เตากระป๋องอีกแล้ว
อ่าน: 5772ไปๆ มาๆ ก็วนเวียนอยู่แต่เตากระป๋องนี่ แต่ผมว่าน่าสนใจดีในแง่ที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกิ่งไม้เล็กที่หาได้ในธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิง
รูประกอบจาก wikipedia คลิกบนรูปเพื่อขยายคราวนี้เป็น Coaxial downdraft gasification stove ครับ
เตานี้เหมือนกับที่ผมเคยทดลอง คือมีชั้น pyrolysis (เผาไหม้) อยู่ข้างบน และชั้น gasification อยู่ใต้ลงมา
เมื่อเกิดการเผาใหม้ เปลวไฟจาก primary burn บล็อกอาการจากภายนอกเอาไว้ส่วนหนึ่งและก่อให้เกิดความร้อนขึ้น ความร้อนทำให้อากาศในกระป๋องชั้นนอก ร้อนและลอยสูงขึ้นไปออกรูเล็กที่ด้านบน ภายในกระป๋องนอกเกิด negative pressure ดูดอากาศจากภายนอกและก๊าซจากกระป๋องชั้นในเข้าไปแทนที่ ก๊าซที่ออกมาจากไม้ผสมกับอากาศสามารถเผาไหม้ได้เป็น secondary burn ซึ่งคือเปลวไฟสีน้ำเงินที่เราอยากได้
รู secondary air ซึ่งเจาะกระป๋องชั้นนอก อยู่ต่ำกว่ารูที่ wood gas ออกมาเล็กน้อย
*** ขณะที่เขียนนี้ยังไม่ได้สร้าง เมื่อวานออกไปหาร้านตัดสังกะสี แต่ไม่เจอเพราะบ้านสมัยนี้มักไม่มีรางน้ำฝนแล้ว ***
แต่แนวคิดเป็นอย่างนี้ครับ ผมใช้กระป๋องน้ำอัดลมขยาด 325 มิลลิลิตร มีหัวและก้นกระป๋องสอบเข้านิดหน่อย ส่วนกลางกระป๋องเหมือนป่องออก ปากกระป๋องใช้ที่เปิดกระป๋องนมตัดออกทั้งหมด ได้กระป๋องที่ไม่มีฝาปิด มีเส้นผ่าศูนย์กลางของส่วนที่เคยเป็นฝา 2¼ นิ้ว
ในเมื่อเส้นผ่าศูนย์กลาง d เท่ากับ 2¼ นิ้ว เส้นรอบวงก็เท่ากับ ∏d คือ 7 นิ้ว ส่วนความสูงใช้ค่า 5 นิ้ว
ดังนั้น วันนี้ก็จะไปสั่งตัดสังกะสีขนาด 5 x 7 นิ้วสักหลายๆ แผ่น
ที่ระยะ 1 นิ้วจากขอบยาวทั้งสองด้าน ผมจะเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสัก 1/8 นิ้ว ด้านละ 14 รู แล้วม้วนแผ่นสังกะสีนี้เป็นทรงกระบอก ก็น่าจะยัดลงไปในกระป๋องน้ำอัดลมได้พอดีๆ โดยที่มีส่วนโผล่มาจากปากกระป๋องสัก ½ นิ้ว
กระป๋องจะอมรูเล็กๆ ที่เจาะไว้ทั้ง 28 รู รูทางด้านล่างจะเป็นรูที่ wood gas ออกมา ส่วนรูด้านบน จะเป็นรูที่ wood gas ผสม secondary air ออกมาเหนือ primary burn โดยวกเข้าในกระป๋อง และมันจะติดไฟ
ในการออกแบบอันหนึ่งซึ่งเขาใช้ท่อที่สูง 8 นิ้วแทนที่จะเป็น 5 นิ้ว ใช้เศษไม้แห้งหนัก 300 กรัม เผาแล้วให้ความร้อนได้นาน 50 นาที — รุ่นทดลองของผมนี้ ถ้าได้สัก 20 นาที ผมก็พอใจแล้ว เคล็ดลับคืออย่าใส่ไม้แห้งมากเกินไป แรงดันก๊าซจะมากเกินไปจนไฟดับ (เคยมาแล้ว)
หลังจากตัดแผ่นสังกะสีและม้วนแล้ว ไม่ว่าหมู่หรือจ่า ก็จะมาอัพเดตบันทึกอีกครั้งหนึ่งครับ
Next : EM Ball ที่คลองลัดโพธิ์ พระประแดง » »
5 ความคิดเห็น
เรื่องเตา พร้อมทดลอง วานนี้เอากิ่งไม้มาป่า ถ้าตากแห้ง ใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงหุงต้มแทนแกลบที่หายาก เอาปัจจัยที่อยู่รอบตัวมาทำ ใช้ยังไงก็ไม่หมด สับไม้ครั้งเดียวใช้ไปทั้งปี ถ้าทำให้เป็นกระแส จะก่อประโยชน์มหาศาล
แบบของพ่อวิจิตร ก็แพงไป ชุดละ 3,000 บาท
ถ้าทดลองทำจริงๆ ตามแบบ น่าจะขยายผลได้มาก
11-14 มีค่าย Cooto ถ้าพร้อมสาธิต/ชวนทำ/น่าจะดี อิ
ไม่ทราบว่าผู้เสนอหลักการนี้ได้ทดลองเองหรือยังครับ ผมดูแล้วยังเห็นว่าอาจเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเริ่มต้น
ในตอนแรก เปลวไฟ 2nd ไม่มี มีแต่ 1 st ดังนั้น อากาศร้อนจาก 1st จะลอยสูงขึ้น มันจะไม่ไหลลงนะผมว่า
แม้แต่ตอนมี 2nd แล้วผมว่าก็ยังน่าประหวั่น
มาชักใบให้เรือเสีย จะได้มีมานะทำให้มากกว่าปกติ อิอิ
สำหรับการใช้ในครัวเรือน ผมมองไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของ gasification สู้เผาไหม้ตรงๆจะไม่ดีกว่าหรือ แล้วมาหาวิธีลดควันลงให้มาก
อ้าว..ไปเยี่ยมผมคราวก่อน ลืมให้ดูเตา gasification ของผมไปเสียได้ มันหลบๆ อยู่ในห้องมืดๆ นั่นแหละครับ ผมโม้ได้ว่าลงทุนไป 500 บาท ได้ผลดีกว่าไอ้ราคา 20 ล้านที่ไปเอามาจากเมืองนอกที่ตั้งอยู่ใกล้กันเสียอีกนะ
#2 หลักการของ Coaxial gasification มีอธิบายอยู่ตรงนี้ครับ ซึ่ง Lucia Stove ที่คำอธิบายอ้างถึง ก็อยู่ตรงนี้ เป็น product ของ social enterprise ชื่อ Worldstove การสาธิตต่างๆ หาดูได้ที่นี่ แต่เพราะ Worldstove เป็นผู้ผลิต เค้าตั้ง minimum order ไว้ที่ 500 ชุดซึ่งเกินความจำเป็นในการสั่งมาทดลอง ผมเลยไปดูหลักการของ Beaner Backpacking Stove (บริษัทเดียวกัน) แล้วเอามาลองทำดูครับ ส่วนรูปอธิบาย Coaxial gasification นั้น มาจาก Wikipedia เรื่อง Wood gas
http://www.youtube.com/user/worldstove#p/u
ตอนจุดเตา (จากข้างบน เกิด pyrolytic layer ที่ด้านบน) อากาศร้อนและเปลวไฟลอยขึ้นก็ลอยไปครับ แต่เมื่อความร้อนมากขึ้นสักพัก อากาศในกระป๋องชั้นนอกก็ร้อนด้วยและจะต้องลอยขึ้นเช่นกัน ก็มาออกทางรูที่เจาะไว้เพราะมันเป็นรูเปิด เมื่ออาการไหลออกไป ก็ต้องมีอากาศไหลเข้ามาแทน ซึ่งมาจากทั้งรูที่เจาะไว้สำหรับ secondary air และ wood gas ด้วยลักษณะนี้ เราใช้ความร้อนของเตาสร้างการพาความร้อน โดยไม่ใช้พัดลมครับ
วิธีทดสอบก็น่าจะทื่อๆ ครับ เอากิ่งไม้แห้ง 100 กรัม (ซึ่งถ้าเผาในอากาศ ห้านาทีสิบนาทีก็หมด) เอามาใส่เตากระป๋อง จุดไฟ ถ้าไฟอยู่นานกว่าค่าเปรียบเทียบมากๆ ก็แปลว่าไม่ใช่การเผาด้วย primary burn เท่านั้น
อากาศจาก 1st combustion ย่อมร้อนกว่าอากาศรอบนอกในวงแหวนที่มันแพร่ออกไป แรงลอยตัวก็น่าจะต้องมากกว่าด้วย เพราะแรงลอยตัวมาจากความหนาแน่นที่น้อยลง ส่วนความหนาแน่นที่น้อยลงมาจากอภ. ที่สูงขึ้น
ดังนั้นมันจึงควรดูดอากาศจากวงแหวนด้านนอกเข้าไปหามัน มากกว่าที่จะถูกดูดลงแล้วอ้อมออกไปหาวงแหวนนะ ผมว่า
ผมอาจผิด ต้องทดลองจริงครับ
ไฟ 2nd ที่ติดนั้น อาจเป็นไฟ “ปลอม” ก็เป็นได้ คือไม่ได้มาจาก 2nd air หรอก แต่มาจาก co ใน 1st air นั่นแหละ (การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้มี Co มาก แล้วมาสัมผัสกับอากาศรอบๆ ที่มี O2 มาก ก็เกิดการเผาไหม้รอบสอง
…เรื่องนี้ต้องมีการพิสูจน์ ด้วยการวัดเส้นทางการไหลของอากาศจากรูทั้งหลาย ทั้งรูบนรูล่าง และรูข้างด้วย จากนั้นคำนวณหาความเป็นไปได้ …ตาเปล่าๆ มองอาจไม่เห็นภาพทั้งหมดก็เป็นได้
ความจริงเอาง่ายๆ ดูเปลวไฟ 1st ก็พอดูออก ดูซิว่า เปลวไฟมันลอยขึ้นด้านบน หรือ จมมัวนลงด้านล่าง ผมทำนายว่า เปลวมันลอยขึ้นบน ..ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ แสดงว่า ไม่ใช่ down draft ตามอ้าง
ในลิงก์ที่ให้ไว้ข้างบน (หรือใน FAQ ของ Worldstove ผมไม่แน่ใจ) บอกว่า “ความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุด” คือการใส่เชื้อเพลิงมากเกินไป ซึ่งถ้าใส่เชื้อเพลิงมาก primary burn จะได้รับอากาศจากนอกกระป๋องมาก อาจจะทำให้ไม่เกิด gasification ในทางกลับกัน การใส่เชื้อเพลิงต่ำกว่ารูบนพอสมควร จะเป็นการควบคุมปริมาณออกซิเจนแถว pyrolytic zone ไปได้เพราะว่าอากาศจากภายนอกต้องสวนทางเปลวไฟเข้ามา
แต่บ้านผมเป็นบ้านอยู่อาศัย เครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ค่อยพร้อมครับ วันนี้ไปร้านสังกะสี จะไปจ้างเขาทำกระบอกในสำหรับทดลองสักสี่กระบอก เค้าว่างานเล็กๆ ไม่ทำ มีแต่เศษสังกะสีอย่างนี้ให้แล้วเอาไปทำเอง เฮอะ ผมเลยเอาเศษสังกะสีกลับมาทำเองครับ ต้องรอหน่อยเพราะว่าวันนี้ไปธุระเลยไม่มีเวลาทำ พรุ่งนี้มีงานอีก วันอาทิตย์คงต้องไปเอาร่มบิน