โรงเรียนเปลี่ยนนิสัย
ความจริงไม่อยากเขียนบันทึกนี้ในตอนนี้เลยครับ เกรงว่าจะไปกระทบกระเทือนใจใคร ฮี่ฮี่ แต่ดูสารคดีแล้วผมโทรไปคุยกับพี่ครูอึ่ง เลยโดนขอให้เขียนเล่าหน่อย ก็ไม่รู้จะทำยังไงนะเออ เชื่อเถอะครับ ผมไม่อ้อมไปอ้อมมาหรอก อิอิ
เมื่อวานดูสารคดีช่อง Discovery Channel เจออยู่เรื่องหนึ่งชื่อ Brat Academy (โรงเรียนเด็กเกเร) เห็นเป็นวิธีการแก้ไขนิสัยเกเร — ไม่รู้จะมีฉายซ้ำหรือเปล่านะครับ เมื่อวานฉายไปสองรอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมค้นวิดีโอภาษาอังกฤษมาให้ดู (คลิก) ถึงฟังไม่ทัน ดูภาพก็เห็นเยอะแล้วครับ เว็บของ Discovery Asia บรรยายว่า “As more and more children spin out of control in fast-developing China, desperate parents turn to a new breed of private schools for help.”
นโยบายการมีลูกคนเดียวของจีน ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ได้สร้างปัญหาที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน คือพ่อแม่มีลูกคนเดียว เป็นความหวังเมื่อยามแก่เฒ่า เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง จึงสรรหาทุกสิ่งที่จะหาได้มาปรนเปรอ เลี้ยงลูกเป็นเทวดา ทำให้เด็กเอาแต่ใจตัว ก้าวร้าว ไม่สนใจใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ ประมาณว่าเด็ก 20% เป็นเด็กเหลือขอ
ผมสังเกตว่าเมื่อแสดงอาการก้าวร้าว (1) เด็กก็คิดว่าสิ่งที่ตัวทำสมเหตุผลแล้ว เมื่อดูแบบคนนอกแล้ว เราเห็นว่าเขาเจ็บปวด และพยายามหาสิ่งชดเชยเท่านั้นเอง แต่เพราะความเป็นเด็ก เขาคิดว่าการที่เขาทำให้พ่อแม่เจ็บปวด จะชดเชยความเจ็บปวดของเขาได้ (2) เด็กที่กำลังตะโกน ตะเบ็งเสียง เขากลั้นหายใจ เมื่อกลั้นหายใจ ช่องหูก็ปิด จึงไม่ได้ยินว่าใครพูดอะไร (3) เมื่อพ่อแม่คิดว่าตัวหมดหนทาง ก็หาทางแก้เอาง่ายๆ โดยส่งเด็กให้โรงเรียนดัดสันดาน เรื่องนี้เป็นที่วิจารณ์กันทั่วไปว่าเหมาะสมหรือไม่ พวกอเมริกันก็มีค่ายฝึกวินัยระยะสั้นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน แล้วก็มีโรงเรียนฝึกวินัยที่เรียกว่า Boot Camp
ครูใหญ่ชื่อ “ซูเซียงหยาง” ตั้งโรงเรียนนี้มาสิบปีแล้ว มีนักเรียนคนแรกเป็นลูกของตัวเอง ค่าเรียนหลักสูตรหนึ่งปีสี่พันเหรียญซึ่งแพงมากในจีน ตั้งแต่มอบตัวจนจบหลักสูตร เด็กจะถูกตัดขาดจากสังคมที่คุ้นเคย ไม่สามารถกลับบ้าน หรือโทรศัพท์ได้ จากคุณหนูที่ไม่เคยทำอะไรเลย พอมาอยู่โรงเรียนนี้ ก็จะต้องทำงานส่วนตัวเองเช่นล้างจาน ซักเสื้อผ้า ปูที่นอน ฯลฯ แน่นอนล่ะครับ มีการแสดงฤทธิ์เดชมากมาย ยังไงก็ไม่ได้หรอกนะครับ ที่โรงเรียนนี้ เด็กไม่มีอำนาจต่อรอง (ก็มันเป็นโรงเรียนดัดสันดานนี่ครับ)
โรงเรียนนี้คงขัดต่อ พรบ.การศึกษาในเมืองไทย
เค้าทำแปลกมากเลยครับ เค้าพาเด็กตระเวนด้วยรถบรรทุกไปตามถนน ค่ำไหนนอนนั้น เช้าก็พาเด็กเดิน จนมีคนเรียกว่า Walk School ถามว่าพาเดินแล้วได้อะไร?? ผมคิดว่ามีหลายประเด็นน่าคิด
- การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ประหยัด มีแต่ตนเองเท่านั้นที่จะนำตนเองไปสู่เป้าหมายได้
- ไม่ใช่วันละสี่พันก้าวหรอกนะครับ ระยะ 40 กม. (รร.มงคลวิทยา@ลำพูน-คณะพยาบาลศาสตร์ มช. ระยะทาง 44.3 กม.)
- ดูวิธีปฏิบัติต่อเด็ก ก็ไม่ใช่วิธีโหดร้ายอะไร (หรืออาจจะไม่ถ่ายมาออกอากาศ) ทำผิดให้ออกกำลังกาย แต่มีสัญลักษณ์บางอย่างเช่นหน้าอยู่ติดพื้นหรือคลุกโคลน ให้คลานไกลๆ
- ถ้าเด็กป่วย จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี แต่ถ้าพยายามจะแหลไหล จะโดนอีกอย่างหนึ่ง
- มีรางวัลที่จุดหมายเสมอ
- เป็นการเรียนกลางถนน ท่องเที่ยวไปทั่วแผ่นดิน ก็คงได้พวกประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ
มีเด็กหญิงเกเรคนหนึ่ง แม่เอาตัวมาส่งโรงเรียน อาละวาดต่อหน้ากล้องด้วย ขู่ฟอดๆ จะฆ่าตัวตาย ไม่ยอมให้ยึดโทรศัพท์ แสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มากมาย ในที่สุดก็ต่อรองไม่ได้ ต้องยอมอยู่โรงเรียน แม่แม้จะทะเลาะกันตลอดมา ก็ยังมาแอบดูลูกน้ำตานอง
เด็กหญิงยังไม่สิ้นฤทธิ์ มีปัญหาถามครูว่า
ญ: ครูขา โรงเรียนนี้เคยไล่ใครออกไหมคะ
ครู: ไม่เข้าใจคำถามครับ
ญ: ถ้าหนูทำเลวมากๆ โรงเรียนจะไล่ออกไหมคะ
ครู: อ๋อ โรงเรียนนี้เก็บเด็กเลวไว้ ไล่ออกเฉพาะเด็กดี (ตะแลม ตะแลม ตะแลม)
เด็กมีพลังเหลือล้น ถ้าไม่ใช้แรงจูงใจทางบวก เขาก็หาวิธีแสดงออกแบบของเขาเอง เขาแสวงหาการยอมรับในตัวตนของเขา-ในแบบของเขา — เด็กตีกันเพียงเพื่อให้เพื่อนยอมรับเขา ก็น่าจะต้องถามว่านอกจากเพื่อนแล้ว ไม่มีใครยอมรับเขาหรือ หรือว่าเขาไม่ได้มองหาใคร; แต่ถ้าหาแรงจูงใจทางบวกมา ให้โอกาสเขาได้ทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและหมู่คณะ เขาก็จะเสริมสร้างความพากภูมิใจในตัวเองขึ้นทีละน้อย
เท่าที่ฟังข้อสรุปจากสารคดี (ซึ่งเป็นข้อมูลทางเดียว) เด็กที่ “ร่วมมือ” ปรับเปลี่ยนเป็นคนดีของสังคมได้ แต่ก็ไม่ทุกคนนะครับ
แต่เรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้นคือ จะบอกได้อย่างไรว่าเด็กเกเรเพราะอะไร ถ้าจะดูเฉพาะผลว่าเกเรหรือไม่นั้น ไม่ได้มีการแก้ไขอะไรเลยครับ ดูเฉพาะผลนั้นง่ายและฉาบฉวยแต่เป็นที่นิยม
« « Prev : The Wave That Shook the World
8 ความคิดเห็น
เปลี่ยนด้วยวิธีนี้ได้จริงหรือได้ผลแค่ไหนก็ไม่รู้
หรืออาจจะทำแค่ได้เปลี่ยน แต่ผลลัพธ์ไม่แน่
เคยเจอแบบตอบโต้ให้พ่อแม่เจ็บปวด ด้วยการแสดงความเลวสาระพัด สะใจกับความเหลวแหลก
สุดท้ายก็เป็นขยะ เป็นปุ๋ย อย่างเสียดาย ไม่สามารถกู้คืนอะไรได้
บ้านเราก็มีโรงเรียนดัดสันดานเด็กชื่อเพราะๆ แต่ก็ไม่เป็นผล
กลับออกมายิ่งยุ่งยาก สับสนในชีวิต
ถ้าจัดบวชได้แบบโบราณน่าจะดี
ต่อมาเริ่มเป็นครูอาจารย์สอนหนังสือ และเมื่อเิริ่มเป็นพระผู้ใหญ่ก็เริ่มเป็นนักเทศก์ ต้องสอนจริยธรรมคนใกล้ชิด…
พักหลังมานี้ เริ่มตั้งคำถามตัวเองว่า ทำไมต้องเกิดมาเป็นคนสอนคน ทั้งๆ ที่สอนตนเองก็ยังไปไม่ถึงไหน…
ไม่อยากเป็นคนสอนคนเลย โดยเฉพาะสอนจริยธรรม เพราะสอนยากจริงๆ…
(ขออนุญาตบ่นหน่อย)
เจริญพร
ในกรณีนี้ ทั้งเด็กและพ่อแม่อาจมีปัญหาทั้งสองฝ่าย การแก้ปัญหาที่เด็กฝ่ายเดียว อาจจะเป็นการทำให้เด็ก “หายใจเป็นปกติ แล้วเปิดช่องหูรับฟัง” อย่าอธิบายในเวลาที่หูไม่เปิดเลยครับ ไม่ได้ยินหรอก
การแยกกันชั่วคราวโดยการส่งเข้าโรงเรียน เป็นการลดการปะทะที่เจ็บปวดกันทั้งสองฝ่าย ตั้งสติสักพักแล้วช่วยกันแก้ไข ในสารคดี มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าน้อยใจที่พ่อแม่ไม่ไปเยี่ยม ในขณะที่พ่อแม่เพื่อนไปเยี่ยมหลังจากผ่านไปสามเดือน สารคดีบอกว่าในบางกรณีการไปเยี่ยม ก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวขึ้นมาใหม่ได้ (มีภาพเด็กกอดอาม่า)
การดูแลเด็กเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์นะคะ เด็กดื้อ เกเร ก็มีเหตุ ครอบครัวด้านแรกสำคัญที่สุด ความรัก ความเข้าใจ ลดปัญหาความรุนแรง อิอิ เราก็เคยเด็กกันมาก่อนนะคะ
ผมถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่า
เด็กเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร น่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าพันธุกรรม
จำนิทานเรื่องลูกนกแขกเต้า 2 ตัว ที่ถูกพายุพัดรังแตก ตัวหนึ่งไปอยู่กับฤๅษี ตัวหนึ่งโจรเอาไปเลี้ยงได้ครับ
ปัญหาเด็กก้าวร้าวก็เกิดขึ้นกับตัวผมเอง หวนคิดไปบ้างว่าตัวเองก้าวร้าวให้ลูกเห็นบ้างหรือไม่? หรือสังคมสื่อ ทีวี สอนให้ก้าวร้าว เพื่อนที่โรงเรียนเป็นอย่างไร หรือทุกอย่างประกอบเข้าด้วยกัน
อยากเข้าโรงเรียนนี้..เพราะว่า ใจกำลังเกเร….ฮี่ฮี่ฮี่
เด็กป่วยทางกาย รักษาทางวิทยาศาสตร์ (การแพทย์) แต่เด็กป่วยทางใจ เช่นเกเร โกหก ไม่มีวินัย เห็นแก่ตัว เบียดเบียนคนอื่น ฯลฯ จะแก้อย่างไรครับ