มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 ออกมาช่วยกระตุ้นความช่วยเหลือจากภาคเอกชน โดยออกเป็นมาตรการทางภาษีตามประกาศของกรมสรรพากร
เงินและสิ่งของบริจาคที่ผ่านมาเป็นน้ำใจอันบริสุทธิ์ของคนตัวเล็กๆ เป็นส่วนใหญ่ ในส่วนบริษัทห้างร้าน ผมเข้าใจว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เพราะการบริจาคที่ไม่มีประกาศหรือมาตรการใดรองรับ อาจกลายเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม (ศัพท์บัญชี)
ได้ปรึกษากับ @iwhale ถึงความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อระดมความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจ โดยจำเป็นต้องออกใบเสร็จที่ตรงตามข้อกำหนดของการตรวจสอบบัญชีและกรมสรรพากรยอมรับ เพื่อที่จะปลดล็อคให้ความช่วยเหลือจากบริษัทห้างร้าน ผ่านไปสู่ผู้ประสบภัยได้อย่างไม่ติดขัด — เรื่องนี้ พูดกันตรงๆ ผมก็หนักใจครับ มันเป็นภาระกับมูลนิธิเล็กๆ เหมือนกัน แล้วที่ผ่านมา มูลนิธิไม่ยุ่งเรื่องเงินบริจาคเลย ผมได้ปรึกษากรรมการของมูลนิธิ และสอบถามอาสาสมัครของมูลนิธิแล้วว่าดีหรือไม่ ไหวหรือไม่ ก็ได้รับการยืนยันว่าดีและไหว ดังนั้นมูลนิธิโอเพ่นแคร์จะทำดังนี้ครับ:
- มูลนิธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ว่าจะเป็นตัวแทนรับเงินบริจาค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- การบริจาคนี้ จำกัดเพียงแค่วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ตามประกาศของกรมสรรพากร
- ในการนี้มูลนิธิจะต้อง
- ทำบัญชีอย่างโปร่งใส และแยกออกจากบัญชีปกติของมูลนิธิ จะอัพเดตรายรับและรายจ่ายบนเว็บ มูลนิธิต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานให้แก่กรมสรรพากร ได้แก่ สำเนาบัญชีการรับเงินบริจาคซึ่งต้องแยกออกจากบัญชีการดำเนินงานตามปกติ สำเนาบัญชีแสดงรายการจ่ายค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสำเนารายชื่อผู้รับบริจาค โดยให้จัดส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554
- พิมพ์ใบเสร็จแบบพิเศษ ตามประกาศของกรมสรรพากร และส่งกลับไปยังผู้บริจาคที่ประสงค์จะรับใบเสร็จเพื่อนำไปหักลดหย่อนตามประกาศของกรมสรรพากรดังกล่าว
- แม้ผู้บริจาคเงินไม่ประสงค์จะรับใบเสร็จ เช่นไม่ส่งชื่อที่อยู่มาที่มูลนิธิแต่โอนเงินเข้ามาเฉยๆ ก็ยังจะต้องลงรายการบนเว็บ ลงบัญชี อัพเดตสมุดฝากเงินเช่นกัน — ทั้งสามรายการ ไม่กระทำโดยคนคนเดียวกัน ตรวจสอบกันเอง และตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต อีกทั้งต้องส่งรายการไปยังกรมสรรพากร
- การอัพเดตรายรับ รายจ่าย จะพยายามทำให้ได้วันต่อวัน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ที่มูลนิธิเปิดบัญชีไว้ ไม่ยอมให้ตรวจสอบยอดบัญชีทางอินเทอร์เน็ต (ระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ???) จะต้องไปอัพเดตสมุดคู่ฝากที่ธนาคารทุกวัน
- การจ่ายเงิน จะต้องมีใบเสร็จการซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือมีผู้เซ็นรับพร้อมสำเนาบัตรประชาชน
- ในกรณีจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แจ้งความจำนงค์ไว้ว่าจะช่วยต่อรองราคาวัสดุก่อสร้างให้ได้ราคาดี
- หากใช้เงินไม่หมด มูลนิธิจะต้องส่งมอบให้ส่วนราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 — หมายความว่ามูลนิธิจะไม่เก็บเงินบริจาคไว้
- สำหรับผู้บริจาคเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา (การบริจาคสิ่งของหรือทรัพย์สิน ไม่ตรงตามประกาศของกรมสรรพากร) ให้ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดานำเงินที่บริจาคมาหักลดหย่อนได้ โดยเมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- สำหรับผู้บริจาคที่เป็นนิติบุคคล ให้ผู้บริจาคนำเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่บริจาค หักเป็นรายจ่ายได้ โดยไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ หากแต่มูลนิธิมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ซึ่งเป็นตึกสูงและมีการรักษาความปลอดภัยสูง จึงไม่ขอรับบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า แต่จะประสานกับกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนให้ โดยมูลค่าการบริจาคไม่ถือเป็นการขาย ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นต้องบริจาคที่มูลนิธิ เนื่องจากนิติบุคคลที่ออกใบเสร็จได้ ก็สามารถใช้กระบวนการตามประกาศของกรมสรรพากรฉบับนี้ได้เช่นกันครับ — เพียงแต่อย่าลืมว่าต้องทำตามระเบียบ และใช้เงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์
« « Prev : หลุมไฟดาโกต้า แก้หนาว
Next : ทำความรู้จักกับเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง » »
4 ความคิดเห็น
[...] [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหล
[...] [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหล
[...] ถ้าสนใจ ตามอ่านได้เองที่ [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหล
[...] 31 ธันวาคม 2553 รายละเอียดอ่านได้ที่ [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหล