ชัยภูมิมังกรน้ำ

โดย Logos เมื่อ 12 April 2011 เวลา 0:00 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3538

มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้น้ำ เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่น้ำก็นำมาซึ่งความเสียหายได้เช่นกัน

ตามตำราฮวงจุ้ย ชัยภูมิศาสตร์ หรือภูมิลักษณ์ มีทำเลชัยภูมิมังกรน้ำ กระแสน้ำที่โค้งไปโค้งมา ดีกว่ากระแสน้ำที่ไหลตรง — อันนี้ผมคาดเดาเอาเอง ว่าแผ่นดินจีน มีความลาดเอียงสูงมาก ไปเที่ยวมาหลายครั้ง เห็นแม่น้ำมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก ชะเอาตะกอนหินและดินมาจนขุ่นคลัก แรกที่เดียว เสียดายโอกาสปั่นไฟฟ้าพลังน้ำ แต่เมื่อพิจารณาดูตะกอนที่น้ำพามาด้วยแล้ว การสร้างเขื่อนปั่นไฟฟ้าคงแก้ปัญหาตะกอนทับถมได้ลำบากมาก ตะกอนมีมากจนถึงขนาดที่ชาวบ้านทำเหมืองโดยกั้นฝายไว้ครึ่งแม่น้ำ ลดความเร็วของน้ำลงให้ตะกอนมานอนก้นอยู่หน้าฝาย แล้วเค้าก็ไปตัดเอาทรายและหินมาใช้ก่อสร้างได้ ภูมิประเทศ ที่น้ำโค้งไปโค้งมา จะลดความเร็วในการไหลของกระแสน้ำลง ทำให้สามารถนำน้ามาใช้ได้ง่ายกว่ากระแสน้ำที่ไหลตรง

ในกรณีที่น้ำท่วมหนักนั้น เรากลับต้องการให้น้ำระบายออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด อะไรที่ขวางทางน้ำอยู่ เช่นผักตบชวา ต้องรีบเอาออกครับ (แม้ว่างบกำจัดผักตบชวาดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับแก้ไขน้ำท่วม)

แต่ว่าพื้นที่ภูมิประเทศนั้น ไม่ได้แบนแต๊ดแต๋เป็นกระดาน พื้นที่ต่างๆ เป็นเนิน เป็นแอ่ง เวลาน้ำป่ามา ก็ท่วมไปหมดสุดลูกหูลูกตา แต่เวลาเริ่มระบายน้ำออกไปได้ จะยังมีน้ำยังค้างอยู่ตามแอ่งครับ — สภาพเป็นแอ่งอาจดูกันไม่ค่อยออก เนื่องจากมุนษย์เปลี่ยนแปลงภูมิประเทศตามธรรมชาติด้วย “ความเจริญ” เช่นถนนหนทาง เป็นต้น สภาพเป็นแอ่งทำให้น้ำท่วมขัง ทำให้ความช่วยเหลือเข้าไปหาชาวบ้านได้ลำบาก แถมเมื่อน้ำอยู่นิ่งๆ ก็จะเริ่มเน่าเหม็นอีก เป็นปัญหาสุขภาพกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หนักเข้าไปใหญ่

น้ำที่ขังในแอ่ง เอาออกได้ลำบากเพราะจะต้องสูบออก แต่น้ำเพียง 1 ลูกบาศก์เมตร หนักถึง 1 ตัน ถ้าน้ำท่วมพื้นที่ 100 ไร่ สูง 1 เมตร เพราะถูกถนนกั้นอยู่ จะต้องยกน้ำเป็นน้ำหนักถึง 160,000 ตัน ข้ามถนนที่ขวางทางน้ำไป; เปรียบเทียบให้ดูอย่างนี้ก็แล้วกันครับ รถเทรเลอร์พ่วง ซึ่งตามกฏหมายให้บรรทุกได้ 50.5 ตัน ถ้าจะเอารถเทรลเลอร์แบบพ่วง มาขนน้ำในปริมาณนี้ ต้องขน  3,168 เที่ยว เป็นปริมาณงานมหาศาล หมายความว่ายังอีกนานครับ ทำไมรีบร้อนเปลี่ยนโหมดจากการบรรเทาทุกข์ไปเป็นการฟื้นฟูก็ไม่รู้

ดังนั้นก็ควรใช้แว่นขยายส่องสำรวจพื้นที่กันอย่างจริงจัง อะไรที่ขวางทางน้ำ ก็หาทางแก้ไขเสีย ตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่จะเห็นว่าตรงไหนเป็นแอ่ง ถ้าจะรอระเหยหรือซึมลงดินไปเอง จะนานเป็นเดือนครับ (ผมเลิกพูดเรื่องแผนที่สถานการณ์แล้ว เพราะคนที่ควรจะทำ คงไม่เก็ตจริงๆ — แผนที่ที่แสดงขอบเขตของน้ำในช่วงขณะต่างๆ เป็นแผนที่ของระดับไปในตัวนะครับ เอาไว้ประเมินการโยกย้ายน้ำได้ในกรณีที่จำเป็น) — [น้ำท่วมขัง] บทเรียนจากน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว ถ้าหากน้ำมีทีท่าจะท่วมขังเป็นเวลานาน ชาวบ้านอาจก่อกำแพงดิน [กระสอบทราย หรือกำแพงน้ำ] ขึ้นมาล้อมรอบบ้าน แล้ว[สูบน้ำออก]พอที่จะมีที่แห้งอยู่อาศัยชั่วคราวได้ เอาน้ำเน่าไปไว้ไกลๆ ครับ

ทุกตำรามีข้อยกเว้น เพราะสิ่งที่อยู่ในตำรา ต้องพิจารณาตามบริบทของสถานการณ์นะครับ ไม่ใช่ตำราบอกว่าอย่างนี้ ก็ทำไปอย่างนี้ โดยไม่รู้เลยว่าที่ตำราเขียนนั้นมีบริบทอะไร อย่างทฤษฎีการจัดการสมัยใหม่ เกิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลก เกิดจากภาวะขาดแคลนขนาดหนัก จึงต้องปั๊มๆๆๆๆ ออกมาขายเยอะๆ ผ่านไปหกสิบกว่าปี ยังยึดถืออย่างงมงายโดยไม่รู้ตัวอีก Harvard Business School ยังเปลี่ยนทิศเลย

ชัยภูมิมังกรน้ำ โดยทั่วไปแล้ว น่าจะดี แต่ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่ชัยภูมิมังกรน้ำป่านะครับ ในสถานการณ์ปกติก็โอเค แต่เมื่อฝนตกหนักมาก มังกรน้ำว่ายน้ำเผ่นหนีน้ำป่าไปแล้ว เหลือแต่บ้านเรือนเทือกสวนจมน้ำอยู่ กับชาวบ้านที่รอดจากดินถล่มนั่งมองกันไปมองกันมา

ขอนอกเรื่องหน่อย: ตอนนี้อยู่ในบรรยากาศสงกรานต์ ถ้าผมยังทำงานอยู่ จะมีความรู้สึกเหมือนศาลพระภูมิ คือจะมีคนมารดน้ำ เอาพวงมาลัยซึ่งเป็นดอกมะลิมาไหว้ บางทีเป็นดอกดาวเรืองเหมือนนักร้องลูกทุ่ง ส่วนดอกกุหลาบก็มีเหมือนกัน กลายเป็นสถานที่แสดงมุทิตาจิตแบบหลากสีสัน ขอถือโอกาสนี้อวยพรให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ เข้าใจในคุณค่าของตัวเอง มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ทำได้ดีและได้ลงมือทำจริงๆ ก็แล้วกันนะครับ อย่าลืมพ่อแม่

« « Prev : อีกแว๊บหนึ่งที่เต้นท์อาสาดุสิต

Next : ประปาภูเขา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ชัยภูมิมังกรน้ำ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.38322305679321 sec
Sidebar: 0.48411107063293 sec