คันกั้นน้ำอย่างเดียวไม่พอ

อ่าน: 4148

คลิปข้างบน ขอแก้ข้อความ “..ในการสนองโครงการพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา” หน่อยครับ คำว่าโครงการพระราชดำริ ใช้กับพระราชวงศ์ชั้นสูง

แต่หลักการใหญ่ที่ใช้เครื่องผลักดันน้ำนั้นถูกต้องครับ เพียงแต่ว่าควรจะใช้ในร่องน้ำที่มีอัตราไหลต่ำ เช่นคลอง หรือว่าติดหูช้างของประตูระบายน้ำ เช่น (1) บริเวณตําบลโผงเผง อําเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งอัตราไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงเหลือ 1,800 ลบ.ม./วินาที (2) แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำมูล แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำตะกั่วป่า หรือแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคดเคี้ยวมากทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกไปอย่างรวดเร็ว — เครื่องผลักดันน้ำ ควรจะวางอยู่ที่ก้นร่องน้ำสูงกว่าท้องน้ำนิดหน่อย (วางกลางของความลึกจะดีกว่า แต่วางอย่างนี้ไม่ได้หากมีการสัญจรทางเรือ) น่าเสียดายที่โครงการป้องกันน้ำท่วมสามแสนล้านบาท มีขุดลอกคูคลอง ขุดสันดอนพอเป็นกระษัย แต่ไม่ได้มีความพยายามจะตัดร่องน้ำให้ตรงเพื่อลดแรงเสียดทาน เพิ่มอัตราการไหลของน้ำ

น้ำไหลลงมา จะต้องเอาน้ำผ่านไปลงทะเลให้ได้เร็วที่สุด ต่อให้มีคันกั้นน้ำไว้ทำให้พื้นที่ภายใต้การป้องกันกลายเป็นเกาะ แต่ถ้าน้ำไม่ไหลไปที่อื่นอย่างรวดเร็ว น้ำก็จะซึมลงดิน ผุดขึ้นหลังคันดินได้ หรือว่าทำให้ดินทรายใต้ดินไหลออกไป ทำให้เกิดดินทรุดเหมือนกับที่อ่างทอง อยุธยา และบริเวณที่เคยมีน้ำท่วมขังแม้ไม่ปรากฏเป็นข่าว

เมื่อมองจากกฏการอนุรักษ์พลังงาน (หากไม่คิดถึงประสิทธิภาพและการสูญเสีย) ใส่พลังงานลงไปเท่าไร ก็เพิ่มพลังงานจลน์ของน้ำได้เท่านั้น หากนำไปใช้บริเวณคอขวด ก็จะพบว่าน้ำไหลผ่านไปได้เร็วขึ้นมาก (เป็นปริมาณมาก) แต่ถ้ามาทำเอาตรงที่แม่น้ำมีความกว้าง ดูไปจะไม่รู้สึกอะไรแม้ว่าที่จริงน้ำไหลเร็วขึ้น

ยังมีเครื่องผลักดันน้ำอีกแบบหนึ่งซึ่งใช้ venturi’s effect เร่งความเร็วของน้ำบางส่วน แล้วให้น้ำที่มีความเร็วนี้ ไปเหนี่ยวนำน้ำส่วนอื่นๆ ให้มีความเร็วสูงขึ้น (บางคนว่าเหนี่ยวนำได้ 3 เท่าของปริมาณน้ำที่มีความเร็วสูง บางคนว่าเร่งได้ 15 เท่า แต่จะกี่เท่าก็ขึ้นอยู่กับขนาดของท่อและความเร็วของน้ำ)

น้ำไหลจากขวาไปซ้าย ทุ่นข้างบนจะสูบน้ำ แล้วอัดลงไปปล่อยในท่อที่ท้องน้ำ ท่อนั้นจะกลายเป็นท่อเร่งความเร็วน้ำ

รูปข้างบน น้ำไหลเข้าท่อมาทางซ้าย เป็น Q2 และ Q3 ซึ่ง Q2 จะไหลเข้าไปในท่อเล็กซึ่งเร่งความเร็วน้ำ น้ำแรงดันสูง Q1 ที่อัดลงมาจากทุ่นที่ลอยอยู่เหนือน้ำ เมื่อนำมาปล่อยในท่อเล็กรวมกับ Q2 Q1+Q2 จะมีความเร็วสูงขึ้นมาก ส่วน Q3 ที่ไหลผ่านนอกท่อเร่งความเร็ว ก็จะถูก Q1+Q2 เร่งความเร็วขึ้นในช่วงท้ายท่อ

หลักการนี้ เอามาจากคนขายเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเรือเดินสมุทร ตอบสนองได้ดีกว่าการใช้ใบพัดตามปกติ เปิด Q1 เมื่อใด ความเร็วน้ำก็เพิ่มขึ้นเกือบทันที

กลับมาเรื่องของการสร้างคันกั้นน้ำ ผมคิดว่าไม่พอครับ ในช่วงแรกอาจจะรู้สึกอุ่นใจ แต่อยู่ไปนานๆ จะกิน จะอยู่ จะเดินทางอย่างไร ในเมื่อน้ำล้อมรอบอยู่แบบไม่ยอมไหลไปไหน ดังนั้นนอกจากป้องกันตัวแล้ว ยังต้องช่วยกันกำจัดอย่าให้อะไรกีดขวางการไหลของน้ำ รีบส่งน้ำไปตามความลาดเอียง อะไรขวางอยู่ตรงๆ ให้ลองหาวิธีเบนน้ำให้ไหลผ่านไปเฉียงๆ ซึ่งก็ป้องกันพื้นที่ได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ขวางหรือชะลอความเร็วของน้ำลง

แนวคิดคือป้องกันพื้นที่สำคัญไว้ แต่ให้น้ำไหลผ่านไปเร็วที่สุดครับ อย่าให้แนวป้องกันไปขวางทางน้ำไหล ถ้าปรับร่องน้ำที่โค้งไปโค้งมาหรือขรุขระ ตะปุ่มตะป่ำไม่ได้ ก็พยายามทำให้มันเรียบ ให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้นครับ แค่เหล็กแผ่นใหญ่วางตามขอบตลิ่ง บังวัชพืชที่ขึ้นชายน้ำไว้ก็ช่วยนะครับ

« « Prev : รอบปีที่สี่ในการเป็นบล็อกเกอร์ที่ลานปัญญา

Next : หลบไปพัก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "คันกั้นน้ำอย่างเดียวไม่พอ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.1856210231781 sec
Sidebar: 0.14160084724426 sec