วันแห่งการประชุม
อ่าน: 3426เมื่อวานมีประชุมสำคัญสองอันครับ
อันแรกประชุมคณะกรรมการวิชาการของ สมอ. ได้พบกับ ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ เป็นครั้งแรก คุยกันเรื่องมาตรฐานที่เกี่ยวกับอักษรไทยน้อย ซึ่งอยากจะจดทะเบียนรหัสอักขระเพื่อรักษาภาษาถิ่นนี้ไว้
ผมเลยไปซื้อหนังสือ อักษรไทยโบราณ ลายสือไทย และวิวัฒนาการอักษรของชนชาติไทย ของ ศ.ธวัช ปุณโณทก มาเล่มหนึ่งจากศูนย์หนังสือจุฬา แม้หนังสือนี้จะไม่ได้ช่วยให้รู้แจ้งเรื่องอักษรไทยน้อย แต่ก็พอเข้าใจวิธีเขียน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องรู้ ก่อนที่จะทำ code point assignment ก่อนเสนอ ISO/IEC JTC1 และ Unicode Consortium
ลองเปิดหนังสืออ่านอักษรยวนล้านนาที่มากับเสื้อที่ระลึกจากเชียงราย ก็อ่านออกครับ
อ.จำนงค์ให้เกร็ดประวัติศาสตร์ ว่าให้เรียกชื่อ ถนนพระรามที่ ๑ ถนนพระรามที่ ๔ ถนนพระรามที่ ๕ และถนนพระรามที่ ๖ เพราะสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเหล่านี้ และพระราชทานชื่อเอาไว้อย่างนี้ (โดยไม่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนพระรามที่ ๒ และถนนพระรามที่ ๓)
ถนนจรัญสนิทวงศ์ สะกดด้วย ญ ไม่ใช่ ล; ถนนสาทร สะกดด้วย ท ไม่ใช่ ธ เพราะทั้งสองชื่อเป็นราชทินนาม
นอกจากนั้น อาจารย์ยังให้ข้อสังเกตุว่าชื่อสะพานไม่มี “ที่” เช่น สะพานพระราม ๙ สะพานพระราม ๘ … สะพานพระราม ๓
บ่ายมีนัดคุยกับ InSTEDD เป็นการคุยชั่วโมงครึ่งที่สนุกมาก เค้ามากันสามคน เป็น VP ของมูลนิธิสองคน อีกคนตามมาทีหลังเป็น Technical Director ของ Mekhong Program
ที่ OpenCARE ทำอยู่ กลับสอดประสานกับสิ่งที่ InSTEDD ทำไม่ซ้ำซ้อนกัน InSTEDD ทำเครื่องมือเชื่อมโยงคนเพื่อให้เกิดความร่วมมือ ส่วน OpenCARE ทำเรื่องข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ความร่วมมือนั้นเป็นไปโดยใช้ความรู้ความชำนาญให้เป็นประโยชน์
VP Global Health กล่าวชมฝีมือคนไทย บอกว่าล้ำหน้าเกินคาด เค้าเป็นอาจารย์หมออยู่สแตนฟอร์ด ไม่ได้ข่าวดีอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยเลย เค้านึกไม่ถึงเลยว่าบ้านนอก (เค้าไม่ได้พูดคำนี้หรอกครับ) จะมีความก้าวหน้า และมีจิตใจสูงแบบนี้ — อันนี้เค้าชมนะครับ — ส่วน VP Engineering นั้นสนุกกว่าเพื่อน เพราะคุยเรื่องเทคนิคกัน พูดอะไรออกไปนิดหน่อย เค้าก็เห็นทางต่อยอดได้มากมาย เค้าให้วิจารณ์เครื่องมือที่เค้าทำ ผมก็ให้ความเห็นไปตามที่เคยศึกษามา (จะไปคุยกับใครก็ต้องศึกษาเค้ามาก่อน) ชี้ประเด็นข้อจำกัดของผู้ให้บริการโทรศัพท์ ความแตกต่างระหว่างสหรัฐกับประเทศอื่นๆ ภาษา กฏหมายระหว่างประเทศ รู้สึกจะจดโน๊ตไปห้าหน้า
คิดว่าคงมีอะไรทำร่วมกันได้เยอะครับ เค้าอาจจัด BarCamp และ/หรือ ช่วยขยายผลในส่วนที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้บ้าง เพราะ OpenCARE มีคนจำกัดมาก เราเร่งการเชื่อมต่อกับองค์กรของรัฐ และ NGO ในประเทศก่อนซึ่งใช้ภาษาไทย จะให้แปลหรือทำสองภาษาก็ไม่ไหวครับ
เค้าถามว่าจะให้ช่วยอะไร ผมเลยงง คือไม่ได้ตั้งใจไปขออะไรเขาซะหน่อย ตั้งใจจะไปร่วมมือกันต่างหาก ก็เลยบอกไปเลยว่าเงินเป็นเรื่องกระจอกที่สุด อยากให้ช่วยเรื่องเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ OpenCARE ในชุมชนนักพัฒนาของ InSTEDD
« « Prev : สุริยุปราคา 26 ม.ค. 2552
Next : จุดสิ้นสุดของอนาล็อกทีวีในสหรัฐ » »
5 ความคิดเห็น
อ่านออก! เย้ๆๆๆๆๆๆ สำเร็จ มั่วจนสำเร็จ ดีใจๆๆๆๆ แม้อาจารย์ผู้สอนจะบอกว่าเขียนแบบตามใจฉันชะมัดก็ตามเหอะน่า 555555555555555555
ถ้าตามอักขระวิธี จะมีเรื่องสระผสม เช่นสระเอีย และตัวสะกด (ภาษาถิ่นเรียกตีน) ซึ่งไปใช้พยัญชนะครึ่งตัว ซึ่งถ้าให้ผมเขียน ผมจะมั่วว่า ชง(เ-ีย)รยารำลึกครับ แต่ผิดหรือถูกก็ไม่รู้
ถ้า barcamp นี้เข้ามาร่วมได้เลยครับ กำลังต้องการแตกแขนงกันอยู่ เข้าไปดูที่นี้ได้เลยครับ http://barcampbangkok.org และ google group ของ barcamp Thailand ที่ http://groups.google.com/group/barcamp-thailand?lnk=li ครับ
ตามไปดูที่เว็บของ InSTEDDแล้วครับ ยังไม่ได้ดูละเอียด ไว้กลับไปอ่านใหม่อีกรอบ ^^”