ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (6)

อ่าน: 3620

บันทึกที่แล้วเขียนเรื่องที่เมืองไทยน่าจะมี(แต่ดันไม่มี) บันทึกนี้จะขยายสิ่งที่บางประเทศเขาทำกัน และคงเป็นบันทึกสุดท้ายในชุดนี้แล้วครับ

ที่เขียนลากยาวมาได้ถึงหกตอนนี้ ก็เพราะรู้สึกดีใจที่ประสบการณ์และแง่คิดที่พยายามเขียนอธิบายออกมานั้น ช่วยให้เครื่องมือที่ประสานเรื่องการจัดการบรรเทาทุกข์จากอุทกภัย ให้ข้อมูลที่มีความหมายขึ้น ขอขอบคุณอาสาสมัครทีมงาน thaiflood.com ที่อ่านแล้วไม่ปล่อยผ่านไปเฉยๆ ครับ

เมื่อสักสี่ปีก่อน ประเทศที่เป็นเกาะในแปซิฟิคใต้ โดนสึนามิเสียหายร้ายแรง สหประชาชาติโดย ITU/UNESCAP จัดประชุมถอดบทเรียนสึนามิ และเน้นย้ำความสำคัญเรื่อง Disaster Communications ที่หอประชุมสหประชาชาติในกรุงเทพ ตอนนั้นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ชวนพวกผมไปฟัง เพราะว่าเวลามีประชุมนานาชาติในเมืองไทย ผู้แทนจากประเทศเจ้าบ้านมักเปลี่ยนเป็นวาโยธาตุได้อย่างอัศจรรย์

การประชุมในคราวนั้น ผมได้เรียนอะไรหลายอย่าง อย่างผู้แทนอิหร่านเล่าให้ฟังว่าแผ่นดินไหวคนตายหลายแสน นับตั้งแต่เกิดเหตุจนยุติการค้นหาผู้รอดชีวิต ทุกวินาทีที่ผ่านไปมีคนตายเกือบ 4 คน ไม่ว่าจะหยุดกินข้าว นอนพัก หรือรอเครื่องมือ มีคนสองร้อยกว่าคนตายเพิ่มในแต่ละนาทีที่ผ่านไป ฟังแล้วก็อึ้งไปเลย ชีวิตคน(อื่น)สำคัญแค่ไหนสำหรับตัวเรา ความทุกข์ยากของคน(อื่น)สำคัญแค่ไหน เวลาเราบอกว่ารักเพื่อนมนุษย์นั้น มีความหมายอย่างไร

หลังจากงาน ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ UNDP ซึ่งบอกว่า มีระบบงานที่พัฒนาโดยนักวิจัยในประเทศกลุ่มละตินอเมริกาและแคริเบียนน่าสนใจ ก็เลยลองศึกษาดู อืม น่าสนใจจริงๆ ครับ

ดูเผินๆ ก็เป็นระบบ GIS แต่มีข้อมูลที่แปลก เท่าที่จำได้ มี

  • layer สถิติของภัยพิบัติ -> ความถี่ของภัยแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่
  • layer ของคน -> แต่ละจุดมีคนอยู่เท่าไหร่ (ข้อมูลของ สธ.ดีกว่าของ มท.นะจะบอกให้ สธ.อัพเดตที่สถานีอนามัยได้ทุกครั้งที่มีคนในบ้านเจ็บป่วย แต่ มท.อัพเดตเมื่อไปทำบัตรประชาชนใหม่ทุก 6 ปี)
  • layer ของระบบเศรษฐกิจ -> ตรงไหนผลิตอาหาร ผลิตอะไร ข้าว พืชไร่ ยาง; มีอุตสาหกรรมอะไรอยู่ตรงไหน กำลังการผลิตเท่าไหร่ ยอดขายเป็นอย่างไร ฯลฯ
  • layer ของโครงสร้างพื้นฐาน -> ถนน ไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน สถานีฐานของโทรศัพท์มือ สถานพยาบาล สถานที่ราชการ พื้นที่ปลอดภัย (เช่นวัดในที่สูง) ฯลฯ

Tools for Mainstreaming Disaster Risk Reduction: Guidance Notes for Development Organisations

ถ้าเริ่มจากตรงนี้ พอเราขีดวงพื้นที่ประสบภัยได้ ก็จะรู้ทันทีว่ากระทบคนกี่คน ต้องเตรียมความช่วยเหลือเท่าไหร่ เตรียมการฟื้นฟูแบบไหนบ้าง หางานแบบไหนให้คนในช่วงฟื้นฟู​ ฯลฯ

ในหลายประเทศ ไม่ยอมเสี่ยงกับความปลอดภัยของประชาชน เมื่อเห็นว่าเกินกำลัง เขาจะร้องขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลกทันที แต่เมืองไทย ไม่ยอมให้สัตยาบันในปฏิญญา Tampere ทำให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้ามาไม่ง่าย (ที่จริงเข้ายากมาก เจอภาษีเข้า ใครก็ถอยหมดแล้ว) อุทกภัยครั้งนี้ มีคนเดือดร้อนหลายแสนคน กว่าจะจบคงเป็นหลายล้าน ข่าวภัยพิบัติไม่อยู่ในจอเรดาร์ของ NGO ระหว่างประเทศเลย ไม่อยู่ในระบบเฝ้าระวังภัยทั่วโลก เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น อะไรกันเนี่ย

หาข้อมูลจนต้องนอนเช้ามาหลายวัน ชักเบลอแล้ว เมื่อตอนบ่ายไม่รู้สะลึมสะลือหรืออย่างไร เกิดไปตกปากรับคำผู้จัด CrisisCamp ใน BarCamp4 ว่าจะไปแลกเปลี่ยนความคิด-ประสบการณ์ หากผู้อ่านท่านใดไปร่วม ก็เจอกันในงานครับ (หวังว่าคงตื่นทันนะ) วันเสาร์ที่ 23 นี้ ประมาณ 11 น. ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน

« « Prev : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (5)

Next : กระสอบทราย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 October 2010 เวลา 9:00

    ช่วงไหนจะสะลึมสะลือ กรุณาส่งข้อความมาหน่อยได้ไหมคะ เผื่อจะได้ขอมั่ง

    ตามอ่านทุกบทค่ะ …เมื่อก่อนสภาพแถวเชียงใหม่-ลำพูนทุกถนนจะมีการขุดร่องน้ำไว้สองข้างถนนเพื่อซับน้ำและปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ทั้งสองข้าง ตอนนี้ร่องและต้นไม้มันหายไปจริงๆ กลายเป็นท่อระบายน้ำและตึก แม้แต่บริเวณคูเมืองก็เทคอนกรีตจนน้ำลงคูไม่ทันเพราะไม่มีช่องให้น้ำลงได้เพียงพอ วันก่อนเชียงใหม่ฝนตกสองชั่วโมงน้ำขังระบายไม่ทันเลยค่ะ และตอนนี้น้ำปิงก็เอ่อเกือบล้นแล้ว

    ที่ตามอ่านจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ค่อยได้อธิบายคือการดูแลตนเองและการเตรียมเพื่อดูแลตนเองของคนที่ป่วยเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก เวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ ..ไม่ทราบว่าในการประชุมต่างๆ นั้นนานาประเทศเขาให้ความสนใจอย่างไรคะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 October 2010 เวลา 10:50

    อาจจะไม่เกี่ยวกับสาระข้างบน แต่เกี่ยวกับทุ่งกุลา

    - ใต้ดินทุ่งกุลานั้นมีเกลือมหาศาล ส่งผมให้ดินทุ่งกุลามีความเค็ม และทุ่งกุลาคือแหล่งข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ดีที่สุดในโลก
    - มีความพยายามที่จะเอาข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไปปลูกในพื้นที่ต่างๆของโลก โดยเฉพาะอเมริกา เพื่อตีตลาดข้าวมะลิของไทย
    - เคยคุยกับอดีตผู้อำนวยการสถานีทดลองข้าวสกลนคร ท่านกล่าวว่า ไม่มีทางที่จะเอาข้าวขาวดอกมะลิไปปลูกที่อื่นแล้วจะได้ข้าวที่หอมเหมือนบ้านเรา ท่านกล่าวเท่าที่ผมจำได้คือ เพราะเส้นรุ้งเส้นแวง ..????? และที่สำคัญเพราะข้าวขาวดอกมะลิ “ต้องการขึ้นในพื้นที่ดินเค็ม” จึงจะได้คุณสมบัติเช่นนั้น ดังนั้นเวลามีพื้นที่ดินเค็มที่ไหน พืชที่นักวิชาการแนะนำนั้นมีหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ ข้าวขาวดอกมะลิ 105
    - นี่คือธรรมชาติจัดสรรค์ เมื่อพื้นที่มีปัญหาความเค็ม ก็ประทาน ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มาให้ ความจริงข้าวชนิดนี้ค้นพบครั้งแรกจากการทดลองที่ฉะเชิงเทรา หากจำไม่ผิดนะครับ
    - สมัยหนึ่งที่ผมทำงานกับ USAID ที่ท่าพระ มีงานร่วมกับ ออสเตรเลีย ในพื้นที่โครงการทุ่งกุลา ตั้งสำนักงานที่ อ.สุวรรณภูมิ แก้ปัญหาดินเค็มทั้งทุ่งกุลา โดยทำแปลงทดลองศึกษาอยู่ริม อ.สุวรรณภูมิ ซึ่งครั้งนั้นเองที่ออสเตรเลียเอายูตาลิปตัวเข้ามาเป็นพันธ์ คามาลดูเลซิส ที่โดนต่อต้านมากมาย แม้ผู้เชี่ยวชาญ USAID เอง เพราะเขาทำการศึกษาผลกระทบและสรุปมาว่าความเหมาะสมน่าจะอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ควรควรปลูกในพื้นที่พืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับประสบการณ์จริงของพ่อครูบาฯ คงเป็นช่วงเดียวกับที่พ่อครูมาทำการสร้างสวนป่า ช่วงนั้นผมยังไม่รู้จักพ่อครูบาฯ การปลูกยูคาเพื่อวัตถุประสงค์แก้ปัญหาดินเค็ม เพราะเขากินน้ำมหาศาล(เขาว่างั้น) นักวิชาการต้องการศึกษาว่ามันจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาดินเค็มมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เรื่องนี้กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้ายุทธจักร ต้องให้ท่านอธิบาย สมัยนั้นจึงนำเข้ายูคามามหาศาล และเกิดธุรกิจค้ากล้ายูคาร่ำรวยกันพอสมควร

    ไม่มีอะไร แค่เอาเกล็ด มาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 October 2010 เวลา 14:16
    #1 ขอได้ตลอดเวลาครับพี่สร้อย แต่จะทำได้หรือไม่นั้น ยังไม่แน่; เรื่องการเติมน้ำใต้ดิน เขียนมาหลายบันทึกแล้ว อยู่ใน tag น้ำ แต่ยังไม่ได้เขียนเรื่องระบบท่อระบายน้ำเลยครับ

    ในการประชุมนานาชาติครั้งนั้น เขาเชื่อว่าให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านให้มากที่สุด แล้วชาวบ้านจะตัดสินใจได้เองครับ ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐก็มีอำนาจอยู่ สามารถสั่งอพยพประชาชนได้ อย่างกรณีเฮอร์ริเคน Katrina พัดเข้าฝั่งที่นิวออลีนส์ FEMA สั่งอพยพคน มีคนไม่เชื่อ แล้วมีคนที่ไม่ยอมอพยพติดอยู่ในแอสโตรโดม โดยไม่มีอาหารและน้ำนานหลายวัน กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก FEMA โดนวิจารณ์เละเทะ

    กรณีอุทกภัยครั้งนี้ ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก ควรออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยครับ อย่างที่อาจารย์แพนด้า อาจารย์หลินฮุ่ย บุกไปปักธงชัย ไปรับอาม่า อากงนั้น ถูกต้องแล้วครับ [บุญของอาม่าจริงๆ] [เข้าถึงผู้ประสบอุทกภัย]

    มีใครก็ไม่รู้กล่าวไว้ว่า Disaster mitigation is a disaster on itself — การบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ ก็เป็นภัยพิบัติในตัวเองเหมือนกัน — เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดทั่วโลกครับ

    #2 สิ่งต่างๆ ที่พยายามทำอยู่นี้ เป็นเพียงการบรรเทาทุกข์เท่านั้นเองครับ เรายังไม่ได้แก้ไขอะไรที่สาเหตุเลย ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นเพราะเราทำตัวเอง (ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นการบ่นบริกรรมโดยยังไม่ทำอะไรเหมือนกัน) เรายังเบียดเบียนธรรมชาติอยู่เหมือนเดิม เวลาโดนเบียดกลับ ก็ต้านทานไม่ได้ เกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว

    แม้เป็นแค่การบรรเทาทุกข์ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยใช่ไหมครับ หวังว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ประสบภัย จะเป็นประโยชน์บ้างต่อการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ที่กำลังจะได้รับผลกระทบนะครับ

  • #4 ลานซักล้าง » การสื่อสารฉุกเฉิน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 March 2011 เวลา 0:14

    [...] Tampere เอาไว้ใน [ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (6)] [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.1071469783783 sec
Sidebar: 0.13555097579956 sec