ยิ่งกั้น ยิ่งสูง ยิ่งแรง ยิ่งแทง ยิ่งพัง น้ำท่วม น้ำใจ น้ำไหล น้ำบ่า น้ำตา

โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 19 ตุลาคม 2011 เวลา 6:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, คณิตศาสตร์, เทคโนโลยี #
อ่าน: 35386

หยุดคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติได้แล้วครับ

ลองมองน้ำเป็นเพื่อนร่วมโลกดูครับ แล้วเข้าใจน้ำเค้าเยอะๆ ว่าเค้ามีข้อดีอย่างไรบ้าง มีนิสัยอย่างไรบ้าง ยิ่งกั้นคันสูงยิ่งเสี่ยงสูง ซึ่งน้ำภาคกลางไม่ใช่น้ำป่าไหลหลากนะครับ เป็นเพียงแค่น้ำท่วมทุ่ง ท่วมลานกว้าง เพราะฉะนั้นน้ำจะไหลปรับระดับไปเรื่อยๆ น้ำก็ไหลไปเรื่อยๆ ตามที่ไหลได้ แต่พอไปเจอคันกั้นสูง น้ำก็จะสูงขึ้น มีพลังงานสะสมพร้อมที่จะแตก ยิ่งด้านนึงน้ำสูง อีกด้านน้ำไม่มี หากพังลงมาก็จะกลายเป็นน้ำหลากในตรงนั้น นั่นคือ น้ำหลากจะเกิดจากคนทำเอง การเอาดินใหม่ไปถมก็เหมือนกับการเอาน้ำพริกไปละลายแม่น้ำ เพราะดินเหล่านั้นก็จะไหลไปกับน้ำครับ พอขาดพลังงานเยอะคราวนี้ก็ท่วมแล้วไหลได้เร็วขึ้นในช่วงนั้นครับ ปัญหาก็เกิดต่อกระทบกับพื้นที่ทางใต้คันกั้นน้ำครับ แต่หากมีคันธรรมชาติอยู่แล้วที่สร้างมานานแล้วดินแน่นแล้วก็พอไหวครับ สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้ระดับน้ำไหลไปตามที่ควรจะเป็น กั้นได้ในบางจุด การบริหารจัดการน้ำควรจะมองในภาพใหญ่หน่อยครับ

ยิ่งกั้น ยิ่งสะสมพลังงาน ยิ่งแรง ถามว่าถุงทรายช่วยได้ไหม ตอบว่าช่วยได้ครับ แต่ศึกษาพื้นที่ให้ดีครับ โดยเฉพาะคันดินใหม่ครับ ตอนนี้เป็นแค่เพียงเริ่มต้นเองนะครับ ยังมีปริมาณน้ำรอที่จะมาและผ่าน กทม.อยู่ทั้งทางซ้ายและขวาของ กทม.หรือไม่ก็ผ่ากลาง

สิ่งที่รัฐควรจะทำผมว่า รัฐควรมองที่การให้ความรู้กับประชาชนให้มากที่สุด สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ข้อมูลความจริงจากสถานการณ์ต่างๆ ผมว่าให้ข้อมูลความจริงดีกว่าปกปิดหรือกลัวว่าคนจะตกใจ เพราะนี่เป็นน้ำท่วม เรายังลอยคออยู่ได้ครับ แค่บททดสอบในเบื้องต้นที่เราพึงจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน โดนน้ำมาด้วยกัน แล้วในที่สุดเราจะได้มาวางแผนร่วมกันเพราะเราร่วมลอยคอกันมาด้วยกัน

ขอเป็นกำลังใจนะครับผมบอกนักศึกษาที่เรียนกับผมว่า ถ้าเธอจะมาเรียนเล่นๆ กับผม อย่ามาเรียนเลยมันเสียเวลา หากจะเรียนกับผมต้องเรียนเอาจริง เราจะได้ใช้ความรู้พวกนี้ได้ ใช้ได้เป็น นำไปใช้ร่วมกับคนอื่นได้ในยามคับขัน

หากวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมา พบกว่าน้ำท่วมคอพวกเราทุกคน พระเจ้าที่เรานับถือกันลอยลงมาจากฟ้า พวกเราแหงนหน้าฟังท่าน ท่านบอกว่าหากลูกๆ ทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ลูกๆ ต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่ด้วยกันในการแก้ปัญหาแล้วน้ำจะค่อยๆ ลดลง หรือลูกๆ จะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับทรัพยากรที่เหลืออย่างจำกัดกันดี แต่สุดท้ายก็ตายอยู่ดี คราวนี้หากพวกเราจะใช้ความรู้แก้ปัญหา เราจะใช้ความรู้อะไรในหัวเราที่มีอยู่ เรามีความรู้อะไรบ้างที่จะเอาไปร่วมใช้กับเพื่อนๆ ของเรา นี่ละที่เธอต้องตั้งใจเรียนรู้ศึกษาให้เก่งกว่าครู ดังนั้นเรียนเล่นๆ พ่อแม่เธอจะจ่ายเงินให้เธอแล้วจะคุ้มค่าได้อย่างไร

แล้วตอนนี้ละประเทศไทยเรา ใช้องค์ความรู้อะไรในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ เรามีบุคลากรพอแล้วจริงเหรอในการจะช่วยวิเคราะห์น้ำ หรือว่าวิเคราะห์กันโดยไม่ดูตาม้าตาเรือเลยว่าน้ำจะไหลไปทางไหน จะร่วมผ่านวิกฤตเหล่านี้อย่างไรร่วมกันดีครับที่ผ่านมาไม่ว่าจะเรือดันผิวน้ำ หรือแพไม้ไผ่ ช่วยได้แค่ทางจิตวิทยานะครับ ผมว่าเอาเวลาไปให้คนพร้อมที่จะพึ่งตนเองได้ในเบื้องต้น จัดการลดการเกิดภัยที่อาจจะเกิดได้ก่อนครับ อพยพคนในพื้นที่อาจจะเสี่ยงภัยก่อน

น้ำจะรักษาความเสมอภาค หากผิวน้ำไม่เสมอกัน ปล่อยทิ้งไว้น้ำจะปรับระดับให้เสมอภาคเองเพราะธรรมชาติสร้างน้ำมาทำหน้าที่นี้

ไม้ไผ่ปล่อยให้เค้าช่วยดูดน้ำในดินสู่ชั้นบรรยากาศจะดีกว่านะครับ เพราะต้นไม้คือเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ทำงานทั้งกลางคืนและกลางวัน ดวงอาทิตย์ช่วยได้แค่กลางวันเท่านั้นครับ น้ำที่ต้นไม้ดูดเข้าไป 99% เพื่อสูบขึ้นชั้นบรรยากาศนะครับ จะไว้ใช้สังเคราะห์อาหารแค่ 1% เท่านั้น แพไม้ไผ่จึงไม่น่าจะจำเป็นสำหรับเวลานี้ ผมยังนิยมเสื้อชูชีพขวดน้ำที่พี่น้องอาสาฯ หลายๆ กลุ่มทำกันครับหลังจากนี้ ทุนวิจัยจะออกมาเกลื่อนเพื่อให้วิจัยกันเรื่องน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งก็คือการหารอยเท้าวัวหลังจากที่โดนขโมยซึ่งก็ต้องทำ แต่ทำไมเราไม่เตรียมคนให้ไปเรียนในแต่ละด้านให้มันสอดคล้องกับสภาพของประเทศละครับ ไม่ใช่เรียนในสาขาที่เป็นแฟชั่นอย่างเดียว เราจะทำอย่างไรกันต่อไป น้ำท่วมครั้งนี้จะแปลงวิกฤตเหล่านี้มาสร้างความเข้มแข็งทางกาย ทางใจ ทางสติความคิดอย่างไร ไม่อย่างนั้น เราก็เดินวนๆ กันในอ่างน้ำนี่ละครับ พอภารกิจล้างเมืองมาทีก็สูญเสีย ประเมินค่ากันไม่ได้อยู่ตลอดไป

เศรษฐกิจเสียหาย น้ำยังขังท่วมยาวนาน แล้วเราจะทำอย่างไร กับปล่อยน้ำให้ปไปในทางที่ควรไป ตามใจน้ำ สุดท้ายก็ลงทะเล น้ำมีเป้าหมายคือที่ต่ำ มาจากที่สูงไหลลงที่ต่ำ แต่คนเราจะขึ้นไปนั่งที่สูง
ธุรกิจจะเสียหายกี่แสนพันล้านก็ตาม หากสุดวิสัยผมว่าก็ควรจะต้องเข้าใจบริบทครับ แต่อย่าให้คนเสียชีวิตมากเกินไปก็เกินคุ้มแล้วครับระบบการวิเคราะห์น้ำ ถ้ากระทรวง ICT ทำข้อมูลให้เป็นระบบ นักวิจัยสามารถจะเข้าถึงข้อมูลได้แล้วนำมาช่วยกันวิเคราะห์ได้ คันน้ำตรงนั้น ตรงนี้แตก ผมก็อยากจะช่วยจำลองให้นะครับ ว่าน้ำจะไหลไปทางไหนได้บ้าง แต่ไม่รู้จุดพิกัด นักข่าว คนลงพื้นที่ ควรจะมี GPS ติดตัวไปด้วย เก็บข้อมูลไปด้วยช่วยเหลือคนไปด้วย เอาข้อมูลมาวางแผนกันต่อ ใครช่วยได้ก็ช่วยกัน ผมอยู่ปัตตานี อยากช่วย แต่ผมช่วยได้มากกว่าการไปช่วยขนกระสอบทรายประกอบกับมีภารกิจอื่นๆ หากข้อมูลเป็นระบบก็จะมีข้อมูลได้ตรงกัน ก็จะช่วยได้มากขึ้น บทเรียนครั้งนี้ ก็คงไม่เหมือนครั้งไหน เพราะต่างกันที่เวลาและบริบทครับ

สุดท้ายก็ได้ระบายแล้วหลังจากดูมายาวนาน ดูการแก้ปัญหามาพอสมควร จริงๆ อยากจะขอข้อมูลจากสำนักข่าวที่ออกๆ ทีวีกันนะครับ ว่าคันนั้นคันนี้ มีข้อมูลให้เอามาจำลองได้บ้างไหม ติดต่อไปขอกับใครกันดี

ลักษณะน้ำจากวันที่ 16 ต.ค. 2554 ครับ ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากพี่คอนดักเตอร์ จากลานซักล้าง และเว็บ http://cernunosat05.cern.ch/gp/flex/tha/

น้ำท่วม น้ำตา น้ำไหล น้ำใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน แต่เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เงียบไปอีก การตระหนักเตรียมได้จากประสบการณ์ที่เคยประสพจริง แล้วตระหนักจะเกิดมากกว่าตระหนก

ขอเป็นกำลังใจครับ

ด้วยมิตรภาพจากคนใต้

« « Prev : ความคิดโง่ๆ ของผม ที่คิดว่าน่าจะช่วยภัยแล้งน้ำดื่มได้บ้าง

Next : น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3877 ความคิดเห็น