ให้น้ำที่ปลายราก

อ่าน: 8097

คำว่าแล้งนั้น นักอุตุนิยมวิทยาให้นิยามไว้ว่ามีฝนไม่เกิน 0.25 มม. ในรอบ 15 วัน

พูดง่ายๆ ก็คือฝนไม่ตกน่ะครับ ถ้าฝนไม่ตกแล้วมีเมฆบ้าง ก็ยังพอบรรเทาไปได้ แต่บ้านเราแดดจัดมาก ถ้าไม่มีเมฆมาบังแสงแดดอีก ดินถูกแดดเผาก็จะทำให้น้ำระเหยออกไปมาก จนดินแห้ง แตกระแหง แถมปุ๋ยอินทรีย์ก็สลายตัว จุลินทรีย์ในดินมีชีวิตอยู่ได้ลำบากหากอุณหภูมิของดินสูงขึ้นมาก หลายเด้งเหลือเกิน แต่ปัญหาใหญ่คือพืชพันธุ์ธัญหารเสียหาย จากการที่ระบบรากทำงานไม่ได้เนื่องจากน้ำใต้ดินหายไป

เรียนกันมาตั้งแต่เด็กว่ารากทำงานโดยกระบวนการออสโมซิส ตอบข้อสอบได้ก็โอเคแล้ว ที่เราไม่ค่อยคิดกันต่อคือออสโมซิสอะไร จริงอยู่ที่คำตอบตามตำราก็จะออกไปในทำนองที่ว่า ออสโมซิสคือกระบวนการดูดซึมสารละลายที่มีความหนาแน่นต่ำ ผ่านเนื้อเยื่อไปสู่ที่ที่มีความหนาแน่นสูง กระบวนการนี้ทำงานที่ปลายราก พืชต้องการน้ำใต้ดินไปละลายสารอาหารที่อยู่ในดิน เพื่อที่ปลายรากซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อน จะดูดซึมผ่านราก-ลำต้น-กิ่ง ส่งไปที่ใบเพื่อสังเคราะห์แสง

แต่ความหมายที่ไม่ค่อยคิดกันคือ เวลารดน้ำต้นไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ต้องประหยัดน้ำ ก็ควรจะส่งน้ำไปที่ปลายรากครับ ไม่ใช่รดใบ รดโคนต้น หรือรดไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะได้สบายใจว่ารดน้ำต้นไม้แล้ว

ที่เป็นปลายรากเพราะปลายรากเป็นเนื้อเยื่ออ่อน สารอาหารของพืชที่ละลายอยู่ในน้ำพอจะซึมผ่านได้ แต่ถ้าเป็นกลางราก น้ำซึมผ่านไม่ได้ครับ

แต่มันก็มีปัญหาใหญ่ คือรากอยู่ใต้ดิน แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่าปลายรากอยู่ตรงไหนล่ะ? ตอบตรงๆ ว่าไม่รู้เหมือนกันครับ อันนี้อาจพอกะได้เหมือนกัน แต่ก็ขึ้นกับว่าจริงๆ แล้ว เรารู้จักต้นไม้ที่ปลูกมากแค่ไหน

การรดน้ำที่โคนราก ยังมีพอลุ้นว่าน้ำจะไหลตามรากลงไปสู่ปลายรากได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการสูญเสียจากการทำให้ดินระหว่างทางเปียกโดยไม่เกิดประโยชน์ครับ แต่หวังว่าจะมีน้ำส่วนหนึ่งไปถึงปลายราก

ผมว่าไม่น่าจะคุ้มหรอกนะครับ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณาเอง

สปริงเกอร์ ที่ว่าประหยัดน้ำนั้น ก็ไม่เชิงนะครับ เวลาวัดเป็นอัตราการไหลของน้ำต่อนาทีแล้ว ดูประหยัดกว่า แต่ประเด็นก็คือปริมาณน้ำที่จะต้องซึมผ่านดินลงไปถึงปลายรากนั้น ไม่ใช่น้อยๆ ถึงพ่นน้ำเป็นละออง แต่ต้องเปิดน้ำไว้นาน ก็ไม่ได้ประหยัดอะไรมากนักหรอกครับ สปริงเกอร์เหมาะกับพืชที่เป็นรากฝอย แผ่อยู่แถวผิวดิน เช่นสนามหญ้า

การนำน้ำเข้าสู่ปลายราก ก็ต้องเดาสุ่มเจาะดินลงไป ห่างจากโคนต้น และเจาะลงไปที่ความลึกที่ประมาณไว้ หากคะเนได้แม่น กรอกน้ำลงไปในรู ก็อาจเหมือนฉีดยาสักเข็ม สดชื่นได้ทันทีครับ

อันที่บ้าได้ใจ คือขุดดูฝังตะแกรงพลาสติกซึ่งข้างในมีสปริงเกอร์ เอาไว้ให้น้ำให้ปุ๋ยที่ระดับใต้ดิน ก็แล้วแต่จะคิดกันไป แต่น้ำและปุ๋ยเดินทางนิดเดียวถึงปลายรากเลย

อีกวิธีหนึ่งก็คือ ใช้อิฐหรือวัสดุกันน้ำ ฝังลงดินเป็นผนังกั้นน้ำ (caisson) น้ำที่รดลงไปไม่สามารถซึมผ่านกำแพงออกไปนอกบริเวณที่ต้องการได้ และรากก็ออกไปไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นน้ำที่ให้ ก็จะอยู่ภายในอาณาบริเวณของเคซองเท่านั้น

ถ้าไม่แน่ใจว่าปลายรากอยู่ตรงไหน ให้น้ำลงไปใต้ดิน แต่ให้อยู่สูงกว่าราก น่าจะพอใช้ได้ครับ เพราะน้ำจะซึมลงไปข้างล่างเอง; ดินที่ชื้นแต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อราก ก็เป็นการสูญเสียน้ำ ถ้าน้ำมีจนเกินพอก็คงไม่้ป็นไร แต่ถ้าน้ำไม่มี ต้องคิดหนักหน่อยครับ

« « Prev : อินเทอร์เน็ตกับพฤษภาทมิฬ

Next : โครงสร้างรูปโดม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

18 ความคิดเห็น

  • #1 มิสเตอร์สะตอฯ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 2:33

    สวัสดีครับ

    การให้น้ำที่ปลายรากนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วครับ ปลายรากหมายถึงในส่วนบริเวณรากฝอยที่บริเวณปลายรากครับ เพราะรากฝอยจะทำหน้าที่ในการดูดน้ำ สารอาหารในรูปไอออนเข้าไปผ่านท่อน้ำ (ดูดสารอาหารก็ดูดผ่านท่อน้ำครับ) นั่นคือการให้น้ำหรือใส่ปุ๋ยให้ถูกที่ควรให้บริเวณใด คำตอบก็คือบริเวณส่วนของบริเวณปลายรากหรือรากฝอย เพื่อให้ง่ายต่อการดูดสารอาหารได้เร็ว เพราะสารอาหารที่พืชจะดูดเข้าไปทางรากฝอยนั้นอยู่ในรูปไอออน บางทีไอออนมันก็สามารถเคลื่อนที่เข้ามาหารากเองได้ตามหลักการแพร่ หรือการไหลไปกับน้ำ สารอาหารจึงจำเป็นต้องมีความชื้นในดินเป็นตัวช่วย เพราะหากดินไม่มีความชื้นก็เป็นการยากที่รากพืชจะดูดสารอาหารเข้าไปได้เพราะว่าสารอาหารเหล่านั้นจะอยู่ในรูปของเกลือ เพราะฉะนั้นน้ำเป็นตัวสำคัญสำหรับพืชเลยครับ หากเราพิจารณาที่ปลายรากจริงๆ มันคือหมวกรากซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ในการดูดน้ำครับ ขึ้นกับว่าเราจะมองว่าปลายรากที่หมายถึงคือส่วนใด หมวกรากนี่ก็เสมือนเกราะของปลายรากที่จะชอนไชไปในทิศทางต่างๆ ซึ่งทิศทางที่ปลายรากจะชอนไชไปนั้นก็ขึ้นกับว่าเป็นรากประเภทใด และสิ่งเร้าที่ส่งผลต่อทิศทางของรากพืชก็มีหลายอย่างแตกต่างกันไป เช่น บริบทของพื้นที่อุณหภูมิของดิน ปริมาณความชื้นในดิน ปริมาณไอออนของสารอาหาร หรือสิ่งเร้าที่ทำให้พืชหนีเช่น ความเป็นกรด-ด่าง หรือลักษณะดินเปรี้ยวเค็มตามลักษณะของพืชแต่ละชนิดครับ

    คราวนี้มาถึงที่ว่าจะให้น้ำที่บริเวณรากฝอยได้อย่างไร นั่นคือเราต้องเข้าใจบริบทของพืชว่าพืชชนิดนี้ มันโตอย่างไร ส่วนรากโตอย่างไร ส่วนลำต้นเหนือพื้นดินโตอย่างไร อัตราส่วนระหว่างรากและต้นเหนือดินโตอย่างไร ในแต่ละเวลาต่างๆ กัน หากเราเข้าใจจะทำให้เราเข้าใจพืชมากขึ้นและให้อาหารพืชได้ตรงตำแหน่งครับ เอาใจเขาใส่ใจเราง่ายๆ เช่น เวลาเราป่วย ป้อนอาหารเองไม่ได้ หากมีเด็กตัวเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าปากเราอยู่ตรงไหน เด็กเอาอาหารไปหยอดที่รูหูเราก็จะทราบดีว่า เราจะกินอย่างไร หากเด็กมาหยอดในรูจมูกเราก็อาจจะกินได้บ้าง โอกาสที่อาหารจะไหลลงกระเพาะก็คงมีมากกว่ารูหูใช่ไหมครับ (ขอเปรียบเทียบแบบนี้แล้วกันครับ เราจะเข้าใจว่าเวลาให้อาหารพืชจะต้องให้อย่างไรครับ) นี่ทำให้เราต้องเข้าใจว่า พืชมันโตอย่างไร รากกับต้นโตอย่างไร ต้นไม้เราใส่อีกแบบ ต้นพืชเราใส่อีกแบบ ไม้พุ่มเราบอกว่า ใส่ปุ๋ยให้ใส่ที่ใต้รอบทรงพุ่ม ซึ่งจะหมายถึงว่ารากฝอยจะอยู่บริเวณนั้น เมื่อรากโตไปเรื่อยๆ บริเวณเหนือปลายรากจะมีรากฝอยอยู่เยอะมาก ส่วนนี้จะทำหน้าที่ดูดน้ำได้ดี ส่วนรากที่โตแล้วไม่มีรากฝอยแล้วจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ในการช่วยค้ำชูลำต้นเป็นสำคัญ หรือยึดให้ลำต้นยืนอยู่ได้ครับ พืชน่าสงสารที่เราจะให้อาหารตรงไหนมันก็ต้องจำทนพอใจกับตรงนั้น กว่ารากจะวิ่งไปยังกองอาหารหรือกองน้ำนั้น ก็ใช้เวลาครับ กว่ารากจะไปถึงน้ำอาจจะแห้งหมดพอดีครับ น้ำเองก็จะไหลซึมลงไปตามบริบทของน้ำ ดังนั้นการให้ถูกที่ถูกตำแหน่ง ถูกเวลาจึงสำคัญมากๆ สำหรับพืชครับ

    จะเห็นว่าการทำวิจัยในบริบทนี้สำคัญมากๆ ที่จะรู้ลักษณะการโตของพืช หรือต้นไม้ พืชที่มีรากแก้ว ไม่มีรากแก้ว จะมีบริบทของเค้าที่แตกต่างกันไป ในการที่จะทำให้ตัวเองอยู่ได้ ต้นไม้มีรากไว้เพื่อวิจัยลักษณะดินที่ตัวเองอยู่แล้วก็สะท้อนออกมาให้เราเห็นในสภาพที่เป็นส่วนลำต้นเหนือพื้นดินว่า ดินตรงนี้เป็นอย่างไร เหมาะสมแค่ไหน ถ้าเราเข้าถึง เข้าใจที่พืชบอกมาเราก็จะช่วยพืชเหล่านั้นได้ถูกต้องครับ

    บางทีผมเห็นต้นไม้ในเมืองกรุง แล้วน่าสงสาร เพราะรากอยู่ใต้คอนกรีต น้ำจะไหลไปถึงแค่ไหนไม่แน่ใจครับ จะใส่สารอาหารให้อย่างไร ก็เข้าใจคนที่ใส่ปุ๋ยเลยว่า เค้าใส่กันที่โคนต้น กว่าสารอาหารมันจะโดนน้ำไหลไปถึงปลายราก แต่ก็ยังดีครับที่มีคนพยายามจะให้อาหารพืชครับ การให้อาหารนอกจากการให้อาหารทางปลายรากแล้ว เราสามารถให้อาหารทางกิ่งก็ได้ครับ ให้อาหารนี่รวมถึงน้ำด้วยนะครับ อย่างการตอนกิ่งนี่ก็ถือว่าเป็นการให้อาหารอีกอย่างหนึ่งครับ แต่เป็นการให้น้ำหรืออาหารแบบบังคับให้งอกรากที่ใต้ข้อครับ แต่การให้อาหารแบบนี้วันหนึ่งเราอาจจะตัดกิ่งเหล่านี้ออกจากต้นนี้ครับ การให้อาหารทางกิ่งที่ว่าคือ ทำนองเดียวกับการตอนแต่เราไม่ควั่นกิ่งแบบนั้น แต่เราทำบาดแผลไว้ส่วนหนึ่งแล้วก็มีการเอาอาหารหรือน้ำไปห่อไว้เหมือนกันจนพืชสร้างรากขึ้นมา จากนั้นเราจะให้อาหารทางนั้นได้ครับ จำไว้ได้เลยครับ ว่าที่บริเวณข้อจะมีหนทางที่เป็นไปได้คือ เป็นราก เป็นใบ เป็นกิ่งใหม่ หรือเป็นดอก ก็ได้ครับ อยู่ที่สิ่งเร้าของเราครับ จะเห็นว่ายังมีหนทางอื่นที่จะช่วยเสริมการให้อาหารให้กับต้นไม้ได้ครับ แต่การให้ทางรากนับว่าธรรมชาติที่สุดแล้วครับ

    สำหรับนวัตกรรมในการที่จะสร้างอะไรต่างๆ เพื่อให้รากพืชไม่หนีไปไหนนั้น อยู่ที่เราจะจัดการครับ สามารถทำได้หลายๆ อย่างครับ แต่แน่นอนครับ เราควรจะเข้าใจหลักทางฟิสิกส์ของต้นไม้ด้วยครับ ฐานแคบต้นกว้าง จะเป็นอย่างไร พืชต้นเล็กอาจจะไม่เป็นไร ต้นใหญ่จะเป็นอย่างไร

    เรื่องของพืชและต้นไม้ยังมีอะไรน่าสนใจอีกเยอะครับ โดยเฉพาะเรื่องของรากครับ ไว้มีโอกาสจะมาเขียนอีกครับ  การให้น้ำแบบสปริงเกอร์ หากลองเทียบดูก็น่าสนใจครับ หากเราวิจัยจริงๆ เราจะพบว่า พืชแต่ละชนิดการให้น้ำอาจจะต้องการแตกต่างกันครับ ยกตัวอย่างเช่น ผมยิงหยดน้ำหนึ่งหยดไปในอากาศผ่านอากาศเป็นระยะทาง 20 เมตร ด้วยหยดน้ำขนาดเท่ากัน กับอีกหยดนึงผมเอาปริมาณเท่ากันไปหยดที่ตำแหน่งที่ยิงไปตกเมื่อกี้ ถามว่าปริมาณน้ำที่ตกลงในดินนั้นเท่ากันไหม หากหยดน้ำหรือละอองน้ำนั้นเล็กมาก เราคิดว่าน้ำเหล่านั้นจะมีจริงหรือที่จะตกลงดิน เปรียบเสมือนเม็ดฝนจากเมฆที่ตกแบบปรอยๆ หนึ่งหยด ตกลงมา จะถึงพื้นหรือไม่ครับ มันน่าจะมีอะไรที่มากกว่านั้นในกระบวนการทางธรรมชาติครับ

    ขอบคุณมากครับ

  • #2 มิสเตอร์สะตอฯ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 2:48

    สำหรับงานวิจัย ในเมืองไทย ให้ความสำคัญกับการวิจัยในระยะต้นพืชน้อยกว่าช่วงในระยะออกดอกออกผลครับ ทั้งๆที่ดอกผลจะดีก็ต้องมาจากพืชกิ่งก้านที่ดีครับ เวลาผมอ่านแผนวิจัยของบางองค์กร เช่นวิจัยเรื่องถั่วเหลือง เค้าก็จะเน้นในส่วนที่ออกดอกฝักเท่าไร การวิจัยยางพาราก็จะเน้นจากน้ำยางเป็นต้นไป แต่ก่อนจะมาเป็นน้ำยางไม่ค่อยเน้นมากครับ จริงๆ หากเราพัฒนาโครงสร้างเข้าใจโครงสร้างอย่างดี เราจะทำให้เกิดผลผลิตได้มากกว่านั้นครับ อย่างเช่นต้นยางที่ปลูกในสวนยาง แค่ระยะแถว ระยะต้นที่ปลูกในแถวแตกต่างกันก็ให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน ต้นยางที่ใบมีน้อยจะให้น้ำยางได้กว่าต้นยางที่มีใบมากกว่าได้อย่างไร ตามหลักของการสร้างอาหารหรือการสังเคราะห์ด้วยแสงของต้นไม้ครับ

    เหมือนกับเราเร่งใส่ปุ๋ยให้กับนักศึกษาก่อนจะจบปริญญาตรี แต่ไม่ได้เน้นการเสริมพื้นฐานให้ตั้งแต่เด็กๆ แล้วจะมาดัด ปรับเอาตอนก่อนจบมันอาจจะได้แต่บางทีอาจจะเกือบสายไป หรือสายไปแล้วครับ วกมาการศึกษาอีกจนได้ครับ อิๆๆ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 2:52
    ขอบคุณมากนะครับเม้ง ที่ช่วยแก้ไข เติมเต็ม และเปิดประเด็นต่อ

    ในกรุงเทพ เคยมีการประท้วงการตัดต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุหลายสิบปี แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะว่ามันเป็นที่ของเอกชน เจ้าของที่เขาจะทำคอนโดหรืออะไรทำนองนั้น เรื่องนี้จะมองว่าเป็นการปลูกจิตสำนึกก็ได้ แต่ถ้าจิตสำนึกเกิดขึ้นจริง น่าจะขยายผลต่อไปถึงการดูแลต้นไม้ต่างๆ ให้เติบโตให้ร่มเงา เป็นปอดให้คนกรุงเทพหรือเมืองต่างๆ ด้วยครับ

  • #4 มิสเตอร์สะตอฯ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 2:58

    ครับ ต้นไม้ในเมืองหลวง จริงๆ น่าจะมีการฉีดน้ำล้างฝุ่นที่ใบบ้างก็ดีนะครับ มันจะเป็นปอดได้ดียิ่งขึ้นครับ เพราะการที่ฝุ่นไปจับบริเวณใบมากเกินไป มันก็เหมือนกับมีเสมหะไปติดคอทำให้การหายใจไม่ดีนักครับ ฝุ่นเกาะใบมากก็สังเคราะห์ด้วยแสงก็พิการครับ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เข้าใจร่วมกันก็ดีครับ เวลาฝนตกใน กทม ผมว่าหลายคนอาจจะบ่น แต่ต้นไม้คงดีใจเพราะคงหายใจสะดวกมากยิ่งขึ้นครับ หากเราคงสภาพเมืองและป่าให้สมดุล เมืองก็จะน่าอยู่ครับ ต้นไม้กระจายไปตามเมืองก็อาจจะดีกว่า ต้นไม้แค่สวนสาธารณะแล้วล้อมรอบด้วยป่าคอนกรีตครับ แต่ กทม.เราเอาไม่ทันแล้วครับ ทำอย่างไรให้ที่มีอยู่ไม่ตายไปเสียก่อนครับ ตรงไหนปลูกได้ปลูกครับ ตรงไหนเสริมได้เสริมครับ ต้นไม้ใหญ่ กับกระถางไม้ประดับก็ทำหน้าที่แตกต่างกันครับ ทำงานแทนกันไม่ได้ครับ

    ขอบคุณมากครับ

  • #5 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 11:06

    พูดถึงเรื่องการให้น้ำแก่พืชแล้ว น่าสนใจมากครับ
    อย่างเช่น มีการลอกระบบสปริงเกอร์ของอิสราเอลมาแจกชาวบ้านทางอีสาน แจกแต่ของไม่ทำความเข้าใจก่อน เกษตรกรเห็นเป็นของฟรีก็รับไว้ก่อน พอไปกระตุ้นให้ใช้งานก็พบข้อจำกัดหลายประการ อาทิเช่น คุณภาพของน้ำมีตะกอนมาก ไส้กรองหัวจ่ายก็อุดตัน บางรายก็เครื่องสูบน้ำแรงดันไม่พอ บางรายก็ไม่มีตังค์ซื้อน้ำมันใส่เครื่องสูบ
    ที่สำคัญอีกประการก็คือ เรื่องทัศนะของเกษตรกรอย่างที่เม้งบอก ว่าปกติพืชต้องการน้ำเพียงนิดเดียว แต่พี่น้องบ้านเราคุ้นเคยกับการให้น้ำแบบเปียกโชก ดังนั้นจึงไม่ชอบใจสปริงเกอร์แบบ “เยี่ยวแมว”ที่เราเอาไปแจก ปล่อยทิ้งขว้างไว้ในไร่มันสำปะหลัง ได้หนึ่งปี พอไถดินเตรียมปลูกมันรอบต่อไป สายยางท่อพีวีซี ก็”มุ้นอุ้ยปุ้ย”
    แต่ก็มีรายที่เอาไปใช้แล้วได้ผลดีนะครับ โดยเฉพาะพี่น้องทางมหาสารคามและขอนแก่น ที่เห็นคุณค่าความจำเป็นของน้ำในสระ
    สองปีที่แล้ว อาจารย์ชาวญี่ปุ่น JICA ได้เข้ามาทดลองเรื่องการปลูกพืชหลังนาแบบประหยัดน้ำ โดยอาศัยความชื้นที่เหลือในดิน(ไม่ใส่น้ำเลย) กับการรดน้ำเพียงครั้งเดียวก่อนปลูก ทำการศึกษาในแปลงเกษตรกรในพื้นที่ขอนแก่น และมหาสารคาม ในฐานะคนรวบรวมรายงาน ผมได้อ่านรายงานการทดลองเห็นว่าหลายพืชสามารถได้ผลดีทีเดียวครับ เดี๋ยวจะค้นคลังข้อมูลนำมาเล่ารายละเอียดครับ 

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 13:40
    พืชหลังนา ก็คงเป็นพืชล้มลุก อายุสั้น รากไม่ลึกใช่ไหมครับ

    ไม่ทราบอ้ายเปลี่ยนมีข้อมูลเกี่ยวกับพวกพืชหัว หรือไม้ยืนต้นบ้างไหมครับ

  • #7 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 14:02

    ขอแจมด้วยคน

    • ที่คณะเกษตร มข.มีการศึกษาเรื่องนี้มานานแล้ว สมัยประมาณ พ.ศ. 2525-2530 ที่คณะเกษตร มข.มีโครงการ FSRE (Farming system Research and Extension) เขาพบว่าที่อีสานใต้ มีการปลูกพืชหลังนาโดยไม่ใช้น้ำ จึงศึกษาและพบว่าเป็นไปได้จริงๆ ซึ่งคงมีรายละเอียดเรื่องนี้เช่น ชนิดดิน องค์ประกอบดิน  ชนยิดข้าวที่ปลูดเป็นพันธุ์เบาหรือหนัก ช่วงเวลาที่เหมาะสม พืชที่จะเอามาปลูกเป็นอะไร…..ดูเหมือนมีคำที่พูดกันติดปากคือ “ถั่วหลังนา งาก่อนข้าว” แล้วทุกปีก็มีกรมวิชาการเกษตรจัดประชุม ทุกปีเพื่อสรุปงานพวกนี้ ดังนั้นที่กรมวิชาการเกษตรก็น่าที่จะมีข้อมูลนี้ด้วย
    • อิอิ ต้องเดินทางอีกแล้ว
  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 March 2011 เวลา 14:45
    ดูๆ ไป เมืองไทยนี้ ก็ยังให้น้ำแบบเปียกชุ่มที่โคนต้นอยู่ดีครับ คือหวังว่ามันจะกระจายออกไป แต่มันก็ไม่ค่อยเป็นไปตามที่หวัง

    ที่จริงความรู้ของเรานั้นกระจุกตัว ไม่ได้แพร่ออกสู่การปฏิบัติ เหมือนการศึกษาที่เด็กจบมัธยมยังดูแลตนเองไม่ได้ เก็งข้อสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยจนเกร็งไปหมด พอเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นความรู้เฉพาะทาง ยิ่งขาดความเข้าใจในชีวิต แม้จะมีคนที่ช่างสังเกตและเรียนรู้เองได้เหมือนกัน แต่กว่าจะเข้าใจชีวิต เข้าใจธรรมชาติ รวบรวมความกล้าลงมือทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ก็แก่เกินแกงแล้ว… ไม่รู้จะบ่นไปทำไมครับ อิอิ

    เดินทางโดยสวัสดิภาพนะครับพี่

  • #9 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 March 2011 เวลา 0:14

    ก็ดีนะครับ แต่ไม่รู้ว่าต้นไม้มันจะกินอร่อยไหม  เพราะมันเคยกินที่ซึมไปจากผิวดินมานานหลายล้านปี

    อุปมากับการให้อาหารคนด้วยการเจาะตรงถึงกระเพาะไม่ผ่านปาก ลำคอ  อิอิ

    ว่าโดยทางฟิสิกส์การให้น้ำที่ปลายราก จะทำให้ทรงพุ่มของราก ลู่เข้าไปหาแหล่งน้ำ ไม่บานออกโดยธรรมชาติเดิมๆ ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมอย่างไรในระยะยาว ต้องวิจัยกันไปแหละครับ แหะๆ

    สิ่งมีชีวิตรอบๆ เช่น จุลินทรีย์เผ่าพันธุ์ต่างๆ ก็ต้องปรับตัวตามกันหมด

  • #10 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 March 2011 เวลา 0:53
    น้ำเหลือน้อยแล้วนะครับ
  • #11 ลานซักล้าง » กาลักน้ำ รดน้ำต้นไม้ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2011 เวลา 2:12

    [...] ต้นไม้ไม่ได้ดื่มน้ำเหมือนคน แต่ต้นไม้ใช้ความชื้นในดินทำให้ดินอ่อนเพื่อที่รากจะโตได้ และใช้น้ำในการดูดซึมอาหาร เวลาเรารดน้ำต้นไม้ เราก็เพียงแต่ต้องการทำให้ดินชุ่มชื้นเท่านั้น และไม่ได้ต้องการให้ดินที่ผิวหน้าเท่านั้นที่ชุ่มชื้น แต่ต้องการให้ดินที่ระดับของรากชุ่มชื้น [ให้น้ำที่ปลายราก] [...]

  • #12 poonswat ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2011 เวลา 4:43

    ผมสร้างสวนป่า แทนยางพารา ก็เกรงปัญหาขาดน้ำ จึงปลูกโดยขุดหลุมปลูกโดยรถไถ ขนาดของหลุม เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซม.และลึก 50 ซม. และปลูกแบบกะลาคว่ำ เพืาอให้น้ำขังในตอนฝนตก ต้นไม้หลายชนิดก็เจริญเติบโตได้ดี แต่บางชนิดทนน้ำท่วมไม่ได้ ก็แห้งตายเพราะน้ำท่วมราก

  • #13 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2011 เวลา 5:12
    ทางใต้นั้น เวลาฝนตกหนัก ก็ไม่ยอมหยุดเลยนี่ครับลุงพูน ผมไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไรนะครับ

    แต่อยากเสนอว่าร่องน้ำนั้น ขุดให้ห่างต้นออกไปอีก ทั้งนี้เพื่อให้น้ำขังในระยะที่ไกลต้นออกไป เมื่อความชื้นอยู่ไกลออกไป รากก็ควรจะแผ่ขยายออกไปหาความชื้นรอบๆ จะทำให้ต้นไม้แข็งแรงครับ ถ้าฝนมาหนักแล้วต้นไม้ยังเล็กอยู่ ก็ไม่ท่วมราก แต่ถ้ารากยาวไปถึงระยะร่องน้ำนั้นแล้ว ต้นไม้คงจะแข็งแรงมากแล้วครับ

    ที่สวนป่าซึ่งฝนน้อยและดินเก็บน้ำไม่อยู่เลย ครูบาใช้แบบกะลาหงายนะครับ ขอบหลุมเทน้ำเข้าหาลำต้นหมดเลย เป็นการ harvest น้ำฝนไปด้วยในตัว อย่างนี้รากก็น่าจะลงลึกแต่แผ่ออกน้อยครับ

  • #14 poonswat ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2011 เวลา 21:02

    ที่จริงผมปลูกแบบ กะลาหงาย แต่เขียนผิดเป็น กะลาคว่ำ
    ฝนตก ถ้ามีต้นไม้ต้นหญ้าบนดิน ความชื้นจะคงอยู่ได้นานครับ เท่าที่สังเกตในสวนป่า(10 ไร่)ของผม ผมตัดหญ้าในแถวที่ปลูก และเว้นหญ้าไว้ในอก ปล่อยให้หญ้าและสารพัดพืชงอกขึ้นมา พบว่า บริเวณที่ปล่อยให้วัชพืชงอกขึ้นมานั้น ในดินมีความชื้นมากกว่า บริเวณที่ผมตัดหญ้า ดังนั้นในระยะหลังๆ ผมจึงเว้นวัชพืชเอาไว้ และลองปลูกกล้วยปนๆลงไป ปรากฏว่า ต้นไม้ที่ผมปลูก ที่อยู่ใกล้ๆต้นกล้วย กลับงามดีกว่า ต้นที่ปลูกในที่เตียนๆ (ผมกำลังจะเอาไปโพส ในบ้านสวนพอเพัยง ของ สาทร)
    ต้นไม้เมื่อตอนเล็กๆ รากไปไม่ไกล ตามทฤษฎี บอกว่าไม่ไกลไปจากทรงพุ่มมากนัก (แต่วันนี้ ผมไม่ค่อยจะเชื่อทฤษฎีต่างๆที่เคยร่ำเรียนมาแล้วครับ) หลุมปลูกของผม จะรับน้ำเอาไว้ใช้ได้หลายวัน โดยไม่ไหลบ่าไปตามความลาดเทของพื้นดิน
    ปีหน้าเมื่อต้นโตขึ้น ระบบรากก็คงจะงอกยาวออกไปบริเวณอก ซึ่งยังมีความชื้นอยู่ และถ้าผมปลูกกล้วยเอาไว้เป็นระยะ บริเวณอก บริเวณกอกล้วยก็จะมีความชื้นสูง รากของต้นไมื้ผมปลูกก็จะงอกออกไปหาน้ำจากบริเวณนั้นได้ครับ
    ปัญหา ของการปลูกแบบนี้ก็คือ การเจาะหลุม ถ้าเครื่องเจาะ กดจนทำให้ดินแน่น การซึมของน้ำลงดินจะช้าหรือไม่ซึม ถ้าต้นไม้ที่ปลูกเป็นพวกทนน้ำขัง เช่น ตะเคียนทอง ยางนา เทียม (สะเดาช้าง) หรือแม้แต่ไม้แดง ก็จะไม่ตาย แต่พวกที่จะตายเพราะน้ำขัง ก็คือ จำปาทอง (ในสวนตายไปหลายต้น) และต้นที่เห็นว่าตายแน่ๆคือ ไม้สัก ครับ

  • #15 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2011 เวลา 21:22
    ทฤษฎีไม่ใช่กฏแต่เชื่อได้ถ้าเข้าใจบริบทครับ แต่เรามักไม่ค่อยสนใจบริบทของทฤษฎี อย่างของลุงพูนนี่ เนื่องจากฝนตกหนัก สำหรับต้นไม้ที่รากเน่าได้ง่าย ทำหลุมแบบกะลาคว่ำ ผลักให้น้ำออกไปไกลๆ หน่อย แล้วปลูกต้นไม้บนยอดกะลาจะดีไหมครับ
  • #16 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 February 2012 เวลา 12:44

    เรื่องนี้เหมือนหนังอินเดีย ยาวๆๆ
    นิสัยพืชแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ระบบรกก็แตกต่างกัน
    พืชล้มลุก รากตื้น พืชยืนต้นรากลึก
    แต่รากที่หาอาหารจริงๆคือรากฝอย
    คำว่าน้ำปลายราก คือปลายรากฝอย
    ตัวรากแก้ว สำหรับยึดลำต้นให้มั่นคง
    ปลายรากฝอยจะแผ่ไปตามผิวดิน เท่าที่จะมีความชื้น
    บางทีเสาะหาความชื้นเป็น 10 เมตร
    รากฝอยพืชบางชนิดเป็นคล้ายก้างปลา มีรากประธานลุย แล้วรากย่อยแผ่ออกไป

    พืชที่เป็นเถาว์ นอกจากจะมีรากฝอยที่โคนต้นแล้ว เถาว์ที่เลื่้อยอออกไป ถ้ามีความชื้นก็จะยั่งรากลงเป็นระยะๆ แล้วก็ผลิตดอกออกผลเพิ่มขึ้น พืชบางตัวจะใช้วิธีนี้ขยายพันธุ์ เช่น พริกไทย ปล่อยให้กิ่งเลื้อยไปตามพื้น พอหยั่งรากลงอายุได้ที่ เราก็ตัดลำต้นเลื้อยขาดจากต้นแม่ เราก็จะได้พริกไทยอีกต้นที่มารการสมบูรณ์ อาจจะมีผล ย้ายไปไหนก็แข็งแรง

    ไม้ผักหวานป่า ขยายต้นง่าย เขี่ยกิ่งไม้ออก แล้วเอาเสียบสับรากให้ขาดจากต่้นแม่ ให้น้ำให้ปุ๋ยเราก็จะได้ต้นอ่อนแตกออกมาหลายต้น วิธีนี้ดีมาก เพราะผักหวานป่าปราบเซียนมาเยอะแล้ว

    ถ้าเราปลูกพืชเถาว์/ร่วมกับผักล้มลุก ต้องออกแบบการให้น้ำผสมผสานกัน ระหว่างน้ำหนด กับ สปริงเกอร์ วิธีนี้ควรเอาปุ๋ยคอกโรยพื้น เอาน้ำควันไม้ราด เอาฟางคลุม การคลุมด้วยฟางคุ้มค่ามหาศาล ฟางช่วยกันความร้อนให้แก่รากฝอย ต่อยอดความชื้นให้ยาวออกไป จุลินทรีย์ใส้เดือนมาอาศัยอยู่เองไม่ต้องไปเพาะให้ยุ่งยากเหมือนนักวิชาการทำ ฟางช่วยให้ประหยัดน้ำ

    เราสามารถสร้างนิสัยให้พืชได้ ด้วยการให้น้ำจำนวนเท่าเดิม และเวลาเดิม พืชจะรู้ตัว และ ปรับตัวให้เข้ากับอัตราความชื้น การรดน้ำสะปะสะปะ ถ้าต้นไม้ลุกมาถีบได้ คงหัวคะมำไปหลายคน หลายคนที่ซื้อต้นไม้มาปลูก บางชนิดที่เปราะบาง เจอการรดน้ำที่เคยได้รับ ปรับตัวไม่ทัน แห้งตายแหง๋แก๋ เจ้าของก็งง ..ทำไมวะ อุตาส่าห์รดน้ำเต็มที่ ยังสำออยตายง่ายๆ

    อนึ่ง หน้าแล้ง ต้องคำนวณน้ำให้ดี ถ้าไม่มีน้ำพออย่าไปให้น้ำ ปล่อยให้เข้าสู้กับธรรมชาติ ต้นไม้ทุกต้นถ้าได้น้ำจะสร้างระบบใหม่ทันที การให้น้ำบ้างไม่ให้บ้างในหน้าแล้งต้นไม้ตายมากกว่า ถ้ารักต้นไม้น้ำไม่มี ก็หาฟางหรือใบไม้คลุมโคนต้นให้ก็พอ อย่าลืม ต้นไม่มีขาเดินเข้าร่ม ที่เขาผลัดใบ ทิ้งใบ ล้วนเป็นวิธีสู้ชีวิตของไม้แต่ละสายพันธุ์

    อนึ่ง หน้าร้อนอย่างนี้ถ้าไม่มีวัสดุคลุมพื้น ไม่ควรรดน้ำตอนบ่าย/เย็น นอกน้ำจะร้อนแล้ว ผิวดินยังร้อนระอุ พอเจอนำเข้าไป รากฝอยก็ดิ้นปัดๆ ถ้าลุกได้มันก็จะลุกมาถีบคนรดน้ำอีก ควรรดน้ำตอนเช้ามืด น้ำเย็น ดินเย็น จะไม่เป็นปัญหา

    การที่ผมใช้สว่านเจาะรู ใส่ปุ๋ย ก่อนปลูกต้นไม้ ก็เพื่อรักษษความชื้นนี่แหละ
    ที่จริงการปลูกพืชแบบเจาะหลุมจะช่วยได้มากถ้าปลูกพืชเถาว์ ฟักแฟง แตงโม ฟักทอง ฯลฯ เจาะหลุมลึก 50-60 เซ็นต์ ใส่ปุ๋ยผสมดินให้ดี แล้วค่อนหยอดเมล็ดลงไป ให้ผิวดินที่ปลูกลึกลงไปประมาณ ครึ่งคืบ เพื่ออาศัยเงาขอบหลุมบังแดดให้ ช่วงสาย-บ่าย พอตั้งต้นได้เถาว์ก็จะเลื้อยขึ้นมาบนขอบหลุมเอง ไม่ต้องทำบรรไดเลื่อนไปให้มัน

    ที่จริงต้นไม้ทุกชนิดมีความอึดมาก และพยายามช่วยตัวเองตลอดเวลา มนุษย์ต้องใจเย็นพอที่จะศึกษาอย่างจดจ่อและต่อเนื่อง

    เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะหาวิธีให้น้ำประหยัดและได้ประโยชน์สูงสุด
    อิสราเอลเป็นเจ้าพ่อด้านนี้ แต่คนที่ไปเรียนเข้าไม่ถึง เอาความรู้มาครึ่งเดียว แล้วก็ส่งเสริมกันบ้าๆบอๆ

    ที่ผมหยากทดลองมาก คือฝังระเบิดเป็นจุดๆเล็กๆ ให้วงระเบิดอยู่ในรัศมี 2 ลูกบากศ์เมตร จุดบิึม! เราจะได้หลุุมมาหนึ่งหลุ่ม พื้นที่โดยรอบ แตกแยกออกจากกัน ดินดานก็แตกระแหง น้ำซึมลงเบื้องล่างได้ ฝนมาจะได้ไม่ไหนนองทิ้ง วิธีนี้ดีกว่าใช้รถแมคโคขุด ได้หลุม ได้ดินร่วนซุยไปพร้อมกัน

    พอจะปลูกต้นไม้ก็แต่งหลุมใส่ปุ๋ย ปลูก แล้วกวาดใบไม้คลุม แต่วิธีนี้้ก็ใช่ว่าเหมาะที่จะใช้ทั่วไป มันเหมาะกับวสนป่า แต่ไม่เหมาะในที่ลุ่ม ซึ่งควรจะยกร่องปลูกเหมือนชาวสวนภาคกลางเขาทำ

    มาคราวอย่าอย่าลืมเตรียมระเบิดซีโฟมาด้วยนะครับ เราจะระเบิดพื้นที่ปลูกผักกัน

    เอ๊ะ ถ้าคุยไปเรื่อยๆจะได้กินข้าวเที่ยงไหมนี่
    ขอเอวังด้วยประการ ละฉะนี้

  • #17 poonswat ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 February 2012 เวลา 15:01

    ผมสร้างสวนป่า แบบครูบา ไว้สวนหนึ่ง ราว 10 ไร่ ปลูกโดยใช้รถแทรกเตอร์ขุดหลุมให้ ผมเขียนลงใน บ้านสวนพอเพียงของคุณโสทร (http://www.bansuanporpeang.com/node/14920)
    หลังจากปลูกไปได้7 เดือน มั้งที่ตายไป และรอดตายมา พวกที่ตายมาก คิอ จำปาทอง สาเหตุที่ตายก็เพราะ น้ำท่วมในหลุมที่ปลูก ทางใต้ฝนตกชุกในปีที่ผ่านมา หลุมปลูกมีขนาดใหญ่ ประมาณ 50 x 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์นิดหน่อย และ สารดูดน้ำ ใช้แบบนี้กับต้นไม้ที่ปลูกทุกชนิด แต่ต้นที่ตายมากคือ จำปาทอง สาเหตุน่าจะมาจาก จำปาทอง ไม่ชอบน้ำขัง เมื่อไปสอบถามผู้รู้หลายท่าน ได้ความม่า จำปาทอง ไม่ชอบน้ำขัง และไม่ชอบความแห้งแล้งมากเกินไป และที่สีคัญ มีเพลี้ยเกล็ด ตัวเล็กๆ ไปเกาะกิน ทำลายความมั่นคงของต้นจำปาทอง ส่วนต้นอื่นๆ เช่น ตะเคียนทอง แดง พยอม ยางนา มะค่าแต้ กฤษณา และอื่นๆ ประมาณ 10 ชนิด แปลงนี้กะว่าจะใช้เป็นเป็นแปลงทดลอง ดูความเหมาะสมในการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิด
    ช่วงนี้แล้งมาได้เกือบสองเดือน ดินเริ่มแตกระแหง กำลังคิดว่า จะหาน้ำมาให้ต้นไม้ได้ใช้เพื่อให้รอดตาย แต่พออ่าน comment ของครูบาแล้ว คิดว่าจะไม่ต้องแล้ว ปล่อยให้ ต้นไม้ทนแล้งไปก่อน ต้นไหนไม่รอดค่อยปลูกซ่อม

    ตอนแรกที่ทำสวนป่า ก็คอดแต่ว่า จะปลูกต้นไม้ที่มีราคาดี ช่วงหนึ่งฝนตกหนัก ทำให้พื้นที่แห่งหนึ่ง (ของชาวบ้าน) น้ำท่วมอยู่เกือบเดือน ปรากฏว่า ต้นไม้ที่เขาปลูกแซมในสวนยาง และหัวไร่ปลายนา เช่น ไม้สัก ตะเคียนทอง ยางนา สน จำปาทอง สะเดาช้าง (ไม้เทียม) ต้นที่รอดตายจากการที่น้ำท่วมนานๆคือ ยางนา สะเดาเทียม ตะเคียนทอง ซึ่งเป็นไม้ในทเองถิ่น นอกนั้น ใบค่อยๆร่วง และก็ตายไป ส่วนต้นอื่นๆ รอดตาย ดังนั้นจึงเกิดความคิดขึ้นว่า ถ้าจะปลูกต้นไม้ให้มีชีวิตรอดไปอีก 20 - 30 ปี ควรจะปลูกต้นไม้ในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ไม้ต่างถิ่นถ้ายังไม่รู้จักเขาดีนัก ให้ปลูกปนๆกันไป ทั้งที่ดอน และที่ที่อาจจะเป็นที่ลุ่ม เพราะอีก 10-20 ปี ที่ดอนอาจจะเป็นที่ลุ่ม

    ผมเคยได้ เอกมหาชัย จาก เม้ง มา 2 ต้น เอาไปปลูกแซมในสวนยางพารา ปรากฏว่าโตไม่ทันยาง ต้นเลยไม่ใหญ่ อยากจะขอเมล็ดจากครูบาสัก 100 เมล็ดมาเพาะแล้วปลูกในสวนป่าของผมด้วยครับ (เนื่องจากผมหา E-mail ของครูบาไม่ได้ เลยต้องมาขอกันในนี้ poon@gmail.com) ขอบคุณครับ
    หมอเจ๊ชวนผมให้มาเที่ยวสวนครูบา แต่ไม่ค่อยว่าง ช่วงไหนที่พอมีเวลา จะมาขอความรู้ครูบาให้ถึงสวนเลยครับ
    (http://www.bansuanporpeang.com/node/20127)

  • #18 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 February 2012 เวลา 16:11
    เมล็ดเอกมหาชัยต้องรอหน้าร้อนแล้วต้องไปหาแถวขอนแก่นครับ ของสวนป่าต้นโตแล้วแต่ยังไม่ออกดอกยังไม่มีเมล็ดเลยครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.27915000915527 sec
Sidebar: 0.16416096687317 sec