใจดังกล่าว ทำให้ผู้เขียน มีความรู้สึกมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาการเรียนการสอน ให้กับคนไทยทุกคน เพราะเราคือ ครูมืออาชีพ ซึ่งอยู่ภายใต้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้เขียนขอเสนอแนะหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ หัวใจนักปราชญ์ สุ.จิ.ปุ.ลิ. จึงได้นำหลักการสุ.จิ.ปุ.ลิ. มาสู่กระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ชื่อว่า วิธีสอนแบบสุ.จิ.ปุ.ลิ. มี 5 ขั้นดังนี้
    ขั้นที่ 1. คือ ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นการสร้างบรรยากาศให้นักเรียน ในการเรียนรู้อย่างมีความสุข ผู้สอนควรใช้กิจกรรมประเภทเพลง เกม รูปภาพ นิทาน บทบาทสมมุติและสนทนาถึงเรื่องราวที่จะสอนตามประสบการณ์ ให้ตรงกับเนื้อหาที่จะเรียน เพื่อเชื่อมโยง เนื้อความต่อกันได้ แล้วแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ ให้นักเรียนทราบ และทดสอบความรู้ขั้นพื้นฐานก่อนเรียน
    ขั้นที่ 2. ขั้นสุ. คือ สุตวา หมายถึง การรับฟังเรื่องราวที่จะสอน ซึ่งเป็นขั้นที่ต้องใช้ทักษะการฟังเป็นอันดับแรกและนับเป็นขั้นที่มีความสำคัญที่สุด ผู้ฟังจะต้องมีสมาธิในการฟัง โดยฟังเรื่องที่สอน ฟังการบรรยายเนื้อหาต่างๆ ฟังวิธีการ พร้อมศึกษาเนื้อหาจากใบความรู้ ใบงาน ถ้าผู้เรียนขาดทักษะการฟังทักษะอื่นๆก็มีความอ่อนด้อยตามไปด้วย โดยครูคอยสังเกตการสอนทุกครั้ง ( ขั้นสอน )
    ขั้นที่ 3. ขั้นจิ. คือ จินตนาการ เป็นการฝึกให้คิดติดตามเรื่องที่ครูสอน ครูต้องการให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ฝึกการจำแนกและการวางแผนในการปฏิบัติงานอย่างมีเหตุผล ขั้นตอนนี้ครูต้องคอยกระตุ้นให้นักเรียนคิดอย่างหลากหลาย คิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ครูควรส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดบ่อยๆ เพราะการฝึกคิดวิเคราะห์ ทดลอง ทำให้สมองมีการพัฒนา ความคิดที่ไม่ตรงกันของแต่ละบุคคล นับเป็นที่มาแห่งการเรียนรู้ โดยธรรมชาติของมนุษย์ จะไม่มีใครคิดเหมือนกัน เพราะทุกคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ความคิดที่แตกต่างกันไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้ง แต่เป็นผลิตผลจากการสอน ผู้เรียนจะต้องฝึกคิดวิเคราะห์ ปฏิบัติและทดลองเพื่อสร้างองค์ความรู้เป็นของตนเองทุกคน การเรียนการสอนครั้งนั้นจึงจะประสบผลสำเร็จ ( ขั้นคิดวิเคราะห์ )
    ขั้นที่ 4. ขั้นปุ. คือ ปุจฉา เป็นขั้นที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถามครู จากความคิดที่หลากหลายในชั้นเรียนที่ได้แสดงออกมา นักเรียนไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ครูและนักเรียนเท่านั้นเป็นผู้สรุปและสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน โดยยึดถือ กฎเกณฑ์ ข้อมูล ทฤษฎี แล้วช่วยกันสรุปสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน สรุปให้เป็นวิธีลัด ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการเรียนรู้ นักเรียนส่วนใหญ่ ไม่ค่อยกล้าซักถามจึงก่อให้เกิดปัญหา ทางการเรียนวิชาอื่นๆ ตามมามากมาย ขั้นตอนนี้ต้องการฝึกให้นักเรียนมีการซักถาม โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ 4 – 5 คน ให้แต่ละกลุ่มหมุนเวียนกันเป็น ประธาน กรรมการ เลขานุการ เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ฝึกให้นักเรียนกล้าแสดงออก รู้จักการทำงานเป็นทีม และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องส่งเสริมพัฒนาให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนทุกคน ครูอาจจะตั้งคำถาม ถามเพื่อประเมินผลความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่สอนก็ได้ ( ขั้นสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน)
    ขั้นที่ 5. ขั้นลิ. คือ ลิขิต แปลว่าเขียน เป็นผลแสดงโดยรวมจากการฟัง คือ สุตวา การคิด คือ จินตนา การพูด การถาม คือ ปุจฉา การเขียน คือ ลิขิต ทุกขั้นตอนต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นลำดับ ไม่ควรขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง การเขียนและการบันทึกเป็นตะกอนของวิธีการสอนแบบ สุ .จิ. ปุ. ลิ. ที่แท้จริง เมื่อครบทุกองค์ประกอบแล้วควรมีการทดสอบหลังเรียน เพื่อเก็บคะแนนบันทึกผลอย่างเป็นระบบ และมีการฝึกเสริมทักษะเพื่อสร้างความชำนาญให้กับผู้เรียนด้วยการบ้านเพิ่มเติม และสร้างนิสัยการจดบันทึก เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน( ขั้นเขียน และจดบันทึก )
    สรุปว่าวิธีการสอนแบบ สุ.จิ. ปุ. ลิ . มี 5 ขั้นตอน มีการวัดผลด้านความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับทั้งด้านความรู้ ด้านทักษะและด้านคุณธรรมที่จะติดตัวผู้เรียน ดังนั้นการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนของครู นับเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่การปฏิรูปทางการศึกษาครูต้องมีความรู้ความเข้าใจและต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน เพื่อพัฒนา ผู้เรียนให้มีความรู้ ควบคู่คุณธรรม จริยธรรมพร้อมที่จะดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ครูต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักการตั้งคำถาม รู้จักถามในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ แสวงหาคำตอบ สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างมีเหตุมีผล เป็นคนที่มีนิสัยรักการอ่าน อ่านได้เร็ว อ่านได้คล่อง เขียนและจดบันทึก รู้จักใช้ภาษาซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเป็นเครื่องมือค้นคว้าหาความรู้ ในการทำงานตลอดไป

    บรรณานุกรม

    จรูญ ฤทธิ์เดช. (2551 ). คู่มือวิธีสอนสุ.จิ.ปุ.ลิ. สงขลา : ถ่ายเอกสาร
    ทิศนา แขมมณี. (2550). ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ด่านสุทธาการพิมพ์.
    อาจินต์ ปัญจพรรค์. (2548). วาบความคิด. มติชนรายสัปดาห์,ปีที่ 26 (ฉบับที่ 1320) , หน้า 62 .
    เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์. (2552). วางบิล. มติชนรายสัปดาห์,ปีที่ 29 (ฉบับที่ 1492 ) , หน้า 40 .

  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 October 2009 เวลา 19:58
    ความเห็น #7 อนุมัติไปแล้วนะครับ แต่ที่ไม่ปรากฏเป็นเพราะเป็นความคิดเห็นที่ยาวมาก

    ถ้าเป็นความเห็นที่ยาวอย่างนี้ แทนที่จะโพสต์มาทั้งหมด โพสต์แค่ลิงก์ไปยังบทความก็ได้ครับ คนสนใจจะตามไปอ่านเอง ส่วนคนไม่สนใจ ต่อให้เขียนไว้ เขาก็ไม่อ่านอยู่ดี

  • #9 บัณฑิตศึกษา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 June 2010 เวลา 9:59

    สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา
    กำลังค้นคว้าเกี่ยวกับหัวใจนักปราชญ์ พอดีมาเจอไซต์นี้
    ดิฉันจะเอาไปเขียนอ้างในงานวิจัย ดิฉันได้พบหนังสือพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแล้ว
    แต่ไม่พบ
    ว่า กล่าวถึง หัวใจนักปราชญ์ ดังนั้นจะขอถามว่า เรื่องนี้พูดอยู่ที่หน้าไหนคะ
    แล้วจะขอนำนิยามของคุณ logos ไปอ้างด้วยได้หรือไม่ ถ้าได้ช่วยบอกชื่อ นามสกุล ด้วยค่ะ

  • #10 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 June 2010 เวลา 10:16
    อาจารย์ลองค้นดูคำว่า “พหุสัจจะ” ในเล่มพจนานุกรมฯ เล่มนั้นนะครับ

    ส่วนการตีความของผม ไม่เป็นหลักวิชาการนัก เพราะว่าบริบทของสังคม ตลอดจนการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จึงต้องตีความแล้วนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับชีวิตในปัจจุบัน แต่หากอาจารย์จะนำไปอ้าง ก็อ้างได้ครับ ผมชื่อ ตฤณ ตัณฑเศรษฐี

  • #11 บัณฑิตศึกษา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 July 2010 เวลา 20:29

    ดิฉันพบข้อมูลดังกล่าวแล้วขอบคุณค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.40488481521606 sec
Sidebar: 0.16594409942627 sec