น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ

โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 23 ตุลาคม 2011 เวลา 8:48 (เช้า) ในหมวดหมู่ ครอบครัว, ธรรมชาติ, เทคโนโลยี, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 63427

เรียนทุกท่าน

======================= ภาพล่าสุดจากการจำลอง อัพเดต 27 ต.ค. 2554 เวลา 18.02 น. =======================

สมมติฐานของการจำลอง

1. คันกั้นน้ำสูง 3 เมตร จากระดับความสูงของพื้นดิน และสมมติว่าคันกั้นน้ำนั้นมีความแข็งแรงมาก

2. ปล่อยน้ำไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ จากทางทิศเหนือของ กทม.

ต้องการจะดูว่า จุดตรงไหนบ้างที่น้ำจะล้นและทะลักเข้ามาด้านในของคันกั้นน้ำบ้าง ท่านจะสามารถเห็นจุดน้ำล้นคันกั้นน้ำได้ เพื่อวางแผนการจัดการเสริมคันกั้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ไม่ใช่ดีที่สุดก็ตาม

ภาพนี้จากแถบสีเป็นดังนี้

สีฟ้า - น้ำสูง น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
สีเหลือง - น้ำสูง 20-50 เซนติเมตร
สีส้ม - น้ำสูง 50-100 เซนติเมตร
สีแดง - น้ำสูงเกิน 100 เซนติเมตร

เนื่องจากโปรแกรมมีการปรับค่าสีตามความลึก เทียบกับความลึกสูงสุด อาจจะทำให้ความลึกเทียบกับสีคลาดเคลื่อนได้บ้าง

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ เพื่อนำไปเปิดด้วย Google Earth ได้ครับ เพื่อดูสถานการณ์ของพื้นที่เชื่อมโยงกับข้อมูลเขตและถนนครับ

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKFloodSimLatest.kmz

ข้อมูลความสูงต่ำของพื้นที่ กทม. และพื้นที่รอบนอก

สีเขียวอ่อน สูงจากระดับน้ำทะเล 1-2 เมตร
เขียวเข้ม สูงจากระดับน้ำทะเล 2-5 เมตร
น้ำตาล สูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 5 เมตร
ลองเทียบๆ ดูเองได้นะครับ
สำหรับสีฟ้าม่วงคือ พื้นที่น้ำครับ

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ นำไปเปิดด้วยโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ ได้จาก

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKElevation.kmz

============================================================================

ผมกำลังจำลองโมเดลอยู่ต่อในขณะนี้ แต่ผลยังไม่เรียบร้อยจึงขอวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำที่จะไหลเข้า กทม. ไว้ดังรูปต่อไปนี้ครับ

จากประสบการณ์ผมที่เล่นและจำลองอยู่กับน้ำเค็ม น้ำในแม่น้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำท่วม จึงขอเขียนจุดที่ควรจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามลูกศรสีเหลืองเหล่านั้นครับ เพราะน้ำเป็นของเหลวที่มีพลัง นิ่มนวล อ่อนโยน รวมพลัง มีพลัง หมัดหนัก แยกกันเราลด รวมกันเราสูง และน้ำเป็นคลื่นที่เลี้ยวได้

และในขณะเดียวกัน การมีคันกั้นน้ำแนวขวางจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการพังทลายของคันกั้นน้ำได้ง่าย เมื่อแตกเพียงจุดเดียวเล็กๆ น้ำนิ่งๆ จากพลังงานศักย์ที่รอจะเป็นพลังงานจลน์นั้นจะแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที จากน้ำไหลในทุ่งจะแปลงพลังเป็นสึนามิทุ่ง ได้สบายๆ จินตนาการดูจากคนทำนา เคยกั้นน้ำไว้ในบึงนา แล้วเราทำร่องน้ำไว้ดักปลาดักกุ้ง ขนาดน้ำลึกแค่เข่ายังทรงพลังขนาดนั้น อันนี้น้ำสูงเป็น 1-3 เมตร จะทรงพลังขนาดไหนครับ

จากภาพคันกั้นน้ำ แนวกั้นน้ำทั้งหลาย พบว่า กทม.มีจุดเสี่ยงจากแนวทางที่จะโดนถูกโจมตีในครั้งนี้ ตามลูกศรเส้นสีเขียว โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกมีความเสี่ยงมาก (ผมพูดบนพื้นฐานที่ผมไม่รู้ว่าคันกั้นน้ำมีความแข็งแรงขนาดไหนครับ) แต่ถือว่าจุดนี้เป็นจุดอ่อนเหมือนที่เราเคยเห็นภาพอนุสาวรีย์ชัยเคยโดยน้ำท่วมแล้วมีคนพายุเรือ จำได้ไหมครับ ผมเชื่อว่าน้ำทะลักได้ง่าย เพราะตรงตำแหน่งนี้ น้ำจะถูกอุ้มได้คันกั้นสีแดงเหล่านั้น มันจะย้อยเป็นรังผึ้งและรวมพลังเข้าไว้เพื่อจะพังกำแพงเหล่านั้นในการโจมตีฝั่งตะวันตกได้ง่าย สำหรับทางออกผมคิดว่า เราไม่ควรจะมีแนวกั้นตามขวาง และแนวรังผึ้งห้อยตรงนั้น กั้นในแนวเหนือใต้คงจะดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยกับชาวบ้านใต้คันกั้นน้ำสีแดงแนวขวางด้านตะวันตกของ กทม. เพราะว่าตรงนั้นหากปล่อยน้ำไป น้ำจะค่อย ไหลลงไป แต่หากคันกั้นน้ำแตกคราวนี้จะเสียหายมากกว่าเดิมครับ

สำหรับแนวลูกศรทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นจุดเปราะบางเช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วมีแนวถนนและคันกั้นน้ำอีกเส้น แต่ผมไม่ได้ใส่ไว้ในภาพ ซึ่งจะเป็นการเชิญน้ำเข้า กทม.ได้ในทิศทางลูกศรเส้นนี้เช่นกัน ทางออกคือให้เอาออกจะดีที่สุดจะทำให้น้ำไหลลงด้านล่างได้ง่ายขึ้น แทนที่น้ำจะวิ่งเข้าไปโจมตี กทม.ด้านทิศตะวันออก ในขณะเดียวกันน้ำจะหักล้างกับทิศทางน้ำจากทิศตะวันออกจากปราจีนด้วยน้ำทางทิศเหนือที่ไหลลงมาจากปทุมธานี หรือนครนายกครับ

สำหรับรัฐบาล กระผมคิดว่า รัฐบาลน่าจะมีการประกาศหยุดเช่น 20 วัน ในเขตน้ำท่วม เพื่อให้คนเดินทางกลับเท่าที่จะทำได้ครับ แล้วรัฐจะมีโอกาสในการจัดการบริหารน้ำให้ไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น ป้องกันการสูญเสียชีวิตน่าจะคือเป้าหมายมากสุด ส่วน โรงพยาบาลหรือตึกตรงไหนที่รับคนไปพักได้เป็นเบื้องต้นก็ควรจะทำ ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลคนที่ป่วยอะไรได้ชัดขึ้น คนปกติก็อาจจะไปพักบ้านญาติหรือมีจังหวัดใจบุญรอบนอกทำหน้าที่รับดูแลพี่น้องที่ได้รับผลจากน้ำท่วมก็คงจะดีครับ

เศรษฐกิจคงไม่เสียหายไปมากกว่านี้แล้ว ตอนนี้การป้องกันน้ำทำได้แค่เฝ้าระวังคันกั้นน้ำไม่ให้พังและเสริมครับ แต่เมื่อแตกแล้วกู้ยากมากครับ หรือไม่ก็จะกู้ได้ก็ต่อเมื่อน้ำไหลเข้าไปในพื้นที่จนน้ำเกือบนิ่งแล้วครับ ทำอย่างไรจึงจะระบายน้ำได้เร็วและคนไม่เสียชีวิตครับ ผมถือว่าการที่คนไม่เสียชีวิต หรือเสียน้อยสุดเป็นการดีที่สุดครับ

และประเด็นนี้คงเลิกคิดสีธง สีเสื้อ สีเชื้อ สีผิว สีพรรคกันได้แล้วครับ ถ้าถอดเสื้อออกให้หมดก็จะพบว่าคุณคือคนไทยเหมือนๆ กันครับ

ถัดจากนี้ เราคงทำงานร่วมกันมากขึ้น น้ำท่วมครั้งนี้เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า บูรณาการกันมากขึ้น

แต่ละกระทรวงคงต้องให้ความรู้คนมากขึ้น ติดอาวุธทางปัญญากันมากขึ้นครับ ชีวิตใครใครก็รัก แต่การรักชีวิตตนเองและรักชีวิตผู้อื่นด้วยเป็นสิ่งประเสริฐ เราไม่สามารถจะอยู่ในสังคมนี้เพียงแค่ตัวเราผู้เดียว เห็นหัว เห็นใจ เห็นปัญญา เห็นความดีของกันและกัน ลิงยังอุ้มลูกสุนัขหนีภัยเลยครับ แล้วเราจะไม่อุ้มคนที่เป็นคนได้อย่างไร?

จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงแค่นี้ครับ

ด้วยความเป็นห่วงและด้วยมิตรภาพ

คนไทยคนหนึ่ง

====================================================================

จากวิเคราะห์ภาพจำลองจากโมเดลด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D ซ้อนกับโปรแกรม Google Earth ดังผลต่อไปนี้ พร้อมทิศทางเสี่ยงต่าง ๆ ในสามทิศทางใหญ่ๆ ดังทิศทางลูกศรสีเขียว

หรือภาพรายละเอียดดังต่อไปนี้

รายละเอียดทิศทางน้ำกรณีน้ำล้นหรือคันกันคลื่นแตกในสองทิศทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ กทม.

และรายละเอียดทิศทางที่มีความเสี่ยงในทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือของน้ำจาก อ.บางใหญ่ ไหลเข้าพื้นที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรณีที่แนวกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถรับแรงน้ำได้

ถ้าทิศทางของน้ำในสามทิศเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ อาจจะส่งผลให้เกิดการรวมกันของน้ำทั้งสามทิศมารวมกันเพื่อไหลออกอ่าวไทย ซึ่งในภาวะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากหากน้ำล้นริมตลิ่ง

หมายเหตุ… ผลที่ได้จากการจำลองนี้เป็นผลจากโมเดลที่ใช้สมการ Shallow Water Equation ด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D (  http://www.youtube.com/watch?v=HwS212eBDL8  ) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการระบายน้ำลงสู่ทะเลในโอกาสต่อ

============================ ภาพเคลื่อนไหวครับ ============================

http://www.youtube.com/watch?v=AWPOR6lHKww

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์



Credits : ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่น้ำท่วมจาก GISTDA, Google Earth, ESRI, VirtualFlood3D by Anurak Busaman and Somporn Chuai-Aree, ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, แหล่งข้อมูลจากทีวี TPBS, Nation

« « Prev : ยิ่งกั้น ยิ่งสูง ยิ่งแรง ยิ่งแทง ยิ่งพัง น้ำท่วม น้ำใจ น้ำไหล น้ำบ่า น้ำตา

Next : วิเคราะห์เส้นทางน้ำไหลลงสู่สมุทรสาคร (ก่อนน้ำมา 2P) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5669 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 5.2218189239502 sec
Sidebar: 0.030639171600342 sec