กำเนิดหมู่บ้านโลก

โดย Logos เมื่อ 27 May 2012 เวลา 21:07 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3596

ครูบาขอให้ช่วยเขียนเรื่อง “กำเนิดหมู่บ้านโลก” ไปเสริมหนังสือโมเดลบุรีรัมย์ (Buriram Model) แต่เขียนเรื่องลึกลับอย่างนี้ ยากเหมือนกันครับ

หมู่บ้านโลกไม่ได้เกิดจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับชีวิตนั้น ไม่ใช่สมการเชิงเส้นตัวแปรเดี่ยว มีทั้งเรื่องเหตุผล อารมณ์ ความเหมาะสม การเรียนรู้ ประสบการณ์ ประโยชน์ และความเข้ากันได้

จุดใหญ่ใจความคือ ครูบากับแม่หวีทำงานหนักมาสามสิบปี ปลูกป่าจากที่แห้งแล้งไม่มีอะไรเลย จนเป็นป่าที่สมบูรณ์ พืชพรรณหลากหลาย เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ในนาม มหาชีวาลัยอีสาน มาเป็นสิบปีเช่นกัน มีผู้คนผ่านมาเรียนรู้วิถีธรรมชาติปีละหลายพันคน ทำงานตอบแทนคุณแผ่นดินด้านการศึกษา แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างชัดเจนว่า คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน แต่ใช้วิธีพึ่งพาอาศัยกันและกัน

เรียนในห้อง…ได้ความรู้
เรียนนอกห้อง…ได้ความจริง

เอาความรู้บวกกับความจริง
เราได้…ความรู้จริง

ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ หนังสือ “คนนอกระบบ”

ทั้งครูบาและแม่หวี ต่างอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะให้ทำงานหนักเหมือนสมัยก่อนคงไม่ได้แล้ว สิ่งที่มีค่ามากในตัวท่าน คือความรู้และประสบการณ์ จึงควรใช้สิ่งนั้นให้คุ้มค่าที่สุด แทนที่จะให้ท่านมาออกแรงทำเองทั้งหมดเหมือนก่อน

การทดแทนคุณแผ่นดินเป็นสำนึกของแต่ละคน ไม่ต้องให้ใครเห็นหรือชื่นชม และไม่มีใครบังคับให้ทำหรอกครับ ทำแล้วมีความสุขเอง ถ้าหากมีความพร้อม ยามแก่เฒ่าคงไม่ลำบาก แต่สำหรับชีวิตเกษตรกรซึ่งไม่มีลูกหลานดูแล แล้วปลูกและรักษาป่ามาทั้งชีวิต ตอนนี้แก่เฒ่า จะทำอย่างไรดี ถ้าตัดไม้ขายคงจะรวยอื้อซ่า แต่ว่าป่าคือชีวิตครับ ทั้งสองท่านทุ่มเทอย่างยากลำบากกว่าจะทำให้สวนป่าเป็นป่าที่สมบูรณ์มาขนาดนี้ ตั้งใจจะทิ้งป่าไว้ในแผ่นดินอีสาน

มีกลุ่มคนที่รู้จักนับถือลึกซึ้งกับครูบาและแม่หวีมานาน เป็นห่วงในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก กลุ่มเฮฮาศาสตร์ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของครูบาและแม่หวี อยู่กระจัดกระจายกันทั่วประเทศ เคยมีการพูดคุยกันว่าจะตั้งหมู่บ้านเฮ ใช้ความแตกต่างหลากหลายของคนในกลุ่ม มาช่วยงานของมหาชีวาลัยอีสาน ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่าสวนป่า ทุกคนต่างก็สนับสนุน แต่เมื่อถึงเวลาขับเคลื่อนจริงๆ ต่างก็มีความพร้อมไม่เท่ากัน ต่างก็มีภาระ มีครอบครัวของตนจะต้องดูแลเหมือนกัน จะมาช่วยได้เป็นครั้งคราว เมื่อสวนป่าต้องการความช่วยเหลือ ต่างก็สละเวลาลางานมาช่วยครูบาอบรม จุดนี้ทำให้การเรียนรู้ที่สวนป่า มีการผสมผสานวิทยาการหลากหลาย ตามความรู้และประสบการณ์อันหลากหลายของวิทยากร และตามที่กลุ่มวิทยากรจะออกแบบการเรียนรู้

กระบวนการ “สอน” ของชาวเฮนั้น ปรับเปลี่ยนตามผู้เรียน ไม่มีหลักสูตร ชีวิตไม่มีสูตรตายตัว แต่มักจะไปโยงให้ผู้เรียนฉุกคิดได้เอง ถ้าชอบวรรคทอง คงมีตกหล่นมากมาย แต่ถ้าชอบเล็คเชอร์หรือการจับสูตรสำเร็จยัดกระโหลก จะไปไหนก็ไปครับ ไม่เสียเวลาด้วยกันทุกฝ่าย

วิชาของมหาชีวาลัยอีสานจึงไม่ทื่อเหมือนที่เรียนในห้องเรียน ต้องคิดพิจารณา ฉุกคิด ลงมือทำ และนำไปประยุกต์ในเอาเอง มหาชีวาลัยอีสานกระตุกความคิดของคน แสดงตัวอย่างให้ดู เปิดโอกาสให้ได้ลอง ส่วนใครจะได้อะไรไปนั้น ขึ้นกับผู้มาเยือนจะเก็บเกี่ยวไปทำได้แค่ไหน

การช่วยเหลือของกัลยาณมิตรของสวนป่า ตอบโจทย์ได้บางส่วน คือช่วยให้ผ่านงานใหญ่ไปได้ แต่โจทย์อีกส่วนหนึ่ง คืองานอบรมเล็กๆ หรือเวลาที่ติดภารกิจกันหมด ครูบากับแม่หวีต้องลงมือเองทั้งหมด เป็นเช่นเดียวกับงานของครูบวกกับภารโรง แล้วยามเจ็บป่วย อยู่กันสองคนตายาย ใครจะดูแล จึงเกิดโครงการที่สอง คือโครงการหมู่บ้านโลก

หมู่บ้านโลก เป็นแหล่งเรียนรู้ในมหาชีวาลัยอีสาน เป็นหมู่บ้านที่คนใช้ชีวิตอยู่จริง มีชีวิตเป็นของตนเอง แต่ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยความรู้ความชำนาญที่แต่ละคนมี คล้ายลักษณะของสหกรณ์ คิบบุซ และคอมมูนผสมกัน แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการทำกิน หรือเป็นที่พักคนชราที่จะไม่ทำอะไรอีกแล้วในชาตินี้ ที่ดินเป็นของครูบา แต่ผู้ที่จะมาอยู่ในหมู่บ้านโลกนั้น สร้างบ้านของตัวเองได้หากไม่ขัดต่อธรรมชาติของสวนป่า และในเวลาว่าง ก็นำความรู้และประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มาเยือนสวนป่า

หมู่บ้านโลกไม่ใช่ของเล่นของคนรวย รวยไม่รวยก็อยู่ที่นี่ได้หากมีของดีจะแบ่งปันให้กับผู้มาเรียนรู้ที่มหาชีวาลัยอีสาน แบ่งเบาภาระของครูบากับแม่หวีบ้าง หมู่บ้านโลกไม่ใช่ที่หลบลี้หนีหน้า ไม่ใช่ที่พักตากอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องพิสูจน์อะไร และไม่มีใครควรจะทำตนเป็นภาระของผู้อื่น หมู่บ้านโลกเป็นวิถีชีวิตที่อิงอยู่กับธรรมชาติ พึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ไม่ใช้จ่ายถ้าไม่จำเป็น ไม่แสวงหาวัตถุมาบำเรอความสุข เพราะสุขแบบนี้เป็นสุขไม่แท้ มีแต่จะหมดไป แต่อยู่ในหมู่บ้านโลกแล้ว จะมีกินไปเรื่อยๆ ด้วยการเก็บกินแทนทำกิน

ในหมู่บ้านโลกไม่ได้ห้ามใช้เงิน แต่เงินไม่มีความจำเป็น ตราบใดที่ปัจจัยสี่ ความมั่นคงสามแนวทาง (อาหาร น้ำ และพลังงาน) ตลอดจนเคร่ื่องมือพื้นฐานมีพร้อม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องอย่างนี้ใช้ความรู้ความเข้าใจในพื้นที่สูงและอาศัยการเตรียมการอย่างดี อาศัยปัจจัยมากมายเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เช่นมีการปรับปรุงที่พัก สร้างเครื่องมือต่างๆ เก็บกักน้ำฝน ปรับปรุงถนน ตั้งเสาโทรคมนาคมเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จัดหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อสูบน้ำบาดาลสองบ่อ ปลูก ปลูก ปลูก กินอะไรปลูกอย่างนั้น อาหารมาจากดิน เพื่อมีชีวิตอยู่ ที่นี่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินหรอกครับ

งานในหมู่บ้านโลก นอกจากจะเป็นงานที่ทำให้ตนอยู่ได้และงานแบ่งปันความรู้แล้ว ก็จะเป็นบ่อหมักความรู้ ความคิด และประสบการณ์ สร้างต้นแบบเพื่อให้ผู้ที่มาเรียนรู้สามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตของเขาได้ ถ้าความรู้นั้นเป็นของจริงและมีค่าจริง ก็ต้องใช้ประโยชน์ได้ครับ ความรู้แบ่งปันกันได้ ไม่มีเสีย มีแต่จะแตกฉานขึ้น

หมู่บ้านโลกไม่ได้ดำเนินการในรูปของธุรกิจ แต่อาจมีของที่ระลึกขายเล็กน้อย เช่นผักสด น้ำผลไม้ หนังสือ ผลิตภัณฑ์จากสวนป่า เครื่องมือเครื่องทุ่นแรงขนาดเล็ก อาจมีค่ายลดน้ำหนัก ค่ายอดบุหรี่ ค่ายอาหารสุขภาพ ค่ายทำแผนต่างๆ ค่ายประชุมเชิงปฏิบัติการแบบไม่มีอะไรรบกวน ค่ายวิถีธรรมชาติ ค่ายเพาะต้นไม้(เพื่อนำไปปลูกป่าที่อื่น) ค่ายเก็บตัวเขียนวิทยานิพนธ์ ค่ายเรียนชีวิตชนบทของอาสาสมัครที่มาจากในเมือง Barcamp/Maker space ฯลฯ “กำไร” ที่ได้มา เอาไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายของสวนป่า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสวนป่าต่อไปครับ ทุกอย่างทิ้งไว้กับแผ่นดินไทย ตายไป ไม่มีใครเอาไปได้สักอย่าง

ในมุมสงบของสวนป่า ตั้งใจไว้ว่าจะสร้างสถานปฏิบัติธรรมด้วย

« « Prev : หมู่บ้านโลก (6)

Next : เปิดตัวคุณชาย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "กำเนิดหมู่บ้านโลก"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.80846405029297 sec
Sidebar: 0.60762596130371 sec