ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูล

อ่าน: 4339

เมื่อคืนฟังอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน พูดถึงปัญหาความยากจน ว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาต่างๆ มากมาย มีความบางตอนที่กรุงเทพธุรกิจสรุปมาว่า

ผมอยากจะเลิกพูดเรื่อง โรดแมพ 5 ข้อ เพราะอยู่บนโต๊ะแล้ว  ต้องถามว่าปัญหาคืออะไร การเมือง หรือสังคม  ถามว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ผมว่ารากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ความยากจน ที่พูดๆ กันเป็นปัญหาปลายเหตุ ปัญหาใหญ่คือความยากจน หากทำให้ความยากจนลดลงไป ถ้าปลดเปลื้องหนี้สิน ชีวิตก็จะดีขึ้น

คนยากจนคือ จนรายได้ หาเช้ากินค่ำ พวกไม่มีงานทำ ทุพพลภาพ พวกมีงานทำ แต่อยู่นอกระบบประกันสังคม นอกระบบประกันสุขภาพ แต่บางคนมีงานทำ อาจจะเป็นคนจนได้ พวกจนโอกาส หมายความว่า เกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้ไม่ดี  ไม่สามารถไปหาหมอ เข้าถึงถึงระบบพยาบาล ขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี บางคนเรียนดีแต่ไม่มีเงินเรียนมัธยม หรือมหาวิทยาลัย

อีกพวกหนึ่งคือจนสิทธิ เช่น สิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญเขียนไว้สวย แต่เขาเข้าไม่ถึง หรือระบบยุติธรรม และเป็นธรรม เขาขาดสิ่งเหล่านี้ อาจไม่มีความยุติธรรมในกฎหมายบางเรื่อง ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายฉบับเดียวกันคุณกับผมต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และมันก็มีเรื่องคอร์รัปชันตามมาด้วย

ปัญหาคนจนที่ผ่านมา เป็นการให้ทานมากกว่า คนไทยใจดี ขนาดเศรษฐกิจไม่ดียังให้วัด ให้โรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่ผิด ดีด้วย แต่ต้องช่วยเสริมสร้างให้เขาดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เขาเป็นมนุษย์แล้วเขามีสิทธิอะไรบ้าง

การแก้ไขปัญหายากจน ประเทศอื่นเขาผ่านมาแล้ว ของเราค่อนข้างลำบาก ใจผมอยากเห็นภาคประชาชนเป็นผู้ชี้นำรัฐบาล ผมไม่อยากเห็นการพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว เวลาคนพูดอยากให้ปฏิรูปประเทศไทย ผมฟังแล้วผมยิ้ม ผมยิ้มด้วย 2 เหตุผล คือ ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ทำไม่สำเร็จสักที อันที่สองคือ ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข สื่อ เอาเวลาจากไหนมา ในเมื่อขณะนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า  อยากทำทำไปไม่ได้ขัดข้อง ดี แต่ต้องมองว่าปัญหาไหนสำคัญกว่า ระยะยาว กลาง สั้น  และใครเป็นคนทำ

แก้ปัญหาก็ต้องมองที่สาเหตุ จะแก้ให้เป็นอะไรก็ร่วมกันกำหนดที่เป้าหมาย นักบริหารก็จะมองอย่างนี้ล่ะนะครับ; ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ไม่ได้แก้อะไรที่สาเหตุเลย เป็นเพียงแต่เลื่อนปัญหาไปไว้ในอนาคตเท่านั้น

ผมคิดว่าระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย เน้นพาณิชยกรรม ขายต่อกันเป็นทอดๆ โดยพ่อค้าคนกลาง ราคาขายปลายทางถึงผู้บริโภค ถูกกำหนดโดยความต้องการและกำลังซื้อ จึงเหมือนมีเพดานกั้นไว้ พ่อค้าคนกลางก็ต้องกันกำไรของตัวไว้ (ชักหัวคิวตลอดเวลาจึงได้ลูกเดียว) มีค่าขนส่งอีกต่างหากเพราะว่าแหล่งผลิตกับผู้บริโภคอยู่ไกลกันมาก เลยไปกดราคาเกษตรกรผู้ผลิตต้นทาง ปัญหานี้หมักหมมสะสมมานาน คงแก้ไขไม่ได้ข้ามวันข้ามคืนหรอกครับ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้

พืชผลการเกษตรถูกกดราคา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเกษตรกรไม่รู้ว่าควรจะขายราคาไหน ขายแล้วควรจะมีค่าขนส่ง+กำไรของพ่อค้าคนกลางสักเท่าไหร่ ที่รัฐทำคือประกาศราคากลางแถวๆ กรุงเทพหรือแหล่งใหญ่ เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ถ้าใช้ราคาจากตลาดท้องถิ่นเป็นตัวกำหนด อาจจะทำให้เกษตรกรผู้ขาย เข้าใจระดับราคาที่เหมาะสมมากขึ้น ตอนนี้ต้องเหมารถไปส่งหน้าโรงงานหรือโรงสี

การตรวจสอบราคาเป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายใน ผูกโยงระดับ “ราคามาตรฐาน” สำหรับการประกันรายได้หรือการจำนำผลผลิต กับราคากลางอีกแล้ว แต่ยังมีช่องทางอื่นอีกครับ ราคานี้ควรจะประกาศในท้องถิ่น โดยวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชน มากกว่าจะประกาศโดยส่วนกลาง (แต่มีการติดตามระดับราคาแล้วประกาศ ก็ยังดีกว่าไม่มีนะครับ)

ทำให้นึกไปถึงวิทยุที่ผลิตจาก-หรือจะส่งไปขายยังประเทศตะวันตก จะมีฟังก์ชั่นอันหนึ่ง เรียกว่า RDS Radio Data System ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลทางเดียวไปกับวิทยุกระจายเสียง ใช้ได้กับวิทยุ FM และโทรศัพท์มือถือที่มีเครื่องรับวิทยุและสนับสนุน RDS

ข้อมูลนี้ ส่งเป็นดิจิตอลแบบไม่ต้องใช้โมเด็ม แต่ส่ง subcarrier ซึ่งห่างออกไปจากความถี่ของสถานี 57kHz ด้วยความเร็ว 1187.5 บิตต่อวินาที ส่งเป็นบล็อค บล็อคละ 104 บิต และส่งซ้ำๆ กันได้ หากฝั่งเครื่องรับมี decoder ก็จะรับข่าวสารอย่างนี้ได้ฟรี ทางฝั่งสถานี ก็ให้เป็นบริการชุมชน

RDS นอกจากจะใช้เพื่อการรายงานราคาสินค้าในท้องถิ่นแล้ว ยังสามารถส่งข่าวท้องถิ่น สภาพการจราจร (TMC) การพยากรณ์อากาศสำหรับท้องถิ่น แสดงรายการหรือเพลงที่กำลังเล่นอยู่ กำหนดการของระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ

เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อความดิจิตอล สถานีต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน จึงสามารถแลกเปลี่ยนข้มูลกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นการลดต้นทุนของการหาข้อมูลได้อีกด้วย

ในส่วนของโทรทัศน์ มีหลายระบบที่ส่งผ่าน VBI (Vertical Blank Interval) คือช่วงเวลาที่โทรทัศน์แสดงภาพเสร็จแล้ว เว้นช่วงเวลาไว้เพื่อเตรียมแสดงภาพในเฟรมต่อไป ตรงนี้ก็สามารถนำมาส่งข้อมูลต่างๆ ได้

อย่าคิดเอาง่ายๆ เลยครับ ว่าพื้นที่ไหนๆ ในประเทศ ก็เข้าถึงทีวีได้ ไม่จริงหรอกนะครับ มีคนหลายพื้นที่ ที่รับสัญญาณทีวีไม่ได้ แล้วต้องไปขวนขวายติดจานดาวเทียม แล้วก็มีคนขายให้ในราคาถูก (แต่รับได้เฉพาะช่องที่เขาอยากให้ดูเท่านั้น)

« « Prev : นักการเมืองแนะนำ “วิธีขายความคิด” ให้นักการเมือง

Next : พระมหาชนก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 May 2010 เวลา 17:47

    ตอนนี้ กำลังจ้างเค้ารื้อกุฏิ ก็รื้อมาประมาณอาทิตย์หนึ่งได้แล้ว และเมื่อวานผู้รับเหมาก็มาเบิกเงินไปสองหมื่น… ปรากฎว่า วันนี้พวกคนงานก็หยุดทำงาน ผู้รับเหมาบอกว่า คนไทยเป็นอย่างนี้แหละ พอได้เงินก็หยุดจ่ายก่อน และต้องง้อคนงานเพราะเราคนเดียวทำไม่ได้…

    วันนี้ ช่าง (อีกกลุ่มหนึ่ง) เริ่มมาทำป้ายประกาศของวัดแล้ว เพราะสมภารบอกว่า ถ้าไม่มาทำภายในวันที่ ๑๕ เดือนนี้ก็จะยกเลิกสัญญา เนื่องจากตกลงว่าจ้างกันตั้งแต่ปีที่แล้ว สมภารก็เปลี่ยนใหม่แล้ว ยังไม่ได้เริ่มเลย โดยหัวหน้าช่างมาทำเองกับลูกน้องสองคน พลางบอกว่า เอาพม่ามาช่วย เพราะตอนนี้ไม่มีลูกน้อง พลางก็บ่นถึงลูกน้อง…

    ตามความเห็นส่วนตัว ปัญหาประเทศน่าจะเกิดจากคุณภาพของคนเป็นประเด็นสำคัญ งานมีมากมาย ค่าจ้างก็มิใช่ว่าถูก แต่ก็หาคนงานไม่ได้…

    คนไทยอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยท่ามกลางความซับซ้อนของสังคม ถ้าคิดว่าการมองสังคมคือการเข้าถึงข้อมูลอย่างหนึ่งและเท่าเทียมกัน บางทีปัญหาประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะแต่ละคนแต่ละกลุ่มใช้แว่นในการมองสังคมหรือเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลแตกต่างกัน…

    เจริญพร


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.12165594100952 sec
Sidebar: 0.22308206558228 sec