นานาประการที่การศึกษาล้มเหลว….

โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2009 เวลา 9:44 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, ลานปัญญา, เทคโนโลยี, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 48912

สวัสดีครับทุกท่าน

วันนี้มานั่งทานข้าวกันแล้วก็พูดถึงระบบการศึกษาไทย และมีกรอบของการศึกษาไทย TQF อะไรออกมาอีกสำหรับอุดมศึกษา ผมเลยขอนำเสนออีกนัยหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนกันแบบตรงไปตรงมาเผื่อว่าใครจะมา อ่านเข้าบ้างครับ มาคุยแลกเปลี่ยนกันแบบตรงๆ กันเลยเช่นว่า ทำไมการศึกษาไทยถึงล้มเหลว บัณฑิตถึงตกงานเยอะ และต่อไปจะตกงานเยอะกว่านี้อีก

นานาประการที่การศึกษาล้มเหลว….

1. ความไม่เสถียรของการเมือง ที่อมระบบการศึกษาเอาไว้ขึ้นกับรัฐบาลมากเกินไป เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ทีเปลี่ยนกระบวนการ มาตรฐานทางการศึกษาที แล้วเมื่อไรการศึกษาไทยถึงจะไปถึงเป้าหมายกันครับ เปลี่ยน รมว.กระทรวงศึกษาทีก็เปลี่ยนแนวคิดที มันเป็นระบบการศึกษาของหนูที่พร้อมจะให้ทดลองอยู่เรื่อยๆ เมื่อไรจะเข้าสู่การเสถียร ระบบวัดการเข้าศึกษาต่อก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย โดนด่าทีก็เปลี่ยนที เพราะระบบต้องรอที่จะเอาอกเอาใจคนเพื่อความอยู่รอดของทางการเมือง


2. ประเทศนี้ไม่ได้ให้ความสนใจกับการศึกษาที่แท้จริง โดยเฉพาะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการผลิตครู การผลิตบัณฑิต ความสำคัญของอาชีพครู ชีวิตเด็ก การศึกษาในระดับล่าง ประถมฯ มัธยม แม้ว่าจะบอกว่าให้เรียนฟรี แต่ก็ยังมีอีกปีละกี่หมื่น ที่ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนจะจบ ม.3 เราเคยพูดความจริงเรื่องเหล่านี้กันไหม ก่อนจะไปเปลี่ยนระบบอะไรที่เล่นกันไปเรื่อย เมื่อไรการศึกษาไทยจะเริ่มทำ ทำโดยที่ไม่ใช่เล่นเหมือนการเมืองนะครับ
3. เราให้การศึกษาอยู่บนความพื้นฐานของความต้องการของชุมชน สังคมหรือไม่ หากเราสร้างบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สังคมอย่างแท้จริง ผมรับรองว่าจำนวนบัณฑิตตกงานจะน้อยมากๆ แต่ที่เราผลิตกันมันสอดรับกับแผนการสร้างคนของชาติจริงหรือไม่ สาขาที่ขาดแคลนอย่างไรก็ขาดอยู่อย่างนั้น ผลิตอย่างไรก็ขาดแคลน เพราะแนวทางการสร้างคนไม่สมดุล การศึกษาจึงเป็นแบบแฟชั่น เรียนตามแฟชั่นกัน เหมือนกับการทำเกษตรแฟชั่นนั่นละครับ
4. ครูมีคุณภาพลดลง เพราะอาชีพนี้ หากเราสังเกตเราจะทราบว่า เส้นทางการมาเป็นครูเป็นอย่างไร จะแตกต่างกันครับ คนที่มาเรียนครูเพื่อเป็นครูมีเส้นทางมาอย่างไร ใครจะเลือกเรียนครูเป็นอันดับแรกแล้วเรียนครับ ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้จะเลือกอะไรท้ายที่สุดก็ลงมาที่ครู หากจะรักด้วยใจจริงจะดีมากๆ ครับ แต่หากเป็นเพราะดีกว่าไม่มีงานทำแบบนี้ก็น่าเศร้าละครับ ผมไม่ได้จะต่อว่าครูนะครับ แต่ผมก็เป็นครูเช่นกัน เราต้องกล้าที่จะทบทวนตัวเอง ไม่อย่างนั้นอนาคตของชาติอยู่บนความรับผิดชอบของเรานี่ละครับ
5. มีหลักสูตรมากมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อเงินมากกว่าการสร้างคุณภาพคน พูดกันง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ เป็นระบบการศึกษาแบบธุรกิจครับ ผมว่าหากคนคิดนโยบายว่างๆ ลองบินไปแถวๆ ยุโรปหลายๆ ประเทศดูงานของประเทศทางยุโรป หรือประเทศที่เค้าเน้นการศึกษาฟรีบ้างก็น่าจะดีนะครับ เผื่อจะได้ดูว่าเค้าทำได้อย่างไร เผื่อคนไทยจะคิดทำแบบนั้นบ้าง น่าจะดีกับการให้ความสำคัญทางการศึกษาแบบฟรีบ้าง ไม่ใช่เป็นหนี้กันตั้งแต่เข้าโรงเรียนหรือเข้าอนุบาล เด็กจบมาจะได้หันมาสนใจเรื่องการทำงานเพื่อสังคมมากกว่าจะหันมาหางานทำเพื่อ ใช้หนี้ที่กู้ยืมมา จะได้ไม่ต้องหันมาสร้างวิธีการว่าจะ จิตสาธารณะกันอย่างไร เผื่อว่าจะมีบัณฑิตจบไหนเดินผันตัวเองขึ้นดอยไปทำงานที่ธุรกันดารกันบ้างนะ ครับ หรือกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองบ้าง ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่ทรัพย์สินเงินทองเป็นหลัก
6. การศึกษาไม่ใช่สูตรอาหารเหมือนการเลี้ยงหมู หรือเลี้ยงแมว ดังนั้นการศึกษาไม่ควรจะเป็นการติว ปริมาณสถาบันติวหรือกวดวิชาที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้เห็นชัดว่าการศึกษานั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะอะไรหรือครับ เพราะแสดงว่าการศึกษาในภาคปกติจากสถาบันการศึกษามันไม่ได้เรื่องนะครับ เด็กถึงต้องไปหันมาติวเพื่อแข่งขันกัน ตรงนี้เป็นจุดจบของการศึกษา ยิ่งตอนนี้มีการติวกันถึงระดับมหาวิทยาลัย ผมไม่แน่ใจว่าต่อไปอาจจะมีการติวกันทุกๆเรื่อง การเลี้ยงลูก การมีครอบครัว การทำงาน ลองไปดูครับว่าต่างประเทศเค้ามีสถาบันติวกันเกลื่อนประเทศแบบนี้หรือไม่ครับ มีได้นะครับไม่ใช่ห้ามมีแต่มีแล้วเป้าหมายของสถาบันติวกับสถาบันการศึกษามัน คนละอย่างกันครับ เราต้องการจะสร้างคนแบบไหนครับ หากต้องการคนแบบสถาบันติวที่ต้องการแค่สอบผ่าน สอบเข้าได้ แต่เข้าไปแล้วใช้ชีวิตอย่างไร จะทำอย่างไรต่อ หากทำกันแบบนั้นแล้วตรงกันต่อไปสถาบันการศึกษาก็มีคนเพียงแค่ 5 คนก็เพียงพอ คือหัวหน้าสถาบัน เลขาฯ คนทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานขับรถ ก็น่าจะครบแล้วครับ ส่วนผู้เรียนก็ไปเข้าเรียนในสถาบันกวดวิชา เมื่อสอบผ่านก็มาให้แต่ละสถาบันที่ผ่านเกฑณ์ให้หัวหน้าสถาบันเซ็นจบให้ได้ เลย ได้ปริญญาออกมาเลยแบบนี้ไม่ดีกว่าหรือครับ
7. การปรับเปลี่ยนกระบวนการทางศึกษาเราเน้นให้เรียนอะไรไกลตัวจนเข้าไม่ถึง ชุมชนหรือรากเหง้าที่แท้จริงของชุมชนหรือสังคมที่อยู่ที่นั่น ซึ่งจริงๆ แล้วแต่ละที่ก็มีความงามของแต่ละพื้นที่ แต่ความมาตรฐานที่ส่วนกลางกำหนดนั้น มันไม่ได้สอดรับกับพื้นที่นั้นๆ โดยส่วนใหญ่ทำให้การศึกษาเข้าไม่ถึงหัวใจของชุมชน จริงๆ แล้วนโยบายควรจะกำหนดกว้างๆ ไว้ให้แต่ละสถาบันหาจุดที่จะเข้าถึงชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ด้วยตัวเอง การผลิตคนที่สำคัญคือผลิตให้เค้ากลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง เพราะเค้ามาจากที่นั่น ก็มาศึกษาก็ควรจะกลับไปรับใช้ที่นั่น ที่ที่เค้าเคยเติบโตมา ความรักต่อชุมชนบ้านเกิด
8. กระบวนการวัดและประเมินผลของการศึกษาไม่ได้อยู่ที่การวัดตอนศึกษาอยู่ หรอกครับ แต่การวัดที่แท้จริงอยู่ที่สังคมวัดคุณค่าของบัณฑิตเรา ตรงนั้นคือเป้าหมายสำคัญ ดังนั้นการวัดพื้นฐานเป็นเพียงตัวเลขที่ปลอมๆ นะครับ มันบอกอะไรไม่ได้มากหรอกครับ แต่สังคม เอกชนจะชื่นชมหากสถาบันนั้นผลิตคนแล้วสอดรับกับความต้องการของเค้าได้ มิใช่คนวางนโยบายฝันไปทาง แต่คนรอรับบัณฑิตวางเป้าหมายไปอีกทาง แบบนี้บัณฑิตก็เดินเกลื่อนถนนซิครับ
9. เราสร้างบัณฑิตให้ลุยโคลน ลุยน้ำ ลุยรากเหง้าของชาติเราได้จริงไหม อย่างที่มีคนบอกว่า จะมีสักกี่ครุยที่ลุยโคลน สักกี่ครุยที่ขุดดิน ที่ทำเกษตรได้ อยู่บนรากเหง้าของสังคม แล้ววันหนึ่งเราจะต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร หากไม่มีใครทำงานในงานพื้นฐานอย่าง เกษตรกร เราสร้างบัณฑิตเกษตรกรได้ไหมครับ ที่รักการเกษตรและทำเพื่อการเกษตรจริงๆ มีกระบวนการต่างๆ ในการพัฒนาต่อยอด มิใช้สักแต่ว่าทำ ทำ ทำ ไปวันๆ แต่เน้นเรื่องกระบวนการและคุณภาพในทุกๆ ขั้นตอน
10. คนออกนโยบายเข้าใจกระบวนการศึกษาของชาติโดยภาพรวมมากน้อยแค่ไหน อย่าได้เพียงแค่นั่งเทียนหรือนั่งฝันเอาบนโต๊ะทำงานหรือห้องแอร์นะครับ เพราะนั่นมันหมายถึงว่าประตูความเสียหายต่อการศึกษาไทยได้เปิดอ้ากว้างแล้ว ครับ ดังนั้นจะศึกษาระบบการศึกษาจะพัฒนาตรงไหน ก็ขอให้ท่านๆ ลงพื้นที่จริงๆ นะครับ ไปนอนกับชาวบ้านชุมชนที่ท่านต้องการจริงๆ อย่าไปดูงานที่อื่นๆ ประเทศอื่นๆ แล้วมานั่งฝันเอาว่าคนไทย บัณฑิตไทยต้องทำแบบนั้น เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นนั่นละครับ ว่าท้ายที่สุดเปลืองงบประมาณครับ
11. นโยบายต่างๆ หรือมาตรฐานต่างๆ ที่เราออกมากันมากๆ ถามว่าบัณฑิตปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อก่อนมากน้อยแค่ไหน ในเรื่องของคุณภาพและอื่นๆ หากเทียบกับจำนวนนโยบายและมาตรฐานที่เราสร้างกันมากมายในปัจจุบัน เพราะว่าสถาบันการศึกษาที่เคยผลิตกันในอดีตก็ผลิตคนมากมายในประเทศนี้ หากจะตอบว่าปัจจุบันด้อยกว่าอดีต ต้องระวังนะครับ บัณฑิตไม่ได้ผิดอะไรเลย คนที่ต้องปรับปรุงก็คือคนที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงระบบนั่นละครับ
12. เราไม่ได้วางแผนระยะยาวสำหรับการศึกษาไทยอย่างแท้จริง แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ เราก็ไม่มี เรามีเพียงแค่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลองวางกันดูไหมครับ เผื่อว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องทำตามแผนเหล่านี้มันจะได้ต่อเนื่องกันบ้าง ไม่ต้องมาขึ้นอยู่กับสมองของ รมว. หรือคณะที่ปรึกษาของกระทรวงเพียงอย่างเดียวครับ น่าจะเกิดประโยชน์ในภาพรวมครับ
13. การศึกษาไทยยังต่อยอดไม่ถึงงานวิจัยอย่างแท้จริง ทำให้เห็นว่าการเรียนไปนั้น นำไปใช้จริงไม่ได้โดยเฉพาะวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรายังขาดแคลนตลอดเวลา เรานิยมซื้อของจากต่างประเทศ ประเภทซื้อมาก็จ่ายไปแล้วก็จบกันแค่นั้น แต่พัฒนาต่อยอดเองหรือสร้างเองได้น้อย ตรงนี้คือจุดบอดที่เชื่อมโยงไม่ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อก่อนๆ ที่กล่าวมาครับ

ผมก็ขอจบไว้เพียงแค่ 13 ข้อความเป็น The Lucky Number ถามว่าใครจะเป็นคนเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้พัฒนาต่อไปได้ดี และเกิดคุณค่าที่แท้จริงในการสร้างคน มันก็ไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่ครูหรอกนะครับ ทุกคนก็มีส่วนร่วมเสมอ เพียงแต่จะช่วยในบริบทใดครับ หากท่านจะต่อยอดก็เชิญบรรเลงได้เลยนะครับ ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้เพียงจะบอกว่า หากเตรียมคนไว้ไม่เพียงพออนาคตเราจะแย่ครับ

การที่ยกต่างชาติขึ้นมาในข้อดีหรือยกมาเปรียบเทียบนั้น ไม่ได้หมายความว่าผมจะเทิดทูนต่างชาติสุดชีวิตนะครับ แต่เราควรจะมองในจุดที่ดีของเค้าแล้วนำมาปรับใช้ในบ้านเรา แน่นอนว่าไม่มีใครดีสมบูรณ์หมด ตลอดจนการที่เราจะพัฒนาชาติเราได้เราก็ต้องดูว่าเราล้มเหลวตรงไหน บกพร่องตรงไหนและพร้อมแล้วหรือยังที่จะหันมาพัฒนาร่วมกัน มองจุดด้อย ซ่อมแซมมันเสีย วิจารณ์นำไปสู่การปรับให้ดีขึ้น และก็ไม่ได้กดประเทศไทยด้วยนะครับ เพราะหากจะพัฒนาชาติก็ต้องพร้อมจะวิจารณ์ การวิจารณ์ไม่ได้งอมืองอเท้าครับ และเชื่อว่าเรามีทางออกที่จะพัฒนาต่อไปครับ
การสร้างตึกใหม่นั่นแค่เพียงหว่านเม็ดเงิน แต่การสร้างสมองใส่ตึกนั้นซิยากยิ่งกว่า

ด้วยมิตรภาพ

สมพร ช่วยอารีย์

« « Prev : ผักสวนครัว ระเบียงพอเพียง

Next : โปรแกรมคำนวณปริมาณสารอะฟลาทอกซินในข้าวสาร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

11764 ความคิดเห็น