เพราะชุมชนก็คือมหาวิทยาลัยของอาจารย์

5922 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2011 เวลา 5:57 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา, ธรรมชาติ, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 72742

ลงพื้นที่เก็บข้อมูลน้ำท่วมและไปดูบริเวณการกัดเซาะบริเวณชายฝั่ง ได้คุยกับชาวบ้านได้ปรัชญามาหลายข้อครับ เช่น

คุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่า มหาลัยก็เปรียบเสมือนปากกา ชุมชนก็เหมือนกับกระดาษ ต้องอยู่คู่กัน ปากกาเขียนบนฟ้าก็เขียนไม่ติด ต้องเขียนบนกระดาษ เขียนติดแล้วมันติดอยู่ในใจ กระดาษพร้อมที่จะให้ปากกาเขียน

ผมเลยบอกว่า เราผลัดกันเป็นปากกาและกระดาษด้วยจะดีไหม เพราะชุมชนก็คือมหาวิทยาลัยของอาจารย์


การจัดการองค์ความรู้ ระบบบิ๊กแบ็กกั้นน้ำท่วมแห่งชาติ

3234 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 เวลา 5:57 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, ธรรมชาติ, ลานปัญญา, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 39962

เรียนทุกท่านครับ
เมื่อเวลาผ่านมากับสภาพน้ำท่วมตอนนี้ แล้วอดไม่ได้ที่จะอยากจะถามหลายๆ คำถามกับมาตรฐานต่างๆ ที่ใครต่อใครก็ไม่รู้ที่ตั้งกันขึ้นมาเพื่อรักษามาตรฐานทางการศึกษาและการวิจัย แต่พอเจอสภาวะวิกฤตแบบนี้ ผมไม่รู้ว่าเราจะสอบผ่านหรือสอบตกกันแน่ ให้ประชาชนตัดสินกันเองแล้วกันนะครับ ว่าองค์ความรู้ของเราใช้ได้จริงแค่ไหน บุคลากรของเรามีความพร้อมแค่ไหน แนวคิดการจัดการบริหารภัยพิบัติ แท้จริงแล้วใครจัดการได้ ใครรับเคราะห์ ผมไม่มีอะไรจะพูดมากแต่ขอถ่ายทอดผ่านรูปภาพด้านล่างนี้  ซึ่งจะทำให้หลายท่านคิดได้และทบทวนว่าเราจะวางแผนประเทศเราให้อยู่กับองค์ความรู้แบบไหนกันแน่ในอนาคต ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง

เบื้องบน หอคอย แข่งขัน ตัวเลข ขึ้นหิ้ง

เบื้องล่าง ชุมชน แบ่งปัน น้ำใจ ใช้จริง

เราจะทำอย่างไรให้คันกั้นน้ำแห่งชาติเข้มแข็งแล้วมีพลังที่แท้จริงในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการหน้าฝน หน้าแล้ง ให้เกิดความสมบูรณ์ที่เกิดประโยชน์จริง

สำหรับผมแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศในครั้งนี้ ผมคิดว่าตัวผมเอง มีข้อมูลและองค์ความรู้ไม่พอใช้

ถ้าเรามีกระทรวงไหนสักกระทรวงนะครับ…ที่มีข้อมูลมากองไว้ตรงกลาง แล้วใครจะใช้ก็เอาไปใช้ เอาข้อมูล ข้อเท็จจริงมากองกันเลย แล้วมีนักวิจัย นักศึกษา นักวิชาการ นักสังคม นักวิทยาศาสตร์ นำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างและวิเคราะห์หาสารสนเทศที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน ก็คงจะดีไม่น้อย แบบนี้จะเรียกว่า บูรณาการที่แท้จริง ใครมีข้อมูลที่อมกันไว้ก็เอามาปล่อยๆ กันตรงกลางเป็นหมวดหมู่ มันจะไม่เกิดความปั่นป่วนของข้อมูล แม้แต่ข้อมูลความสูงต่ำของ พื้นที่ กทม.ก็มีหลายชุดมากครับ

การบูรณาการไม่ใช่แค่ พูดว่าองค์กรนี้บูรณาการกับองค์การนี้ นั่นมันแค่เปลือก เราเอาน้ำกับน้ำมันใส่รวมกันแล้วเขย่าๆ แล้วเราบอกว่านี่ละเราได้บูรณาการแล้ว พอตั้งทิ้งไว้สักพัก มันก็แยกชั้นเหมือนเดิม แล้วเราจะเรียกว่า บูรณาการได้อย่างไร? ครับ

สำหรับสถาบันอุดมศึกษา…จริงๆ แล้วน่าจะเป็นการบอกว่า บุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาที่รัก ภาวะตอนนี้คือเราได้หยุดห้องเรียนห้องสี่เหลี่ยมเอาไว้ก่อน แต่เราจะเปิดห้องเรียนสี่เหลียมเป็นห้องเรียนแห่งภาวะวิกฤตที่เราจะร่วมกันแก้ปัญหา เอาความรู้ที่เรียนๆ กันไปมาลองดูซิครับ การสอบของเราครั้งนี้เราจะสอบผ่านหรือไม่ เธอออกไปดูว่าเราจะสกัดองค์ความรู้อะไรมาช่วยกันในยามวิกฤตแบบนี้ มิใช่เพียงแค่การปิดเพื่อต่างคนต่างดูแลชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่ก็มีภาพน่าชื่นชมอีกมากมายในทางกลับกันที่มีกลุ่ม นศ.อาสาหลายคนที่ไม่ลืมสังคมลงพื้นที่มาคิดที่จะร่วมช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาอย่างน่าประทับใจ แม้แต่ในอีกซอกหนึ่งกลับมีการใช้วิกฤตนี้ในการสร้างหน้าตาให้กับตัวเองจนน่าเวทนา แบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายจนน่าเสียดายว่าจากวิกฤตเหล่านี้ควรจะพลิกเป็นการรวมน้ำจิตน้ำใจคนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่กลับมีอะไรไม่น่าพึงประสงค์ที่น่าเศร้ายิ่งนัก มองปัญหาเป็นเพียงเกมแห่งชีวิต

สำหรับสถาบันการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันแหล่งทุน…พวกเราเหล่านักวิจัยได้ร่วมกันตีพิมพ์เพื่อให้ได้ตามจำนวนเปเปอร์ขึ้นหิ้ง เน้นโรงพิมพ์มากกว่าโรงเรือนกันมาแล้วมากมาย ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอางานวิจัยบนหิ้งลงมาทำให้ใช้ได้จริงแล้ว จะร่วมกันทำงานอย่างไรดี พวกเราเหล่านักวิจัยเงินล้าน มาร่วมกันแก้ปัญหาลดการสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนกันอย่างไรดี มีระบบกรองน้ำมันก่อนปล่อยลงสู่ทะเลไหม? มีระบบการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยไปสะสมไว้ที่กุ้งหอยปูปลาในอ่าวไทย ก่อนจะเอามากินกันต่อไปให้สะสมที่เราเพื่อให้เราผลิตตำราทางการแพทย์ในการเอาชนะโรคต่างๆ อีกเป็นทอดๆ อย่างไร น้ำกัดเท้าเราจะสร้างถุงเท้ายางใส่ป้องกันน้ำกัดเท้าอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าให้กับพี่น้องที่ทำงานลุยน้ำอย่างไรดี ที่น้ำไม่เข้าไปกัดง่ามนิ้วเท้าและไม่เปียกอับชื้น คำถามเหล่านี้คือบททดสอบให้กับพวกเราเหล่านักวิจัยด้วยกันทั้งสิ้น เครื่องไม้เครื่องมือสมรรถนะสูงทั้งหลายน้ำยังไม่ท่วมใช่ไหมครับ เรามารันช่วยกันจำลองน้ำท่วมได้ไหมครับอย่างน้อยก็พอจะช่วยกันหาเส้นทางที่เหมาะสมและลดความสูญเสียได้ไม่น้อย หรือเราจะรอให้สภาวะวิกฤตพ้นผ่านไปแล้วค่อยมารอ สถาบันแจกทุนวิจัยของบให้เราร่อนใบสมัครไปอ้อนวอนเพื่อของบมาทำกันแล้วพิมพ์ขึ้นหิ้งกันต่อไปตามระบบเดิม พอระบบใหม่มามันก็ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ผมก็เชื่อว่าแหล่งทุนคงร่อนการบริหารจัดการน้ำกันทั่วประเทศอีก เหมือนๆ กับหลังภัยสึนามินั่นเอง แล้วพอเกิดครั้งใหม่เราก็เป็นแบบนี้อีกร่ำไป เพราะแต่ละครั้งเหตุการณ์ไม่เคยซ้ำเดิม ทุกครั้งที่ผมลงชุมชน หากเราหาคำตอบให้ชาวบ้านไม่ได้มันน่าละอายยิ่งนักครับ

เขียนมาเพื่อทบทวนตัวเองกันครับ ว่าที่เราๆ ทำกันอยู่มันชุดความรู้อะไรท่ามกลางวิกฤตการณ์แบบนี้ เกิดนวัตกรรมเชิงวิกฤตอะไรกันบ้าง

“True success in not in learning, but in its application to the benefit of mankind.”, Prince Mahidol

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์


วิเคราะห์เส้นทางน้ำไหลลงสู่สมุทรสาคร (ก่อนน้ำมา 2P)

12178 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 1:16 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ, เทคโนโลยี, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 67287

เรียนทุกท่าน ที่เคารพครับ

จากที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วครั้งแรกสำหรับน้ำท่วม กทม. จากบันทึก น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2554  สำหรับความถูกต้องว่าใกล้เคียงหรือไม่นั้นทุกท่านคงทราบกันแล้วนะครับจากผลของเส้นทางน้ำไหลครับ เพื่ออาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปปรับใช้ ประกอบการคิดการตัดสินใจก่อนภัยมา (2P = Preparation เตรียมการ + Prevention การป้องกัน) ซึ่งมาแน่นอนครับ แล้วแต่ว่าพื้นที่ไหนจะหนักมากหรือน้อยนะครับ

ก่อนจะดูภาพจำลองภาพแรก ก็ให้ท่านไปดูภาพการไหลของน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA กันก่อนนะครับ

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodAnimGistda2Nov54Big.gif

และภาพล่าสุดจาก GISTDA ของวันที่ 4 พ.ย. 2554

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodVolume-20111104.jpg

มาดูภาพจำลองภาพแรกกันก่อนนะครับ

จากภาพ พื้นที่สีเขียวคือพื้นที่ที่น้ำยังไหลไปไม่ถึงครับ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ท่วม แต่หากมีพื้นที่สีเขียวและล้อมรอบด้วยพื้นที่สีฟ้าจนถึงสีน้ำเงินเข้ม จะเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วม ยกตัวอย่างเช่น ม.มหิดล ศาลายา จากการจำลองพบว่า รอดจากน้ำท่วม เป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ อยู่ด้านซ้ายมือของเลข 3 เหนือเส้นถนนบรมราชชนนี

มาดูกันต่อครับ สำหรับเส้นทางทิศทางน้ำครับ ตามลูกศรสีเหลืองครับ

จากภาพด้านบนนี้ ให้สังเกตพื้นที่บริเวณลูกศรสีเหลืองครับ จะเป็นพื้นที่เส้นทางที่น้ำจะไหลไปและอาจจะติดถนนกั้นตามแนวเว้าของถนนเพราะน้ำจะไหลมาจากด้านบน อาจจะมีบางช่วงของถนนที่น้ำทะลักไหลลงมา จากการจำลองสมมติว่าถนนเส้น บรมราชชนนี เพชรเกษม และถนนพระราม 2 สูงโดยเฉลี่ยจากขอบถนนประมาณ 1 เมตร แต่หากบางจุดถนนสูงกว่า 1 เมตร ก็อาจจะส่งผลให้พื้นที่เหนือถนนเหล่านี้ระดับน้ำสูงกว่าปกติ สำหรับระดับความสูงน้ำท่วม ตั้งแต่ ระดับ 0-200 เซนติเมตร แล้วแต่ว่าจะพื้นที่ ในแบบจำลองอาจจะสูงกว่านี้เพราะบางพื้นที่ลุ่มมากครับ

การวางแผนก็ควรจะพิจารณาพื้นฐานตามลูกศรสีเหลืองเหล่านี้ได้ เพื่อพิจารณาเป็นพิเศษครับ หากจะบริหารจัดการน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วครับ น้ำจะถูกรวมเทลงมาที่ตำแหน่ง อ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อจะไหลออกทะเล และอาจจะไหลเทไปทางตะวันตกของตัว อ.เมืองสมุทรสาคร ด้วย เพราะยังมีแนวถนนพระราม 2 ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ครับ

มาดูภาพต่อไปครับ หากกรณีจะพิจารณาเจาะถนน (ซึ่งต้องระวังมากๆ เพราะอาจจะส่งผลเสียได้มากเช่นกัน อาจจะต้องวิเคราะห์กันให้หนักครับ โดยเฉพาะเส้นพระราม2

ลูกศรเส้นสีเหลืองอยู่ใต้ถนนเส้นสีแดง สำหรับบางพื้นที่เมื่อวิเคราะห์เส้นทางน้ำแล้ว

และมาดูพื้นที่ลงรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ตอนบน กลาง ล่าง ของพื้นที่ ศาลายาจนถึง สมุทรสาคร ครับ

เป็นพื้นที่ส่วนบนครับ

เป็นพื้นที่่ส่วนกลาง

พื้นที่ส่วนล่าง

พื้นที่ตอนล่าง ติดกับพื้นที่ทะเลครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังฟื้นฟู R (Recovery) ทุกท่านที่กำลังเผชิญภัย R (Response) และ ทุกท่านที่กำลังจะเจอภัย ก่อนภัยมา 2P ตามนโยบายของรัฐบาล เราจะพบว่าพื้นที่ของเราประสบการณ์จริงนั้นบอกเรามากกว่าทฤษฏีใดๆ ในหนังสือ ก่อนภัยมา ขณะภัยเกิด และหลังภัยผ่าน (กขล. ไก่ไข่ลิง) สิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดในช่วงนี้คือ น้ำใจ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ทำใจ เผื่อใจ และอย่าลังเลใจที่จะวางแผนในการเผชิญภัยนะครับ

สำหรับการที่จะนำพาน้ำเหล่านี้ออกสู่ทะเลนั้น ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาไปจนถึง กลางธันวาคม ครับ ซึ่งเป็นการกะประมาณนะครับ แก้ปัญหาได้เสร็จก่อนหน้านี้ก็ถือว่ายอดมากๆ นะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องสูบน้ำจะทำหน้าที่เต็มที่ขนาดไหน และมีหลายพื้นที่ที่อาจจะเป็นน้ำค้างทุ่ง ซึ่งทำได้โดยสูบน้ำออกจะวางแผนอย่างไรที่จะสูบน้ำออกในขณะที่ยังมีน้ำรอบๆ บริเวณนั้น ซึ่งจะดีกว่ารอให้รอบๆ แห้งก่อนแล้วค่อยสูบออกครับ ซึ่งก็คงจะไม่ใช่การสูบใส่รถไปทิ้งในคลองครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายครับ ผมหวังว่าการเมืองจะไม่ทำให้น้ำใช้เวลาไหลมากกว่าที่ธรรมชาติของน้ำที่ควรจะไหลครับ

ภาพเคลื่อนไหวจากการจำลองครับ

หากท่านทราบข้อมูลระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ ท่านจะสามารถช่วยกรอกข้อมูลระดับน้ำได้ที่

http://flood.pbwatch.net เพื่อนำมาประกอบกับการจำลองพื้นที่น้ำท่วมกันต่อไปครับ

ด้วยมิตรภาพและกราบขอบพระคุณมากครับ

สมพร ช่วยอารีย์

ปล.สิ่งที่วิเคราะห์ข้างบนอาจจะผิดจากความเป็นจริง ขอให้ท่านอ่านด้วยความสงสัยเพื่อนำไปใช้ในการเฝ้าระวังในการแก้ปัญหาครับ


น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ

อ่าน: 64099

เรียนทุกท่าน

======================= ภาพล่าสุดจากการจำลอง อัพเดต 27 ต.ค. 2554 เวลา 18.02 น. =======================

สมมติฐานของการจำลอง

1. คันกั้นน้ำสูง 3 เมตร จากระดับความสูงของพื้นดิน และสมมติว่าคันกั้นน้ำนั้นมีความแข็งแรงมาก

2. ปล่อยน้ำไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ จากทางทิศเหนือของ กทม.

ต้องการจะดูว่า จุดตรงไหนบ้างที่น้ำจะล้นและทะลักเข้ามาด้านในของคันกั้นน้ำบ้าง ท่านจะสามารถเห็นจุดน้ำล้นคันกั้นน้ำได้ เพื่อวางแผนการจัดการเสริมคันกั้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ไม่ใช่ดีที่สุดก็ตาม

ภาพนี้จากแถบสีเป็นดังนี้

สีฟ้า - น้ำสูง น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
สีเหลือง - น้ำสูง 20-50 เซนติเมตร
สีส้ม - น้ำสูง 50-100 เซนติเมตร
สีแดง - น้ำสูงเกิน 100 เซนติเมตร

เนื่องจากโปรแกรมมีการปรับค่าสีตามความลึก เทียบกับความลึกสูงสุด อาจจะทำให้ความลึกเทียบกับสีคลาดเคลื่อนได้บ้าง

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ เพื่อนำไปเปิดด้วย Google Earth ได้ครับ เพื่อดูสถานการณ์ของพื้นที่เชื่อมโยงกับข้อมูลเขตและถนนครับ

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKFloodSimLatest.kmz

ข้อมูลความสูงต่ำของพื้นที่ กทม. และพื้นที่รอบนอก

สีเขียวอ่อน สูงจากระดับน้ำทะเล 1-2 เมตร
เขียวเข้ม สูงจากระดับน้ำทะเล 2-5 เมตร
น้ำตาล สูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 5 เมตร
ลองเทียบๆ ดูเองได้นะครับ
สำหรับสีฟ้าม่วงคือ พื้นที่น้ำครับ

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ นำไปเปิดด้วยโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ ได้จาก

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKElevation.kmz

============================================================================

ผมกำลังจำลองโมเดลอยู่ต่อในขณะนี้ แต่ผลยังไม่เรียบร้อยจึงขอวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำที่จะไหลเข้า กทม. ไว้ดังรูปต่อไปนี้ครับ

จากประสบการณ์ผมที่เล่นและจำลองอยู่กับน้ำเค็ม น้ำในแม่น้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำท่วม จึงขอเขียนจุดที่ควรจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามลูกศรสีเหลืองเหล่านั้นครับ เพราะน้ำเป็นของเหลวที่มีพลัง นิ่มนวล อ่อนโยน รวมพลัง มีพลัง หมัดหนัก แยกกันเราลด รวมกันเราสูง และน้ำเป็นคลื่นที่เลี้ยวได้

และในขณะเดียวกัน การมีคันกั้นน้ำแนวขวางจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการพังทลายของคันกั้นน้ำได้ง่าย เมื่อแตกเพียงจุดเดียวเล็กๆ น้ำนิ่งๆ จากพลังงานศักย์ที่รอจะเป็นพลังงานจลน์นั้นจะแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที จากน้ำไหลในทุ่งจะแปลงพลังเป็นสึนามิทุ่ง ได้สบายๆ จินตนาการดูจากคนทำนา เคยกั้นน้ำไว้ในบึงนา แล้วเราทำร่องน้ำไว้ดักปลาดักกุ้ง ขนาดน้ำลึกแค่เข่ายังทรงพลังขนาดนั้น อันนี้น้ำสูงเป็น 1-3 เมตร จะทรงพลังขนาดไหนครับ

จากภาพคันกั้นน้ำ แนวกั้นน้ำทั้งหลาย พบว่า กทม.มีจุดเสี่ยงจากแนวทางที่จะโดนถูกโจมตีในครั้งนี้ ตามลูกศรเส้นสีเขียว โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกมีความเสี่ยงมาก (ผมพูดบนพื้นฐานที่ผมไม่รู้ว่าคันกั้นน้ำมีความแข็งแรงขนาดไหนครับ) แต่ถือว่าจุดนี้เป็นจุดอ่อนเหมือนที่เราเคยเห็นภาพอนุสาวรีย์ชัยเคยโดยน้ำท่วมแล้วมีคนพายุเรือ จำได้ไหมครับ ผมเชื่อว่าน้ำทะลักได้ง่าย เพราะตรงตำแหน่งนี้ น้ำจะถูกอุ้มได้คันกั้นสีแดงเหล่านั้น มันจะย้อยเป็นรังผึ้งและรวมพลังเข้าไว้เพื่อจะพังกำแพงเหล่านั้นในการโจมตีฝั่งตะวันตกได้ง่าย สำหรับทางออกผมคิดว่า เราไม่ควรจะมีแนวกั้นตามขวาง และแนวรังผึ้งห้อยตรงนั้น กั้นในแนวเหนือใต้คงจะดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยกับชาวบ้านใต้คันกั้นน้ำสีแดงแนวขวางด้านตะวันตกของ กทม. เพราะว่าตรงนั้นหากปล่อยน้ำไป น้ำจะค่อย ไหลลงไป แต่หากคันกั้นน้ำแตกคราวนี้จะเสียหายมากกว่าเดิมครับ

สำหรับแนวลูกศรทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นจุดเปราะบางเช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วมีแนวถนนและคันกั้นน้ำอีกเส้น แต่ผมไม่ได้ใส่ไว้ในภาพ ซึ่งจะเป็นการเชิญน้ำเข้า กทม.ได้ในทิศทางลูกศรเส้นนี้เช่นกัน ทางออกคือให้เอาออกจะดีที่สุดจะทำให้น้ำไหลลงด้านล่างได้ง่ายขึ้น แทนที่น้ำจะวิ่งเข้าไปโจมตี กทม.ด้านทิศตะวันออก ในขณะเดียวกันน้ำจะหักล้างกับทิศทางน้ำจากทิศตะวันออกจากปราจีนด้วยน้ำทางทิศเหนือที่ไหลลงมาจากปทุมธานี หรือนครนายกครับ

สำหรับรัฐบาล กระผมคิดว่า รัฐบาลน่าจะมีการประกาศหยุดเช่น 20 วัน ในเขตน้ำท่วม เพื่อให้คนเดินทางกลับเท่าที่จะทำได้ครับ แล้วรัฐจะมีโอกาสในการจัดการบริหารน้ำให้ไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น ป้องกันการสูญเสียชีวิตน่าจะคือเป้าหมายมากสุด ส่วน โรงพยาบาลหรือตึกตรงไหนที่รับคนไปพักได้เป็นเบื้องต้นก็ควรจะทำ ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลคนที่ป่วยอะไรได้ชัดขึ้น คนปกติก็อาจจะไปพักบ้านญาติหรือมีจังหวัดใจบุญรอบนอกทำหน้าที่รับดูแลพี่น้องที่ได้รับผลจากน้ำท่วมก็คงจะดีครับ

เศรษฐกิจคงไม่เสียหายไปมากกว่านี้แล้ว ตอนนี้การป้องกันน้ำทำได้แค่เฝ้าระวังคันกั้นน้ำไม่ให้พังและเสริมครับ แต่เมื่อแตกแล้วกู้ยากมากครับ หรือไม่ก็จะกู้ได้ก็ต่อเมื่อน้ำไหลเข้าไปในพื้นที่จนน้ำเกือบนิ่งแล้วครับ ทำอย่างไรจึงจะระบายน้ำได้เร็วและคนไม่เสียชีวิตครับ ผมถือว่าการที่คนไม่เสียชีวิต หรือเสียน้อยสุดเป็นการดีที่สุดครับ

และประเด็นนี้คงเลิกคิดสีธง สีเสื้อ สีเชื้อ สีผิว สีพรรคกันได้แล้วครับ ถ้าถอดเสื้อออกให้หมดก็จะพบว่าคุณคือคนไทยเหมือนๆ กันครับ

ถัดจากนี้ เราคงทำงานร่วมกันมากขึ้น น้ำท่วมครั้งนี้เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า บูรณาการกันมากขึ้น

แต่ละกระทรวงคงต้องให้ความรู้คนมากขึ้น ติดอาวุธทางปัญญากันมากขึ้นครับ ชีวิตใครใครก็รัก แต่การรักชีวิตตนเองและรักชีวิตผู้อื่นด้วยเป็นสิ่งประเสริฐ เราไม่สามารถจะอยู่ในสังคมนี้เพียงแค่ตัวเราผู้เดียว เห็นหัว เห็นใจ เห็นปัญญา เห็นความดีของกันและกัน ลิงยังอุ้มลูกสุนัขหนีภัยเลยครับ แล้วเราจะไม่อุ้มคนที่เป็นคนได้อย่างไร?

จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงแค่นี้ครับ

ด้วยความเป็นห่วงและด้วยมิตรภาพ

คนไทยคนหนึ่ง

====================================================================

จากวิเคราะห์ภาพจำลองจากโมเดลด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D ซ้อนกับโปรแกรม Google Earth ดังผลต่อไปนี้ พร้อมทิศทางเสี่ยงต่าง ๆ ในสามทิศทางใหญ่ๆ ดังทิศทางลูกศรสีเขียว

หรือภาพรายละเอียดดังต่อไปนี้

รายละเอียดทิศทางน้ำกรณีน้ำล้นหรือคันกันคลื่นแตกในสองทิศทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ กทม.

และรายละเอียดทิศทางที่มีความเสี่ยงในทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือของน้ำจาก อ.บางใหญ่ ไหลเข้าพื้นที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรณีที่แนวกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถรับแรงน้ำได้

ถ้าทิศทางของน้ำในสามทิศเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ อาจจะส่งผลให้เกิดการรวมกันของน้ำทั้งสามทิศมารวมกันเพื่อไหลออกอ่าวไทย ซึ่งในภาวะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากหากน้ำล้นริมตลิ่ง

หมายเหตุ… ผลที่ได้จากการจำลองนี้เป็นผลจากโมเดลที่ใช้สมการ Shallow Water Equation ด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D (  http://www.youtube.com/watch?v=HwS212eBDL8  ) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการระบายน้ำลงสู่ทะเลในโอกาสต่อ

============================ ภาพเคลื่อนไหวครับ ============================

http://www.youtube.com/watch?v=AWPOR6lHKww

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์



Credits : ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่น้ำท่วมจาก GISTDA, Google Earth, ESRI, VirtualFlood3D by Anurak Busaman and Somporn Chuai-Aree, ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, แหล่งข้อมูลจากทีวี TPBS, Nation


ยิ่งกั้น ยิ่งสูง ยิ่งแรง ยิ่งแทง ยิ่งพัง น้ำท่วม น้ำใจ น้ำไหล น้ำบ่า น้ำตา

3881 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 19 ตุลาคม 2011 เวลา 6:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, คณิตศาสตร์, เทคโนโลยี #
อ่าน: 35500

หยุดคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติได้แล้วครับ

ลองมองน้ำเป็นเพื่อนร่วมโลกดูครับ แล้วเข้าใจน้ำเค้าเยอะๆ ว่าเค้ามีข้อดีอย่างไรบ้าง มีนิสัยอย่างไรบ้าง ยิ่งกั้นคันสูงยิ่งเสี่ยงสูง ซึ่งน้ำภาคกลางไม่ใช่น้ำป่าไหลหลากนะครับ เป็นเพียงแค่น้ำท่วมทุ่ง ท่วมลานกว้าง เพราะฉะนั้นน้ำจะไหลปรับระดับไปเรื่อยๆ น้ำก็ไหลไปเรื่อยๆ ตามที่ไหลได้ แต่พอไปเจอคันกั้นสูง น้ำก็จะสูงขึ้น มีพลังงานสะสมพร้อมที่จะแตก ยิ่งด้านนึงน้ำสูง อีกด้านน้ำไม่มี หากพังลงมาก็จะกลายเป็นน้ำหลากในตรงนั้น นั่นคือ น้ำหลากจะเกิดจากคนทำเอง การเอาดินใหม่ไปถมก็เหมือนกับการเอาน้ำพริกไปละลายแม่น้ำ เพราะดินเหล่านั้นก็จะไหลไปกับน้ำครับ พอขาดพลังงานเยอะคราวนี้ก็ท่วมแล้วไหลได้เร็วขึ้นในช่วงนั้นครับ ปัญหาก็เกิดต่อกระทบกับพื้นที่ทางใต้คันกั้นน้ำครับ แต่หากมีคันธรรมชาติอยู่แล้วที่สร้างมานานแล้วดินแน่นแล้วก็พอไหวครับ สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้ระดับน้ำไหลไปตามที่ควรจะเป็น กั้นได้ในบางจุด การบริหารจัดการน้ำควรจะมองในภาพใหญ่หน่อยครับ

ยิ่งกั้น ยิ่งสะสมพลังงาน ยิ่งแรง ถามว่าถุงทรายช่วยได้ไหม ตอบว่าช่วยได้ครับ แต่ศึกษาพื้นที่ให้ดีครับ โดยเฉพาะคันดินใหม่ครับ ตอนนี้เป็นแค่เพียงเริ่มต้นเองนะครับ ยังมีปริมาณน้ำรอที่จะมาและผ่าน กทม.อยู่ทั้งทางซ้ายและขวาของ กทม.หรือไม่ก็ผ่ากลาง

สิ่งที่รัฐควรจะทำผมว่า รัฐควรมองที่การให้ความรู้กับประชาชนให้มากที่สุด สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ข้อมูลความจริงจากสถานการณ์ต่างๆ ผมว่าให้ข้อมูลความจริงดีกว่าปกปิดหรือกลัวว่าคนจะตกใจ เพราะนี่เป็นน้ำท่วม เรายังลอยคออยู่ได้ครับ แค่บททดสอบในเบื้องต้นที่เราพึงจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน โดนน้ำมาด้วยกัน แล้วในที่สุดเราจะได้มาวางแผนร่วมกันเพราะเราร่วมลอยคอกันมาด้วยกัน

ขอเป็นกำลังใจนะครับผมบอกนักศึกษาที่เรียนกับผมว่า ถ้าเธอจะมาเรียนเล่นๆ กับผม อย่ามาเรียนเลยมันเสียเวลา หากจะเรียนกับผมต้องเรียนเอาจริง เราจะได้ใช้ความรู้พวกนี้ได้ ใช้ได้เป็น นำไปใช้ร่วมกับคนอื่นได้ในยามคับขัน

หากวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมา พบกว่าน้ำท่วมคอพวกเราทุกคน พระเจ้าที่เรานับถือกันลอยลงมาจากฟ้า พวกเราแหงนหน้าฟังท่าน ท่านบอกว่าหากลูกๆ ทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ลูกๆ ต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่ด้วยกันในการแก้ปัญหาแล้วน้ำจะค่อยๆ ลดลง หรือลูกๆ จะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับทรัพยากรที่เหลืออย่างจำกัดกันดี แต่สุดท้ายก็ตายอยู่ดี คราวนี้หากพวกเราจะใช้ความรู้แก้ปัญหา เราจะใช้ความรู้อะไรในหัวเราที่มีอยู่ เรามีความรู้อะไรบ้างที่จะเอาไปร่วมใช้กับเพื่อนๆ ของเรา นี่ละที่เธอต้องตั้งใจเรียนรู้ศึกษาให้เก่งกว่าครู ดังนั้นเรียนเล่นๆ พ่อแม่เธอจะจ่ายเงินให้เธอแล้วจะคุ้มค่าได้อย่างไร

แล้วตอนนี้ละประเทศไทยเรา ใช้องค์ความรู้อะไรในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ เรามีบุคลากรพอแล้วจริงเหรอในการจะช่วยวิเคราะห์น้ำ หรือว่าวิเคราะห์กันโดยไม่ดูตาม้าตาเรือเลยว่าน้ำจะไหลไปทางไหน จะร่วมผ่านวิกฤตเหล่านี้อย่างไรร่วมกันดีครับที่ผ่านมาไม่ว่าจะเรือดันผิวน้ำ หรือแพไม้ไผ่ ช่วยได้แค่ทางจิตวิทยานะครับ ผมว่าเอาเวลาไปให้คนพร้อมที่จะพึ่งตนเองได้ในเบื้องต้น จัดการลดการเกิดภัยที่อาจจะเกิดได้ก่อนครับ อพยพคนในพื้นที่อาจจะเสี่ยงภัยก่อน

น้ำจะรักษาความเสมอภาค หากผิวน้ำไม่เสมอกัน ปล่อยทิ้งไว้น้ำจะปรับระดับให้เสมอภาคเองเพราะธรรมชาติสร้างน้ำมาทำหน้าที่นี้

ไม้ไผ่ปล่อยให้เค้าช่วยดูดน้ำในดินสู่ชั้นบรรยากาศจะดีกว่านะครับ เพราะต้นไม้คือเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ทำงานทั้งกลางคืนและกลางวัน ดวงอาทิตย์ช่วยได้แค่กลางวันเท่านั้นครับ น้ำที่ต้นไม้ดูดเข้าไป 99% เพื่อสูบขึ้นชั้นบรรยากาศนะครับ จะไว้ใช้สังเคราะห์อาหารแค่ 1% เท่านั้น แพไม้ไผ่จึงไม่น่าจะจำเป็นสำหรับเวลานี้ ผมยังนิยมเสื้อชูชีพขวดน้ำที่พี่น้องอาสาฯ หลายๆ กลุ่มทำกันครับหลังจากนี้ ทุนวิจัยจะออกมาเกลื่อนเพื่อให้วิจัยกันเรื่องน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งก็คือการหารอยเท้าวัวหลังจากที่โดนขโมยซึ่งก็ต้องทำ แต่ทำไมเราไม่เตรียมคนให้ไปเรียนในแต่ละด้านให้มันสอดคล้องกับสภาพของประเทศละครับ ไม่ใช่เรียนในสาขาที่เป็นแฟชั่นอย่างเดียว เราจะทำอย่างไรกันต่อไป น้ำท่วมครั้งนี้จะแปลงวิกฤตเหล่านี้มาสร้างความเข้มแข็งทางกาย ทางใจ ทางสติความคิดอย่างไร ไม่อย่างนั้น เราก็เดินวนๆ กันในอ่างน้ำนี่ละครับ พอภารกิจล้างเมืองมาทีก็สูญเสีย ประเมินค่ากันไม่ได้อยู่ตลอดไป

เศรษฐกิจเสียหาย น้ำยังขังท่วมยาวนาน แล้วเราจะทำอย่างไร กับปล่อยน้ำให้ปไปในทางที่ควรไป ตามใจน้ำ สุดท้ายก็ลงทะเล น้ำมีเป้าหมายคือที่ต่ำ มาจากที่สูงไหลลงที่ต่ำ แต่คนเราจะขึ้นไปนั่งที่สูง
ธุรกิจจะเสียหายกี่แสนพันล้านก็ตาม หากสุดวิสัยผมว่าก็ควรจะต้องเข้าใจบริบทครับ แต่อย่าให้คนเสียชีวิตมากเกินไปก็เกินคุ้มแล้วครับระบบการวิเคราะห์น้ำ ถ้ากระทรวง ICT ทำข้อมูลให้เป็นระบบ นักวิจัยสามารถจะเข้าถึงข้อมูลได้แล้วนำมาช่วยกันวิเคราะห์ได้ คันน้ำตรงนั้น ตรงนี้แตก ผมก็อยากจะช่วยจำลองให้นะครับ ว่าน้ำจะไหลไปทางไหนได้บ้าง แต่ไม่รู้จุดพิกัด นักข่าว คนลงพื้นที่ ควรจะมี GPS ติดตัวไปด้วย เก็บข้อมูลไปด้วยช่วยเหลือคนไปด้วย เอาข้อมูลมาวางแผนกันต่อ ใครช่วยได้ก็ช่วยกัน ผมอยู่ปัตตานี อยากช่วย แต่ผมช่วยได้มากกว่าการไปช่วยขนกระสอบทรายประกอบกับมีภารกิจอื่นๆ หากข้อมูลเป็นระบบก็จะมีข้อมูลได้ตรงกัน ก็จะช่วยได้มากขึ้น บทเรียนครั้งนี้ ก็คงไม่เหมือนครั้งไหน เพราะต่างกันที่เวลาและบริบทครับ

สุดท้ายก็ได้ระบายแล้วหลังจากดูมายาวนาน ดูการแก้ปัญหามาพอสมควร จริงๆ อยากจะขอข้อมูลจากสำนักข่าวที่ออกๆ ทีวีกันนะครับ ว่าคันนั้นคันนี้ มีข้อมูลให้เอามาจำลองได้บ้างไหม ติดต่อไปขอกับใครกันดี

ลักษณะน้ำจากวันที่ 16 ต.ค. 2554 ครับ ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากพี่คอนดักเตอร์ จากลานซักล้าง และเว็บ http://cernunosat05.cern.ch/gp/flex/tha/

น้ำท่วม น้ำตา น้ำไหล น้ำใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน แต่เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เงียบไปอีก การตระหนักเตรียมได้จากประสบการณ์ที่เคยประสพจริง แล้วตระหนักจะเกิดมากกว่าตระหนก

ขอเป็นกำลังใจครับ

ด้วยมิตรภาพจากคนใต้


ความคิดโง่ๆ ของผม ที่คิดว่าน่าจะช่วยภัยแล้งน้ำดื่มได้บ้าง

15916 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 12 เมษายน 2011 เวลา 2:37 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, การเกษตร, ธรรมชาติ #
อ่าน: 109568

สวัสดีครับทุกท่าน

หลังจากเจอภัยพายุดีเปรสชั่นในพื้นที่เมื่อปลายปีก่อน ก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านบ้างสักเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะช่วยได้จากก้อนสมองที่พอมี ทำให้เราได้ทบทวนบทบาทของตัวเรา บทบาทขององค์กร บทบาทของนักวิชาการที่มีต่อสังคม ในขณะที่อีกโลกหนึ่งกำลังปั่นผลงานต่างๆ กันอย่างบ้ากระห่ำเพื่อดันให้มีพลังทางภูมิปัญญากัน ภาคใต้เจอน้ำท่วมอย่างไม่คาดคิด หรือคาดฝันว่าจะท่วมได้ในช่วงต้นของหน้าร้อน ประมาณว่าลอยกระทงวันสงกรานต์ มันขัดแย้งในความน่าจะเป็นที่จะเกิดแต่พอเกิดมันเกิดเต็มร้อย ว่าไปแล้วธรรมชาติก็ไม่ได้รับรู้หรอกว่า เดือนไหนเป็นมกราคม เมษายน ไม่ได้รู้หรอกว่านี่คือเอเชีย อเมริกา ไม่ได้รู้หรอกว่านี่ฤดูกาลอะไร คนเราตั้งค่าเรียกเอาเองทั้งนั้น จนคิดว่าคงใช่แล้วจากการสังเกตบ้างตั้งทฤษฏีไรต่างๆ มากมายเพื่อให้ข้อสังเกตของตนเองนั้นมีคนเชื่อ แต่พอสภาพบริบทเปลี่ยนสิ่งที่เคยตั้งไว้จึงเปลี่ยนแนวทาง เริ่มผิดจากที่เคยตั้งข้อสังเกต จากอิสานเคยท่วมขังยาวนานนับเดือนก็หายไปในที่สุดตอนนี้ก็แล้งแห้งกันตามบริบทของอิสานกับภาพความแห้งแล้ง

ผมเลยจึงตั้งข้อสังเกตแบบโง่ๆ จากคนที่ไม่เคยไปอิสานว่าหากเป็นผม ผมต้องแก้ไขให้คนมีน้ำดื่มก่อนเป็นสำคัญ การที่เราจะทราบอยู่แล้วว่าหากฝนตกน้ำจะท่วม พอฝนไม่ตกพื้นที่จะแล้งแห้งในหลายพื้นที่ ผมเลยไม่แน่ใจว่า หากเราเอาน้ำใส่โอ่งไว้ปิดฝาไว้สักห้าใบสิบใบรอบบ้าน เชื่อมแต่ละใบให้น้ำไหลไปมาถึงกันได้ รับน้ำจากหลังคาจากโอ่งเดียวแล้วให้ระบบมันปรับของมันเอง แล้วต่อก๊อกไปใช้น้ำ  การจะมีโอ่งสักห้าใบหรือสิบใบ หรือกี่ใบนั้น เราก็น่าจะมีการเก็บข้อมูลว่า ช่วงแล้งยาวนานที่สุดในรอบปีนั้นกี่เดือน เช่น สี่เดือนฝนจะไม่ตกเลยติดต่อกัน ถือว่าน้ำในโอ่งไม่มีการเติมลงไปเลยจากน้ำฝน เรามีสมาชิกกี่คน คนนึงใช้น้ำดื่มวันละเท่าไร ลองคำนวณดูเล่นๆ ดูว่าน้ำดื่มในช่วงสี่เดือนต้องการสักเท่าไร แล้วบวกเพิ่มไปให้อยู่ได้อีกสักเดือนเผื่อไว้  ผมเชื่อบนฐานว่าไม่ว่าจะร้อนสักแค่ไหนจากสภาพอิสาน น้ำในโอ่งฝาปิดน่าจะยังไม่เหือดแห้งเหมือนน้ำบ่อหรือน้ำจากห้วยแม่น้ำเป็นแน่  อย่างที่บ้านผมคำนวณดูแล้วโอ่งเจ็ดใบใช้ได้สบายทั้งปี เพราะช่วงแห้งแล้งยาวนานน้ำไม่หมด ส่วนหน้าฝนก็จะมีน้ำเติมเต็มตามโอกาสที่ฝนตก

หากบอกว่าชาวบ้านยากจนไม่สามารถซื้อโอ่งได้ ผมคิดว่าเราเสียเงินไปกับมือถือ กับอะไรต่ออะไรกันเยอะไปหมดเราน่าจะเก็บหอมเพื่อสิ่งนี้เพราะชีวิตเราเจอภัยพิบัติมือถือใช้ไม่ได้ก็ไม่ตาย แต่หากอดน้ำ(แม้ว่าน้ำจะท่วมแต่ขาดน้ำดื่ม) เราก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นน้ำดื่มนับว่าสำคัญมากๆ สำหรับชีวิต ผมจึงคิดว่าภาวะแล้งแห้งในอิสานน่าจะมีวิธีการ เวลาดูข่าวในทีวีแล้วเศร้า ผมคิดว่าน่าจะมีวิธีการอื่นไม่ว่าจะแผนอะไร แทนที่รัฐจะมานั่งแจกน้ำเอาเวลาไปส่งเสริมด้านอื่นต่อไปก็น่าจะดีกว่าครับ

ที่นำเสนอเหล่านี้เป็นความคิดโง่ๆ ของผมที่คิดว่าพอจะช่วยได้บ้างในเบื้องต้นครับ โอ่งหรือปล่องน้ำสามารถทำได้ จะออกแบบให้อยู่บนดินทั้งหมดหรือว่า ฝังดินครึ่งเหนือดินครึ่งก็ทำได้ครับ น้ำส่วนหนึ่งก็จะเย็นครับ

เราน่าจะอยู่กับความรู้ฉบับลมหายใจตนเองเป็นสำคัญครับ เราอาจจะต้องหายใจเข้าปอดด้วยตัวเราเองแล้วเราจะอยู่ได้ครับ เครื่องช่วยหายใจไว้ใช้เป็นทางสุดท้ายครับ

ด้วยความเป็นห่วงครับ


กำหนดงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสุทธิพิบูล ณ เมรุพิเศษ วัดควนเกย

7007 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 5 มกราคม 2011 เวลา 8:49 (เช้า) ในหมวดหมู่ แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 54519

กำหนดงานพระราชทานเพลิงศพ
พระครูสุทธิพิบูล(อ่ำ ขุนฤทธิ์) อายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๒
อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอจุฬาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดควนเกย
ณ เมรุพิเศษ วัดควนเกย ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันอาทิตย์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่
กำหนดการ
วันที่ ๔ - ๘ มกราคม ๒๕๕๔ แรม ๑๕ ค่ำ - ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่
เวลา ๑๙.๐๐ น. พระแสดงธรรมเทศนา สวดอภิธรรม
วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ยี่
เวลา ๑๐.๐๐ น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์
เวลา ๑๓.๐๐ น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
เวลา ๑๓.๔๐ น. พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุลและทอดผ้าบังสุกุล
เวลา ๑๕.๓๐ น. พระราชทานเพลิงศพ
ลูกศิษย์พ่อท่าน


อยู่แฟลตก็สุขได้…ง่ายๆ…เรียบๆ

9668 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 26 กรกฏาคม 2010 เวลา 10:03 (เช้า) ในหมวดหมู่ Uncategorized, การเกษตร, ธรรมชาติ, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 90954

สวัสดีครับทุกท่าน

สบายดีกันนะครับ วันนี้หยุดวันสำคัญทางพุทธศาสนาครับ ไม่ได้กลับบ้านครับเพราะต้องเร่งจัดการงานที่ผ่านมาแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปครับ แต่ก็ขอพักสักหน่อยด้วยการเขียนบันทึกสักนิดครับ ช่วงนี้สบายใจกับระเบียงป่า ให้ระเบียงพึ่งพาตนเอง ใส่ปุ๋ยให้ตนเอง พึ่งพาและเลื้อยเองตามธรรมชาติ นกทำรัง มาขับร้องเพลงในตอนเช้าๆ เพื่อปลุกให้ตื่นก่อนหกโมงเช้าครับ ใบไม้ตกลงมาก็เก็บๆ ไปใส่ไว้ในกระถางต่อให้เค้าย่อยของเค้าเป็นแบบนั้น ผมสนับสนุนในช่วงนี้เฉพาะระบบน้ำยี่ห้อแฮนดี้แมนซึ่งก็ทำงานได้ดีมากเลยครับ มีเมล็ดพืชบางชนิดไม่ได้รับเชิญก็ขึ้นอีกหลายต้น ก็ปล่อยให้งอกอย่างนั้นละครับ เพราะคำว่าป่าเราคงไม่ต้องไปถอนหรือถางเค้า เก็บกินเอาเฉพาะที่มี ช่วงนี้ต้นแปะกำปึง เค้าบอกว่าบำรุงหัวใจ ก็ใช้แก้ขัดได้ละครับเวลาไม่มีผักเหนาะครับ ผมเคยนิยามไว้ว่า ผักสวนครัว ระเบียงกินได้ มาถึงวันนี้ระเบียงก็กินได้ครับ มีขนุนด้วยสองต้นครับ แต่คงไว้ที่ระเบียงไม่ได้เว้นแต่จะทำระบบกระถางใหม่ครับ เพิ่งถอยโมกมาใหม่สองต้น ถอยมาได้ก็ตั้งไว้ปากทางเข้าประตูบ้านแต่แสงน้อย พร้อมกับไม่อยู่ไปภูเก็ตห้าวัน ก็เลยยกไปไว้ที่ระเบียง อยู่ได้สามวันเจ้าของต้นไม้ตัวจริงก็มาทำรังทันที เค้าทำแบบไหนไม่แน่ใจเร็วจริงๆ ไว้โอกาสหน้าผมจะตั้งกล้องวีดีโอไว้ ทำสารคดีนกที่ระเบียง อิๆๆๆ และซื้อมะกรูดมาสองต้น และส้มจี๊ดหนึ่งต้นครับ

อ่านต่อ »


หลักสูตรพื้นฐานปริญญาสามัญ 2 เดือน ผ่านไปแล้ว

21730 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 20 มิถุนายน 2010 เวลา 11:05 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 111124

สวัสดีครับทุกท่าน

วันนี้พอจะมีโอกาสมานั่งเขียนอะไรบ้างสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน มาถึง วันนี้ 20 มิถุนายน 2553 ได้เข้าหลักสูตรปริญญาสามัญที่ตั้งขึ้นเอาเอง มั่วเอาเอง ซึ่งก็คือการอุปสมบทเป็นเวลา 2 เดือนพอดี เกินจากที่วางไว้คืออย่างน้อยหนึ่งเดือน จริงๆ การบวชนี้จะบวชนานแค่ไหนก็คงได้เช่นกัน หากไม่มีภาระทางโลกให้ต้องเป็นห่วง ก็คือการพัฒนาคนเช่นกันในอีกทางหนึ่ง ทางจิตวิญญาณ

เริ่มจากงานธรรมดา ที่ผู้มาร่วมงานเกิดจากความรู้สึกอยากมาร่วมโดยไม่ต้องยัดเยียดมาต้องมา ไม่ได้แจกบัตร จึงนับได้ว่าผู้ที่มาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมาเพราะหัวใจและน้ำใจที่อยากจะมาร่วมงาน เหมือนกับตอนที่ผมสอนนักศึกษาโดยที่เข้าเรียนโดยไม่มีการเช็คชื่อเพื่อให้คะแนน ผมนิยามศรัทธาง่ายๆ แบบนี้ ก็จะมีญาติมิตรจากหลายๆ ที่เดินทางมาร่วม ทั้งในลานปัญญา และญาติจากที่ทำงาน ตลอดจนคู่เกลอและญาติมิตรในละแวกบ้าน อย่างน้อยคุณแม่ก็ได้ทราบว่าการจัดงานโดยที่ไม่ต้องเชิญแขกก็ยังทำได้อยู่ในปัจจุบัน และแน่นอนว่าหลายๆ คนที่ศรัทธาอยากจะมาร่วมบุญในละแวกบ้านที่ไม่ทราบก็ย่อมเสียใจเป็นธรรมดา โดยเฉพาะย่าของผมสามท่านไม่ไดมาร่วม ท่านคงเสียใจพอสมควร แต่ท่านได้มานั่งในโรงฉันตอนที่ได้บวชเป็นพระแล้ว

(เริ่มตั้งแต่ก่อนปลงผม และปลงผมเพื่อจากแฟนท่อม สองเดือน มีญาติจากลานปัญญามาร่วมงานกันตรึมน้ำใจไหลหลั่ง)

อ่านต่อ »


คติธรรม สะกิดใจ - ห้ามปิดทองหน้าพระ

5291 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 30 พฤษภาคม 2010 เวลา 9:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 53771

เจริญพรโยมทุกท่าน

เมื่อวาน 29 พ.ค. 2553 วางแผนกันว่าจะรบกวนพระหมูช่วยเขียนคำคติธรรม ที่อาตมาได้คิดไว้มาลองคิดบนเก้าอี้นั่ง หน้ากุฏิพระอาจารย์ ตอนเช้าหลังจากที่ฉันเช้าเสร็จ อีกไม่นานก็มีโยมเพื่อนจาก ม.วลัยลักษณ์มาเยี่ยม แล้วก็พอไปไหว้พระแล้วถ่ายรูปร่วมกัน หลังจากนั้น โยมเพื่อนก็ลากลับก่อนช่วงฉันเพล อาตมาก็เดินไปที่เก้าอี้ที่พระหมูและพระอ้อนั่งกันอยู่ ก็เห็นป้ายที่พระหมูเขียนไว้ว่า

ขอความกรุณา ห้ามปิดทอง….  ซึ่งยังไม่เสร็จ อาตมาก็เลยชอบต่อท้ายไปเล่นๆ ว่า ขอความกรุณา ห้ามปิดทองหน้าพระ  พระทั้งสองก็พูดพร้อมกัน ออเอ้อ…(ใช้แล้ว) ซึ่งไม่ทราบหรอกว่าจะเขียนว่าอะไร มาทราบตอนหลังว่าจะเขียนไว้เพื่อเอาไปไว้ในห้องพระเจ้าอาวาส เพราะว่าญาติโยมมาแล้วมักจะปิดทองที่บริเวณใบหน้าของพระ ทำให้มองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วหน้าตาท่านเป็นอย่างไร ทำให้ที่อาตมาพูดไปเล่นๆ ก็เลยได้นำมาใช้จริง ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าต้องการจะเขียนอะไร เพราะพระหมูบอกว่าก่อนหน้านี้ได้ประโยคยาวๆ ซึ่งไม่รู้จะทำไงให้สั้นๆ

อ่านต่อ »



Main: 0.21749901771545 sec
Sidebar: 0.76233291625977 sec