ควบคุมความคิด ความฟุ้งซ่าน
อ่าน: 4092บ้านเมืองของเราสงบสุขอยู่บนความปั่นป่วนอลหม่าน เป็นความอลหม่านอันเกิดจากการไม่ทำหน้าที่ของตน ปล่อยปัญหาให้หมักหมมไว้จนแก้ไขได้ยาก สิ่งที่ผิดกลายเป็นถูก สิ่งที่ถูกกลายเป็นแปลกประหลาด ผู้มีหน้าที่บางส่วนก็หย่อนยาน กระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตนแต่ถ่ายเดียว คนทำอย่างนั้นก็คงคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ(ทีึ่คนเห็นแก่ตัว)จึงทำไป…
ความคิดแบบนี้ ถูกแค่บางส่วนครับ แต่คงลืมไปว่ามนุษย์นั้นพึ่งพากัน ไม่มีใครที่รู้อะไรทั้งหมด ไม่มีใครทำอะไรได้ทั้งหมด ถ้าคนอื่นอยู่ไม่ได้ ตัวเราก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน… ปัจเจกชนมีความแตกต่าง ถ้าไม่ระวังก็จะเกิดความกระทบกระทั่งเบียดเบียนกันขึ้นได้ แล้วยิ่งอคติ+อัตตาใหญ่โต คุ้นชินกับการเพ่งโทษของผู้อื่น เรื่องนิดเดียวก็ขยายได้เช่นกัน ทุกเรื่องดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่เมื่อไปจ้องดูใกล้ๆ ในขณะที่คนที่ไม่สนใจ มองดูจากระยะไกลแล้วเป็นเรื่องนิดเดียว ทั้งที่เรื่องนั้นก็มีขนาดของเรื่องเท่าเดิมนั่นแหละ
ในวิตักกสัณฐานสูตร ว่าด้วยอาการแห่งวิตก — อาการวิตกคืออาการหมกมุ่นครุ่นคิดกังวลอยู่กับเรื่องที่คิด ทำให้สติไม่แจ่มใส ไม่เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง (วิปลาส)… ในอาการวิตกหมกมุ่น ไม่มีปัญญาครับ เวลาอ่านหนังสือที่อยู่ห่างลูกนัยน์ตาแค่นิ้วเดียว ไม่ได้ทำให้ซาบซึ้งมากขึ้นเลย แต่กลับอ่านไม่ออกนะครับ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชอธิบายไว้โดยสังเขปด้งนี้
พุทธวิธีควบคุมความคิด
พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีควบคุมความคิด ให้อยู่ในอำนาจใจไว้ว่า ถ้ามีสติรู้ว่ากำลังคิดในเรื่องไม่ควรคิด ซึ่งเมื่อกำลังพูดถึงการแก้โทสะ ก็หมายความได้ถึงเรื่องที่จะทำให้โทสะเกิด หรือเกิดอยู่แล้วแต่น้อยให้เพิ่มมากขึ้น
เมื่อมีสติรู้ว่ากำลังคิดเช่นนั้น ให้เปลี่ยนเรื่องคิดเสีย เช่น กำลังคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ก. กำลังเกิดโทสะเกี่ยวกับนาย ก. ก็ให้เปลี่ยนเป็นคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับนาย ข. เสีย โทสะที่กำลังจะเกิดเกี่ยวกับนาย ก. ก็จะดับไป
แต่ถ้าเปลี่ยนเรื่องคิดเช่นนั้น ก็ยังคอยแต่จะย้อนกลับไปคิดเรื่องเก่าที่ก่อให้เกิดโทสะอยู่นั่นเอง ท่านให้พิจารณาโทษของความคิดเช่นนั้น คือ พิจารณาให้เห็นว่า การคิดเช่นนั้นทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สบาย ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่คิดเช่นนั้นแล้วจะสบาย ตนเองได้ประโยชน์จากความสบายนั้น
แม้พิจารณาโทษของความคิดที่ไม่ดีนั้นแล้ว ก็ยังไม่อาจยับยั้งความคิดนั้นให้สงบลงได้ ท่านก็ให้ไม่ใส่ใจเรื่องนั้น คือ พยายามไม่สนใจเสียเลย พยายามลืมเสียเลย
แต่ถ้าไม่สำเร็จอีก ลืมไม่ได้อีก คือยังใส่ใจอยู่อีก ท่านให้ใช้ความใคร่ครวญ พิจารณาหาเหตุผลว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น ขณะที่คิดหาเหตุผลอยู่นี้ ความโกรธจะลดระดับความรุนแรงลง ท่านเปรียบเหมือนคนกำลังวิ่งเร็วก็จะเปลี่ยนวิ่งช้า กำลังวิ่งช้าก็จะเปลี่ยนเป็นเดิน กำลังเดินก็จะเปลี่ยนเป็นยืน กำลังยืนก็จะเปลี่ยนเป็นนั่ง และกำลังนั่งก็จะเปลี่ยนเป็นลงนอน
ถ้าทำเช่นนั้นแล้วก็ยังไม่ได้ผล ความคิดเดิมยังไม่หยุดท่านให้ใช้ฟันกัดฟันให้แน่น เอาลิ้นกดเพดานไว้ เช่นนี้ความคิดจะหยุด
เมื่อแก้ไขความคิดที่จะนำไปสู่ความมีโทสะได้สำเร็จ คือเลิกคิดในทางที่จะทำให้เกิดโทสะได้ ก็เท่ากับไม่เพิ่มเชื้อแก่ไฟโทสะ ไฟโทสะก็จะเย็นลง และหากบังคับความคิดเสมอๆ จนเคยชิน ให้ไม่คิดไปในทางที่จะทำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะลดลง ทำให้ความร้อนในจิตใจเบาบางลง มีความเยือกเย็นเกิดขึ้นแทนที่
นั้นแหละจะมีความสุข ทั้งตัวเองและทั้งผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดด้วยทั้งหลาย นับเป็นผลอันน่าปรารถนาที่เกิดจาการบริหารจิตตามหลักพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์ฉบับเต็ม อยู่ในหนังสือชุดพุทธวิธีในการบริหารจิต ชื่อพุทธวิธีควบคุมความคิด
« « Prev : ฝนตก น้ำท่วม กระสอบทราย
5 ความคิดเห็น
อ่านไปก็มีตอนหนึ่งคาบเกี่ยวกับเรื่องที่เทศน์เมื่อครู่ในโอกาสวันวิสาขบูชา….
วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมเทน สมฺปาเทถ - สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อธิบายตอนหนึ่งว่า ความคิดก็จัดว่าเป็นสังขาร การไม่ประมาทคือไม่มัวเมาหลงไหลในส่วนความคิดนี้ ได้แก่ไม่ยึดติดกับความคิด ปรุงแต่งความคิดในส่วนเป็นคุณ อย่าให้เสื่อมสลายเร็วเกินไป และป้องกันมิให้ความคิดในส่วนเป็นโทษเกิดอาการกำเริบขึ้นมา….
ไม่แน่ใจเรื่องเดียวกันหรือไม่ ?
เจริญพร
สาธุค่ะ หลวงพี่
คุณโยมคลาดคลื่อน… พระบาลีที่ยกมาเป็นปัจฉิมโอวาท หรือคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายก่อนจะปรินิพพานในเพ็ญเดือนหกหรือวันวิสาขบูชาดังเช่นคืนนี้
เจริยพร
พระคาถานี้ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรสองครั้ง ในข้อ [๑๐๗ เมื่อทรงปลงพระชนมายุสังขาร ในวันมาฆบูชา] และ [๑๔๓ ปัจฉิมโอวาทก่อนเข้าสมธิจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันวิสาขบูชา]