อินเทอร์เน็ตกับพฤษภาทมิฬ
อ่าน: 3202จากความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ใช้ “สื่อสังคม” ในการเรียกระดมพลัง อันเป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อการปิดกั้นข่าวสาร ทั้งเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาในประเทศ และที่กำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศ ดูแล้วก็ไม่ได้ประหลาดใจอะไรหรอกนะครับ
เรื่องราวยังไม่จบง่ายๆ สิ่งต่างๆ มีเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เปลี่ยนแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเก่า แต่คนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง กลับรู้สึกทนอยู่ในสภาพเก่าไม่ได้ (ทุกข์) เป็นเพราะใจของเราสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่ควรและไม่ควร (สมุทัย) แล้วเราก็คิดว่าทนไม่ได้ — ซึ่งว่ากันจริงๆ ทนได้ครับ แต่ไม่อยากทนมากกว่า ความรู้สึกรุนแรงเหลือเกิน
ในเมืองไทย มีการใช้ข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 — นั่นก่อนที่เมืองไทยจะมีอินเทอร์เน็ตแบบเชื่อมต่อตลอดเวลาที่เรารู้จักคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ก่อนจุฬาฯ ก่อนเนคเทคจะใช้สายเช่า ก่อนประเทศไทยจะมีเว็บตัวแรก ก่อนเมืองไทยจะมีผู้รู้เรื่องเน็ตมากมายอย่างนี้ มือถือไม่มีเน็ต; การเซ็นเซอร์ข่าวสาร สามัคคีปรองดองแบบไม่มีใครผิดเลย หรืออะไรที่เจอๆ กัน ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรอกครับ ที่น่าเศร้าก็คือ มันเคยเกิดขึ้นแล้ว มีชีวิตคนสังเวยไปแล้ว และมันก็เกิดขึ้นอีก เราไม่เรียนรู้…
เรื่องราวต่างๆ ผ่านพ้นไปนานแล้ว บุคคลที่ปรากฏชื่ออยู่ในลิงก์จากบันทึกนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เดิมอีกต่อไปนะครับ แทบทั้งหมดเปลี่ยนที่อยู่ไปนานแล้ว ผมนำข้อความเก่าในคลังข้อมูลของ soc.culture.thai มาอ้างอิง เพื่อการค้นคว้าให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเท่านั้น
เครือข่ายก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
อินเทอร์เน็ต โดยความหมายดั้งเดิมนั้น คือเครือข่ายของเครือข่าย ระบบที่เชื่อมต่อเข้าอินเทอร์เน็ต เชื่อมจากเครือข่ายของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องแบบเดียวกัน ใช้ระบบปฏิบัติการที่เหมือนกัน แต่ติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันได้ด้วยมาตรฐานหลายอย่าง ตามแต่ว่าระบบที่ทำการเชื่มต่อกันจะสะดวกแบบไหน — ในขณะนั้น อินเทอร์เน็ตใช้ภาษาไทยไม่ได้
- การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตอนที่ 1 (รากฐาน ก่อนปี พ.ศ.2535)
- การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตอนที่ 2 (ความเคลื่อนไหวภาคประชาชน)
ก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ สหรัฐกำลังจะ “เปิดเสรี” อินเทอร์เน็ต (รัฐบาลกลางเลิกสนับสนุนงบประมาณ) ในภาคการศึกษาไทยได้มีความพยายามที่จะเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต (แม้ว่าในขณะนั้นจะมองไม่เห็นทางออกก็ตามที) ต่างประเทศสนับสนุนค่าโทรศัพท์ทางไกลไปยังจุดเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันผ่านโมเด็ม; ในภาคประชาชนไทยก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือมี bulletin board ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย แล้วโทรศัพท์ไปแลกเปลี่ยนข่าวสารกับจุดเชื่อมต่อในต่างประเทศ ควักกระเป๋าจ่ายกันเอง ทุกข้อความมีต้นทุนทั้งนั้นครับ
ข่าวสารที่แลกเปลี่ยนกัน มีสองลักษณะใหญ่ๆ คืออีเมล และ USENET news
เมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น ที่มีกิจกรรมกันมากๆ ก็คือ USENET newsgroup/mailing list ชื่อ bit.listserv.seasia-l (ภาษาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผู้ที่สนใจเหตุการณ์ในเมืองไทยรวมกันอยู่มาก) และ USENET newsgroup ชื่อ soc.culture.thai (ซึ่งพูดกันเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองไทย)
เมื่อก่อนสื่อมวลชนไม่ได้มีอิสระมากเท่าปัจจุบัน แต่ผมคิดว่าสื่อมวลชนใช้อิสระภาพนั้นได้อย่างรู้จักค่า สื่อไม่ต้องตัดสินแทนผู้บริโภคข่าวสาร เขาใช้สติปัญญาประมวลเรื่องราวเอาเองได้
- New posting system (เพิ่มความถี่ในการรายงานเนื่องจากสถานการณ์มีทีท่าจะลุกลาม)
- Your feedback (เครดิตของหนังสือพิมพ์และการติดต่อโดยตรง)
- Re: Thai network update? (เครือข่ายไทยสาร เปิดตัว 23 เม.ย.2535)
นักข่าวพลเมือง ก็มีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว เพราะว่าธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเน็ต “อยู่ตรงนั้นเอง” แม้จะไม่ค่อยมีใครรู้
บันทึกนี้ เขียนแล้วดูเหมือนจะรู้เรื่องคนเดียวครับ ไม่เป็นไร ยังไงก็เขียนอยู่ดี… เฮ้อ… เกือบ 20 ปีมาแล้ว
ในบันทึกนี้ไม่สำคัญว่าใครพูดอะไร แต่สำคัญที่ว่าการมีเครือข่ายไว้สื่อสาร เริ่มจากการเตรียมตัวและทำงานอย่างหนักจนได้มา ไม่ใช่การเรียกร้องเอาครับ
« « Prev : เรื่องเก่าเล่าใหม่: โอลด์ แลง ซายน์
2 ความคิดเห็น
กลับมาอ่านเมื่อได้เจอคนเขียนเรื่องที่สงสัยมานานแล้ว ดีจัง ที่มีคนเขียนเอาไว้ ตอนนี้คงไม่ใช่ “เขียนแล้วดูเหมือนจะรู้เรื่องคนเดียว” เพราะมีคนมาร่วมรับรู้ด้วยอีกคน