ความรู้ใด จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ
อ่าน: 4329ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์ “ก้าวหน้า” ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะศึกษาเรียนรู้แม้แต่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งจนแตกฉาน รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับศาสตร์นั้น
การศึกษาลงทางลึก ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรอกนะครับ ถ้าเพียงแต่เราเข้าใจว่าความรู้เชิงลึกด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว ไม่พอที่จะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้
เรื่องนี้ได้กับตัวเองครับ ใครๆ ก็บอกว่าผมทำอะไรได้หลายอย่างเยอะแยะ (มั่วไปหมด) แต่ผมทำกับข้าวไม่เป็น — ที่จริงทอดไข่เป็นครับ ทำอะไรได้บ้างอีกนิดหน่อย
ทีนี้ถ้าไม่ให้ใช้เงินซื้อเอา และไม่ให้ไหว้วานใครทำให้ (sustainability test) ผมอดตายแน่ๆ ปลูกข้าวไม่เป็น สีข้าวไม่เป็น ถึงไม่กินข้าว แม้อาจจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ เนื้อสัตว์คงไม่มีกินเพราะไม่ฆ่า จะกินผักกินหญ้า ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ถ้าไม่มีไฟฟ้าเสียอย่างเดียว ส่วนทักษะที่คิดว่าเจ๋งนั้นไม่มีค่าเลย (เช่น เกิดโรคระบาดอุบัติใหม่หรือเกิดสงครามใหญ่ ทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้า/การเดินทาง เป็นไปไม่ได้ เมืองไทยไม่มีน้ำมัน เลยพาลไม่มีไฟฟ้า –> เงินไม่มีความหมาย) ทักษะที่มีเหล่านี้ ไม่ทำให้สามารถดูแลคนรอบตัวได้เลย
แน่นอนล่ะว่าคนแต่ละคน จะทำหมดทุกอย่างไม่ได้หรอกครับ แต่ถึงจะรวมตัวกันเป็นชุมชน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าชุมชนนี้ มีทักษะที่จำเป็นที่จะอยู่รอดได้
หอสมุดแห่งชาติ เป็นแหล่งรวมรวมความรู้ แต่ถ้าเดินทางไปหาความรู้ไม่ได้ ที่รวบรวมไว้ก็ไม่มีประโยชน์
ดังนั้น บางทีเราควรจะคิดกันบ้าง ว่าความรู้อะไรจำเป็นต่อการอยู่รอด และการดำรงชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพาต่อสิ่งนอกชุมชน
กระจายความรู้เหล่านี้ออกไป ในรูปของชุดความรู้ หรือห้องสมุดขนาดย่อม อาจจะดีกว่าไหมครับ
เอาความรู้ที่ชาวบ้านเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีไปให้เขาดีกว่าครับ ดีกว่าสร้างผู้รู้ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขขึ้นมา
« « Prev : แตกต่าง
8 ความคิดเห็น
ปัญหานี้ต้องพูดกันมากๆหน่อย บ่อยๆ ถึงควรมีการคุยระดับชาติด้วยซ้ำ เราควรเริ่มต้นคิด อย่างที่สังคมสันติอโศกทำ จำได้ว่าสมัยก่อน อี เอฟ ชูเมกเกอร์ ผู้เขียนเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธและจิ๋วแต่แจ๋วนั้น เน้นการพัฒนา medium technology มากกว่าระดับอื่น เพราะดึงคนชั้นล่างกับคนชั้นสูงไม่ให้มีความห่างกันมากนัก แม้ว่าสังคมต้องพึ่งพากันเพราะพึ่งตัวเองไม่ได้ทั้งหมด หรือพึ่งตัวเองได้น้องลง จึงต้องอาศัยความชำนาญ เทคโนโลยี่ระดับกลางมาสร้างสมดุลนี้ เหตุผลที่สำคัญคือ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามนุษย์จะพัฒนาเทคโลโลยี่สูงส่งแค่ไหน ก็ต้องอาศัยปัจจัยยังชีพพื้นฐาน และปัจจัยพื้นฐานก็มากจากทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ เขาไม่มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยี่สูงส่งเหล่านั้นได้ การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในสังคมจึงต้องให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน หากเกิดการแตกแยก แบ่งกลุ่มแบ่งเหล่า แบ่งชั้น ความสมดุลแห่งการพึ่งพาก็แตกสลาย …อ้าว….เดี่ยวไปไกลใหญ่ แหมเอ่ยนิดเดียว..อิอิ
การพัฒนากลุ่ม พัฒนาชุมชน สังคม ก็ต้องพิจารณาเหล่านี้เหมือนกัน
ในงานที่พี่ทำนั้น เรามีการพัฒนาดัชนีการพึ่งตัวเองในทัศนชาวบ้าน ว่าหากครอบครัวเขา กลุ่มของเขาจะพึ่งตัวเองได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดยการจัดประชุมแล้วให้เขาถกเกียงกัน แล้วสรุปออกมาเป็นตาราง แล้วก็พิจารณาเอาไปสร้างขึ้นมา วันหลังจะเอามาเขียนครับ
แม้แต่เรื่องความรู้ สังคมปัจจุบันก็ยังบริโภคนิยมครับ: เรียนสูงไว้ก่อน แต่จบมา ทำอะไรไม่เป็น
ป่วยการจะพูดถึงความพอเพียง/ยั่งยืน ในเมื่อไม่รู้จักคำว่าเกินครับ
เอาความรู้ที่ชาวบ้านเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีไปให้เขาดีกว่าครับ ดีกว่าสร้างผู้รู้ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขขึ้นมา
เคยมีการพูดในเชิงนี้กัน ในสังคมมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนานมาหลายสิบปีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันนี้
การกระทำก็ยังออกมาในแนวเดิม ลูกหลานที่เพิ่งเข้าเรียนในปีนี้ ก็ยังมีความคิด อย่างที่ท่านรอกอดว่า
แม้แต่เรื่องความรู้ สังคมปัจจุบันก็ยังบริโภคนิยมครับ: เรียนสูงไว้ก่อน แต่จบมา ทำอะไรไม่เป็น
เราจะช่วยผลักดันสังคมได้หรือเปล่า ลูกหลานก็วิ่งไปตามแนวโน้มให้เห็นๆกันอยู่อย่างนี้
ถ้าอยู่รอดในความหมายของผม แค่ต้องการปัจจัย 4 เท่านั้นเอง
แค่ข้อ 1 ก็ยากแล้ว ถ้าเกิดเหตุวิกฤติขึ้น แล้วไม่ได้เตรียมอะไรไว้
[...] ฺblog ในลานปัญญาเรื่อง ความรู้ใด จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของม… [...]
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน
ชุดความรู้ที่เหมาะกับทุกที่ ทุกสถานะการณ์ ไม่มีครับ
ความรู้ ในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางสู่การอยู่รอดของ สิ่งมีชีวิต…อิอิ
แต่ถ้าเราหาชุดความรู้เกี่ยวกับปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นระดับพื้นฐานหรือระดับพิสดาร มาสร้างเป็นห้องสมุดเล็กๆไม่ได้ ก็น่าสงสัยว่าหนังสือต่างๆมากมายที่เราอ่านกันอยู่นี้ อ่านอะไร เรียนอะไร เป็นประโยชน์หรือไม่ หรือว่าจะใช้วิธีบอกกล่าวกันปากต่อปากอย่างในสมัยโบราณ