เพราะชุมชนก็คือมหาวิทยาลัยของอาจารย์

5836 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2011 เวลา 5:57 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา, ธรรมชาติ, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 70169

ลงพื้นที่เก็บข้อมูลน้ำท่วมและไปดูบริเวณการกัดเซาะบริเวณชายฝั่ง ได้คุยกับชาวบ้านได้ปรัชญามาหลายข้อครับ เช่น

คุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่า มหาลัยก็เปรียบเสมือนปากกา ชุมชนก็เหมือนกับกระดาษ ต้องอยู่คู่กัน ปากกาเขียนบนฟ้าก็เขียนไม่ติด ต้องเขียนบนกระดาษ เขียนติดแล้วมันติดอยู่ในใจ กระดาษพร้อมที่จะให้ปากกาเขียน

ผมเลยบอกว่า เราผลัดกันเป็นปากกาและกระดาษด้วยจะดีไหม เพราะชุมชนก็คือมหาวิทยาลัยของอาจารย์


การจัดการองค์ความรู้ ระบบบิ๊กแบ็กกั้นน้ำท่วมแห่งชาติ

3010 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 เวลา 5:57 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, ธรรมชาติ, ลานปัญญา, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 37210

เรียนทุกท่านครับ
เมื่อเวลาผ่านมากับสภาพน้ำท่วมตอนนี้ แล้วอดไม่ได้ที่จะอยากจะถามหลายๆ คำถามกับมาตรฐานต่างๆ ที่ใครต่อใครก็ไม่รู้ที่ตั้งกันขึ้นมาเพื่อรักษามาตรฐานทางการศึกษาและการวิจัย แต่พอเจอสภาวะวิกฤตแบบนี้ ผมไม่รู้ว่าเราจะสอบผ่านหรือสอบตกกันแน่ ให้ประชาชนตัดสินกันเองแล้วกันนะครับ ว่าองค์ความรู้ของเราใช้ได้จริงแค่ไหน บุคลากรของเรามีความพร้อมแค่ไหน แนวคิดการจัดการบริหารภัยพิบัติ แท้จริงแล้วใครจัดการได้ ใครรับเคราะห์ ผมไม่มีอะไรจะพูดมากแต่ขอถ่ายทอดผ่านรูปภาพด้านล่างนี้  ซึ่งจะทำให้หลายท่านคิดได้และทบทวนว่าเราจะวางแผนประเทศเราให้อยู่กับองค์ความรู้แบบไหนกันแน่ในอนาคต ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง

เบื้องบน หอคอย แข่งขัน ตัวเลข ขึ้นหิ้ง

เบื้องล่าง ชุมชน แบ่งปัน น้ำใจ ใช้จริง

เราจะทำอย่างไรให้คันกั้นน้ำแห่งชาติเข้มแข็งแล้วมีพลังที่แท้จริงในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการหน้าฝน หน้าแล้ง ให้เกิดความสมบูรณ์ที่เกิดประโยชน์จริง

สำหรับผมแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศในครั้งนี้ ผมคิดว่าตัวผมเอง มีข้อมูลและองค์ความรู้ไม่พอใช้

ถ้าเรามีกระทรวงไหนสักกระทรวงนะครับ…ที่มีข้อมูลมากองไว้ตรงกลาง แล้วใครจะใช้ก็เอาไปใช้ เอาข้อมูล ข้อเท็จจริงมากองกันเลย แล้วมีนักวิจัย นักศึกษา นักวิชาการ นักสังคม นักวิทยาศาสตร์ นำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างและวิเคราะห์หาสารสนเทศที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน ก็คงจะดีไม่น้อย แบบนี้จะเรียกว่า บูรณาการที่แท้จริง ใครมีข้อมูลที่อมกันไว้ก็เอามาปล่อยๆ กันตรงกลางเป็นหมวดหมู่ มันจะไม่เกิดความปั่นป่วนของข้อมูล แม้แต่ข้อมูลความสูงต่ำของ พื้นที่ กทม.ก็มีหลายชุดมากครับ

การบูรณาการไม่ใช่แค่ พูดว่าองค์กรนี้บูรณาการกับองค์การนี้ นั่นมันแค่เปลือก เราเอาน้ำกับน้ำมันใส่รวมกันแล้วเขย่าๆ แล้วเราบอกว่านี่ละเราได้บูรณาการแล้ว พอตั้งทิ้งไว้สักพัก มันก็แยกชั้นเหมือนเดิม แล้วเราจะเรียกว่า บูรณาการได้อย่างไร? ครับ

สำหรับสถาบันอุดมศึกษา…จริงๆ แล้วน่าจะเป็นการบอกว่า บุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาที่รัก ภาวะตอนนี้คือเราได้หยุดห้องเรียนห้องสี่เหลี่ยมเอาไว้ก่อน แต่เราจะเปิดห้องเรียนสี่เหลียมเป็นห้องเรียนแห่งภาวะวิกฤตที่เราจะร่วมกันแก้ปัญหา เอาความรู้ที่เรียนๆ กันไปมาลองดูซิครับ การสอบของเราครั้งนี้เราจะสอบผ่านหรือไม่ เธอออกไปดูว่าเราจะสกัดองค์ความรู้อะไรมาช่วยกันในยามวิกฤตแบบนี้ มิใช่เพียงแค่การปิดเพื่อต่างคนต่างดูแลชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่ก็มีภาพน่าชื่นชมอีกมากมายในทางกลับกันที่มีกลุ่ม นศ.อาสาหลายคนที่ไม่ลืมสังคมลงพื้นที่มาคิดที่จะร่วมช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาอย่างน่าประทับใจ แม้แต่ในอีกซอกหนึ่งกลับมีการใช้วิกฤตนี้ในการสร้างหน้าตาให้กับตัวเองจนน่าเวทนา แบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายจนน่าเสียดายว่าจากวิกฤตเหล่านี้ควรจะพลิกเป็นการรวมน้ำจิตน้ำใจคนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่กลับมีอะไรไม่น่าพึงประสงค์ที่น่าเศร้ายิ่งนัก มองปัญหาเป็นเพียงเกมแห่งชีวิต

สำหรับสถาบันการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันแหล่งทุน…พวกเราเหล่านักวิจัยได้ร่วมกันตีพิมพ์เพื่อให้ได้ตามจำนวนเปเปอร์ขึ้นหิ้ง เน้นโรงพิมพ์มากกว่าโรงเรือนกันมาแล้วมากมาย ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอางานวิจัยบนหิ้งลงมาทำให้ใช้ได้จริงแล้ว จะร่วมกันทำงานอย่างไรดี พวกเราเหล่านักวิจัยเงินล้าน มาร่วมกันแก้ปัญหาลดการสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนกันอย่างไรดี มีระบบกรองน้ำมันก่อนปล่อยลงสู่ทะเลไหม? มีระบบการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยไปสะสมไว้ที่กุ้งหอยปูปลาในอ่าวไทย ก่อนจะเอามากินกันต่อไปให้สะสมที่เราเพื่อให้เราผลิตตำราทางการแพทย์ในการเอาชนะโรคต่างๆ อีกเป็นทอดๆ อย่างไร น้ำกัดเท้าเราจะสร้างถุงเท้ายางใส่ป้องกันน้ำกัดเท้าอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าให้กับพี่น้องที่ทำงานลุยน้ำอย่างไรดี ที่น้ำไม่เข้าไปกัดง่ามนิ้วเท้าและไม่เปียกอับชื้น คำถามเหล่านี้คือบททดสอบให้กับพวกเราเหล่านักวิจัยด้วยกันทั้งสิ้น เครื่องไม้เครื่องมือสมรรถนะสูงทั้งหลายน้ำยังไม่ท่วมใช่ไหมครับ เรามารันช่วยกันจำลองน้ำท่วมได้ไหมครับอย่างน้อยก็พอจะช่วยกันหาเส้นทางที่เหมาะสมและลดความสูญเสียได้ไม่น้อย หรือเราจะรอให้สภาวะวิกฤตพ้นผ่านไปแล้วค่อยมารอ สถาบันแจกทุนวิจัยของบให้เราร่อนใบสมัครไปอ้อนวอนเพื่อของบมาทำกันแล้วพิมพ์ขึ้นหิ้งกันต่อไปตามระบบเดิม พอระบบใหม่มามันก็ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ผมก็เชื่อว่าแหล่งทุนคงร่อนการบริหารจัดการน้ำกันทั่วประเทศอีก เหมือนๆ กับหลังภัยสึนามินั่นเอง แล้วพอเกิดครั้งใหม่เราก็เป็นแบบนี้อีกร่ำไป เพราะแต่ละครั้งเหตุการณ์ไม่เคยซ้ำเดิม ทุกครั้งที่ผมลงชุมชน หากเราหาคำตอบให้ชาวบ้านไม่ได้มันน่าละอายยิ่งนักครับ

เขียนมาเพื่อทบทวนตัวเองกันครับ ว่าที่เราๆ ทำกันอยู่มันชุดความรู้อะไรท่ามกลางวิกฤตการณ์แบบนี้ เกิดนวัตกรรมเชิงวิกฤตอะไรกันบ้าง

“True success in not in learning, but in its application to the benefit of mankind.”, Prince Mahidol

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์


วิเคราะห์เส้นทางน้ำไหลลงสู่สมุทรสาคร (ก่อนน้ำมา 2P)

12156 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 1:16 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ, เทคโนโลยี, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 66513

เรียนทุกท่าน ที่เคารพครับ

จากที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วครั้งแรกสำหรับน้ำท่วม กทม. จากบันทึก น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2554  สำหรับความถูกต้องว่าใกล้เคียงหรือไม่นั้นทุกท่านคงทราบกันแล้วนะครับจากผลของเส้นทางน้ำไหลครับ เพื่ออาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปปรับใช้ ประกอบการคิดการตัดสินใจก่อนภัยมา (2P = Preparation เตรียมการ + Prevention การป้องกัน) ซึ่งมาแน่นอนครับ แล้วแต่ว่าพื้นที่ไหนจะหนักมากหรือน้อยนะครับ

ก่อนจะดูภาพจำลองภาพแรก ก็ให้ท่านไปดูภาพการไหลของน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA กันก่อนนะครับ

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodAnimGistda2Nov54Big.gif

และภาพล่าสุดจาก GISTDA ของวันที่ 4 พ.ย. 2554

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodVolume-20111104.jpg

มาดูภาพจำลองภาพแรกกันก่อนนะครับ

จากภาพ พื้นที่สีเขียวคือพื้นที่ที่น้ำยังไหลไปไม่ถึงครับ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ท่วม แต่หากมีพื้นที่สีเขียวและล้อมรอบด้วยพื้นที่สีฟ้าจนถึงสีน้ำเงินเข้ม จะเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วม ยกตัวอย่างเช่น ม.มหิดล ศาลายา จากการจำลองพบว่า รอดจากน้ำท่วม เป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ อยู่ด้านซ้ายมือของเลข 3 เหนือเส้นถนนบรมราชชนนี

มาดูกันต่อครับ สำหรับเส้นทางทิศทางน้ำครับ ตามลูกศรสีเหลืองครับ

จากภาพด้านบนนี้ ให้สังเกตพื้นที่บริเวณลูกศรสีเหลืองครับ จะเป็นพื้นที่เส้นทางที่น้ำจะไหลไปและอาจจะติดถนนกั้นตามแนวเว้าของถนนเพราะน้ำจะไหลมาจากด้านบน อาจจะมีบางช่วงของถนนที่น้ำทะลักไหลลงมา จากการจำลองสมมติว่าถนนเส้น บรมราชชนนี เพชรเกษม และถนนพระราม 2 สูงโดยเฉลี่ยจากขอบถนนประมาณ 1 เมตร แต่หากบางจุดถนนสูงกว่า 1 เมตร ก็อาจจะส่งผลให้พื้นที่เหนือถนนเหล่านี้ระดับน้ำสูงกว่าปกติ สำหรับระดับความสูงน้ำท่วม ตั้งแต่ ระดับ 0-200 เซนติเมตร แล้วแต่ว่าจะพื้นที่ ในแบบจำลองอาจจะสูงกว่านี้เพราะบางพื้นที่ลุ่มมากครับ

การวางแผนก็ควรจะพิจารณาพื้นฐานตามลูกศรสีเหลืองเหล่านี้ได้ เพื่อพิจารณาเป็นพิเศษครับ หากจะบริหารจัดการน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วครับ น้ำจะถูกรวมเทลงมาที่ตำแหน่ง อ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อจะไหลออกทะเล และอาจจะไหลเทไปทางตะวันตกของตัว อ.เมืองสมุทรสาคร ด้วย เพราะยังมีแนวถนนพระราม 2 ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ครับ

มาดูภาพต่อไปครับ หากกรณีจะพิจารณาเจาะถนน (ซึ่งต้องระวังมากๆ เพราะอาจจะส่งผลเสียได้มากเช่นกัน อาจจะต้องวิเคราะห์กันให้หนักครับ โดยเฉพาะเส้นพระราม2

ลูกศรเส้นสีเหลืองอยู่ใต้ถนนเส้นสีแดง สำหรับบางพื้นที่เมื่อวิเคราะห์เส้นทางน้ำแล้ว

และมาดูพื้นที่ลงรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ตอนบน กลาง ล่าง ของพื้นที่ ศาลายาจนถึง สมุทรสาคร ครับ

เป็นพื้นที่ส่วนบนครับ

เป็นพื้นที่่ส่วนกลาง

พื้นที่ส่วนล่าง

พื้นที่ตอนล่าง ติดกับพื้นที่ทะเลครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังฟื้นฟู R (Recovery) ทุกท่านที่กำลังเผชิญภัย R (Response) และ ทุกท่านที่กำลังจะเจอภัย ก่อนภัยมา 2P ตามนโยบายของรัฐบาล เราจะพบว่าพื้นที่ของเราประสบการณ์จริงนั้นบอกเรามากกว่าทฤษฏีใดๆ ในหนังสือ ก่อนภัยมา ขณะภัยเกิด และหลังภัยผ่าน (กขล. ไก่ไข่ลิง) สิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดในช่วงนี้คือ น้ำใจ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ทำใจ เผื่อใจ และอย่าลังเลใจที่จะวางแผนในการเผชิญภัยนะครับ

สำหรับการที่จะนำพาน้ำเหล่านี้ออกสู่ทะเลนั้น ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาไปจนถึง กลางธันวาคม ครับ ซึ่งเป็นการกะประมาณนะครับ แก้ปัญหาได้เสร็จก่อนหน้านี้ก็ถือว่ายอดมากๆ นะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องสูบน้ำจะทำหน้าที่เต็มที่ขนาดไหน และมีหลายพื้นที่ที่อาจจะเป็นน้ำค้างทุ่ง ซึ่งทำได้โดยสูบน้ำออกจะวางแผนอย่างไรที่จะสูบน้ำออกในขณะที่ยังมีน้ำรอบๆ บริเวณนั้น ซึ่งจะดีกว่ารอให้รอบๆ แห้งก่อนแล้วค่อยสูบออกครับ ซึ่งก็คงจะไม่ใช่การสูบใส่รถไปทิ้งในคลองครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายครับ ผมหวังว่าการเมืองจะไม่ทำให้น้ำใช้เวลาไหลมากกว่าที่ธรรมชาติของน้ำที่ควรจะไหลครับ

ภาพเคลื่อนไหวจากการจำลองครับ

หากท่านทราบข้อมูลระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ ท่านจะสามารถช่วยกรอกข้อมูลระดับน้ำได้ที่

http://flood.pbwatch.net เพื่อนำมาประกอบกับการจำลองพื้นที่น้ำท่วมกันต่อไปครับ

ด้วยมิตรภาพและกราบขอบพระคุณมากครับ

สมพร ช่วยอารีย์

ปล.สิ่งที่วิเคราะห์ข้างบนอาจจะผิดจากความเป็นจริง ขอให้ท่านอ่านด้วยความสงสัยเพื่อนำไปใช้ในการเฝ้าระวังในการแก้ปัญหาครับ


น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ

อ่าน: 61614

เรียนทุกท่าน

======================= ภาพล่าสุดจากการจำลอง อัพเดต 27 ต.ค. 2554 เวลา 18.02 น. =======================

สมมติฐานของการจำลอง

1. คันกั้นน้ำสูง 3 เมตร จากระดับความสูงของพื้นดิน และสมมติว่าคันกั้นน้ำนั้นมีความแข็งแรงมาก

2. ปล่อยน้ำไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ จากทางทิศเหนือของ กทม.

ต้องการจะดูว่า จุดตรงไหนบ้างที่น้ำจะล้นและทะลักเข้ามาด้านในของคันกั้นน้ำบ้าง ท่านจะสามารถเห็นจุดน้ำล้นคันกั้นน้ำได้ เพื่อวางแผนการจัดการเสริมคันกั้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ไม่ใช่ดีที่สุดก็ตาม

ภาพนี้จากแถบสีเป็นดังนี้

สีฟ้า - น้ำสูง น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
สีเหลือง - น้ำสูง 20-50 เซนติเมตร
สีส้ม - น้ำสูง 50-100 เซนติเมตร
สีแดง - น้ำสูงเกิน 100 เซนติเมตร

เนื่องจากโปรแกรมมีการปรับค่าสีตามความลึก เทียบกับความลึกสูงสุด อาจจะทำให้ความลึกเทียบกับสีคลาดเคลื่อนได้บ้าง

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ เพื่อนำไปเปิดด้วย Google Earth ได้ครับ เพื่อดูสถานการณ์ของพื้นที่เชื่อมโยงกับข้อมูลเขตและถนนครับ

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKFloodSimLatest.kmz

ข้อมูลความสูงต่ำของพื้นที่ กทม. และพื้นที่รอบนอก

สีเขียวอ่อน สูงจากระดับน้ำทะเล 1-2 เมตร
เขียวเข้ม สูงจากระดับน้ำทะเล 2-5 เมตร
น้ำตาล สูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 5 เมตร
ลองเทียบๆ ดูเองได้นะครับ
สำหรับสีฟ้าม่วงคือ พื้นที่น้ำครับ

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ นำไปเปิดด้วยโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ ได้จาก

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKElevation.kmz

============================================================================

ผมกำลังจำลองโมเดลอยู่ต่อในขณะนี้ แต่ผลยังไม่เรียบร้อยจึงขอวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำที่จะไหลเข้า กทม. ไว้ดังรูปต่อไปนี้ครับ

จากประสบการณ์ผมที่เล่นและจำลองอยู่กับน้ำเค็ม น้ำในแม่น้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำท่วม จึงขอเขียนจุดที่ควรจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามลูกศรสีเหลืองเหล่านั้นครับ เพราะน้ำเป็นของเหลวที่มีพลัง นิ่มนวล อ่อนโยน รวมพลัง มีพลัง หมัดหนัก แยกกันเราลด รวมกันเราสูง และน้ำเป็นคลื่นที่เลี้ยวได้

และในขณะเดียวกัน การมีคันกั้นน้ำแนวขวางจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการพังทลายของคันกั้นน้ำได้ง่าย เมื่อแตกเพียงจุดเดียวเล็กๆ น้ำนิ่งๆ จากพลังงานศักย์ที่รอจะเป็นพลังงานจลน์นั้นจะแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที จากน้ำไหลในทุ่งจะแปลงพลังเป็นสึนามิทุ่ง ได้สบายๆ จินตนาการดูจากคนทำนา เคยกั้นน้ำไว้ในบึงนา แล้วเราทำร่องน้ำไว้ดักปลาดักกุ้ง ขนาดน้ำลึกแค่เข่ายังทรงพลังขนาดนั้น อันนี้น้ำสูงเป็น 1-3 เมตร จะทรงพลังขนาดไหนครับ

จากภาพคันกั้นน้ำ แนวกั้นน้ำทั้งหลาย พบว่า กทม.มีจุดเสี่ยงจากแนวทางที่จะโดนถูกโจมตีในครั้งนี้ ตามลูกศรเส้นสีเขียว โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกมีความเสี่ยงมาก (ผมพูดบนพื้นฐานที่ผมไม่รู้ว่าคันกั้นน้ำมีความแข็งแรงขนาดไหนครับ) แต่ถือว่าจุดนี้เป็นจุดอ่อนเหมือนที่เราเคยเห็นภาพอนุสาวรีย์ชัยเคยโดยน้ำท่วมแล้วมีคนพายุเรือ จำได้ไหมครับ ผมเชื่อว่าน้ำทะลักได้ง่าย เพราะตรงตำแหน่งนี้ น้ำจะถูกอุ้มได้คันกั้นสีแดงเหล่านั้น มันจะย้อยเป็นรังผึ้งและรวมพลังเข้าไว้เพื่อจะพังกำแพงเหล่านั้นในการโจมตีฝั่งตะวันตกได้ง่าย สำหรับทางออกผมคิดว่า เราไม่ควรจะมีแนวกั้นตามขวาง และแนวรังผึ้งห้อยตรงนั้น กั้นในแนวเหนือใต้คงจะดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยกับชาวบ้านใต้คันกั้นน้ำสีแดงแนวขวางด้านตะวันตกของ กทม. เพราะว่าตรงนั้นหากปล่อยน้ำไป น้ำจะค่อย ไหลลงไป แต่หากคันกั้นน้ำแตกคราวนี้จะเสียหายมากกว่าเดิมครับ

สำหรับแนวลูกศรทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นจุดเปราะบางเช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วมีแนวถนนและคันกั้นน้ำอีกเส้น แต่ผมไม่ได้ใส่ไว้ในภาพ ซึ่งจะเป็นการเชิญน้ำเข้า กทม.ได้ในทิศทางลูกศรเส้นนี้เช่นกัน ทางออกคือให้เอาออกจะดีที่สุดจะทำให้น้ำไหลลงด้านล่างได้ง่ายขึ้น แทนที่น้ำจะวิ่งเข้าไปโจมตี กทม.ด้านทิศตะวันออก ในขณะเดียวกันน้ำจะหักล้างกับทิศทางน้ำจากทิศตะวันออกจากปราจีนด้วยน้ำทางทิศเหนือที่ไหลลงมาจากปทุมธานี หรือนครนายกครับ

สำหรับรัฐบาล กระผมคิดว่า รัฐบาลน่าจะมีการประกาศหยุดเช่น 20 วัน ในเขตน้ำท่วม เพื่อให้คนเดินทางกลับเท่าที่จะทำได้ครับ แล้วรัฐจะมีโอกาสในการจัดการบริหารน้ำให้ไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น ป้องกันการสูญเสียชีวิตน่าจะคือเป้าหมายมากสุด ส่วน โรงพยาบาลหรือตึกตรงไหนที่รับคนไปพักได้เป็นเบื้องต้นก็ควรจะทำ ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลคนที่ป่วยอะไรได้ชัดขึ้น คนปกติก็อาจจะไปพักบ้านญาติหรือมีจังหวัดใจบุญรอบนอกทำหน้าที่รับดูแลพี่น้องที่ได้รับผลจากน้ำท่วมก็คงจะดีครับ

เศรษฐกิจคงไม่เสียหายไปมากกว่านี้แล้ว ตอนนี้การป้องกันน้ำทำได้แค่เฝ้าระวังคันกั้นน้ำไม่ให้พังและเสริมครับ แต่เมื่อแตกแล้วกู้ยากมากครับ หรือไม่ก็จะกู้ได้ก็ต่อเมื่อน้ำไหลเข้าไปในพื้นที่จนน้ำเกือบนิ่งแล้วครับ ทำอย่างไรจึงจะระบายน้ำได้เร็วและคนไม่เสียชีวิตครับ ผมถือว่าการที่คนไม่เสียชีวิต หรือเสียน้อยสุดเป็นการดีที่สุดครับ

และประเด็นนี้คงเลิกคิดสีธง สีเสื้อ สีเชื้อ สีผิว สีพรรคกันได้แล้วครับ ถ้าถอดเสื้อออกให้หมดก็จะพบว่าคุณคือคนไทยเหมือนๆ กันครับ

ถัดจากนี้ เราคงทำงานร่วมกันมากขึ้น น้ำท่วมครั้งนี้เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า บูรณาการกันมากขึ้น

แต่ละกระทรวงคงต้องให้ความรู้คนมากขึ้น ติดอาวุธทางปัญญากันมากขึ้นครับ ชีวิตใครใครก็รัก แต่การรักชีวิตตนเองและรักชีวิตผู้อื่นด้วยเป็นสิ่งประเสริฐ เราไม่สามารถจะอยู่ในสังคมนี้เพียงแค่ตัวเราผู้เดียว เห็นหัว เห็นใจ เห็นปัญญา เห็นความดีของกันและกัน ลิงยังอุ้มลูกสุนัขหนีภัยเลยครับ แล้วเราจะไม่อุ้มคนที่เป็นคนได้อย่างไร?

จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงแค่นี้ครับ

ด้วยความเป็นห่วงและด้วยมิตรภาพ

คนไทยคนหนึ่ง

====================================================================

จากวิเคราะห์ภาพจำลองจากโมเดลด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D ซ้อนกับโปรแกรม Google Earth ดังผลต่อไปนี้ พร้อมทิศทางเสี่ยงต่าง ๆ ในสามทิศทางใหญ่ๆ ดังทิศทางลูกศรสีเขียว

หรือภาพรายละเอียดดังต่อไปนี้

รายละเอียดทิศทางน้ำกรณีน้ำล้นหรือคันกันคลื่นแตกในสองทิศทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ กทม.

และรายละเอียดทิศทางที่มีความเสี่ยงในทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือของน้ำจาก อ.บางใหญ่ ไหลเข้าพื้นที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรณีที่แนวกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถรับแรงน้ำได้

ถ้าทิศทางของน้ำในสามทิศเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ อาจจะส่งผลให้เกิดการรวมกันของน้ำทั้งสามทิศมารวมกันเพื่อไหลออกอ่าวไทย ซึ่งในภาวะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากหากน้ำล้นริมตลิ่ง

หมายเหตุ… ผลที่ได้จากการจำลองนี้เป็นผลจากโมเดลที่ใช้สมการ Shallow Water Equation ด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D (  http://www.youtube.com/watch?v=HwS212eBDL8  ) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการระบายน้ำลงสู่ทะเลในโอกาสต่อ

============================ ภาพเคลื่อนไหวครับ ============================

http://www.youtube.com/watch?v=AWPOR6lHKww

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์



Credits : ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่น้ำท่วมจาก GISTDA, Google Earth, ESRI, VirtualFlood3D by Anurak Busaman and Somporn Chuai-Aree, ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, แหล่งข้อมูลจากทีวี TPBS, Nation


ความคิดโง่ๆ ของผม ที่คิดว่าน่าจะช่วยภัยแล้งน้ำดื่มได้บ้าง

15909 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 12 เมษายน 2011 เวลา 2:37 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, การเกษตร, ธรรมชาติ #
อ่าน: 108582

สวัสดีครับทุกท่าน

หลังจากเจอภัยพายุดีเปรสชั่นในพื้นที่เมื่อปลายปีก่อน ก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านบ้างสักเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะช่วยได้จากก้อนสมองที่พอมี ทำให้เราได้ทบทวนบทบาทของตัวเรา บทบาทขององค์กร บทบาทของนักวิชาการที่มีต่อสังคม ในขณะที่อีกโลกหนึ่งกำลังปั่นผลงานต่างๆ กันอย่างบ้ากระห่ำเพื่อดันให้มีพลังทางภูมิปัญญากัน ภาคใต้เจอน้ำท่วมอย่างไม่คาดคิด หรือคาดฝันว่าจะท่วมได้ในช่วงต้นของหน้าร้อน ประมาณว่าลอยกระทงวันสงกรานต์ มันขัดแย้งในความน่าจะเป็นที่จะเกิดแต่พอเกิดมันเกิดเต็มร้อย ว่าไปแล้วธรรมชาติก็ไม่ได้รับรู้หรอกว่า เดือนไหนเป็นมกราคม เมษายน ไม่ได้รู้หรอกว่านี่คือเอเชีย อเมริกา ไม่ได้รู้หรอกว่านี่ฤดูกาลอะไร คนเราตั้งค่าเรียกเอาเองทั้งนั้น จนคิดว่าคงใช่แล้วจากการสังเกตบ้างตั้งทฤษฏีไรต่างๆ มากมายเพื่อให้ข้อสังเกตของตนเองนั้นมีคนเชื่อ แต่พอสภาพบริบทเปลี่ยนสิ่งที่เคยตั้งไว้จึงเปลี่ยนแนวทาง เริ่มผิดจากที่เคยตั้งข้อสังเกต จากอิสานเคยท่วมขังยาวนานนับเดือนก็หายไปในที่สุดตอนนี้ก็แล้งแห้งกันตามบริบทของอิสานกับภาพความแห้งแล้ง

ผมเลยจึงตั้งข้อสังเกตแบบโง่ๆ จากคนที่ไม่เคยไปอิสานว่าหากเป็นผม ผมต้องแก้ไขให้คนมีน้ำดื่มก่อนเป็นสำคัญ การที่เราจะทราบอยู่แล้วว่าหากฝนตกน้ำจะท่วม พอฝนไม่ตกพื้นที่จะแล้งแห้งในหลายพื้นที่ ผมเลยไม่แน่ใจว่า หากเราเอาน้ำใส่โอ่งไว้ปิดฝาไว้สักห้าใบสิบใบรอบบ้าน เชื่อมแต่ละใบให้น้ำไหลไปมาถึงกันได้ รับน้ำจากหลังคาจากโอ่งเดียวแล้วให้ระบบมันปรับของมันเอง แล้วต่อก๊อกไปใช้น้ำ  การจะมีโอ่งสักห้าใบหรือสิบใบ หรือกี่ใบนั้น เราก็น่าจะมีการเก็บข้อมูลว่า ช่วงแล้งยาวนานที่สุดในรอบปีนั้นกี่เดือน เช่น สี่เดือนฝนจะไม่ตกเลยติดต่อกัน ถือว่าน้ำในโอ่งไม่มีการเติมลงไปเลยจากน้ำฝน เรามีสมาชิกกี่คน คนนึงใช้น้ำดื่มวันละเท่าไร ลองคำนวณดูเล่นๆ ดูว่าน้ำดื่มในช่วงสี่เดือนต้องการสักเท่าไร แล้วบวกเพิ่มไปให้อยู่ได้อีกสักเดือนเผื่อไว้  ผมเชื่อบนฐานว่าไม่ว่าจะร้อนสักแค่ไหนจากสภาพอิสาน น้ำในโอ่งฝาปิดน่าจะยังไม่เหือดแห้งเหมือนน้ำบ่อหรือน้ำจากห้วยแม่น้ำเป็นแน่  อย่างที่บ้านผมคำนวณดูแล้วโอ่งเจ็ดใบใช้ได้สบายทั้งปี เพราะช่วงแห้งแล้งยาวนานน้ำไม่หมด ส่วนหน้าฝนก็จะมีน้ำเติมเต็มตามโอกาสที่ฝนตก

หากบอกว่าชาวบ้านยากจนไม่สามารถซื้อโอ่งได้ ผมคิดว่าเราเสียเงินไปกับมือถือ กับอะไรต่ออะไรกันเยอะไปหมดเราน่าจะเก็บหอมเพื่อสิ่งนี้เพราะชีวิตเราเจอภัยพิบัติมือถือใช้ไม่ได้ก็ไม่ตาย แต่หากอดน้ำ(แม้ว่าน้ำจะท่วมแต่ขาดน้ำดื่ม) เราก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นน้ำดื่มนับว่าสำคัญมากๆ สำหรับชีวิต ผมจึงคิดว่าภาวะแล้งแห้งในอิสานน่าจะมีวิธีการ เวลาดูข่าวในทีวีแล้วเศร้า ผมคิดว่าน่าจะมีวิธีการอื่นไม่ว่าจะแผนอะไร แทนที่รัฐจะมานั่งแจกน้ำเอาเวลาไปส่งเสริมด้านอื่นต่อไปก็น่าจะดีกว่าครับ

ที่นำเสนอเหล่านี้เป็นความคิดโง่ๆ ของผมที่คิดว่าพอจะช่วยได้บ้างในเบื้องต้นครับ โอ่งหรือปล่องน้ำสามารถทำได้ จะออกแบบให้อยู่บนดินทั้งหมดหรือว่า ฝังดินครึ่งเหนือดินครึ่งก็ทำได้ครับ น้ำส่วนหนึ่งก็จะเย็นครับ

เราน่าจะอยู่กับความรู้ฉบับลมหายใจตนเองเป็นสำคัญครับ เราอาจจะต้องหายใจเข้าปอดด้วยตัวเราเองแล้วเราจะอยู่ได้ครับ เครื่องช่วยหายใจไว้ใช้เป็นทางสุดท้ายครับ

ด้วยความเป็นห่วงครับ


อยู่แฟลตก็สุขได้…ง่ายๆ…เรียบๆ

9661 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 26 กรกฏาคม 2010 เวลา 10:03 (เช้า) ในหมวดหมู่ Uncategorized, การเกษตร, ธรรมชาติ, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 90478

สวัสดีครับทุกท่าน

สบายดีกันนะครับ วันนี้หยุดวันสำคัญทางพุทธศาสนาครับ ไม่ได้กลับบ้านครับเพราะต้องเร่งจัดการงานที่ผ่านมาแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปครับ แต่ก็ขอพักสักหน่อยด้วยการเขียนบันทึกสักนิดครับ ช่วงนี้สบายใจกับระเบียงป่า ให้ระเบียงพึ่งพาตนเอง ใส่ปุ๋ยให้ตนเอง พึ่งพาและเลื้อยเองตามธรรมชาติ นกทำรัง มาขับร้องเพลงในตอนเช้าๆ เพื่อปลุกให้ตื่นก่อนหกโมงเช้าครับ ใบไม้ตกลงมาก็เก็บๆ ไปใส่ไว้ในกระถางต่อให้เค้าย่อยของเค้าเป็นแบบนั้น ผมสนับสนุนในช่วงนี้เฉพาะระบบน้ำยี่ห้อแฮนดี้แมนซึ่งก็ทำงานได้ดีมากเลยครับ มีเมล็ดพืชบางชนิดไม่ได้รับเชิญก็ขึ้นอีกหลายต้น ก็ปล่อยให้งอกอย่างนั้นละครับ เพราะคำว่าป่าเราคงไม่ต้องไปถอนหรือถางเค้า เก็บกินเอาเฉพาะที่มี ช่วงนี้ต้นแปะกำปึง เค้าบอกว่าบำรุงหัวใจ ก็ใช้แก้ขัดได้ละครับเวลาไม่มีผักเหนาะครับ ผมเคยนิยามไว้ว่า ผักสวนครัว ระเบียงกินได้ มาถึงวันนี้ระเบียงก็กินได้ครับ มีขนุนด้วยสองต้นครับ แต่คงไว้ที่ระเบียงไม่ได้เว้นแต่จะทำระบบกระถางใหม่ครับ เพิ่งถอยโมกมาใหม่สองต้น ถอยมาได้ก็ตั้งไว้ปากทางเข้าประตูบ้านแต่แสงน้อย พร้อมกับไม่อยู่ไปภูเก็ตห้าวัน ก็เลยยกไปไว้ที่ระเบียง อยู่ได้สามวันเจ้าของต้นไม้ตัวจริงก็มาทำรังทันที เค้าทำแบบไหนไม่แน่ใจเร็วจริงๆ ไว้โอกาสหน้าผมจะตั้งกล้องวีดีโอไว้ ทำสารคดีนกที่ระเบียง อิๆๆๆ และซื้อมะกรูดมาสองต้น และส้มจี๊ดหนึ่งต้นครับ

อ่านต่อ »


ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ยามสุริยันต์ทรงกลด

9622 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 2 มีนาคม 2010 เวลา 12:22 (เช้า) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 41313

สวัสดีครับทุกท่าน

เป็นความประจวบเหมาะพอดีที่ได้รับโอกาสนี้ และจอดพลายงามเพื่อชมความงามในวันสำคัญอีกวัน ก่อนจะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถ่ายด้วยกล้องแบบไม่ได้รู้นะครับ ว่าตำแหน่งอยู่ตรงไหน ก็ถ่ายสุ่มๆ เอาครับ เลยนำมาฝากทุกท่านในที่นี่ด้วยครับ

ความงามมีอยู่เต็มไปหมดครับ จากสิ่งที่เราเห็นหนึ่งสิ่งจากหลายๆ ตาก็เห็นหลายๆ แบบ แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกๆ แบบก็รวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน

ด้วยความปรารถนาดีและมิตรภาพครับ

เม้ง


ผักสวนครัว ระเบียงพอเพียง

664 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 24 ตุลาคม 2009 เวลา 2:40 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา, การเกษตร, ครอบครัว, ธรรมชาติ #
อ่าน: 6041

สวัสดีครับทุกท่าน

ผ่านไปหลายเดือนไม่ค่อยได้เขียนบทความบ่อยนักครับ วันนี้ถือโอกาสวันก่อนเปิดเทอมจึงขอนำเสนอความสุขเล็กๆ น้อยๆ กับชาวแฟลต ระเบียงพอเพียง

จากเคยนำเสนอ

มาวันนี้…. กาลเปลี่ยนมีพัฒนาการ

จากเป็นเมล็ด เริ่มแตกใบ ใต้เงาร่มระเบียงแฟลตนี้

รากที่ฝังลงกระถางใบนี้ ชีวิตนี้ไม่เคยอดตาย

เติบโตเต็มตาม ต้นใหญ่นั้น ร่มเงาใบงามสุขใจ

หลากชีวิตเรา หมุนเวียนเปลี่ยนไป ใต้ระเบียงไม่ใหญ่ แห่งนี้……

ด้วยมิตรภาพครับ

เม้งครับ


ผักสวนครัวระเบียงเริ่มกินได้

อ่าน: 7725

สวัสดีครับญาติมิตรพี่น้องทุกท่าน

วันนี้ตื่นมาตอนเช้าก็หยิบกล้องมาถ่ายวงศาคณาพืชที่ระเบียง มีระเบียงอยู่สองส่วน ตอนนี้โดนครอบครองไปด้วยต้นไม้เรียบร้อยแต่การจัดสรรพื้นที่อาจจะยังไม่ลงตัวเท่าที่ควรครับ แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่เอามาปลูกต่อจากที่ซื้อมาจากตลาดครับ นี่ละความงามของการได้อยู่ของประเทศไทย แม้ว่าจะปลูกในกระถางก็ธรรมชาติ เทวดาช่วยดูแลเป็นอย่างดีครับ ต่างจากการปลูกที่เยอรมันครับ ที่จะต้องคอยโยกย้ายแม้แต่การให้น้ำก็ต้องคิดก่อนว่าน้ำที่ให้มันเย็นจัดไปหรือว่าอุ่นจัดไป ต้องคิดถึงใจของรากต้นพืชก่อน ส่วนบ้านเราไม่ต้องคิดมากเพราะสภาพมันโอเคของมันอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเหลือแต่ทำเท่านั้นหากทำแล้วก็ได้ผลออกมาเอง

มาดูต้นพืชต่างๆ สนุกๆ นะครับ เพราะเป็นการปลูกในระเบียงแบบมือสมัครเล่น พอเห็นอะไรแพงที่ผมซื้อมาจากตลาดผมก็เอามาปลูกเสียเอง ส่วนจะได้กินไม่ได้กินไม่ใช่ปัญหา อย่างน้อยใจเราก็ยังมีสีเขียวอยู่บ้างที่ยังปรารถนาจะดูอะไรเขียวๆ ข้างๆ ระเบียงห้อง ดีกว่าเห็นแต่กำแพงอย่างเดียว ว่างๆ ได้ผลพลอยได้มีรังนกและลูกนกให้เรามาดูแลทักทายตามโอกาสครับ

ต้นพืชที่มีอยู่ในระเบียงก็มีหลายๆ ชนิดมากขึ้นครับ เช่น ต้นกล้วยบัว ตำลึง ฟักทอง เล็บครุฑ ยอดมันปู โมก เล็บมือนาง พริกขี้หนู บัวบก โหระพา ทับทิม เตยหอม ชวนชม เฟื่องฟ้า

ที่ยังไม่ได้ลงกระถาง ก็มีขมิ้น ตะไคร้ มะเขือ และอื่นๆ ครับ

เคยคิดจะเลี้ยงปลาดุกด้วยครับ อิๆๆ แต่ระงับโครงการไปก่อนครับ อิๆๆ

คนเราคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก ส่วนต้นไม้นั้น คับที่ก็อยู่ได้แต่ไม่โต แต่พอมีที่พอดีสารอาหารพอดี น้ำพอดี เค้าจะโตได้ดี

ประเทศไทยไม่ได้ขาดคนเก่งหรอกนะครับ เพียงแต่โอกาสในการให้คนแสดงฝีมือมันอาจจะแตกต่างกันไป แม้แต่โอกาสและเวทีในการแสดงออกของเด็กก็จำเป็นต้องสร้างเวทีให้กับเด็กครับซึ่งสำคัญมากเช่นกันครับ

ด้วยมิตรภาพครับ

เม้ง


The Cherry TeamWork Algorithm

อ่าน: 7569

สวัสดีครับทุกท่านครับ

เมื่อวานไปทดสอบสมรรถภาพความเป็นลิง…. เลยได้อัลกอริทึมใหม่มาอีกชื่อนึงครับ

ท้ายสุดได้มาหนึ่งกะละมังครับ ทิ้งให้ลืมต้นสักหน่อยเดี๋ยวหวานกว่านี้ครับ เลยเอามาแบ่งๆ ชาวลานปัญญากันนะครับ

สิ่งที่เรียนรู้ อ่านต่อ »



Main: 1.0779378414154 sec
Sidebar: 0.22519016265869 sec