น้ำท่วมขัง (1)
เขียนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วครับ เขียนอีกก็ไม่เป็นไร เป็นเหมือนสิทธิ์ของ สว.ที่บ่นได้โดยผู้คนไม่ถือสา (ถึงถือสาผมก็ไม่ได้ยินอยู่ดี แล้วผมเขียนไว้ในบล็อกของผมเฉยๆ มาอ่านกันเองนะ)
น้ำท่วมนั้น เกิดจากอัตราที่น้ำไหลเข้าพื้นที่มากกว่าน้ำไหลออก เมื่อเข้ามามากแล้วออกไปได้น้อย ปริมาตรของน้ำที่อยู่ในพื้นที่นั้น ก็ยกตัวเอ่อขึ้นพ้นตลิ่ง อปท.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ตลอดจนชาวบ้าน และหน่วยราชการ ไม่ยืนดูเฉยๆ หรอกนะครับ เขาก็พยายามป้องกันพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วมเหมือนกัน มีถนนเป็นแนวป้องกันหลักเสมอ
เรื่องนี้มีผลข้างเคียง กล่าวคือเมื่อน้ำมีปริมาณมาก จนท่วมข้ามแนวป้องกันมาแล้ว ทีนี้น้ำไหลไปไหนไม่ได้ จะเห็นได้จากภาพข่าวโทรทัศน์ ว่าภาคเหนือตอนใต้กับที่ราบลุ่มภาคกลางที่ประสบอุทกภัยอยู่ในเวลานี้ น้ำไม่ค่อยไหลไปไหน พอน้ำไม่ไหลประกอบกับท่วมไร่นา พืชที่จมน้ำก็เน่า ทำให้น้ำเริ่มเน่าอีกต่อหนึ่ง
อยากให้ดูภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งประมวลผลโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศครับ สีฟ้าคือบริเวณน้ำท่วม
รูปซ้าย ถ่ายเมื่อวันที่ 6 พ.ย. เป็นรูปน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายล่างคือลุ่มแม่น้ำมูล สายบนคือลุ่มแม่น้ำชี; ส่วนรูปขวา ถ่ายเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ท่วมส่วนใหญ่คือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนลุ่มแม่น้ำป่าสักนั้น อยู่ทางขอบบนขวา
มีเรื่องจริงที่ขัดกับความรู้สึกทั่วไป คือพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำทั้งหมดหรอกนะครับ มีหลายพื้นที่ที่กระจายเป็นหย่อมๆ ตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่ง พื้นที่เหล่านี้ คือบริเวณที่เป็นน้ำท่วมขังครับ เมื่อเห็นอาการอย่างนี้ แปลว่าระดับน้ำสูงสุดผ่านไปแล้ว
น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แต่สำหรับน้ำที่ติดอยู่ในแอ่ง ไหลข้ามขอบแอ่งไม่ได้! ตรงนี้ล่ะครับที่อันตราย เพราะว่าจะท่วมนานเนื่องจากน้ำไม่รู้จะไหลไปไหน
ต้ อ ง สู บ อ อ ก — นั่นเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรก ถึงสูบจากแอ่งต่างๆ ทางเหนือ จะลงมาซ้ำเติมพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ก็คงจะไม่ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นเท่าไหร่หรอกครับ เพราะว่าตอนนี้ท่วมเป็นบริเวณที่กว้างมาก
ก้อนน้ำที่ท่วมทะลักอยู่ในภาคกลางนั้น เกิดจากภูมิประเทศของลุ่มน้ำ ซึ่งได้เคยอธิบายไว้แล้วไม่กี่วันก่อน แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อไหลผ่าน อ.ป่าโมก อ่างทองลงมาถึง ต.โผงเผง ก็จะแยกออกสองทาง (เจอทีตัน–ลักษณะสามแยกที่ต้องเลี้ยวซ้ายหรือขวา) ทางตะวันออกไป อ.พระนครศรีอยุธยา (ประมาณว่า อ.เมือง) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา อีกสายหนึ่งไปตะวันตกเข้าแม่น้ำน้อยไปโครงการชลประทานเจ้าเจ็ดกับ อ.บางไทร
ปัญหาคือสามแยกนั้น รับปริมาณน้ำได้ 1800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น ถ้าน้ำมามากกว่านั้น ก็จะเอ่อท่วมตลิ่ง อ.บางบาล อยุธยาซึ่งอยู่ใต้จุดที่แม่น้ำแยก เป็นเหยื่อรายแรกทันที น้ำจะไหลบ่าแรงมากดังปรากฏในข่าวทีวีทั้งที่พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางนั้น มีความลาดเอียงต่ำ แผนที่
ตัวเลขอัตราการไหลของน้ำที่มีหน่วยเป็น ลบ.ม./วินาที ที่มีเสียงบ่นหนาหูว่าฟังไม่รู้เรื่อง ก็มีความหมายสำคัญอย่างนี้ล่ะครับ ถ้าเกิน 1800 ลบ.ม./วินาที น้ำจะล้นตลิ่งอีก แล้วที่ท่วมอยู่แล้วในภาคกลางที่เห็นเป็นสีฟ้าก้อนมหึมาทางตะวันตกของอยุธยา ก็จะท่วมหนักเข้าไปอีก
ด้วยภูมิประเทศแบบนี้ พม่าที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา จึงต้องเลิกทัพกลับไปเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขียนไว้ในรายงานสาธารณภัยรายวัน (ตอนนี้ออกวันละสองครั้ง) ว่า
กรณีปริมาณน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกิน ๑,๘๐๐ ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำท่วมที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เกิน ๒,๐๐๐ ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำท่วมที่ อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อ.เมือง จังหวัดอ่างทอง และหากเกิน ๒,๕๐๐ ลบ.ม./วินาที จะทำให้น้ำท่วมที่ อ.สรรพยา จังหวัดชัยนาทสองฝั่งเจ้าพระยาของ จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
เมื่อน้ำบ่าเข้าท่วมบางบาลแล้ว จะไหลต่อไปทางตะวันตกเฉียงใต้ตามความลาดเอียงของภูมิประเทศ เข้าท่วมทางตะวันตกของอยุธยา ทางใต้ของสุพรรณบุรี และทางเหนือของนครปฐม น้ำกลุ่มนี้ อยู่ห่างแม่น้ำเจ้าพระยาไปไกลแล้ว น้ำเหล่านี้จะไม่ไหลย้อนกลับมายังแม่น้ำเจ้าพระยา (หรือไหลข้ามแม่น้ำมาท่วมกรุงเทพ)
ดังนั้นก็ต้องหาทางระบายน้ำส่วนนี้ออกให้เร็วที่สุด เนื่องจากท่วมเป็นบริเวณกว้างมาก และท่วมอยู่นานแล้ว — เป็นเรื่องสำคัญอันที่สอง
แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างแถวกรุงเทพ กว้างร้อยเมตร รับอัตราการไหลได้ 3500 ลบ.ม./วินาที แล้วยังเสริมเขื่อนขึ้นไปอีกสองเมตร ถ้าปล่อยน้ำมา 4000 ลบ.ม./วินาที กรุงเทพอาจจะท่วม แต่อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี จมก่อนและจมหมดแน่นอนครับ มันเกิดจากภูมิประเทศดังที่เล่ามาข้างบน
ถ้าเราไม่เข้าใจสาเหตุ จะไม่มีการแก้ไขปัญหา (การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นเพียงการบรรเทาผลเฉพาะหน้าของปัญหา และเป็นการเลื่อนปัญหาไปไว้ในอนาคต)
ถ้าหากยังคิดอะไรไม่ออก ติดกางเกงแก้วของสวทช.ไปกับถุงยังชีพที่แจกก็ดีนะครับ อย่างน้อยจะช่วยให้ผู้ประสบภัยไปไหนมาไหนได้บ้าง ไม่นั่งจับเจ่ารอคอยความช่วยเหลืออยู่กับบ้าน
ถ้าชีวิตจะฟื้นได้ ผู้ประสบภัยก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้งหนึ่งครับ — เรื่องสำคัญอันที่สาม
ทั้งหมดที่บ่นๆ ไว้ในบันทึกนี้ เพียงแต่จะเตือนว่ายังมีงานหนักรออยู่อีกเยอะครับ — เรื่องแรกที่ต้องทำคือช่วยให้ผู้ประสบภัยอยู่รอดปลอดภัยก่อนแน่นอน
« « Prev : น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (1)
Next : กำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย » »
2 ความคิดเห็น
[...] — [น้ำท่วมขัง] บทเรียนจากน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว [...]
[...] เรื่องเก่า ที่เขียนไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว [น้ำท่วมขัง (1)] [...]