จุดสิ้นสุดของอนาล็อกทีวีในสหรัฐ
อ่าน: 5489วันที่ 17 กุมภาพันธ์ สถานีโทรทัศน์ในสหรัฐ จะเลิกแพร่ภาพแบบอนาล็อก (ซึ่งแพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) เปลี่ยนไปเป็นการแพร่ภาพแบบดิจิตอลแทน
ยกเรื่องนี้มาเป็นอุทาหรณ์สำหรับเมืองไทยว่าจะทำอะไร ก็ควรวางแผนล่วงหน้า แล้วประกาศให้คนเตรียมตัวก่อนครับ
โทรทัศน์ที่ผลิตและจำหน่ายในสหรัฐตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2550 จะต้องมีภาครับแบบดิจิตอล หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องมีป้ายตัวใหญ่ๆ บอกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ผู้ที่ซื้อโทรทัศน์ไป จะต้องซื้อเครื่องรับแบบดิจิตอลเพิ่ม เพื่อแปลงสัญญาณทีวีดิจิตอลเป็นสัญญาณอนาล็อก เพื่อใช้กับ “ทีวีเก่า”
สำหรับ “ฟรีทีวี”
- เครื่องรับโทรทัศน์แบบอนาล็อก ต้องซื้อเครื่องรับดิจิตอลมาแปลงสัญญาณเป็นอนาล็อก และซื้อเสาอากาศ UHF เพิ่ม
- เครื่องรับโทรทัศน์แบบดิจิตอล ยังต้องซื้อเสาอากาศ UHF เพิ่มเช่นกัน
สมาชิกเคเบิ้ลทีวีจากดาวเทียม ไม่จำเป็นต้องทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรับโทรทัศน์แบบอนาล็อก หรือดิจิตอล เพราะว่า set-top box ทำหน้าที่แปลงสัญญาณให้เหมาะกับเครื่องรับอยู่แล้ว
ทีวีดิจิตอล รับสัญญาณผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ (หากมี set-top box ที่เหมาะสม) แต่การส่งสัญญาณจะใช้ multicast และคาดว่า IP address ของ IPv4 จะไม่พอ จึงน่าจะต้องย้ายไปใช้ IPv6
ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึง 31 มีนาคม 2552 FCC ของสหรัฐ (เหมือนกับ กสทช.ตามรัฐธรรมนูญไทยปี 2550) แจกคูปองมูลค่า 40 เหรียญสหรัฐ จำนวนสองคูปองกับทุกๆ บ้าน เพื่อให้ไปซื้อเครื่องแปลงสัญญาณ
สำหรับที่เกี่ยวกับเมืองไทย
- รายการทีวีจากสหรัฐ ทีนี้พอมาฉายในทีวีเมืองไทย ก็จะไม่เต็มจอครับ หรือไม่ก็มีบางส่วนล้นออกนอกจอไป
- ถ้าสังเกตุดู ความกว้าง-ยาวของ Youtube เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป็น aspect ratio 16:9 เหมือนทีวีดิจิตอล
- ผมคิดว่ามีไอเอสพีในเมืองไทยไม่กี่แห่งที่สนับสนุน multicast และ IPv6
วันนี้เอง มีข่าวว่าวุฒิสภาอาจเสนอให้เลื่อนกำหนด 17 กุมภาพันธ์ออกไปเป็น 12 มิถุนายน เพราะบริษัทวิจัยตลาดแห่งหนึ่งประมาณว่า 6.5 ล้านครอบครัวยังไม่พร้อม — เออนะ ทุกประเทศก็มีคนเฉื่อยชาด้วยกันทั้งนั้น
5 ความคิดเห็น
ดีจัง ที่สมาชิกเคเบิ้ลทีวีจากดาวเทียม ไม่จำเป็นต้องทำอะไร
เพราะว่า set-top box ทำหน้าที่แปลงสัญญาณอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
ที่ห้องผมยังใช้จอ 14″ อยู่เลยครับ แต่ไม่ได้ดูทีวีเป็นเรื่องเป็นราวมาหลายปีแล้ว
ปัญหาไม่ได้เกิดจากชาวบ้านเฉี่อยชาหรือว่าไม่ยอมทำอะไรนะครับ แต่เกิดจากหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่แจกคูปอง $40 ดังกล่าว ทำงานไม่ทันครับ ทำให้ยังมีชาวบ้านจำนวนมาก (โดยเฉพาะแถบทางกลางของประเทศ ที่ความหนาแน่นต่ำมากจนไม่มีบริการเคเบิล หรือว่าจนมากจนต้องรอคูปอง) ยังไม่สามารถจะหาเครื่องแปลงสัญญาณมาได้นะครับ