เขื่อนใหญ่บนรอยแยก

อ่าน: 3380

จนปัญญาที่จะหาเหตุผลว่าทำไมจึงไปสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไว้บนรอยแยก ถ้าจะเดาเอา ก็คงมีอยู่สองกรณี คือ (1) ไม่รู้ว่ามีรอยแยก และ (2) มีการสำรวจจนมั่นใจแล้ว ว่ารอยแยกนั้นไม่มีพลังแล้ว ดับแล้ว

ในเมืองไทยมีอยู่สองเขื่อนทางทิศตะวันตก คือเขื่อนศรีนครินทร์บนรอยแยกศรีสวัสดิ์ และเขื่อนวชิราลงกรณใกล้รอยแยกเจดีย์สามองค์ (อนึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสะกดชื่อเขื่อนวชิราลงกรณ ไม่มีการันต์ แต่วิกิพีเดียสะกดแบบมีการันต์ ซึ่งผมเชื่อ กฟผ.ผู้ดูแลเขื่อนครับ)

ที่พูดกันมากคือความเป็นไปได้ของกรณีเขื่อนแตก แล้วน้ำในเขื่อนไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน ว่ากันว่ากาญจนบุรีจะจมน้ำสูง 25 เมตร แล้วน้ำจะไหลมาตามแม่กลองและคลองต่างๆ ทำให้ อ.บ้านโป่งท่วมสูง 7.5 เมตร ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพท่วมสูง 2 เมตร

ถ้าอยู่ดีๆ ถามว่ามีโอกาสที่เขื่อนจะแตกไหม ก็ต้องบอกว่ามีครับ ไม่มีอะไรที่คงอยู่ตลอดไปแน่นอน แต่ผมคิดว่ามีเรื่องที่น่าจะทำความเข้าใจกันก่อนหลายประเด็น…

สมมุติฐานของแบบจำลอง

(1) รูปจำลองกรณีเขื่อนแตกที่อ้างว่ามาจาก กฟผ.นั้น ไม่ทราบว่าจริงเท็จอย่างไร — ดูจากสี ลายกราฟฟิก และแบบอักษรแล้ว น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ทำรูปนี้ขึ้น ซึ่งหากว่าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะเชื่อได้ว่ามาจาก กฟผ.จริง

(2) ไม่ทราบว่าแบบจำลองอันนี้ ใช้ความจุของเขื่อนมาคิดหรือไม่ (ในข้อความประกอบรูปภาพ บอกว่า “ในภาพจำลองระบุว่า หากเขื่อนศรีนครินทร์แตก น้ำจากเขื่อนที่มีความจุถึง 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทะลักเข้าท่วมอำเภอต่าง ๆ…”)

ในขณะที่เขียนนี้ เขื่อนศรีนครินทร์มีปริมาตรน้ำอยู่ 12,302 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 69% ของปริมาตรน้ำเต็มเขื่อน แต่ปล่อยน้ำมาใช้ได้เพียง 2,037 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 11% ของปริมาตรน้ำเต็มเขื่อน [ตรวจสอบปริมาตรน้ำในเขื่อน; ในทุกหน้าของลานซักล้างนี้ คลิกที่แผนที่ประเทศไทย จะปรากฏตารางเดียวกัน]

จากปริมาตรน้ำที่กักเก็บในเขื่อน ไม่ใช่ว่าน้ำจะนำมาใช้ได้ทั้งหมด (หรือว่าไหลทะลักมาทั้งหมดในกรณีที่เขื่อนแตก) ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นของเขื่อน ไม่ได้เรียบเหมือนอ่างอาบน้ำ และไม่ได้มีลาดมาทางสันเขื่อนเหมือนเอากระดานมาปูไว้ พื้นของเขื่อนมักจะเคยเป็นหุบเขา ซึ่งภายในพื้นที่เก็บน้ำมีระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน ยิ่งกว่านั้นเมื่อระดับน้ำต่ำกว่าประตูระบายน้ำหรือปลายท่อน้ำเข้าของกังหันน้ำ ก็ไม่สามารถปล่อยน้ำออกมาได้ อันนี้ทำให้น้ำที่กักเก็บไว้ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด — การใช้ตัวเลข 17,745 ล้าน ลบ.ม. และคิดว่าสันเขื่อนระเบิดทำให้น้ำทะลักออกมาหมดในคราวเดียวกันเหมือนในหนังฮอลิวู้ด จึงเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

แผ่นดินไหว

(3) เท่าที่มีตัวเลขเก็บไว้ แผ่นดินไหวครั้งที่แรงที่สุดเมื่อปี 2526 เกิดห่างสันเขื่อนศรีนครินทร์ 55 กม. มีความแรง 5.9 ริกเตอร์ รับรู้ได้ทั้งที่ตัวเขื่อนและตัวเมืองกาญจนบุรี แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับตัวเขื่อน

(4) เพื่อความมั่นใจ กฟผ.ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในบริเวณเขื่อน ดูได้ที่นี่ตลอดวันตลอดคืน

ความแข็งแรงของเขื่อน

(5) ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นเขื่อนแบบหินทิ้ง (อัดและดาดคอนกรีต) ไม่น่าจะเกิดกรณีเขื่อนแตกระเบิดโพล๊ะแบบในหนัง อาจจะมีกรณีเขื่อนปริได้หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีความเร่งสูง จนเกินความแข็งแรงของเขื่อน ซึ่งในกรณีนี้ น้ำก็จะค่อยๆ ซึมผ่านผิวเขื่อน ผ่านดิน-หินที่บดอัดเอาไว้เป็นแกนของเขื่อน ผ่านผิวอีกด้วยหนึ่ง

หากเกิดการปริที่ฐานของสันเขื่อน น้ำเหนือเขื่อนจะมีแรงทะลุทะลวงมาก แต่ว่ากรณีนี้เกิดยากเพราะว่าฐานของสันเขื่อนหนามาก; หากเกิดการปริที่ด้านบนๆ ของสันเขื่อนซึ่งหนาน้อยกว่า (แต่ยังหนาอยู่ดี) น้ำจะมีแรงดันน้อย ทะลวงได้น้อย

(6) ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่เอกสารทางวิชาการ เรื่องพฤติกรรมเขื่อนหินถมคอนกรีตดาดหน้า : สภาวะปกติและแผ่นดินไหว และมีเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “การวิเคราะห์เพื่อออกแบบและประเมินความปลอดภัยเขื่อน” ให้ดาวน์โหลดได้

เขื่อนแตก

(7) ความปลอดภัยของเขื่อน ใช้ค่าความเร่ง (ค่า a ในสูตร F=ma ว่าคิดเป็นกี่ g) ไม่ได้ใช้ค่าความแรงของแผ่นดินไหวเป็นริกเตอร์ เขื่อนทุกเขื่อนมีการติดตั้งเครื่องมือวัดความเร่งเอาไว้แล้ว ส่วนการแปลงจากริกเตอร์เป็นกี่เท่าของค่า g นั้น แปลไม่ได้ตรงๆ เพราะขึ้นกับลักษณะการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน; ดังนั้นก็อย่าไปคาดคั้นเจ้าหน้าที่เลยครับ ว่าเขื่อนทนแผ่นดินไหวได้กี่ริกเตอร์

(8) เมื่อต้นปี สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข่าวซึ่งเสนอในหนังสือพิมพ์ ว่ารอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จะมีขนาดไม่เกิน 6.9 ริกเตอร์ ที่ผ่านมาในอดีต มีความแรง 5.9 ริกเตอร์ ตาม (3)

(9) กรณีของเขื่อนแตกดังโพล๊ะ อาจเกิดได้จากดินถล่มในบริเวณภูเขาที่ขนาบสันเขื่อนอยู่ อย่าลืมว่าสันเขื่อนตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก แรงกดของน้ำปริมาณมหาศาล นอกจากรับด้วยสันเขื่อนแล้ว ก็ยังมีภูเขาสองด้านรับแรงนี้อยู่ด้วย เมื่อเกิดดินถล่มบนภูเขา ความต้านทานแรงดันน้ำจะลดลง และน้ำอาจทะลักอ้อมสันเขื่อนได้ — เท่าที่ทราบ กรณีอย่างนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น

แผ่นดินไหว ทำนายล่วงหน้าไม่ได้ทั้งเวลาและความแรงที่เกิด (ยกเว้นว่ามีอำนาจพิเศษล่วงรู้อนาคต หรือไม่ก็เป็นคนทำเสียเอง) แต่ถ้าบอกว่าไม่เกิดแผ่นดินไหวแน่นอน คงต้องเป็นคนพิเศษพอกันครับ

« « Prev : ควบคุมความคิด ความฟุ้งซ่าน

Next : ความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 May 2011 เวลา 20:45

    กรณีเขื่อนไชยบุรี ลาว นั้น ที่ขยายเวลาเริ่มก่อสร้างก็เพราะเรื่องหนึ่งคือ ให้เวลาศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวให้ละเอียด วันนั้นบินมากับนักธรณีวิทยา ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่ มช. ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ตั้งคำถามว่า เขาศึกษาอย่างไร เขาบอกว่า จะต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ภาพถ่ายดาวเทียม ดิน หินในพื้นที่รอบๆ เขื่อนและเป็นรัศมีกว้างออกไป เก็บมาศึกษาว่า ในระยะเวลา 10,000 ปีลงมาถึงปัจจุบันนั้น แถวนี้มีรอยเลื่อนที่ activate อยู่หรือไม่อย่างไร แล้วก็คำนวนหาค่าต่างๆออกมา แล้วจึงสรุป การวิเคราะห์บางอย่างเมืองไทยทำได้ บางอย่างต้องส่งไปต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนก็ทราบ  ผมก็ฟังเขามาเล่าต่อน่ะครับ..

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2011 เวลา 5:02
    ขอบคุณครับพี่ ก่อนการลงทุนขนาดใหญ่นั้น ก็จะมีการศึกษาอย่างละเอียดตามหลักวิชามาอยู่แล้ว ซึ่งความรู้นั้นก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ (เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง เคยคิดกันทั่วไปว่าฝั่งอันดามันไม่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ใครเตือนก็ไม่ฟัง) ซึ่งถ้าหากพบข้อมูลใหม่ ก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปตรวจสอบสมมุติฐานต่างๆ อีกครั้งหนึ่งครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.79766893386841 sec
Sidebar: 0.6026611328125 sec