หมู่บ้านโลก (6)
อ่าน: 3552ในฐานะของที่หลบภัย หมู่บ้านโลกก็เหมาะสมครับ แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกนิดหน่อยที่ต้องปรับปรุง
ที่เขียนในประเด็นของภัยพิบัตินี้ก็เป็นธรรมดาเพราะว่าผมทำงานเรื่องนี้โดยตรง หากเกิดภัยพิบัติขึ้น สวนป่าเป็นที่หนึ่งที่เหมาะจะหลบภัย แต่ว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น จะไปถึงสวนป่าได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หมายความว่าตัวสวนป่าน่ะปลอดภัยครับ แต่อาจจะเข้าไม่ได้ ไปไม่ถึง ทั้งจากระยะทางและจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เช่นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเมืองใหญ่ๆ เมืองใดก็ตาม ถ้าหากสะพานลอยคนข้าม สะพานลอยรถข้าม สะพานข้ามคลอง+ช้ามแม่น้ำ ทางด่วนที่สร้างยกสูงจากพื้น หรือแม้แค่อาคารหักพังลงมาขวางถนน เคยศึกษาดูกันไหมครับว่ามีเส้นทางไหนออกจากเมืองได้(และนำความช่วยเหลือเข้ามาได้)โดยไม่ผ่านซากปรักเหล่านี้ หรือแม้แต่เกิดอุทกภัย ต่อให้ที่หมายน้ำไม่ท่วม แต่ถนนที่ไปยังที่หมายเดินทางได้จริงหรือเปล่า มีเส้นทางอื่นใช้ได้หรือไม่ ยิ่งจะเดินทางไกล ก็ยิ่งต้องศึกษาให้ละเอียดตลอดเส้นทาง
ภัยพิบัติอะไร จะเกิดเมื่อไร จะเกิดหรือไม่เกิด ผมไม่รู้หรอกครับ แต่มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้เตรียมรับมือ+หาทางหนีทีไล่เอาไว้หรือเปล่า ต่อให้ “รู้” ล่วงหน้าแต่ไม่เตรียมอะไรเอาไว้หรือเตรียมเอาไว้อย่างไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ เมื่อเกิดภัยขึ้นก็ไม่รอดอยู่ดี — แต่หากเตรียมการไว้ไม่ว่าจะ “รู้” ล่วงหน้าหรือไม่ เมื่อเกิดภัยพิบัติก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น… ส่วนจะรอดจริงหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าที่คิดว่าเตรียมไว้ดีแล้วนั้น ดีจริงหรือไม่
สวนป่าและหมู่บ้านโลก ใช้หลักการออกแบบแบบ permaculture จึงปรับตัวพลิกแพลงได้สูงแต่ว่าไม่เร็วนัก สวนป่าและหมู่บ้านโลก สร้างไว้เป็นแหล่งศึกษา มีกำลังจำกัด จึงรับเหตุปุบปับได้ลำบากเหมือนกัน เช่นหากเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้วมีญาติโยมแห่มา คงไม่มีใครขับไล่ไสส่งให้ไปตายเอาดาบหน้าหรอกนะครับ แต่หากมากันเยอะๆ ที่พักส่วนกลางจะไม่พอ จะเอาห้องส่วนตัวก็ไม่มีให้ จะกินสเต็ก จะกินก๋วยเตี๋ยว จะสั่งรูมเซอร์วิส ไม่มีพะยะค่ะ
ในตอนที่อพยพหนีภัยพิบัติ ต้องอยู่ง่าย กินง่าย ถ้าอยู่โคนไม้ได้ ก็สบาย หลายปีก่อน เมื่อตอนประชุมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเขตอีสาน สวนป่าเคยรับคนสองพันคนพร้อมกัน แต่เค้ากางเต้นท์ ผูกเปลในป่า และนอนอยู่โคนไม้กัน — ถ้าจะอยู่ศาลา ศาลาก็ยังไม่ได้สร้างครับ
มีพืชอาหารมากพอสำหรับมาเรียนกันสัปดาห์ละสามวัน รุ่นละละห้าสิบคน แต่ถ้าจำนวนเกินจากนั้นผักและต้นไม้จะโตไม่ทัน เดือนที่แล้วตั้งแต่เริ่มการปรับปรุงสวนป่าตามโครงการหมู่บ้านโลก ครูบาขยายแปลงปลูกอีกสองแถว ยาวแถวละร้อยเมตร ลงเผือก ลงมันเต็มพื้นที่ด้านในของสวนป่า น่าจะมีอาหารมากขึ้นอีกหลายเท่า คงอีกไม่นานหรอกครับ
ดังนั้นมาเรียนหลักการ มาดูของจริง แล้วนำกลับไปเตรียมตามความต้องการและข้อจำกัดของตน มาเรียนหนึ่งคน สามารถนำความรู้นี้ไปใช้ดูแลครอบครัวตนเอง และญาติใกล้ชิดได้เป็นสิบคน แบบนี้น่าจะดีกว่าอพยพญาติสิบคนมาสวนป่านะครับ ในภาวะวิกฤติ จะไม่มีขาซี้ ขาใหญ่ ขาหมูแฮม จะมีแต่ความอยู่รอดของทุกคน แต่ละคนไม่ควรจะเป็นภาระของใคร แล้วไม่ควรทำแบบรวมศูนย์หรอกครับ มีแบบนี้หลายๆ ที่ได้ และควรกระจายกันออกไป ศูนย์อพยพที่อยู่ใกล้บ้าน(แต่ปลอดภัย)ย่อมดีกว่าศูนย์อพยพที่อยู่ห่างออกไปครึ่งประเทศ
การเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ต้องคุยกัน ต้องถามคำถาม ต้องเข้าใจพื้นที่อย่างถ่องแท้ — ในหนังสือเจ้าเป็นไผ ผมเคยเขียนแนะนำไว้ว่าให้หลีกเลี่ยงความหมายของคำว่า “ต้อง” (ที่จะใช้บังคับกะเกณฑ์คนอื่น) ยกเว้นในสำนวน แต่คราวนี้หมายความว่าต้องจริงๆ ครับ — อย่าคิดไปเองว่าทำพอแล้ว พูดคุยแลกเปลี่ยน ถามคำถามเยอะๆ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต อาจมีสิ่งที่หลงลืม คิดไม่ถึง หรือยังไม่เข้าใจ จึงไม่ควรเสี่ยงอย่างยิ่ง ไม่มีโอกาสที่สอง อย่าหยุดเรียนรู้ ฟังอะไรมา เรียนอะไรมา ยังไม่ต้องเชื่อ ควรนำมาพิจารณาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ถ้าถาม “ผู้เชี่ยวชาญ” แล้วไม่ตอบอะไรเลย หรือตอบมาลอยๆ ก็อย่าไปเสียเวลากับ “ผู้เชี่ยวชาญ” คนนั้นเลยครับ พึ่งไม่ได้อยู่ดี
ถ้าบ้าวิชาการ อาจจะลองทำ incidence matrix เพื่อดูว่าการเตรียมการอะไร สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ไหนบ้างครับ ในตาราง แกนหนึ่งเป็นการกระทำ/การเตรียมตัว อีกแกนหนึ่งเป็นลักษณะของภัยพิบัติที่การกระทำนั้นช่วยได้
ความคิดเห็นสำหรับ "หมู่บ้านโลก (6)"