วิเคราะห์เส้นทางน้ำไหลลงสู่สมุทรสาคร (ก่อนน้ำมา 2P)

โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 1:16 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ, เทคโนโลยี, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 66943

เรียนทุกท่าน ที่เคารพครับ

จากที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วครั้งแรกสำหรับน้ำท่วม กทม. จากบันทึก น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2554  สำหรับความถูกต้องว่าใกล้เคียงหรือไม่นั้นทุกท่านคงทราบกันแล้วนะครับจากผลของเส้นทางน้ำไหลครับ เพื่ออาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปปรับใช้ ประกอบการคิดการตัดสินใจก่อนภัยมา (2P = Preparation เตรียมการ + Prevention การป้องกัน) ซึ่งมาแน่นอนครับ แล้วแต่ว่าพื้นที่ไหนจะหนักมากหรือน้อยนะครับ

ก่อนจะดูภาพจำลองภาพแรก ก็ให้ท่านไปดูภาพการไหลของน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA กันก่อนนะครับ

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodAnimGistda2Nov54Big.gif

และภาพล่าสุดจาก GISTDA ของวันที่ 4 พ.ย. 2554

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodVolume-20111104.jpg

มาดูภาพจำลองภาพแรกกันก่อนนะครับ

จากภาพ พื้นที่สีเขียวคือพื้นที่ที่น้ำยังไหลไปไม่ถึงครับ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ท่วม แต่หากมีพื้นที่สีเขียวและล้อมรอบด้วยพื้นที่สีฟ้าจนถึงสีน้ำเงินเข้ม จะเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วม ยกตัวอย่างเช่น ม.มหิดล ศาลายา จากการจำลองพบว่า รอดจากน้ำท่วม เป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ อยู่ด้านซ้ายมือของเลข 3 เหนือเส้นถนนบรมราชชนนี

มาดูกันต่อครับ สำหรับเส้นทางทิศทางน้ำครับ ตามลูกศรสีเหลืองครับ

จากภาพด้านบนนี้ ให้สังเกตพื้นที่บริเวณลูกศรสีเหลืองครับ จะเป็นพื้นที่เส้นทางที่น้ำจะไหลไปและอาจจะติดถนนกั้นตามแนวเว้าของถนนเพราะน้ำจะไหลมาจากด้านบน อาจจะมีบางช่วงของถนนที่น้ำทะลักไหลลงมา จากการจำลองสมมติว่าถนนเส้น บรมราชชนนี เพชรเกษม และถนนพระราม 2 สูงโดยเฉลี่ยจากขอบถนนประมาณ 1 เมตร แต่หากบางจุดถนนสูงกว่า 1 เมตร ก็อาจจะส่งผลให้พื้นที่เหนือถนนเหล่านี้ระดับน้ำสูงกว่าปกติ สำหรับระดับความสูงน้ำท่วม ตั้งแต่ ระดับ 0-200 เซนติเมตร แล้วแต่ว่าจะพื้นที่ ในแบบจำลองอาจจะสูงกว่านี้เพราะบางพื้นที่ลุ่มมากครับ

การวางแผนก็ควรจะพิจารณาพื้นฐานตามลูกศรสีเหลืองเหล่านี้ได้ เพื่อพิจารณาเป็นพิเศษครับ หากจะบริหารจัดการน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วครับ น้ำจะถูกรวมเทลงมาที่ตำแหน่ง อ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อจะไหลออกทะเล และอาจจะไหลเทไปทางตะวันตกของตัว อ.เมืองสมุทรสาคร ด้วย เพราะยังมีแนวถนนพระราม 2 ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ครับ

มาดูภาพต่อไปครับ หากกรณีจะพิจารณาเจาะถนน (ซึ่งต้องระวังมากๆ เพราะอาจจะส่งผลเสียได้มากเช่นกัน อาจจะต้องวิเคราะห์กันให้หนักครับ โดยเฉพาะเส้นพระราม2

ลูกศรเส้นสีเหลืองอยู่ใต้ถนนเส้นสีแดง สำหรับบางพื้นที่เมื่อวิเคราะห์เส้นทางน้ำแล้ว

และมาดูพื้นที่ลงรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ตอนบน กลาง ล่าง ของพื้นที่ ศาลายาจนถึง สมุทรสาคร ครับ

เป็นพื้นที่ส่วนบนครับ

เป็นพื้นที่่ส่วนกลาง

พื้นที่ส่วนล่าง

พื้นที่ตอนล่าง ติดกับพื้นที่ทะเลครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังฟื้นฟู R (Recovery) ทุกท่านที่กำลังเผชิญภัย R (Response) และ ทุกท่านที่กำลังจะเจอภัย ก่อนภัยมา 2P ตามนโยบายของรัฐบาล เราจะพบว่าพื้นที่ของเราประสบการณ์จริงนั้นบอกเรามากกว่าทฤษฏีใดๆ ในหนังสือ ก่อนภัยมา ขณะภัยเกิด และหลังภัยผ่าน (กขล. ไก่ไข่ลิง) สิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดในช่วงนี้คือ น้ำใจ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ทำใจ เผื่อใจ และอย่าลังเลใจที่จะวางแผนในการเผชิญภัยนะครับ

สำหรับการที่จะนำพาน้ำเหล่านี้ออกสู่ทะเลนั้น ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาไปจนถึง กลางธันวาคม ครับ ซึ่งเป็นการกะประมาณนะครับ แก้ปัญหาได้เสร็จก่อนหน้านี้ก็ถือว่ายอดมากๆ นะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องสูบน้ำจะทำหน้าที่เต็มที่ขนาดไหน และมีหลายพื้นที่ที่อาจจะเป็นน้ำค้างทุ่ง ซึ่งทำได้โดยสูบน้ำออกจะวางแผนอย่างไรที่จะสูบน้ำออกในขณะที่ยังมีน้ำรอบๆ บริเวณนั้น ซึ่งจะดีกว่ารอให้รอบๆ แห้งก่อนแล้วค่อยสูบออกครับ ซึ่งก็คงจะไม่ใช่การสูบใส่รถไปทิ้งในคลองครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายครับ ผมหวังว่าการเมืองจะไม่ทำให้น้ำใช้เวลาไหลมากกว่าที่ธรรมชาติของน้ำที่ควรจะไหลครับ

ภาพเคลื่อนไหวจากการจำลองครับ

หากท่านทราบข้อมูลระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ ท่านจะสามารถช่วยกรอกข้อมูลระดับน้ำได้ที่

http://flood.pbwatch.net เพื่อนำมาประกอบกับการจำลองพื้นที่น้ำท่วมกันต่อไปครับ

ด้วยมิตรภาพและกราบขอบพระคุณมากครับ

สมพร ช่วยอารีย์

ปล.สิ่งที่วิเคราะห์ข้างบนอาจจะผิดจากความเป็นจริง ขอให้ท่านอ่านด้วยความสงสัยเพื่อนำไปใช้ในการเฝ้าระวังในการแก้ปัญหาครับ

« « Prev : น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ

Next : การจัดการองค์ความรู้ ระบบบิ๊กแบ็กกั้นน้ำท่วมแห่งชาติ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

12158 ความคิดเห็น