หมู่บ้านโลก (5)
อ่าน: 4851เขียนมายาวยืดหลายตอน แต่ยังไม่ได้บอกเลยว่าหมู่บ้านโลกนี่มันอะไรกัน
หมู่บ้านโลกอาจจะเป็นหลายอย่างสำหรับหลายคน คงจะไม่มีนิยามอันเดียวเท่านั้นที่ถูกต้องและทำให้มุมมองอันอื่นผิดหมด ทั้งนี้เพราะการสร้างสังคมขึ้นมานั้น จะอาศัยความเห็นของคนคนเดียวไม่ได้ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ผมผู้ทำโครงการเห็นว่าหมู่บ้านโลกเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมงานของสวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสวนป่า มีผู้อยู่อาศัยเป็นผู้ช่วยและผู้ดำเนินกระบวนการกระตุกความคิดและถ่ายทอดแง่คิด หมู่บ้านโลกจึงไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรร รีสอร์ต หรือคอนโด พื้นที่ทั้งหมดในโครงการเป็นที่ดินของครูบา จะไปอยู่ก็ต้องเป็นไปโดยความยินยอมของท่าน ซึ่ง(ผมคิดเอาเองว่า)ท่านคงไม่ขายที่ดินด้วยต้องการจะเก็บสภาพของป่าเอาไว้และไม่ต้องการให้ที่ดินแบ่งเป็นหย่อมๆ ที่ไม่เข้ากัน สวนป่ามีพื้นที่ 600 ไร่ มีพื้นที่ที่จะไม่แตะต้องเด็ดขาดประมาณ 500 ไร่
เมื่อประมาณปี 2544 สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม ถ่ายทำสารคดีเรื่อง การออกแบบการเรียนรู้…กู้ชีวิตท้องถิ่น เป็นการสัมภาษณ์ครูบา ซึ่งครูบาก็เล่าให้ฟังว่าในตอนนั้นมหาชีวาลัยอีสานทำอะไรบ้าง เวลาผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว รายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หลักการยังคงเดิมนะครับ
ในปัจจุบัน สวนป่ายังคงเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีธรรมชาติสำหรับผู้ที่แสวงหา (ถ้าไม่ได้อยากเรียนรู้ อยู่บ้านสบายๆ ดีกว่ามั๊งครับ) ถ้าจะอบรมเรื่องวิถีธรรมชาติ พื้นที่ตรงนี้ก็ต้องอยู่ในวิถีธรรมชาติด้วย ซึ่งคำว่าวิถีธรรมชาตินั้น ไม่ใช่การดำรงชีวิตอยู่อย่างในสมัยหิน แต่เป็นการพึ่งพิงธรรมชาติอย่างไม่เอาเปรียบ นำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ โดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ สวนป่าควรจะพึ่งตนเองได้ทั้งหมด จะดีที่สุดหากอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย แต่ถึงจะใช้ก็ไม่ว่าอะไร หากจะต้องใช้เงินซื้อวัตถุดิบหรือจ้างงาน ก็ควรจะมีรายได้เข้ามาสูงกว่าที่จ่ายออกไป… “กำไร” นี้ไม่เหมือนกับความหมายของกำไรในวิถีของทุน เป็นแต่เพียงข้อพิสูจน์ว่าหากมีความรู้ วิธีการ และเครื่องมือที่ถูกต้องแล้ว ชีวิตดำรงอยู่ได้โดยไม่เสื่อมทรามลง
“บ้าน” ของผู้ดำเนินกระบวนการเรียนรู้ (ที่ทั่วไปเรียกว่า “ผู้สอน”) นั้น ต่างคนต่างจัดการเองครับ สร้างในแบบที่แต่ละคนต้องการและอยู่ได้ จะสร้างเองก็ได้ จะจ้างคนมาสร้างก็ได้ จะใช้สิ่งใดก็จ่ายสำหรับสิ่งนั้น อย่าให้เป็นภาระของผู้ใด และอย่าได้คิดเป็น “การลงทุน” ในวิถีทุนเด็ดขาดนะครับ เช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้ จะสร้างสิ่งใดไว้ ควรเป็นการสร้างทิ้งไว้ในแผ่นดิน ให้เป็นเครื่องมือที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่มาเยือน ประชาธิปไตยไม่ใช่ทำให้ทุกคนเท่ากันหมดเหมือนกันหมด ประชาธิปไตยในมุมของผมคือการเคารพว่าคนแตกต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้โดยถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก (โดยประชาชนเพื่อประชาชนนั่นแหละครับ แต่จำนวนคนมีไม่มากจึงไม่อยากใช้คำว่าประชาชน) ซึ่งเมื่อส่วนรวมได้ แต่ละคนก็จะได้ส่วนของตัวไปเอง ถ้าซีเรียสถึงขนาดจะสร้างบ้านแล้วละก็ ควรจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่สวนป่าเช่นกันครับ
เมื่อมีบ้านเลขที่ครบสิบหลัง จะขอแยกหมู่บ้านได้ เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านของตัวเองได้ มีกองทุนหมู่บ้าน ดำเนินการตาม พรบ.การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ หากเห็นควรกันว่าจะต้องมีนิติบุคคลเพื่อดูแลโครงสร้างพื้นฐานของส่วนรวม อาจจะดำเนินการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สหกรณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชุมชนอยู่ได้และดำเนินการวิสาหกิจชุมชน ถ้ามี “กำไร” ก็ปันผลเล็กน้อยเป็นค่าขนม แล้วนำเงินส่วนที่เหลือขยายวิสาหกิจชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชนต่อไป
สรุปอย่างง่ายๆ คือหมู่บ้านโลกอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่พร้อมหรือไม่จริงจังครับ หมู่บ้านโลกอยู่ใต้กฏหมายไทย แต่ไม่เน้นการครอบครอง มีแต่เรื่องของส่วนรวม (Kibbutz+Commune) ไม่มีสเป็คว่าผู้ดำเนินกระบวนการเรียนรู้จะต้องเป็นอะไรมาก่อน คนเรามีดีกันคนละหลายอย่างสามารถแบ่งปันกันได้โดยที่ไม่ได้สูญเสียอะไรไป ไม่มีใครที่จะเป็นอยู่อย่างเดียวทำอยู่อย่างเดียวแล้วมีชีวิตรอดอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาคนอื่น แม้แต่พระสงฆ์ก็ยังบิณฑบาตและแสดงธรรมตอบแทนญาติโยมนะครับ
ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน มีแต่ใช้ทุกโอกาสกระตุกคนให้หันกลับมาพิจารณาชีวิตอย่างจริงจัง ละวางสมมุติต่างๆ ได้บ้าง เคารพในอิสระของคนอื่น เคารพในความแตกต่าง เคารพในความเป็นส่วนตัวของกันและกัน
ถ้ามีจะให้และยินดีจะให้ คุยกับครูบาก่อนนะครับ หลังจากนั้นผมขอปรึกษาเรื่องโซนนิ่งเพื่อการจัดโครงสร้างพื้นฐาน (ซึ่งแพงและย้ายลำบาก)
ที่โครงการหมู่บ้านโลกออกมาในรูปนี้ เป็นเพราะครูบาและแม่หวีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำเหมือนสมัยยังมีเรี่ยวแรงไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องหาทางช่วยให้ท่านมีฃีวิตที่ดีในบั้นปลาย ตอบแทนที่ท่านทำคุณไว้กับแผ่นดินมาหลายสิบปีครับ
ความคิดเห็นสำหรับ "หมู่บ้านโลก (5)"