AAR สวนป่างานค่ายนิสิตแพทย์ 23-26 เม.ย. 2552
อ่าน: 4412- งานนี้ มีหมอชาวเรามาสองหมอ คือหมอป่วน กับหมอตา; มีแม่หมอ (ป้าจุ๋ม); มีหมอเสน่ห์ยาแฝด (อ.ขจิต) เป็นตัวเดินเรื่องตลอดงาน สงสารเด็กจัง ฮาๆๆๆ
- แม้อากาศร้อนจัด กับพายุฝน เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ปรับปรุงได้ กล่าวคือต้องการเงาไม้ปิดบังแสงแดดตกกระทบลานคอนกรีตข้างอาคารใหญ่ ถ้าไม้ใหญ่โตช้า ทำร้าน+ไม้เลื้อยหรือพลาสติกพรางแสง จะเร็วกว่า ผมคิดว่ามีประโยชน์มากกว่าการใช้ลานกินข้าวเป็นที่นอนดูดาว ซึ่งเลี่ยงไปใช้ชานอาคารที่ชั้นสองแทนได้ ถ้าไม่มีเงาไม้ ลานคอนกรีตที่กินข้าว จะกลายเป็นเตาอบไป
- ทางเข้าสวนป่าเป็นหลุมเป็นบ่อ แม้จะยังใช้สัญจรได้ แต่เป็นเป็นโอกาสดีที่จะปรับให้เรียบ(ขึ้นบ้าง) เนื่องจากฝนทำให้ดินอ่อนลงแล้ว
- ถ้าจะออกจากสวนป่าหลังเที่ยง ควรพิจารณาค้างอีกคืนหนึ่ง ระยะระหว่างสวนป่าถึงบ้านป้าจุ๋ม 400 กม.กับเศษอีกนิดหน่อย วันนี้ใช้เวลาขับห้าชั่วโมงสิบห้านาที (รวมเวลาหยุดพักยี่สิบนาที) แต่ช่วงท้ายๆ มีอาการอ่อนเพลีย และมืดแถวหนองแค/สระบุรี จึงไม่ควรเสี่ยง
- ผมร่วมกิจกรรมวงอ่างปลาเป็นครั้งแรก เล่นไม่เป็น แต่ฟังการอธิบายแล้วเล่นเลย; ด้วยข้อจำกัดของเวลาประกอบกับเด็กอาจโดยรังสีของประสบการณ์ ทำให้ไม่กล้าถาม วงอ่างปลาจึงเป็นรูปแบบของวงอ่างปลาแต่ไม่คล้ายวงอ่างปลา ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ถือเป็นการจุดประกายเกี่ยวกับแนวคิด ระบบความคิด วิธีมอง วิธีเรียนรู้ วิธีทำ การสร้างกำลังใจ (ให้ตัวเอง) อันเป็นทักษะที่ฝึกได้ — แน่นอนว่าเด็กแต่ละคนจะได้อะไรไปไม่เท่ากัน แต่ได้ไปบ้างก็ยังดีกว่าผ่านไปเฉยๆ — จะใช้กิจกรรมนี้ น่าจะมีเด็กที่กล้าและตั้งคำถามเป็น ยิ่งเป็นคำถามกวนประสาท (แต่เป็นคำถามที่ดี) จะยิ่งสนุกและได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ถาม ผู้ฟัง และผู้ตอบ
- ไม่ได้ยินกระบวนกรพูดถึงเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคต; ความสำเร็จ/ความล้มเหลว เป็นเรื่องของอดีต ซึ่งผ่านไปแล้ว อย่าไปติดอยู่กับมัน
- ไม่ได้ยินกระบวนกรพูดถึง self-esteem (ค้นหา) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะช่วยให้ชีวิตยืนหยัดอยู่ได้อย่างไม่แก่วงไปแกว่งมา; คนที่มี self-esteem สูง เข้าใจคุณค่าของตนตามความเป็นจริง และแกว่งไปมาน้อยเมื่อเจอกับโลกธรรม
- ในค่ายต่อๆ ไป อาจจะต้องช่วยหาความสำเร็จย่อยๆ ให้กับผู้เข้ารับการอบรมทุกคน ให้ทุกคนเข้าใจว่าความแตกต่างนั้นมีค่า ต่างมีดีกันคนละด้านสองด้าน ไม่มีใครห่วยแตกจนสมควรจะแยกตัวออกไปจากกลุ่ม (Developing Your Child’s Self-Esteem) — ระบบการศึกษาปกติที่สอนตามหลักสูตร ละเลยเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พ่อแม่เลี้ยงลูกโดยขาดความรู้เรื่องนี้ ทำให้เด็กโหยหาการยอมรับ/ความสำเร็จอย่างฉาบฉวย แล้วในที่สุดก็เป็นคนที่ไม่มีความอดทน ติดเพื่อน/ติดเกมส์ จับจด เอาแต่ใจตัว
« « Prev : ใดใดในโลก ล้วนอนิจจัง
Next : เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ » »
13 ความคิดเห็น
ดีใจที่ได้อ่าน AAR ค่ะ
เรื่องการออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้….ไม่ทราบว่าหมอเจ๊(พี่ตา) พอมีเวลาได้เล่าให้ฟัง “ประเด็นที่ต้องเอาใจใส่และกระบวนกรต้องพึงจัดประสบการณ์ด้วย” ให้หรือเปล่าคะ….กระบวนการให้เกิดการยอมรับความแตกต่างและเห็นคุณค่าความแตกต่างหลากหลาย เป็นประเด็นที่ใช้เวลามากถึงมากที่สุดในการทำความเข้าใจระหว่างกระบวนกรที่กระบี่คราวก่อน
การออกแบบกิจกรรมสำหรับพี่แล้ว….กิจกรรมจะมีความหมายก็ต่อผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้…จะมากหรือน้อยขึ้นกับตัวผู้เรียนรู้ก็จริงแต่ก็ขึ้นกับการประเมินผู้เรียนให้รอบคอบด้วยเหมือนกัน
สำหรับ การจัดกิจกรรม “อ่างปลา” เป็นเทคนิคการสอนแบบ group dicussion ซึ่งถ้าต้องการให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพก็จะเหมือนการจัด discussion คือมีสรุปด้วย มีรายละเอียดที่อ่านได้จาก Fishbowl ด้วยเหมือนกันค่ะ
ตั้งใจรออ่านทุกบันทึกที่มาจากสวนป่าคราวนี้ เพราะว่าเป็นครั้งที่อยากไปมากแต่ไม่มีโอกาส
เห็นด้วยว่า แม้จะไม่มี reaction ออกมามากนักจากกลุ่มนักศึกษาแพทย์ แต่ความไม่มี(ด้านนอก)คือมี(ด้านใน) พี่เชื่อเช่นนั้นเช่นเดียวกัน
บางคนอาจจะเก็บไปคิดต่อ บางคนอาจจะพัฒนาวิธีการเอาไปใช้ในเงื่อนไขต่างๆ บางคนอาจจะได้ความ วิธีคิด ประสบการณ์จากปลาในอ่างนั้นติดตัวไป…
ความเงียบแต่ไม่เงียบ
ขอโทษนะคะลิงค์ตกหล่นค่ะ
http://en.wikipedia.org/wiki/Fishbowl_(conversation)
และ ฤฤฑ ก็คือ AAR
อืมง่วงแล้ว
ยังมีประเด็นอื่นที่ผมไม่รู้จะเรียบเรียงอย่างไรครับ ผมไม่ได้มองหาคำตอบ/วิธีการ/พิธีกรรม/ขั้นตอนสมบูรณ์แบบ เพราะไม่ชอบคำว่า “ต้อง” ที่แปลว่าคุณทำอย่างนี้ซิ วิธีนี้(เท่านั้น)เป็นวิธีการที่ถูกต้อง เป็นอย่างมาก
เช่นกระบวนกรควรหยุด “เจาะทะลวง” ที่ตรงไหน; ถ้าผู้ฟังเปิดใจแล้ว กระบวนกรควรใส่สิ่งที่คิดว่าดีแล้วลงไปหรือไม่ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่กระบวนกรใส่ลงไป เป็นสิ่งที่ถูกต้อง {กะเทาะเปลือกออก แล้วพอกปูนเข้าไปใหม่ ในที่สุดก็มีเปลือกเหมือนเดิม อาจจะสวยกว่าเก่า แต่ก็ยังมีเปลือกหนัก}
หรือถ้าปล่อยให้เด็กค้นพบเอง จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อสรุปของเขาถูกต้อง/เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาและสังคมรอบตัวเขา กระบวนกรควรมีศรัทธา/เชื่อใจในความดีงามและความสามารถในการพินิจพิจารณา (ด้วยมโนคติ) ของผู้ฟังแค่ไหน
ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่กระบวนกรจะต้องศึกษา/ประเมินผู้เข้าฟังก่อนในเบื้องต้น และปรับเปลี่ยนพลิกแพลงตามสถานการณ์+ความจริงที่เกิดขึ้นใช่ไหมครับ ซึ่งนั่นเห็นชัดเลยว่าวิธีการนี้จะใช้เวลาพอสมควร และไม่เหมาะกับทุกสถานการณ์
ในกรณีของค่ายนี้ “open sesame” เกิดขึ้นเมื่อเค้าคุยกันเองตอนจะสรุปปิดค่าย โดยกระบวนกรไม่ได้เข้าไป intervene ซึ่งผมคิดว่าประสบผลสำเร็จดีทีเดียวครับ เด็กๆ (ปีสี่) รู้จักกันมากขึ้น จนผมแปลกใจว่าสามสี่ปีที่ผ่านมานี่ ทำอะไรกันอยู่ ทำไมเพิ่งจะมาต่อมน้ำตาแตก/เข้าใจเพื่อนมากขึ้นเอาเมื่อเช้านี้เอง รู้วันนี้ก็ยังดีกว่าไม่รู้จักเพื่อนไปจนจบครับ แต่ห่วงว่าจะเป็นไฟไหม้ฟาง
ผมเป็นห่วงเรื่องการใช้ภาษา การเรียบเรียงความคิด ตลอดจนการสื่อความคิดของเด็กๆออกมา
และผมเป็นห่วงว่าเด็กๆ ฉุกคิดได้หรือเปล่า ว่าความวุ่นวาย/ความไม่เข้าใจกันนั้น เกิดจากการคิดไปเองเสียเป็นส่วนใหญ่ พิพากษาคนอื่นไปโดยไม่ได้แสวงหาความจริง
deep listening ถูกเข้าใจว่าเป็นการสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์แบบ one-way คือผู้ฟังเข้าใจข่าวสารผิดโดยผู้พูดไม่มีโอกาสแก้ตัว (ทำไมไปปักใจว่าคนฟังฟังผิด แต่ไม่คิดว่าตัวเองสื่อข้อความผิดพลาดเอง หรือมีปัญหาทั้งสองด้าน)
ทีมอาจารย์เอาใจใส่เด็กๆ มากครับ น่าดีใจแทนเด็กๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะตระหนักในเรื่องนี้หรือไม่นะครับ
ผมไม่ได้คาดหวังให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบหรอกนะครับ สิ่งที่เขียนนี้คือ AAR ตามที่มองเห็น ซึ่งท่านอื่นคงจะมีมุมมองอื่นครับพี่
อ้อ มี request ให้ผมพูดเรื่องประสบการณ์ในการประยุกต์วิทยาการต่างๆ ที่ใช้ในการจัดการสึนามิ แต่ไม่มีเวลาพูดครับ
เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะว่าการจัดกิจกรรมทุกอย่างไม่ควรตั้งความหวังเรื่องความสมบูรณ์แบบ ที่สำคัญสำหรับพี่ ที่ใช้ในการเรียนการสอนคือ อย่ายึดกิจกรรมเป็นหลัก ให้ยึดการเรียนรู้ของผู้เข้าเรียนหรืออบรมเป็นหลัก กิจกรรมเป็น tool เพื่อนำไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่เราคาดไว้คร่าวๆ
กิจกรรมปรับเปลี่ยนได้และให้ดู Dynamic ของกลุ่มเป็นสำคัญ ค่อนข้างยืดหยุ่นนะ …ความสำคัญสำหรับการเป็นกระบวนกรร่วมกันหลายคนคือสิ่งที่หมอจอมป่วนพูดเสมอคือการเป็นลมหายใจเดียวกัน รู้วัตถุประสงค์ตีวัตถุประสงค์ให้เข้าใจตรงกัน ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นควรตัดสินใจแก้ไข ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ากระบวนกรมีหลายคน แบ่งงานกันก็จริงแต่ก็ควรตกลงกันก่อนว่า ช่วงไหนให้เข้าแทรกและส่งซิกกันอย่างไง และบอกกันให้ได้
สำหรับพี่นะ ในฐานะของคนทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนนี้นะคะ พี่มักจะเตือนตัวเองเสมอว่าขณะที่เราสังเกตนักศึก๋ษา นักศึกษาเขาก็สังเกตเราด้วย ถ้าเราทำงานเป็นทีมไม่เป็น เราจะไปสอนการทำงานเป็นทีมสอนเขาให้หัดฟังคนอื่นก็ไม่สำเร็จเท่าไหร่หรอก ถ้าเราใช้อารมณ์ในการแก้ไขความขัดแย้ง เราจะไปสอนเขาให้มีสติก็ไม่ได้ผล และถ้าเรากั๊กความรู้เราไว้เราจะไปสอนให้เขาเผื่อแพร่กับคนอื่นก็ยาก
ส่วนวิธีการสอน สำหรับพี่แล้ว ไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุดหรือไม่ดีเลย แม้แต่Lecture ที่มักถูกเบือนหน้าจากนักกิจกรรมทั้งหลายนั้นว่า Passive ก็ยังจำเป็นถ้ามันเป็นnew concept หรือมีความซับซ้อนยากแก่การทำความเข้าใจ แต่ควรมี Discussion ต่อด้วย เพื่อจะช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจมากขึ้น การdiscussion ถ้าทำไม่เหมาะกับกลุ่มผู้เรียน บางทีได้ผลน้อยกว่า Lecture แล้วต่อด้วย discussion ด้วยซ้ำ
และมีงานทางการศึกษาที่แนะนำว่า เมือ่ไหร่ที่สิ้นสุด section ไม่ว่าจะจัดวิธีสอนแบบไหนก็ตาม ควรตั้งคำถามว่า เขาเรียนรู้อะไร เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาไหมอย่างไร และมีการสรุปบทเรียน
ที่เขียนมานี้คือการถอดบทเรียนประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนกว่า 20 ปีของพี่เองนะคะ ผ่านการลองผิดลองถูกมาก็มาก แต่ก็ยังไม่ถือว่าตัวเองเก่งยังคอยระวังตัวเองเสมอว่าต้องทะลุทะลวงให้ได้จริงๆกับสิ่งที่จะสอน และยังต้องเรียนรู้จากคนอื่นไปตลอดค่ะ
(บันทึกนี้ทำไมพี่พูดมากจังแฮะ)
จะเขียนสั้นแค่ อิ หรือร่ายยาวขนาด 2000 ตัวอักษร (สองคืบบนจอโดยไม่มีรูป) ไม่ว่าจะเป็นบันทึกหรือความคิดเห็น ต่างก็กินเนื้อที่ 8 kB เท่ากัน ดังนั้นเอาแบบมีประเด็นไปคิดต่อ/มีบทเรียน ดีแล้วครับพี่
ทีมกระบวนกรที่เหลืออยู่คุยกันต่อที่สวนป่าจนขึ้นรถทัวร์ที่บุรีรัมย์เกือบไม่ทัน
ก็เรียนรู้อะไรๆเพิ่มเติมอีกมากครับ อิอิ
ว่างๆจะเล่าให้ฟังครับ อิอิ
หลัง AAR ที่สวนป่าร่วมกับทีมกระบวนกรและคุณหมอจาก รพ ชลบุรี เราก็รีบบึ่งรถออกจากสวนป่าฯ มากับ พี่หมอเจ๊และน้องจิ๋ม ตลอดทางได้คุยแลกเปลี่ยนในเรื่องการทำกระบวนการและสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน จนมาถึง กทม ไม่รู้ตัว ถ้าวัดเวลาตามนาฬิกาก็หลายชั่วโมง แต่หากวัดตามความรู้สึกก็แค่แป๊บเดียว จากนั้นก็มานั่งคุยต่อที่ร้านข้าวต้มจนเกือบเที่ยงคืนจึงแยกย้ายกันกลับไปนอน
โดยส่วนตัว ทุกครั้งหลังเข้าร่วมในกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ว่าในบทบาทใด จะมีประเด็นให้กลับมาใคร่ครวญและเรียนรู้โลกภายในของตัวเองควบคู่กันไปด้วยเสมอ สำหรับงานนี้ก็มีประเด็นที่เห็นว่าเป็นข้อจำกัดของตัวเองให้ไปพัฒนาต่อ รวมทั้งเห็นความจำเป็นที่จะไปทำโครงการต่อเนื่องให้กับนิสิตรุ่นนี้ ร่วมกับอาจารย์หมอที่โรงพยาบาลชลบุรี เพื่อดูแลหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ที่ถูกหว่านไว้ในใจเด็กๆ ให้เติบโตอย่างงดงาม … ตั้งใจว่าจะสานต่อค่ะ
เสียดายจังที่มีโอกาสคุยกับคุณพี่ Logos น้อยไปและไม่ได้ฟังเรื่องสึนามิเลย วันหลังเจอกันจะขอแก้ตัว นั่งจับเข่าคุยกันนะเจ้าคะ
ถึงอย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกว่าค่ายนี้มีความพิเศษและมีสิ่งที่ให้เรียนรู้หลายอย่าง ขอบคุณกระบวนกร/วิทยากร/กองเชียร์ทุกท่านครับ ดีใจที่ได้มีโอกาสไปร่วม แม้จะไม่ได้ทำอะไรมาก แต่สนุกมาก นอกจากนั้น ยังดีใจเรื่อง Ulem อีกครับ
[...] เหมือนที่รอกอดเขียนไว้…… [...]
[...] แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า สุ จิ ปุ ลิ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมาก เพียงแต่การตีความนั้น ผมขยายออกไปอีก ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวครับ บางส่วนเล่าให้ฟังแล้วในกิจกรรมอ่างปลา [...]
เมื่อต้นไม้เลื้อยขึ้นเต็ม แสงแดดไม่กระทบลานคอนกรีตข้างอาคาร heat load เบาลงมาก อากาศในอาคารอบรมก็ไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนสมัยก่อนอีกแล้วครับ