รู้รักสามัคคี - Our loss is our gain
อ่าน: 6561พระราชดำรัส ที่ทรงเรียบเรียงและปรับปรุงขึ้นจากที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
วันพุธ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔
๑ ขอขอบใจท่านนายก ฯ (นายอานันท์ ปันยารชุน) ที่ได้อำนวยพรในนามของทุกๆ ท่านที่ได้มาในวันนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่าแต่ก่อนนั้น เวลามีโอกาสเช่นนี้ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน แม้จะมีผู้เข้าพบจำนวนมากพอใช้ ก็ได้ทักทายทุกคณะ เป็นอันว่า แต่ละคนๆ เขาได้ให้พร. แต่เดี๋ยวนี้ โดยที่จำนวนทวีขึ้นมาก ถ้าทำเช่นนั้น ก็ไม่มีทางที่จะเสร็จได้ภายในวันนี้. แต่ก่อนนี้ หลังจากพิธีในวัง ก็ได้มาพบกับท่านที่มาให้พร. โดยมาก ก็ไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน เพราะว่าต้องรับแขกตั้งแต่เที่ยงจนถึงบ่ายสี่โมง แล้วบ่ายสี่โมงครึ่ง ก็ต้องไปงานพิธีในวังอีก.
๒ อย่างในวันนี้ถ้านับดู หากไม่มีนายก ฯ มาบรรเทาความเดือดร้อน ก็จะทำให้ต้องเสียเวลามากมายเพราะว่าเวลาพบคณะหนึ่งก็จะต้องรับพร. ถ้าเขาเริ่มต้นด้วยคำ “ขอเดชะ…” คูณด้วย ๓๐๐ คณะ ก็จะใช้เวลา ๑๕ นาที เฉพาะสำหรับ “ขอเดชะ….” แล้วต่อไปเขาก็จะต้องว่า “ข้าพระพุทธเจ้า…ชื่อนั้นๆๆ…ขอถวายพระพร.” ชื่อนั้นๆๆ…ก็กินเวลาอีกประมาณ ๑๕ นาที. แล้วต่อไป ก็จะต้องว่า “ขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญ” แล้วบางทีเขาก็พูดติดลมต่อไปอีกมากมาย. และต่อจากนั้นเขาจะต้องว่า “ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ” ก็กินเวลาไปอีก ๑๐ นาที. ตอนที่เขาพูดเสร็จแล้ว เราก็จะต้องมีอัธยาศัยไมตรี. อย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องบอก “ขอบใจ”. คำว่า “ขอบใจ” นี้จะใช้เวลาไปอีกประมาณ ๑๐ นาที คือ “ขอบใจ” ๓๐๐ ครั้งก็ ๑๐ นาที. นอกจากนั้น เราก็ควรมีอัธยาศัยไมตรีมากกว่านั้นเพราะว่าเมื่อเจอคนโน้นคนนี้ ก็จะต้องทักทายกันบ้าง. “โอ้ไม่ได้พบมานานคุณเสนาะ (นายเสนาะ อูนากูล รองนายกรัฐมนตรี) สบายดีหรือ” อะไรอย่างนี้ ก็จะต้องใช้เวลาไปอีก. รวมแล้ว เวลาจะล่วงไปอย่างน้อยที่สุด ๑ ชั่วโมงครึ่งในการทักทายปราศรัย ไม่นับเวลาเดินด้วย มิฉะนั้นงานอาจไม่เกิดอัธยาศัยไมตรี. การพูดว่า “ขอบใจ” เฉยๆ อาจไม่พอ ก็จะต้องพูดจาอะไรมากกว่านั้น.
๓ คราวนี้ท่านทั้งหลายได้มอบฉันทะให้นายกรัฐมนตรีกล่าวแทน. และคำกล่าวของนายก ฯ ทำให้คิดออก ว่าควรจะพูดเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งมีมากหลาย. บางเรื่องอาจพาให้พูดสวนทางกับหลักวิชาการก็ได้. แต่เรื่องที่สำคัญก็คือการทำมาหากินของประชาชนคนไทย ซึ่งต้องให้มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย มีการปกครองที่มีความเป็นธรรม. ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ จะต้องอาศัยหลักวิชาทั้งนั้น แต่บางทีหลักวิชานั้นเราไปเอาตัวอย่างมาจากแหล่งที่มีสภาพการณ์ไม่เหมือนกับประเทศของเรา. ยกตัวอย่างในเมืองไทย เดี๋ยวนี้ แต่งตัวชุดสากลแบบนี้ ก็ร้อน ไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศของประเทศไทย แต่ก็ได้ดัดแปลงไปบ้าง มิให้เครื่องแต่งตัวเหล่านี้ร้อนเกินไป. แต่ถ้าอยากแต่งชุดเสื้อหนากันหนาวหรูๆ ก็จะต้องสร้างโรงหรือห้องที่เย็นจัด. ปัจจุบันนี้เครื่องเย็น บางแห่งก็หนาว จนกระทั่งต้องใส่เสื้อกันหนาว นับว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ที่จะทำความเย็นให้มาก จนกระทั่งต้องใส่เครื่องแต่งตัวที่ป้องกันความหนาวในประเทศที่ร้อน. ความสิ้นเปลืองเช่นนี้ทำให้เสียเศรษฐกิจเหมือนกัน.
๔ ในเรื่องอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน ระเบียบการหรือวิชาการต่างๆ ที่นำมาใช้บางทีก็ไม่เหมาะสมกับสภาพของประเทศ หรือนิสัยใจคอของคนไทย. ทั้งนี้จะพูดได้มากมายอย่างยืดยาว หลายเรื่องหลายราว ตลอดจนถึงเรื่องว่าวันนี้เป็นวันที่ต้องเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม เพราะทางราชการได้ประกาศ ว่าเป็น “วันสิ่งแวดล้อม”. แต่วันนี้จะไม่พูดถึงสิ่งแวดล้อม เพราะว่าพูดมามากแล้วเมื่อ ๒ ปีก่อน. ถ้าพูดมากเกินไปเดี๋ยวจะเป็นอันตรายแก่ตัวเอง เพราะว่าจะมีคนคัดค้าน. ความจริง เมื่อวานซืนนี้ได้พบกับผู้ใหญ่ทางสหประชาชาติ ท่านเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก้ คือองค์การศึกษาและวัฒนธรรมของสหประชาชาติ. (นายเฟเดริโก มายอร์ ผู้อำนวยการ) ท่านได้พูดถึงวิธีแก้สิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้ามาเผยในที่นี้ อาจมีเสียงเอะอะขึ้นมา จากบางท่าน บางพวกที่เป็นนักวิชาการ. แล้วก็อาจเลยเถิดไปจนเกิดการเดินขบวนคัดค้านไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล หรือจะไปที่ไหนก็ไม่ทราบ. นึกว่าจะพูดที่จะพูด แต่จะ… จึงไม่พูด ไม่พูดเพราะว่าอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนเปล่าๆ.
๕ อีกอย่างหนึ่งที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ ก็ได้พูดแล้ว ท่านก็คงได้ฟังแล้ว ได้พูดเมื่อวานนี้เองในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์. ตอนแรกได้พูดว่าคนไทยเรา ที่รักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้ก็โดยอาศัย การที่ “รู้จักความสามัคคี และรู้จักทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ประสานส่งเสริมกัน”. ความจริงเขียนไว้ว่า “รู้รักความสามัคคี”. เดิมเขียนว่า “รู้รักสามัคคี” แต่กลัวว่าถ้าพูดผิดวรรคตอนเป็น “รู้รักสามัคคี” ก็จะกลายเป็น “รู้รักษา” แล้ว “มัคคี” ก็จะไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร ก็เลยเติมคำ “ความ” เข้าด้วย แต่เวลาอ่านตามันลาย เพราะเหตุว่ายิงปืนสลุต แล้วควันของปืนสลุตมันตามลมมา มาเข้าตา ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ต้องถามอธิบดีกรมอุตุนิยมฯ ว่าทำไมลมมันเกิดเปลี่ยนทิศมาอย่างนั้น. แต่ว่าลมมันเปลี่ยนทิศมา ทำให้ควันของสลุตของทหารปืนใหญ่มาเข้าตาเลยทำให้อ่านว่า “รู้จักความสามัคคี.” ความจริงเขียน “รู้รักความสามัคคี” และก็ควรจะอ่านว่า “รู้รักความสามัคคี”. ที่เขียนไว้อย่างนั้นเพราะว่า คนไทยนี้ ความจริง “รู้รักสามัคคี” ถึงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้. ถ้าไม่รู้ “รู้รักสามัคคี” อยู่ไม่ได้.
๖ แต่ก่อนนี้เมื่อ ๔๐ หรือ ๕๐ ปีก่อน ประชากรของประเทศไทย มีประมาณ ๑๘ ล้าน เดี๋ยวนี้มีมากขึ้นสามเท่า มีมากกว่า ๕๔ ล้าน จวนจะ ๖๐ ล้าน. การที่จะ “รู้จักสามัคคี” ก็ลำบากมาก เพราะคนมากๆ รู้จักกันทั่วถึงไม่ค่อยได้. แต่ “รู้รักสามัคคี” ควรจะใช้ได้ เพราะหมายความว่า ทุกคนถือว่าตนเป็นคนไทย มีอะไรเกิดขึ้นก็ตามทุกคนรู้ว่าต้องมีความสามัคคี. “รู้” ก็คือ “ทราบ” ทราบความหมายของสามัคคี “รัก” คือ “นิยม” นิยมความสามัคคี. เพราะเหตุใดคนไทยจึง “รู้รักสามัคคี” ก็เพราะคนไทยนี่ฉลาด ไม่ใช่ไม่ฉลาด คนไทยนี่ฉลาด รู้ว่าถ้าหากเมืองไทยไม่ใช้ความสามัคคี ไม่เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช้อะไรที่จะพอรับกันได้ พอที่จะใช้ได้ ก็คงจะไม่ได้ทำอะไร หมายความว่า ทำมาหากินก็ไม่ได้ทำมาหากิน เพราะว่าไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีความสงบ. จะต้อง “รู้รักสามัคคี” หมายความว่า รู้จักการอะลุ้มอล่วยกัน แม้จะไม่ใช่ถูกต้องเต็มที่ คือหมายความว่าไม่ถูกหลักวิชาเต็มที่ ก็จะต้องใช้เพราะว่าถ้าไม่ใช้ ก็ไม่มีอะไรใช้. อาจมีสิ่งที่มีอยู่แล้วที่จะใช้ไปได้ชั่วคราว คุณภาพอาจไม่ค่อยดีนัก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่ดีร้อยเปอร์เซนต์ แต่ว่าต้องใช้อะไรที่พอใช้ได้ไป ไม่อย่างนั้นไม่มีวันที่จะมีชีวิตรอดได้.
๗ ประเทศต่างๆ ในโลกได้เห็นประจักษ์แล้วว่า ในระยะ ๓ ปีนี้ ประเทศที่ตั้งหลักทฤษฎีที่เรียกว่าในอุดมคติเพื่อปกครองประเทศ ล้วนแต่สลายลงไปแล้ว. เมืองไทยจะสลายไปด้วยหรือ. เมืองไทยนี้นับว่าอยู่มาได้ดีจนกระทั่งเดี๋ยวนี้. ถามชาวต่างประเทศ ที่ไม่ใช่ชาวต่างประเทศ ที่เราขอให้เขาเยินยอเรา เราไม่ได้ขอให้เขามา เขาก็มา เราไม่ได้อยากให้เขาบอกว่าเราดีเรางาม ประเทศเราวิเศษ เขาบอกว่าประเทศเราดี ไม่ได้ขอเขาเลย ไม่ได้ขอให้เขาพูด ตรงข้ามเราบอกกับเขาว่า ที่จริงเมืองไทยแย่. เขาบอก “โนๆๆ”. ไม่ใช่ เขาไม่ได้บอก “โนๆๆ” เพราะว่าเขาพูดภาษาต่างประเทศ ที่เราไม่เข้าใจ. เมื่อสักประมาณ ๑๐ วันมานี่ มีชาวต่างประเทศคนหนึ่งมาพบ. (นาย พาร์ก จุล อุน รัฐมนตรีการกีฬาและเยาวชน แห่งสาธารณรัฐเกาหลี มาเฝ้าที่ พระตำหนักจิตรลดาฯ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๔) เขาบอกว่าเขาปรารถนาที่จะพบ แม้จะมิได้อยู่ในตำแหน่งตามเกณฑ์ที่ควรจะมาพบได้ คือไม่ใช่เป็นประมุขของประเทศ หรือเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภาฯ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะมาพบ. ตำแหน่งเขาไม่ถึงอย่างนั้น แต่เขาก็จะขอพบ. เมื่อเขามาถึง ก็พูดจาอะไรต่างๆ ทักทายปราศรัยตามอัธยาศัยธรรมดาก่อน เขาพูดภาษาของเขา มีคนแปล. เสร็จแล้วเขาบอกว่าประธานาธิบดีของเขา ผู้เป็นเพื่อนเขามอบหมายให้มาขอโอวาท.
๘ เราถามเขาว่า “โอวาทอะไร”. เขาว่า “โอวาททั่วๆ ไป การปกครองประเทศการดำเนินงานของการกีฬาเยาวชน อะไรต่างๆ”. เราก็บอกว่า “ทำไมจึงมาถาม”. เขาก็บอกว่า “เพราะเห็นว่า ได้บริหารมาดีมาก ทำให้เมืองไทยเจริญ”. เราก็บอกว่า “ดีอย่างไร”. เขาก็บอก “ดี มีความก้าวหน้า มีความเป็นปึกแผ่น”. เราไม่ได้น้อมรับว่าเราเก่งเราดี เราก็บอกว่า “เราแย่นะ. ประเทศของท่านนั้น การบริหารงานต่างๆ ของท่าน ทั้งในด้านกีฬา ในด้านการพัฒนา เป็นตัวอย่างทั้งนั้นดีมาก”. เขาก็บอกว่า “ขอบใจที่ชม แต่ว่าอย่างไรก็ขอโอวาท”. เราจนใจ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าประเทศของเขา เขาทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เขาควบคุมการฝึกหัดกีฬา เขาจัดการเกี่ยวข้องกับการสหกรณ์ ตั้งหมู่บ้าน อะไรต่างๆ เหล่านี้ มีชื่อเสียงว่าของเขาเก่งมาก. ที่จริงพวกเรา ก็ได้ไปดูงานมาแล้ว กลับมาก็ทำแบบของเขา แต่ทำไม่ค่อยสำเร็จ. ที่เราทำสำเร็จ ก็คือทำแบบของเขานั้นแหละ แต่ว่า เรามาทำแบบชาวบ้าน แบบไทยๆ. ความจริงเราทำมาก่อนเขาทำ ทำแบบหมู่บ้าน สหกรณ์. เราก็ทำเหมือนกัน แต่เราทำวิธีการแบบ “คนจน” ไม่ได้มีการลงทุนมากหลายอย่างของเขา เราก็ทำไปแล้ว.
๙ เราเลยบอกว่า ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ “คนจน”. เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้. แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก. เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก. เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง. ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว. แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบ “คนจน” แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป. คนที่ทำงานตามวิชาการ จะต้องดูตำรา. เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้นเขาบอก “อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร. ก็ต้องปิดเล่มคือปิดตำรา. ปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอะไร. ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง. แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบ “คนจน” ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้า “เรื่อยๆ”. สรุปแล้วบุคคลนั้นมาถาม มาขอโอวาท ไม่ให้ เพราะว่าของเขาดีกว่า. แต่เขาขออีก เลยบอกเขาว่าถ้าอยากให้ให้โอวาท คืออยากรับโอวาท เอา จะบอกให้ ให้ฟังดีๆ.
๑๐ เราพูดเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็นึก ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยอย่างไรดี. ท่านทั้งหลายคงเข้าใจภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าท่านเป็นคนไทย ก็ต้องพูดเป็นภาษาไทย. แต่ออกจะจนใจ ว่าที่พูดเป็นภาษาอังกฤษนั้นจะแปลอย่างไรดี. ตอนแรกอาคันตุกะเขาก็ไม่เข้าใจ. เราพูดไปแล้วเขาก็อ้าปาก คืออ้าปากจะพูดแล้วพูดไม่ออก. สักครู่หนึ่ง เขาก็ถามว่า “แปลว่าอะไร”. โอวาทนั้นถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็แปลว่า “ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา” หรือ “การขาดทุนของเราเป็นการได้กำไรของเรา”. ท่านนักเศรษฐกิจคงร้องว่า “ไม่ใช่”. แต่ว่าเป็นอย่างนั้น ก็เห็นนักเศรษฐกิจยิ้มๆ. ยิ้มว่าอะไร “พูดอย่างนี้ไม่ได้เรื่อง”. “การขาดทุนของเราเป็นการได้กำไรของเรา” หรือ “เราขาดทุนเราได้กำไร”. พูดภาษาอังกฤษมันสั้นกว่า ฉะนั้นก็ต้องเผยว่าภาษาอังกฤษเป็นอย่างไรภาษาอังกฤษ “Our” หมายความว่า “ของเรา” . “Our loss…” , “loss” ก็การเสียหาย “การขาดทุน”. “Our loss is…” , “is” ก็ “เป็น”. “Our loss is our…”, “our” นี่ก็คือ “ของเรา”. “Our loss is our gain…” , “gain” ก็คือ “กำไร” หรือ “ที่ได้” “ส่วนที่เป็นรายรับ”. เป็นอันว่าพูดกับเขาว่า “Our loss is our gain”. “ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา”. หรือ.“เราขาดทุนเราก็ได้กำไร”.
๑๑ เราพูดเสร็จ เขาก็บอกว่า “ขอให้พูดซ้ำอีกที” เราก็พูดซ้ำอีกที. เขาก็นั่งเฉยไปอีก ก็หมายความว่าต้องการจะให้อธิบายขยายความ. เราจึงอธิบายว่า ในการกระทำใดๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม. เรื่องนี้ตรงกับงานของรัฐบาลโดยแท้ ถ้าหากว่าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี รัฐจะต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน. ถ้าทำไปก็เป็น “loss” เป็นการเสีย เป็นการขาดทุน เป็นการจ่าย คือ รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่าย ซึ่งมาจากเงินของประชาชน. แต่ว่าถ้าโครงการดี ในไม่ช้าประชาชนก็จะได้กำไร จะได้ผล. ราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ประโยชน์ไป ส่วนรัฐบาลไม่ได้อะไร. แต่ข้อนี้ถ้าดูให้ดีๆ จะเห็นว่าราษฎรอยู่ดีกินดี มีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก ไม่มีการหนีภาษี เพราะเมื่อมีรายได้ดีขึ้น เขาก็สามารถเสียภาษีได้มากขึ้น.
๑๒ ตอนนี้ถ้าราษฎร “รู้รักสามัคคี” เขาจะเข้าใจ ว่าเมื่อเขามีรายได้ เขาก็จะยินดีเสียภาษี เพื่อช่วยราชการให้สามารถทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ. ถ้าราษฎร “รู้รักสามัคคี” และ รู้ว่า “การเสียคือการได้” ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า. เพราะว่าการที่คนอยู่ดีมีความสุขนั้น เป็นกำไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ แต่ว่าถ้าจะคิดให้เป็นมูลค่าเงินจริงๆ ก็คิดได้. เราต้องจ่ายในสิ่งที่ไม่น่าจะต้องจ่าย เช่นทางรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมประชาสงเคราะห์หรือกรมอื่นๆ จะต้องไปสงเคราะห์ราษฎรที่ยากจน ซึ่งในปีหนึ่งๆ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันล้าน ในการสงเคราะห์ชาวบ้านที่ยากจน โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมา. เพราะว่าราษฎรที่ยากจนนี้ เขาไม่มีกำลังที่จะตอบแทนอะไรได้เลย. แม้จะทำงานก็ไม่ค่อยได้ เพราะความยากจน. แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้นหน่อย. เขาจะสามารถหารายได้ได้มากขึ้น เราก็จะลดการสงเคราะห์ลงได้.
๑๓ เรื่องการประชาสงเคราะห์นี้ ก็ต้องขอผิดมารยาทนิดหน่อย คือจะต้องไปแขวะต่างประเทศบ้าง ว่าในต่างประเทศ ในเมืองใหญ่ๆ เช่นที่สหรัฐอเมริกา ที่นิวยอร์ค วันหนึ่งๆ เงินสงเคราะห์คนที่ว่างงาน ต้องจ่ายจำนวนหลายๆ ล้านบาท. ของเขาใช้ดอลลาร์ แปลงเป็นบาทก็หลายล้าน คนพวกนั้น เขาไม่อยากทำงานเพราะว่าถ้าทำงานจะไม่ได้รับการสงเคราะห์. ถ้าคนไหนมีงานทำ. ก็ตัดเงินสงเคราะห์ทั้งๆ. ที่งานที่ทำนั้นอาจมีรายได้น้อยกว่าเงินที่สงเคราะห์ เพราะตามกฎหมายเขาต้องสงเคราะห์เท่านั้นๆ. เป็นสิทธิ์ของเขา ตามรัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่จะได้รับการสงเคราะห์ถ้าไม่มีงานทำ. เขาก็มาที่สำนักงานสงเคราะห์คนไม่มีงานทำ แล้วก็มาบอกว่าไม่มีงานทำเจ้าหน้าที่ก็ถาม “จริงหรือ ไม่มีงานทำจริงหรือ”. เมื่อตรวจสอบได้ว่าไม่มีจริง ก็จ่ายเงินให้. นั่นเป็นระเบียบของเขา. คนเหล่านั้นจึงไม่ยอมทำงาน เขาไปรับเงินประกันสังคมของเขา เขาก็ได้รับ แต่พวกนั้นไม่ยอมทำงาน คือต้องไม่ทำงานเพราะถ้าไปทำงานแล้วมีผลงาน แม้เพียงเล็กน้อยก็จะไม่ใช่คนว่างงานเสียแล้ว และจะถูกตัดการสงเคราะห์. ลงท้ายคนที่ได้รับการสงเคราะห์นั้น ก็เป็นคนที่ไม่เป็นประโยชน์ ต่อสังคมหรือแม้ต่อตนเอง ซ้ำต้องใช้เงินของสังคมสงเคราะห์อีกด้วย.
๑๔ ถ้าหากเราจะมาถือตามกฎแบบนี้ก็เสีย คือเสียงบประมาณเปล่าๆ เงินของคนอื่นที่เขาทำงาน แล้วเก็บภาษีเขามาสงเคราะห์คนที่จงใจไม่ทำงาน. เมืองไทยเราไม่เป็นอย่างนี้ เพราะว่าทำงานกันทุกคน จะทำมากทำน้อยก็ทำ. เราก็มีผลงานเป็นส่วนรวมมากกว่าเขาอีก. แต่ที่ประเทศเราได้ชื่อว่าล้าหลัง อย่างที่เรียกอย่างสุภาพว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็เพราะว่าถ้าเปรียบกับประเทศพัฒนาแล้ว คนของเขาที่ทำงาน เขาทำงานอย่างดุเดือดกว่าแล้วก็ทำอย่างเป็นธุรกิจ ธุรกิจอย่างเข้มงวดคนไหนเอาเปรียบได้ก็เอาเลย เพราะฉะนั้นถ้าใช้ระบบ “ขาดทุนคือกำไร” นี้ก็คงใช้ไม่ได้. แต่เมืองไทยนี้ “ขาดทุนคือกำไร” ใช้ได้. ยกตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัว คือโครงการพระราชดำริ - อันนี้ไม่ใช่การโอ้อวดยกตัวแต่เป็นการชี้แจงว่าทำไมทำโครงการอย่า่งนี้. - บางคนก็บอกว่าโครงการพระราชดำรินั้น ไม่ถูกหลักวิชา. จริง ไม่ถูก แต่ว่าเราเห็นว่าที่ไหนที่ทำโครงการได้ เราก็ต้องทำโดยเร่งด่วน แม้จะยังไม่ได้ประกวดราคาอย่างถูกระเบียบ หรือแม้ราคาของโครงการนั้นอาจแพงกว่าจริงบ้าง.
๑๕ ยกตัวอย่าง สมมุติว่าโครงการแห่งหนึ่งต้องลงทุน ๑๐ ล้านบาท. ถ้าทำการศึกษาอย่างรอบคอบแล้วมีการประกวดราคาตามระเบียบ ราคาอาจตก ๘ ล้านบาท แต่การนี้จะต้องเสียเวลาเป็นเดือนเป็นปี. แต่ว่าถ้าหากทำไปเลยตก ๑๐ ล้าน โดยที่ปลายปีนั้นหรือก่อนปลายปี โครงการจะให้ผลแล้ว ประชาชนจะได้กำไร คือประชาชนจะมีรายได้แล้ว. เป็นอันว่าปลายปีนั้น ไม่ต้องสงเคราะห์ คือไม่ต้องเอาเสื้อผ้า เอาอาหาร เอาอะไรต่างๆ ไปแจกไม่ต้องสงเคราะห์. ก็ประหยัดการสงเคราะห์ไปได้. ในปีแรกอาจประหยัดไปถึงล้านบาทก็ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นแสน. แล้วก็ไม่ต้องปราบปราม เพราะว่าคนที่เดือดร้อนไม่มีเงินใช้ มักจะต้องไปขโมยบ้าง หรือไปหากินที่อื่น และระหว่างทาง ต้องเผชิญความเดือดร้อนจึงทำผิดกฎหมายบ้าง หรือแม้จะไม่ทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องเสียเวลาเสียค่าเดินทาง ก็เสียทั้งนั้น ซึ่งถ้ามีงานทำในท้องที่ของตัวก็ไม่ต้องเสีย. เงินที่ใช้ในการทำโครงการ ส่วนที่เกินไปหน่อยมันกลับคืนมาแล้ว.
๑๖ หมายความว่า ถ้าหากรีบทำโครงการ ๑๐ ล้านบาทนั้น ก็ได้กำไรแล้วในปีแรก. ชดเชยจำนวน ๒ ล้านบาทที่ว่าแพงเกินไปนั้นได้แล้ว. แต่ข้อสำคัญที่สุด ถ้าอยากทำโครงการให้ได้เป็นมูลค่า ๘ ล้านบาทนั้น จะต้องเสียเวลาสอบราคา เสียเวลาทำแผนให้รอบคอบ จึงยังทำไม่ได้ในปีนี้. ปีนี้ชาวบ้านจึงยังไม่ได้รับผลดีจากโครงการ. ครั้นปีต่อไปปูนซีเมนต์ก็แพงขึ้น เศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป ๘ ล้านบาทไม่พอแล้ว ตกลงต้องใช้ ๙ ล้านบาท. จึงต้องของบประมาณเพิ่มเติม. และแล้วงบประมาณเพิ่มเติมนั้นก็ถูกตัด. ปีที่สอง จึงยังทำไม่ได้. จนกระทั่งเอาจริงในปีที่สาม อนุมัติ ๑๐ ล้านก็ทำได้. แต่ผลดีที่ควรจะได้รับตั้งแต่ต้นจากโครงการนั้นก็ไม่ได้รับ. แล้วก็เป็นอันว่าต้องเสียเงิน ๑๐ ล้านบาทอยู่ดี แต่ประชาชนต้องทนเดือดร้อนไปอีกสองสามปี. ถ้ายอม ”ขาดทุน” คือยอมเสีย ๑๐ ล้านบาทตั้งแต่ต้น ก็สามารถที่จะ “ได้กำไร” คือประชาชนจะได้ผลดีตั้งแต่ปีแรก. ทางวิชาเศรษฐกิจแท้ๆ ก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกัน. มติหรือคติพจน์ที่ว่า “ขาดทุนทำให้มีกำไรได้” นั้น ก็เป็นอันพิสูจน์ได้แล้ว.
๑๗ เป็นอันว่าได้พูดกับอาคันตุกะที่มาพบนั้น อธิบายให้เขาฟังโดยละเอียดในทำนองที่ได้อธิบายมานี้. และยังได้เพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง ว่าเงินที่ยังขาดนั้น จะเป็นเงินของใคร. บอกเขาว่า ถ้าเป็นเงินของงบประมาณ ก็คงถูกสอบสวน แล้วก็ถูกลงโทษแน่ แต่ถ้าเป็นเงินบริจาค แบบที่นายก ฯ ได้กล่าวถึงมูลนิธิชัยพัฒนา ก็ใช้ได้. เงินมูลนิธิเป็นเงินบริจาค เงินบริจาคนี้ก็เป็นเงินที่คนที่ให้ขาดทุนไป เสียไป. แต่ว่าเมื่อมูลนิธิมีผลงานขึ้น ก็เป็นผลกำไร เป็นผลกำไรที่คิดเป็นเงินลงบัญชีไม่ได้ ว่าผู้บริจาคนั้นมีเงินมากขึ้น. แต่ว่าโดยผลบุญของเขา เขาก็จะรวยขึ้นเหมือนกัน. ปีต่อไปเขาก็มาให้อีก อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง. ข้อนี้คือ เรื่องผลของการทำบุญทำทาน ก็ได้บอกกับอาคันตุกะเหมือนกัน คราวนี้ หลังจากที่ได้สนทนากันเป็นเวลาพอสมควร ก็ร่ำลากัน. ตอนแรกคือตอนที่มาถึง ได้จับมือกันแบบธรรมดา แต่พอตอนหลัง ได้จับมือกันแบบคนละสองมือเป็นสี่มือ ซึ่งสำหรับต่างประเทศเขาถือว่าจับมือสองมือ คือคนละสองมือนี่เป็นการแสดงความซาบซึ้ง เกือบจะเท่ากับกอดกัน. เขาก็บอกว่า เขาขอรับใส่ - เออเขาไม่ได้พูดใส่เกล้า - เขาบอกว่า เขาจะรับคำพูดนี้ไว้ปฏิบัติตลอดชีวิต ก็หมายความว่าเขาซาบซึ้งทีเดียวละ.
๑๘ เขามาซาบซึ้งในมติหรือคติพจน์ หรือวิธีการ ที่ไม่ค่อยตรงหลักวิชาการนัก การปฏิบัติโดยวิธีการที่อาจไม่ถูกหลักวิชานัก แต่ประกอบด้วยความเมตตา ด้วยความสามัคคี คือ “รู้จักสามัคคี” นี้เอง ก็คงจะทำให้อยู่กันได้ต่อไป. คือแม้จะ… - เดี๋ยวนี้เป็นเรื่อง “ฮิต” มาก แม้จะ… - เป็นสิ่งที่อาจไม่ควรพูด. แม้การปกครองประเทศ การปกครองนี้ในประเทศหนึ่ง ประเทศหนึ่งก็ต้องมีการมอบฉันทะให้มีผู้ที่ปกครอง หมายถึงผู้ที่จะเข้ามาจัดการดำเนินงานต่างๆ ของประเทศ. แต่ละคนๆ ก็อยากจะมาบอกว่าตัวต้องการทำอย่างนี้ๆ ๕๕ ล้านคนพูดพร้อมกันหมดทั้ง ๕๕ ล้านคนก็ฟังไม่รู้เรื่อง. เวลาพูดพร้อมกัน ๑๐ คน ก็ฟังไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว พูดกัน ๕๕ ล้านคนก็ยิ่งไม่รู้เรื่องใหญ่. แล้วก็ที่ไม่รู้เรื่องเพราะว่า ๕๕ ล้านคนเขาอาจยังไม่ทราบว่าปัญหาคืออะไร. เมื่อเขาพูดกันก็ต้องพูดบ้างเพราะต้องพูดก็พูด เสียงจึงหึ่งอึงคะนึงไปหมดไม่รู้เรื่อง. ฉะนั้นถึงต้องมีผู้แทนของปวงชนซึ่งตามหลักของการปกครองก็ต้องมีผู้แทนราษฎร ที่ปัจจุบันนี้กำลังตื่นเต้นกัน.
๑๙ ผู้แทนของปวงชนนั้น ถ้าเป็นผู้แทนของปวงชนจริงๆ หมายความว่าประชาชน ๕๕ ล้านคน หรืออย่างน้อยผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง สามารถชี้ได้ว่า “ถ้าคนนี้พูด เขาพูดแทนเรา. ผู้แทนของเรา พูดแทนเรา”. ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ก็ไม่ต้องมีปัญหาอะไรเลย. แต่ว่าโดยมากจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะวิธีการไม่ถูก. ประเทศต่างๆ ในโลกมีวิธีต่างๆ กัน ในการจัดระเบียบให้ปวงชนได้ออกเสียงเลือกผู้แทนของตน. แม้ในบริเวณศาลาดุสิดาลัยนี้ - ตะกี้เขาบอกว่ามี สองพันคน แต่ที่รายงานมาเดิมว่ามีถึง แปดพันคน - อยู่ในที่นี้แปดพันคน ถ้าพูดออกความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดพร้อมกัน เราจะไม่ทราบว่าเขามีความเห็นว่ากระไร คนไหนมีความเห็นอย่างไร จะต้องเลือกบุคคลหนึ่งและมอบฉันทะให้ “คนนั้นพูดแทนเรา”. อย่างเช่นที่พูดเมื่อตะกี้ว่านายกรัฐมนตรีได้มาช่วยชีวิต เพราะถ้าแต่ละคนที่มา ขอพูดตามที่นายก ฯ ได้พูด และทุกคนบอกว่า เขาจะต้องได้พูด ก็มีทางปฏิบัติสองทาง ถ้าหากพูดพร้อมกันก็ไม่รู้เรื่อง. ตกลงพูดพร้อมกันไม่ได้. หากพูดทีละคนๆ พรุ่งนี้ก็ยังไม่เสร็จ. จึงต้องมอบฉันทะให้นายก ฯ พูดแทนทุกคน.
๒๐ บางคนก็อาจมีความสงสัยเหมือนกัน ว่านายก ฯ นั้นเป็นใครที่จะมาพูดแทนที่ประชุม แต่ว่าต้องจัดระเบียบอะไรอย่างหนึ่ง และมอบให้นายก ฯ เป็นผู้กล่าว. จะว่านายก ฯ เป็นผู้ใหญ่ที่สุดในที่นี้ ก็ไม่ใช่ ก็มีคนที่อายุมากกว่านายก ฯ ตั้งหลายคน. ถ้าถืออายุก็ไม่ได้ จะถือปริญญาหรือ คนอื่นที่มีปริญญาสูงกว่าท่านนายก ฯ ก็มี. ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร ต้องมอบฉันทะให้นายก ฯ เป็นคนกล่าว. ก็เสร็จกิจโดยเรียบร้อย. และรู้สึกว่าใจความที่นายก ฯ ได้พูด ก็เป็นมติโดยประมาณของทุกคนที่อยู่ในที่นี้ แล้วเมื่อรับทราบแล้ว ผู้ฟัง ผู้ได้รับพรก็ซาบซึ้งก็ขอบใจ. อย่างนี้ก็งานก็ลุล่วงไปด้วยดีโดยไม่ยุ่งกัน. ถ้าหากว่าอยากจะตั้งระเบียบว่าคนพูดนั้น ต้องมีคุณสมบัติอย่างนั้นๆ ก็จะไม่มีสิ้นสุด ไม่มีทางที่จะตกลงกันได้ว่าใครจะมาเป็นผู้ให้พร ก็ต้องเรียงตัวแปดพันคนมาบอก “ถวายพระพร” แล้วอย่างที่บอกเมื่อตะกี้ว่า ถ้าหากว่าทำอย่างนั้น สำหรับแต่ละคณะ ๒๙๔ คณะ - เอานับง่ายๆ ๓๐๐ คณะ - จะทำให้ใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง.
๒๑ ถ้าเอาทีละคนๆ แปดพันคน โอ๊ย ไม่อยากคิด คือว่า คิดไม่ออก ต้อง…- สมัยนี้เขาก็ต้องกดเครื่องคำนวณ - ก็จะเสียเวลาหลายวันกว่าจะเสร็จ เพียงแต่จะพูดให้ถูกต้อง. คือต้องมี “ขอเดชะ” แล้วก็ “ข้าพระพุทธเจ้า” แล้วก็ “ขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” ไม่รู้ว่ากี่ปี หมื่นปี หรือกว่า แล้วก็ “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”. และระหว่างนั้น เราก็ต้องบอก “ขอบใจ” และโดยมากเขาก็จะต้องเติมอีกนิด “พระมหากรุณาเป็น…ล้นพ้น…” ทั้งนี้จะใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง สำหรับ ๓๐๐ คณะ ถ้าแปดพันคนเรียงตัวเข้ามาก็จะใช้เวลาหลายสิบชั่วโมง. แล้วในที่สุดก็จะไม่มีความพอใจกัน เพราะว่าเขาจะบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวพูดห้วนจังเหมือนมะนาวไม่มีน้ำ บอก “ขอบใจ” ห้วนๆ อย่างนั้น เราก็เสีย. เราถึงจัดระเบียบอย่างนี้ ให้นายกเป็นผู้กล่าว. นายก ฯ อื่นๆ ก่อนนายก ฯ อานันท์ ปันยารชุน เคยเป็นผู้กล่าว และก่อนนั้นเคยมีคนอื่น ที่ถือว่าเป็นผู้มีอาวุโสบ้างเป็นปูชนียบุคคลบ้าง เป็นคนที่เขานับถือว่าเป็นปราชญ์บ้าง เป็นผู้กราบบังคมทูลแทนที่ประชุม. นั่นก็เป็นแบบหนึ่ง เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง.
๒๒ ที่จริงท่านประธานสภาอาจแย้งว่า ท่านนายก ฯ หรือ มีคณะรัฐมนตรีเป็นลูกน้อง ๔๐ คน ท่านประธานสภามีเป็นร้อย ก็ควรจะมากราบบังคมทูลมากกว่า. เราไม่พูดถึงองคมนตรี เพราะมีจำนวนน้อย แต่เดี๋ยวท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านมีกองทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีจำนวนเป็นพันเป็นหมื่น ก็จะแย้งได้ว่าใครควรจะเป็นคนกราบบังคมทูล. แต่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็พอใช้ได้ ถ้าอยากจะเปลี่ยน ปีหน้าก็เปลี่ยนได้ ก็ลงมติกันให้เปลี่ยนได้ เราก็รับมตินั้น เปลี่ยนได้ทั้งนั้น. มีกฎเกณฑ์อะไรก็ตามเปลี่ยนได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ตายตัวอยู่ตลอดกาลก็เปลี่ยนได้. แต่อย่ามาทะเลาะกัน. คืออย่ามาทะเลาะกันอย่างถึงเลือด. หรือจะเปลี่ยนเป็นเวรก็ได้ เป็นว่าปีนี้คนนี้ปีโน้นคนนั้น ก็ทำได้เหมือนกัน. เหมือนประเทศสวิสเขาผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานาธิบดีทุกปี ปีนี้ก็เป็นคนนี้ ปีโน้นเป็นคนโน้น เขาก็อยู่เย็นเป็นสุขได้พอสมควร. หรือประเทศมาเลเซีย เขามีพระราชา พระราชาก็เปลี่ยนกันไป ทุกสี่ห้าปีก็เปลี่ยน เขามีระเบียบ ก็แล้วแต่กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งของเขาจะดีหรือไม่ ก็ไม่ทราบ.
๒๓ ของอเมริกาเขาก็เปลี่ยนประธานาธิบดีทุกสี่ปี มีการเลือกตั้งอย่างโกลาหล ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เราไม่รู้. เขาก็ด่ากันใหญ่ คนนี้ไม่ดีอย่างโน้น คนนี้ไม่ดีอย่างนั้น. อเมริกาเขาก็มีระเบียบการเลือกตั้งประธานาธิบดี. แต่ก็เคยปรากฏว่าเขาปฏิวัติ คือมีประธานาธิบดีที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งก็เคยมี. ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งก็ได้เป็นประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี. ก็เปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการของการตั้งประธานาธิบดี. เปลี่ยนได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่มีการทะเลาะกัน ถึงตีหัวกันให้ถึงเลือด. ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า เวลานี้กำลังเวียนหัวกันว่า “จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน” หรือ “จะออกหรือไม่ออก”. “เมื่อออกแล้วก็จะเปลี่ยน” หรือ “เปลี่ยนแล้วก็จะออก”. ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร แต่ขอให้ทำงานได้ แล้วก็ถ้าทำงานได้ดี ก็ทำงานต่อไป ถ้าทำงานไม่ดีคือทำงานไม่ราบรื่น ก็เปลี่ยนได้. แม้ว่ามีทางที่จะเปลี่ยนได้ เพราะว่าเปิดโอกาสไว้ให้เปลี่ยนได้ไม่ยาก ก็ต้องโดยวิธีที่จะเรียกว่าเป็นธรรม คือ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงบ้าง ก็ให้เป็นไปโดยที่ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่เปลี่ยนแปลงโดยมีเหตุผล.
๒๔ ทุกๆ สิ่งมีชีวิต และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีชีวิต. ระเบียบการอะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าเปลี่ยนโดยวิธีพูดกันรู้เรื่อง คือเจรจากันอย่างถูกหลักวิชาที่แท้ ที่สูงกว่าหลักวิชาในตำรา ก็จะหมดปัญหา. แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไปแล้ว ก็เปลี่ยนอย่างตายตัวไปเลย. เมื่อสถานการณ์ไม่อำนวย ก็เปลี่ยนต่อไปได้ โดยต้องไม่ทะเลาะกันอย่างหนัก จนกระทั่งทำให้เสียหาย จนทำให้ประเทศไทยกลับเป็นประเทศที่ล้าหลัง. ความจริงประเทศไทยนี้ก้าวหน้ามามากแล้ว และก็ก้าวหน้ามาอย่างสม่ำเสมอ. ไม่เร็วเกินไปไม่ช้าเกินไป. สิ่งที่สำคัญ ก็คือต้องใช้หลักที่พูดเมื่อวานนี้ แต่พูดผิดพลาดไป วันนี้จึงมาแก้เสียยืดยาว แก้คำเดียว แก้คำว่า “จัก” เป็น “รัก” หรือ “รัก” เป็น “จัก”. ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า เมื่อวานนี้พูดผิด ยอมรับ เขียนไว้อย่างดีว่า “คนไทย รู้รักความสามัคคี” ไพล่ไปพูดว่า “รู้จักความสามัคคี”. ซึ่งก็ไม่ผิดนัก แต่ “รู้รักความสามัคคี” นั้นซึ้งกว่า. เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เข้าใจว่าท่านทั้งหลายก็จะซึ้งและ “รู้รักความสามัคคี”
๒๕ แล้วก็ต้องทำความเข้าใจในมติหรือคติพจน์ที่ว่า “เราขาดทุนเราได้กำไร”. ปีนี้เป็น… เอาเป็นการบ้านนะ คือ การบ้านเมื่อ ๒ ปี กว่าจะเกิดซึ้งมา กินเวลาถึง ๒ ปี กว่าจะมาตั้งวันนี้เป็น “วันสิ่งแวดล้อม”. คราวนี้ อีก ๒ ปีข้างหน้า วันนี้อาจเป็นวันของ “ความรักสามัคคี” “ความรู้รักความสามัคคี”. อีก ๒ ปี ก็ไม่สายเกินไป ให้เป็น “วันสามัคคี” แต่ระหว่างนั้นก็ต้องใช้สามัคคีต่อไป เพื่อให้มีวันนั้นขึ้นได้ คือถ้าไม่ปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่มีวันหน้า จึงขอให้ทุกท่านได้มีกำลังทั้งกายทั้งใจ เพื่อที่จะสามารถขบคิดมติหรือคติพจน์ที่ให้ไว้ใน วันนี้ได้ จักได้ตั้งวันของ “ความรู้รักความสามัคคี” สำเร็จ ในปี ๒๕๓๖ มาพบกันใหม่.
……………………………..
พรุ่งของวาน เรามุ่งดี ไม่หมกมุ่น
วานของพรุ่ง เราเพียรดี ไม่เกียจคร้าน
พรุ่งทั้งวาน ก็ย่อมดี มีสุขสันต์
……………………………….
« « Prev : พบเม้ง
Next : หลักแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ » »
2 ความคิดเห็น
เรียน ท่านผู้เขียน
รบกวนขอชื่อของหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ที่มีพระราชดำรัสเรื่องนี้ด้วยครับ
ด้วยความขอบคุณ
สุกรี
ส่วนพระราชดำรัสองค์นี้ ผมจำไม่ได้แน่ว่านำมาจากไหน อาจจะเป็นหนังสือรวบรวมพระราชดำรัสของ กบข. ซึ่งรวบรวมไว้จนถึงปี 2548 ผมสั่งจองที่ กบข. ภายหลังมีขายที่ร้านหนังสือซีเอ็ด ราคาชุดละ 5000 บาท ปกแข็ง มีสิบเล่ม