ทอดกฐินที่วัดป่าเขากะไดม้า อ.ชาติตระการ พิษณุโลก
อ่าน: 5530เป็นวันที่อิ่มอกอิ่มใจเป็นพิเศษ เรียนตามตรงว่าไม่นึกว่ากฐินนี้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ถึงขนาดนี้ ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ธรรมดาชาวบ้านจะขึ้นมาวัดในวันพระ และมากันไม่กี่คน คราวนี้เป็นงานบุญที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของตำบล ท่านบอกว่าไม่เคยมีชาวบ้านมาพร้อมกันมากมายขนาดนี้ (ประมาณสามร้อยคน) และตั้งแต่ตั้งวัดมา ก็ไม่เคยมีกฐินใหญ่อย่างนี้มาทอด
- บันทึกของครูสุ: ทอดกฐิน ณ วัดเขากระไดม้า
- บันทึกของราณี: คณะกฐิน(1)…ตอนต้อนรับสู่สองแคว
- บันทึกของราณี: คณะกฐิน(2)…ตอนเดินขึ้นวัดเขากระไดม้า
- รูปจากทริปสำรวจ
แต่เพราะช่วงเช้ามีอาการขลุกขลักบ้างเนื่องจากพักกันอยู่คนละที่ เลยต้องรอกันไปรอกันมา ทำให้ออกจากเมืองล่าช้าไปหนึ่งชั่วโมง เรื่องเวลานี้สำคัญ วัดนี้ฉันมื้อเดียวตอน 8:00น. ผมไปถึงตีนเขาประมาณเวลานั้น แต่เนื่องจากมีผู้ไปวัดมากผิดปกติ เลยไม่มีรถขึ้น หลวงพี่ก็รอครับ ไม่ยอมฉัน จะให้ประธานตักบาตรให้ได้ รถอีแต๋นผ่านไปผ่านมา ลูกน้องเรานั่งกันอย่างสบายใจเฉิบ เสียสละให้พระรอไป ให้หัวหน้าเดินขึ้น เออ ดีจังเลย อิอิ
ในที่สุดก็ขึ้นมาเป็นเที่ยวสุดท้ายครับ แบกกล้องไปด้วย หนักก็หนัก แถมไม่ค่อยมีโอกาสได้ถ่ายอีก ขนาดเวลาที่จะพาเพื่อนๆ ไปชมวิว และถ่ายรูป ยังไม่มีเลยนะครับ
เห็นข้าวปลาอาหารมากมาย เห็นถุงพลาสติกกับโฟมเกลื่อนกลาด จนต้องขอให้โฆษกประกาศให้ญาติโยมช่วยกันเก็บขยะลงไปด้วย — มีของถวายเยอะแยะ แต่พระท่านเคร่งมากครับ ขอบอก ท่านสนใจแต่จตุปัจจัย และไม่จับเงินเลย รวบรวมปัจจัยได้ 228,359 บาท ซึ่งขึ้นพรวดๆ มาในช่วงสองสามวันสุดท้ายจนแปลกใจ เราเป็นผู้ประสานงานกฐินในครั้งนี้ คงเข้าใจดีว่าทำไมจึงประหลาดใจ ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี ปีหน้าอาจแย่กว่าเก่า อยากจะบอกบุญแต่ไม่ได้แจกซอง ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมาเองครับ
วัดนี้ไม่ใช่วัดใหญ่ อยู่ห่างไกลจากชุมชน มีความสงัด ไม่สะสม ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ไม่รู้ว่าอยู่ในสายใด รู้แต่ว่าเห็นปฏิปทาการปฏิบัติแล้ว ก็รู้ว่ามาไม่ผิดวัด ผมเชื่อว่าทุกคนคงเกิดความปิติ ว่าปีนี้น่าจะได้งบทำถนนตามที่ตั้งใจไว้ เฟสแรกเป็นถนนคอนกรีต กว้างสี่เมตร ยาวสองร้อยเมตร แม้ยังขาดปัจจัยอีกมากสำหรับถนนช่วงอื่น ในเมื่อเริ่มต้นได้อย่างมั่นคงแล้ว ส่วนที่ยังขาดอยู่ ก็คงหาได้ในอนาคตครับ
ลงจากวัดมาบ่ายโมงสิบห้า พาสามสาวไปเที่ยวน้ำตกชาติตระการซึ่งอยู่เลยออกไปห้ากิโล รูปที่ถ่ายมา เป็นการลองกล้องซะมากกว่าครับ
กว่าจะรอดกลับมาที่รถได้ เหนื่อยแฮ้ก ลื่นล้มที่น้ำตกด้วยครับ แต่กล้องไม่กระแทกอะไร ออกจากน้ำตกบ่ายสาม แวะตลาดในอำเภอชาติตระการ สาวๆไปกินกาแฟ ผมเดินหาซื้อของ ได้รองเท้าบู๊ทพลาสติกมาคู่หนึ่ง เอาไว้ลุยป่าใกล้บ้านเพื่อไปปลูกต้นไม้
ส่งสามสาวลงที่พิษณุโลก จากนั้นรถก็เงียบไปถนัดใจ
รถที่ล่วงหน้ามา โทรไปบอกว่ารถติดมาก จึงหนีไปใช้เส้น อุทัย-ชัยนาท-สุพรรณ ถึงบ้านประมาณสามทุ่มครับ
Next : เด็ก » »
21 ความคิดเห็น
อนุโมทนา สาธุค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ
ทำดียังไง ผลบุญย่อมตามมา สาธุ สาธุ สาธุ
ต้องขอขอบคุณพี่คอนมากค่ะที่ให้โอกาสราณี พี่สุ ได้ไปงานบุญด้วย ประทับใจมากๆเลยค่ะ
พุทธศาสนิกชนแนวปฏิบัติในบริษัทภายใต้ชื่อชมรมสบายใจ กับคณะกรรมการพนักงานสัมพันธ์ (เหมือนสหภาพที่ไม่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์และความขัดแย้ง เลือกตั้งกันขึ้นมาเพื่อดูแลพนักงานกันเอง) เป็นแม่งานพ่องานในการทอดกฐินประจำปีครับ
สำหรับกฐินในปีนี้ ทางบริษัทได้พยายามเสาะหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่ยังมีความจำเป็นบางอย่าง
ปีนี้เราได้ “น้าบัว” ซึ่งเป็นคนอำเภอชาติตระการ บอกบุญมาที่ชมรม เพราะตรงตามที่เสาะหา ก็เลยจองกฐินไปเลยครับ จากนั้นจึงเดินทางไปสำรวจ ซึ่งก็ต้องเลื่อนออกครั้งหนึ่งเนื่องจากน้ำท่วม เมื่อได้เดินทางไปสำรวจจริงๆ ก็รู้สึกดีมากที่จองกฐินที่วัดนี้ครับ
วัดมีทางขึ้นเขาทางเดียว แต่รถยนต์เข้าได้สองทาง ผ่านสะพานแขวน กับไม่ผ่านสะพานแขวน แต่ทางหลัง ดินอ่อนมาก รถอาจจะติดหล่มได้
อิอิ
กำลังคิดว่า..เราทำบุญแบบไม่พอเพียง
ถึงเทศกาลก็นัดไปกัน ถนนทุกสายบ่ายหน้าไปวัด
เอาปัจจัยไปถวาย บางอย่างล้น เก็บไม่ได้นาน เน่า
บางวัดใด้เยอะ กลายเป็นยั่วกิเลศพระ
บางพระพลิกแพลงหาเศษหาเลย
กลายเป็นงานบุญเป็นงานยั่วกิเลศพระ
น่าจะมีวิธีทำบุญทำทาน ทางเลือกใหม่บ้างไหม
ที่ไม่ให้บุญไปเออกันจนเกินพอดี
ไปไม่ตรงกับเทศกาลจะได้บุญเท่ากันไหม
น้ำตกแห่งนี้เคยไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว
น้ำไหลแรงมาก ป่ารกคลึ้ม แต่ก็มีคนขายของบ้างแล้ว
น่าจะปล่อย3สาวไว้ทำความสะอาดบริเวณวัด
ทำกับข้าวให้พระฉันท์
ลองสัก7วัน น่าจะพอดี
บอกให้เอาโรตีไปถวายหลวงพ่อก็ไม่ทำ
อาเหลียงว่าไม๊
แต่วัดที่ไปน่าจะเหมาะกับความต้องการของชาวบุญ
วัดไม่สร้างวัตถุใหญ่โต บางแห่งเป็นร้อยเป็นพันล้าน
เศรษฐกิจไปจมกับบุญส่วนเกินลักษณะนี้มาก
เสียดายไม่ได้ไปด้วย
อยากจะเดินให้แฮ๊กส์เหมือนกัน
ต่อไปเลือกวัดที่เดินๆๆ ดีที่สุด
ปีนี้เลือกได้ดี อิอิ
กฐินเป็นกาลทาน เป็นไปตามพุทธบัญญัติ ทางวัดไม่เน้นถาวรวัตถุ แต่อำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านที่จะขึ้นมาปฏิบัติธรรมบนเขา พระที่อยู่วัดนี้ มีชีวิตที่ยากลำบากครับ ต้องมีมานะมาก ส่วนญาติโยมที่จะขึ้นมาปฏิบัติธรรม ก็มีมานะมากเช่นกันครับ
ผมถามเรื่องน้ำ ท่านว่าภูเขาเก็บน้ำไม่ได้ น้ำเคยขาดแคลน จนไปของงบมาจาก “ในวัง” สร้างฝายขนาดเล็กไว้ตีนเขา ให้ชาวบ้านได้ใช้ และสูบน้ำขึ้นมาสู่ถังเก็บบนเขา ก็พอประทังไปได้ ถึงกระนั้นก็ต้องใช้อย่างประหยัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าแล้ง ที่ฝายมีน้ำน้อย
วัดนี้ มีไม้กวาดเป็นของแปลกครับ ท่านเจ้าอาวาสท่านทำเอง เนื้อแน่น ด้ามยาว เวลากวาดไม่ต้องก้ม แต่หาซื้อไม่ได้ครับ
ผมได้ข้าวหลามมาฝากหลาน 6 บ้อง ซื้อกาละแมตั้งแต่ขาไปมาฝากแม่จากตลาดสามชุก (สุพรรณ) ดัชนีความเป็นลูกรักพุ่งปรี๊ด กาละแมอีกเจ้าหนึ่งที่ชอบมากคือที่พระธาตุพนมครับ
มีข้อมูลใหม่จากผู้ที่เสนอให้มาทอดกฐินที่วัดนี้ ซึ่งนั่งสนทนาอยู่กับท่านเจ้าอาวาสอยู่นานเลยครับ
อาจจะมีการ “ทำซ้ำ” โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ กฐินบริษัท เคยไปทอดที่วัดบ้านเคว้า อ.ประโคนชัย บุรีรัมย์ สองปีซ้อนเช่นกันครับ
ผมจะแจ้งความคืบหน้า เผื่อว่ามีกัลยาณมิตรในลานอยากจะไปด้วยครับ
อนุโมทนาครับ สิ่งใดที่ถวายแล้ว ก็เรียกว่าให้ไปแล้ว อย่าไปยึดว่ายังเป็นของเราอยู่ครับ เช่นพร่ำเพ้อว่าทำไปเท่านั้นเท่านี้ ถ้ายังติดอยู่แบบนี้ บางทีอาจจะไม่เคยให้ไปเลยนะครับ
อนุโมทนาบุญด้วยครับ
ปีหน้าแนะนำให้ไปนอนด้านบนวัด เพราะอากาศเย็นสบาย วิวสวย และห้องน้ำสะอาดมากๆ ^^
สาธุ
อนุโมทนาบุญค่ะ
นี่ค่ะ ไม้กวาดที่ทำเอง ^_^
ตามมาสาธุ…ปีหน้าอย่าลืมบอกพวกเราแต่เนิ่นๆเด้อ…
ผมคิดแบบพ่อครู จึงไม่ค่อยไปวัดตามเทศกาล เพราะรู้สึกว่าไร้ประโยชน์ที่มีอาหารเหลือทิ้งเยอะแยะไปหมด จะแอบไปช่วงที่วัดขาดแคลนครับ
สาธุค่ะ
ไม้กวาดเหมือนวัดป่าบ้านตาดของหลวงตามหาบัวเลยค่ะ ที่นั่นก็ใหญ่ กวาดได้หมดจดและไม่มีขายเหมือนกัน อย่างนี้ชักสนใจมุ้งค่ะ เพราะมุ้งของหลวงตามหาบัวจะเป็นมุ้งใหญ่ ยาวที่นอนได้เกินยี่สิบคนในมุ้งเดียว ซึ่งศรัทธาวัดร่วมกันเย็บ
ไม่เห็นมุ้งนะครับ คุณ nonster อาจให้ข้อมูลได้เพราะว่านอนที่วัดอยู่หนึ่งคืน
ไม่ได้นอนมุ้งครับ ผมนอนเต้นท์ แต่ผู้หญิงนอนในบ้านไม้ ซึ่งไม่ได้ใช้มุ้งครับ เท่าที่เดินๆ นั่งๆนอนๆอยู่ในวัดก็ไม่โดนยุงกัดครับ
[...] คิดว่าหายเจ็บจากที่ไปลื่นล้มที่น้ำตกมาแล้ว ปรากฏว่านอนไม่เจ็บ [...]