แก้ไขไม่ทันใจ
อ่าน: 3283ผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่ยากที่จะตำหนิการบรรเทาทุกข์ (ซึ่งมีทั้งความไม่ถูกต้องและความไม่ทันใจ) แต่ก็คิดว่าเป็นปฏิกริยาธรรมดาของอารมณ์ ที่ไม่อยากเห็นชาวบ้านเดือดร้อนนะครับ — การบ่นว่า ก็ไม่ได้ช่วยให้การบรรเทาทุกข์เร็วขึ้นมาเช่นกัน ได้แต่ระบายความคับข้องใจของตัวเอง โดยไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมา
แต่ถึงจะบรรเทาทุกข์ได้อย่างถูกต้องตามข้อจำกัดของระบบราชการ และทำได้ทันการณ์ ภัยพิบัติก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี — ที่มีผลร้ายแรงก็เพราะว่าไม่ได้มีการเตรียมพร้อมเอาไว้อย่างที่ควร ทรัพยากรกระจัดกระจาย มีหลายหน่วยงานที่อยู่กันคนละกระทรวงทำงานประสานงากันอย่างมีเอกภาพ (คือต่างคนต่างทำ) เพราะต่างก็ต้องการ “ผลงาน” ซึ่งไม่มีผลงานใดหรอกครับ ถ้าชาวบ้านเดือดร้อน;
แนวคิดที่จะตั้งกระทรวงภัยพิบัตินั้น ดูเผินๆ ว่าเป็นความพยายามจะให้งานเป็นเอกภาพ มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเตรียมพร้อม แต่มีจุดหนึ่งซึ่งแก้ไม่ได้ คือระเบียบราชการครับ; ระเบียบราชการไม่ไว้ใจใครเลย ทำให้การทำงานล่าช้า ไม่เหมาะกับการจัดการภัยพิบัติเลย
ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า We can’t solve problems by using the same kind of thinking we used when we created them. เราไม่สามารถจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการคิดแบบเดียวกับเมื่อเราสร้างปัญหานั้นขึ้นมา ถ้าหากการจัดการภัยพิบัติ มีปัญหาเนื่องจากการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ข้ามโครงสร้างของระบบ ตลอดจนระเบียบราชการซึ่งไม่คล่องตัวเป็นอย่างยิ่ง ก็ยากจะเชื่อได้ว่าการตั้งกระทรวงภัยพิบัติ จะแก้ปัญหาอะไรได้
มีทางออกสองทางที่นึกถึงกัน หนึ่งคือใช้โครงสร้างคล้ายสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีงบประมาณสนับสนุน มีพันธกิจที่ชัดเจน แต่ปราศจากความไม่คล่องตัวของระบบราชการ (ซึ่งช้าแบบกู้ภัยได้ยาก แต่ตามไปเก็บได้ง่าย)
อีกทางหนึ่งคือโครงสร้างคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เป็นการยอมรับบทบาทของภาคเอกชน
ภัยพิบัติไม่ได้เกิดบ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นำมาซึ่งความเสียหายมหาศาล ซึ่งนั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับชาวบ้านผู้ประสบภัยทุกข์ยาก หมดเนื้อหมดตัวกันไปเป็นแถวๆ แนวทางที่น่าจะดีจึงไม่ควรจะตั้งกระทรวงมารอให้เกิดภัย แต่ใช้โครงสร้างที่คล่องตัว ระดมทรัพยากรมาได้เมื่อถึงคราวฉุกเฉินจะต้องบรรเทาทุกข์และฟื้นฟู เน้นป้องกันมากกว่าแก้ไขบรรเทา ให้ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่เข้าใจความเสี่ยงของตนเอง และเตรียมการไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
- กฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ.)
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.)
- กรมอุตุนิยมวิทยา (อต.)
การไม่แนะนำให้ตั้งกระทรวงภัยพิบัติ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เหมาะสมแล้ว ที่จริง มีงานอีกตั้งเยอะที่ต้องทำครับ ทั้ง ปภ. และ ศภช. เป็นกรมที่ใหม่มาก ยังมีที่ขลุกขลักอยู่บ้าง
« « Prev : ตกหล่น
Next : คนเมืองแบบคนป่า คนป่าแบบคนเมือง » »
5 ความคิดเห็น
ระเบียบๆๆๆ ราดชะกาน ตัวปัญหา ถ้าแก้จุดนี้ไม่ได้ ทุกเรื่องก็โหล่ยโท้ยต่อไป
รู้แต่แก้ไขไม่ได้ มันก็มึนตึบ ไม่รู้จะคิดต่อยัง
สุดท้ายก็มาจบที่ต้องพึ่งตนเองให้มาก
พึ่งให้ได้บ้าง ยังดีกว่าไม่เคยคิดอะไรเลย
เรื่องต่อไป ทำยังไงจะเกิดสำนึก ไม่ประมาท
องค์กรท้องถิ่น ควรทำการบ้านเรื่องนี้
รึ องค์การท้องถิ่นก็อยู่กติกาเดียวกันกับราชการ
โธ่ๆๆๆ สุดท้ายก็งูกินหาง
ทิศทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยคือ …… ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
วิธีทำคือ กระจายอำนาจ ถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาตัวเองและทำงานแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วม……ชุมชนท้องถิ่น =องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น+ชุมชน) …ไม่หวังให้รัฐบาลกลางทำแบบมีส่วนร่วมแล้ว
แต่ ณ เวลานี้ สถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ยังอีกนาน…..อิอิ
ยกตัวอย่างเช่น ทำไมไม่มีอำเภอคู่แฝด-พี่น้องที่ห่างกันสัก 30 กม. แต่มีความเสี่ยงต่างกัน เป็นแหล่งผลิตอาหารแบ็คอัพกันและกันสำหรับกรณีฉุกเฉินล่ะครับ — แค่มองตากันแล้วตกลงด้วยสัญญาใจก็พอ — ดีกว่าขนน้ำและอาหารมาจากส่วนกลางตั้งเยอะ ส่วนอาหารที่ส่งไปช่วยอำเภอคู่แฝดเวลาฉุกเฉินนั้น ถ้าส่วนกลางซื้อ (แค่โอนเงิน) แล้วขนจากใกล้ๆ พื้นที่ประสบภัย เหมาะกว่าขนจากกรุงเทพเยอะเลยครับ
ภัยพิบัติสำหรับประเทศไทยได้เกิดขึ้นนานแล้ว และกำลังเกิดอยู่ในขณะนี้อย่างล้นหลามที่สุด …..ภัยพิบัตินั้นคือ การอุบัติขึ้นมาของนักการเมืองและนักวิชาเกินไทยนั่นแล
ขอเสนอให้ตั้ง กระทรวงปัญญา ขึ้นมาเป็นการเริ่มต้นสักที แล้วล้มกระทรวงบ้าบอทั้งหลายให้หมด …คงจะดีนะ.ผมว่า …ฮิตเลอร์ทางวิชาการน่ะเนี่ย