สติเป็นประดุจปฏัก ความเพียรเป็นบังเหียน ปัญญาเป็นห้ามล้อ
อ่าน: 3645ในมหานารทกัสสปชาดกซึ่งเป็นชาติที่แปดที่พระมหาโพธิสัตว์ บำเพ็ญทศบารมี เรื่องเต็มอ่านได้จากพระไตรปิฎกครับ ส่วนเรื่องย่อๆ มีว่า
ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลามหานคร ณ วิเทหรัฐ พระองค์ทรงตั้งอยู่ในธรรม ถามเหล่าอำมาตย์อาวุโสว่า ทำอย่างไรจึงจะเพลิดเพลินท่ามกลางคืนพระจันทร์สวยเช่นนี้
อลาตอำมาตย์ทูลว่า “ขอเดชะ ควรจะเตรียมกองทัพใหญ่ยกออกไปกวาดต้อนดินแดนน้อยใหญ่ ให้เข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจพระเจ้าข้า“
สุนามอำมาตย์ทูลว่า “ทุกประเทศใหญ่น้อยก็มาสวามิภักดิ์อยู่ในพระราชอำนาจหมดแล้ว ควรที่จะจัดการเลี้ยงดู ดื่มอวยชัยให้สำราญ และหาความ เพลิดเพลินจากระบำรำฟ้อนเถิดพระเจ้าข้า“
วิชัยอำมาตย์ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ เรื่องการระบำดนตรีฟ้อนร้องนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรอยู่แล้วเป็นนิตย์ ในราตรีอันผุดผ่องเช่นนี้ ควรไปหาสมณพราหมณ์ผู้รู้ธรรม แล้วนิมนต์ท่านแสดงธรรมะจะเป็นการควรกว่าพระเจ้าค่ะ“
พระราชาพอพระทัยคำทูลของวิชัยอำมาตย์ จึงตรัสถามว่า “เออ แล้วเราจะไปหาใครเล่าที่เป็นผู้รู้ธรรม”
อลาตอำมาตย์แนะขึ้นว่า “มีชีเปลือยรูปหนึ่งอยู่ในมิคทายวัน เป็นพหูสูตร พูดจาน่าฟัง ท่านคงจะช่วยขจัดข้อสงสัยของเราทั้งหลายได้ ท่านมีชื่อว่า คุณาชีวก” พระเจ้าอังคติราชได้ทรงฟังก็ยินดี สั่งให้เตรียมกระบวน เสด็จไปหาชีเปลือยชื่อคุณาชีวกนั้น เมื่อไปถึงที่ ก็ทรงเข้าไปหาคุณาชีวก ตรัสถามปัญหาธรรมที่พระองค์สงสัยอยู่ว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมกับบิดา มารดา อาจารย์ บุตร ภรรยาอย่างไร เหตุใดชนบางพวกจึงไม่ตั้งอยู่ในธรรม ฯลฯ คำถามเหล่านี้ เป็นปัญหาธรรมขั้นสูงอันยากจะตอบได้
ยิ่งคุณาชีวกเป็นมิจฉาทิฏฐิผู้โง่เขลาเบาปัญญาด้วยแล้ว ไม่มีทางจะเข้าใจได้คุณาชีวกจึงแกล้งทูลไปเสียทางอื่นว่า “พระองค์จะสนพระทัยเรื่องเหล่านี้ไปทำไม ไม่มีประโยชน์อันใดเลยพระเจ้าข้า โปรดฟังข้าพเจ้าเถิด ในโลกนี้ บุญไม่มี บาปไม่มี ปรโลกไม่มี ไม่มีบิดา มารดาปู่ย่า ตายาย สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเสมอกันหมด จะได้ดีได้ชั่วก็ได้เอง ทานไม่มี ผลแห่งทานก็ไม่มี ร่างกายที่ประกอบกันขึ้นมานี้ เมื่อตายไป แล้วก็สูญสลายแยกออกจากกันไป สุขทุกข์ก็สิ้นไป ใครจะฆ่า จะทำร้าย ทำอันตราย ก็ไม่เป็นบาป เพราะบาปไม่มี สัตว์ทุกจำพวก เมื่อเกิดมาครบ 84 กัปป์ก็จะบริสุทธิ์พ้นทุกข์ไปเอง ถ้ายังไม่ครบ ถึงจะทำบุญทำกุศลเท่าไร ก็ไม่อาจบริสุทธิ์ไปได้ แต่ถ้าถึงกำหนด 84 กัปป์ แม้จะทำบาปมากมาย ก็จะบริสุทธิ์ไปเอง“
พระราชาได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านี้โง่เขลาจริงๆ ข้าพเจ้ามัวหลงเชื่อว่า ทำความดี แล้วจะไปสู่สุคติ อุตส่าห์พากเพียร บำเพ็ญกุศลกรรม บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า บุญไม่มี บาปไม่มี ผลกรรมใดๆ ไม่มีทั้งสิ้น บุคคลจะบริสุทธิ์เองเมื่อถึงกำหนดเวลา แม้แต่การฟังธรรมจากท่านอาจารย์ก็ หามีประโยชน์ อันใดไม่ ข้าพเจ้าขอลาไปก่อนละ”
เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระราชวัง พระเจ้าอังคติราชก็มีพระราชโองการว่า ต่อไปนี้พระองค์จะไม่ปฏิบัติราชกิจใดๆทั้งสิ้น เพราะการทั้งปวงไม่มีประโยชน์ ไม่มีผลอันใด พระองค์จะแสวงหา ความเพลิดเพลินใน ชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาทรร้อนใจกับผลบุญผลกรรมใดๆทั้งสิ้น
จากนั้นก็เกิดเสียงเล่าลือไปทั้งพระนครว่า พระราชากลายเป็นมิจฉาทิฐิ คือหลงผิดเชื่อคำของชีเปลือยคุณาชีวก บ้านเมืองย่อมจะถึงความเสื่อมหากพระราชาทรงมีพระดำริดังนั้น
ความนี้ทราบไปถึงเจ้าหญิงรุจาราชกุมารี ทรงร้อนพระทัยเมื่อทราบว่าพระบิดาให้รื้อโรงทานทั้งสี่มุมเมือง จะไม่บริจาคทานอีกต่อไป ทั้งยังได้กระทำการข่มเหงน้ำใจชาวเมืองมากมายหลายประการ ด้วยความที่ทรงเชื่อว่า บุญไม่มี บาปไม่มี บุคคลไปสู่สุคติเองเมื่อถึงเวลา
เจ้าหญิงรุจาราชกุมารีจึงเข้าเฝ้าพระบิดา ทูลขอพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันเพื่อจะเอาไปทรงทำทาน พระบิดาเตือนว่า “ลูกรัก ทานไม่มีประโยชน์ดอก ปรโลกไม่มี เจ้าจะไม่ได้ผลอะไรตอบแทน หากเจ้ายังถือศีลอดอาหารวันอุโบสถอยู่ก็จงเลิกเสียเถิด ไม่มีผลดอกลูกรัก” เจ้าหญิงพยายามเตือนสติพระบิดา พระราชามิได้เชื่อคำรุจาราชกุมารี ยังคงยึดมั่นตามที่ได้ฟังมาจากคุณาชีวก เจ้าหญิงทรงเป็นทุกข์ถึงผลที่พระบิดาจะได้รับเมื่อสิ้นพระชนม์ จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากเทพยดาฟ้าดินมีอยู่ ขอได้โปรดมาช่วยเปลื้องความเห็นผิดของพระบิดาด้วยเถิด จะได้บังเกิดสุขแก่ปวงชน”
ขณะนั้น มีพรหมเทพองค์หนึ่งชื่อพระมหานารทกัสสปะ เป็นผู้มีความกรุณาในสรรพสัตว์ มักอุปการะเกื้อกูลผู้อื่นอยู่เสมอ นารทพรหมเล็งเห็นความทุกข์ของรุจาราชกุมารี และเล็งเห็นความเดือดร้อนอันจะเกิดแก่ประชาชนหากพระราชาทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเสด็จจากเทวโลกแปลงเป็นบรรพชิต เอาภาชนะทองใส่สาแหรกข้างหนึ่ง คนโทแก้วใส่สาแหรกอีกข้างหนึ่ง ใส่คานทานวางบนบ่าเหาะมาสู่ปราสาทพระเจ้าอิงคติราช มาลอยอยู่ตรงหน้าพระพักตร์
จากนั้นพระมหานารทกัสสปะ ก็แสดงธรรมแก่พระราชา (แม้แต่คนโง่ ยังเอะใจ!)
[๘๙๑] มหาบพิตรจงทรงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ
อันมีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า (เพราะปราศจากถีนมิทธะ)
อันมีอวิหิงสาเป็นเพลาที่เรียบร้อยดี
มีการบริจาคเป็นหลังคา
มีการสำรวมเท้าเป็นกง
มีการสำรวมมือเป็นกระพอง
มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด
มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท
มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถอันบริบูรณ์
มีการไม่กล่าวคำส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้สนิท
มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา
มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกรัด
มีศรัทธาและอโลภะเป็นเครื่องประดับ
มีการถ่อมตนและกราบไหว้เป็นกูบ
มีความไม่กระด้างเป็นงอนรถ
มีการสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ
มีความไม่โกรธเป็นอาการไม่กระเทือน
มีกุศลธรรมเป็นเศวตรฉัตร
มีพาหุสัจจะเป็นสายทาบ
มีการตั้งจิตมั่นเป็นที่มั่น
มีความคิดเครื่องรู้จักกาลเป็นไม้แก่น
มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำ
มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก
มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา
มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด
มีการเสพบุคคลผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี
มีสติของนักปราชญ์เป็นปฏัก
มีความเพียรเป็นสายบังเหียน
มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเช่นดังม้าที่หัดไว้เรียบเป็นเครื่องนำทาง
ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง ขอถวายพระพรปัญญาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนม้า ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตรที่กำลังแล่นไปในรูป เสียง กลิ่นรส
พระองค์นั้นแลเป็นสารถี ถ้าความประพฤติชอบและความเพียรมั่นมีอยู่ด้วยยานนี้ รถนั้นจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง จะไม่นำไปบังเกิดในนรก ฯ
« « Prev : หลง
Next : ข้อสอบคัดเลือกเข้า ป.๑ ของโรงเรียนดัง » »
1 ความคิดเห็น
.ใครๆก้เผลอเรอได้ แม้แต่พระราชา
ถ้าหูไม่หนัก หูไม่มีคุณภาพ ก็จะหลงคำเพ้จทูล แล้วแยกแยะไม่ออก
เรื่องนี้ยังมีปฏักไว้คอยเคาะหน้าแข้ง