กระสอบทราย

อ่าน: 6931

เมื่อสักครู่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือกันมานานโทรมาขอความเห็น ได้เรียนท่านไปว่า thaiflood.com มีข้อมูลที่ดีที่สุดในเวลานี้ ส่วนทวิตเตอร์ ขอให้ตามอ่านใน #thaiflood (แต่ในนั้นก็น้ำท่วมเช่นกัน เนื่องจากมีปริมาณข้อความมากมาย); ให้ข้อมูลเรื่องเรือ และเครื่องเรือ+หางเสือ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการตัดไฟฟ้าเนื่องจากน้ำท่วมสูง ว่าโทรศัพท์มือถือน่าจะแบตหมดไปแล้ว การที่สามารติดต่อกับคนที่รักได้ จะช่วยลดความเครียด ความท้อแท้สิ้นหวังลงได้บ้าง แถมยังสามารถใช้ติดต่อขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินได้อีก

จึงเสนอให้ส่งแบตเตอรี่รถยนต์ 12V เข้าไปตามหมู่บ้านที่ถูกตัดขาด และไม่มีไฟฟ้าส่งไปเช้า พอเย็นก็ตามไปเก็บกลับมาชาร์ต พรุ่งนี้ไปที่อื่นต่อชาวบ้านก็จะชาร์ตแบตมือถือได้ ท่านบอกว่างั้นส่งอินเวอร์เตอร์ปั่นไฟเป็น 220V ไปด้วย ให้ใช้เครื่องชาร์ตของตัวเอง ทุกคนที่มีมือถือชาร์ตไฟจากปลั๊กไฟบ้านได้ แต่ถ้าเอาแบตเตอร์รี่รถยนต์ชาร์ตเข้ามือถือ จะมีปัญหาทั้งเรื่องสายต่อและเรื่องแรงดันแบตมือถือแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อที่ไม่เท่ากัน เมื่อชาร์ตแบตมือถือแล้ว จะได้ส่งข่าวถึงผู้ที่ห่วงใยได้ ชาร์ตเสร็จแล้วแบ่งคนอื่นในหมู่บ้านชาร์ตบ้าง

ค น ห นึ่ ง ค น . . . จ ะ ท ำ อ ะ ไ ร ไ ด้

เมื่อคืนค้นข้อมูลเรื่องการควบคุมน้ำท่วม พบว่าในต่างประเทศมีวิธีการสร้างกำแพงกั้นน้ำแบบชั่วคราว ที่สร้างได้เร็ว ราคาถูก และขนส่งได้ง่ายกว่าการใช้กระสอบทรายมาก แทนที่จะใช้ทราย เขาใช้น้ำแทน เอาน้ำมาจากตรงที่ท่วมนั่นแหละ! สูบเข้าไปไว้ในถุง (ฝรั่งใช้พลาสติก แต่เราจะใช้ผ้าใบก็ได้) มีการคำนวณซึ่งผมยังไม่มีเวลาตรวจสอบ ได้แค่เปิดดูผ่านๆ พอเข้าใจ — ตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมเรื่องที่จะพูดใน CrisisCamp พรุ่งนี้เลย

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองตัวอย่างที่จะแสดงไว้ข้างล่างนี้ แนะนำว่าไม่ให้ใช้กับระดับน้ำที่เกิน 2-3 ฟุต (1 เมตร) แต่สามารถวางไว้ในพื้นที่ใดก็ได้ ไม่ต้องการพื้นเรียบสำหรับวาง อาจใช้ร่วมกับถนน หรือตลิ่งได้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักการก่อนว่ากระสอบทราย กันน้ำได้อย่างไร

กระสอบทรายกันน้ำด้วยการถ่ายแรงดันของน้ำ (head) ลงสู่ดิน น้ำหนักของกระสอบทรายยึดตัวกระสอบทรายเอาไว้กับพื้นด้วยแรงเสียดทาน ตรงรอยต่อระหว่างกระสอบ ก็มีแรงที่กระสอบเบียดกันสูงกว่า head ของน้ำ น้ำจึงไหลแทรกตามรอยต่อเข้ามาไม่ได้ แต่หากจะต่อระยะให้สูงขึ้น จำเป็นต้องขยายฐานเป็นหลายชั้น ไม่อย่างนั้นน้ำก็จะดันกำแพงกระสอบทรายให้ล้มลง แล้วน้ำก็จะทะลักผ่านกำแพงเข้ามา

อันแรกที่จะให้ดูนี้ เป็นท่อกันคลื่นของรัฐบาลสหรัฐ มักใช้กัน storm surge ตามชายฝั่ง ในกรณีบ้านเรา ใช้กันคลื่นจากเรือได้

อันที่สองนี้ น่าสนใจมาก เป็นการสาธิตผลิตภัณฑ์ แต่ใช้หลักการเดียวกันกับอันข้างบนครับ เขาตัดเป็นบล็อกเล็กขนาดยาว 1.9 เมตร กว้าง 60 ซม. ตัวแกนเป็นถุงน้ำทำด้วยพลาสติก(ผ้าใบ)ขนาดเดียวกัน ไปเติมน้ำเอาในพื้นที่ ดังนั้นก่อนติดตั้งจะมีขนาดเล็กมาก มีน้ำหนักเบา ใช้แรงงานน้อยมากเมื่อเทียงกับการใช้ถุงทราย

พอสูบน้ำเข้าถุงแล้ว รูปร่างหน้าตัดเป็นสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1.9 เมตร สูงกว่า 60 ซม.เล็กน้อย (เพราะถุงป่องออก)

วิธีการอันนี้ ใช้แผ่นพลาสติกแข็ง HDPE ประกบถุงที่เป็นกำแพงสองด้าน ด้านที่หันเข้าหาน้ำ ทำหน้าที่กระจายแรงดันน้ำออกให้ทั่วถุง อีกด้านหนึ่งส่งแรงดันลงสู่พื้นดิน พลาสติกแข็ง HDPE ทั้งสองยังทำหน้าที่ป้องกันถุง ไม่ให้มีอะไรมากระทบฉีกขาดอีกด้วย; ถ้าหากมีเวลาเตรียมตัว เขาจะปูผ้าใบไว้ใต้ถุง เพื่อเพิ่มแรงเสียดทานและป้องกันถุงฉีกขาดจากกรวดหินเช่นกัน ช่องว่างระหว่างแผ่นไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าเวลาสูบน้ำเข้าถุงแล้ว ถุงจะป่องออกประกบกันเอง

ผลิตภัณฑ์ในคลิปที่สองนี้ ได้จดสิทธิบัตรในสหรัฐและ(อ้างว่า)ทั่วโลก เท่าที่ศึกษาสิทธิบัตรมา ถ้าเขาไม่ได้คิดว่าจะขายในเมืองไทย ก็มักจะไม่มาจดสิทธิบัตรไว้ ซึ่งหากว่าเลยเวลา 3 ปีจากการเผยแพร่สู่สาธารณะเปิดตัวเป็นครั้งแรกแล้ว ก็จะจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ ผลิตภัณฑ์นี้เปิดตัวมาสิบกว่าปีแล้วครับ สิทธิบัตรอันที่สาม (ล่าสุด) ที่เขาจดที่ USPTO ปี 1995 ถ้าจำไม่ผิด

« « Prev : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (6)

Next : ตั้งใจดี แต่ถามโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 October 2010 เวลา 18:45

    -เรื่องเอาน้ำสู้น้ำนี่เข้าท่าไม่เบา แต่ก็เหมาะกับการท่วมพอประมาณ เห็นพวกขายลูกปลามีวิธีมัดปากถุงพสาสติกได้แน่นหลุดยาก แต่ถ้าจะนำมาใช้งานนี้น่าจะเป็นถุงพาสติกหนาเป็นพิเศษ อาจจะรวมไปถึงยางมัดด้วยจะต้องมีคุณบัติแช่น้ำได้นาน 1 เดือนถึงจะพอไว้ใจได้
    -เห็นการก่อสร้างกำแพงถาวรรอบโบราณสถานกรุงเก่าอยุธยา คิดว่า บ้านเราก็ปลูกยางพาราเยอะ ถ้ามีโรงงานผลิตเขื่อนยางที่ดัดแปลงติดตั้งเข้ากับชายขอบแม่น้ำ ถ้าน้ำมาสูงประมาณ 1 เมตร ก็สูบลมเข้าไป ถ้าน้ำไม่มาก็จัดเก็บไว้ในโกดัง ไม่ทราบว่าวิธีนี้จะใช้ได้จริงหรือเปล่า
    -ทุกความเห็นเหมาะกับน้ำท่วมตามปกติ แต่ถ้าเป็นอย่างปีนี้ หาเรือไว้บ้านละลำจะดีกว่า เพราะมันยากที่จะต้านแรงน้ำได้
    -อีกเรื่องหนึ่ง นักวิจัยน่าจะออกแบบสุขาฉุกเฉินประจำครัวเรือน ให้เตรียมการไว้ในหมู่บ้านที่น้ำชอบตอแยประจำ
    -เรื่องชาร์ทแบ็ตมือถือ ไปบางกอกคราวนี้ไปเจออุปกรณ์ชาร์ทแบ็ตมือถือแบบใช้ถ่านไฟฉายขนาดนิ้วมือ 1 ก้อน ราคาประมาณ 150 บาท ถ้าทุกครัวเรือนมีไว้ ก็จะแก้ไขเรื่องการส่งข่าวสารได้ตลอด เพียงแต่บริษัทบริการโทรศัพท์ ต้องผ่อนผันสมาชิกที่ประสบภัยในกรณีที่หมดระยะจ่ายเงินเติมเงิน กรณีอย่างนี้ไม่รู้จะไปซื้อบัตรเติมเงินที่ไหน ถ้าขืนไม่ดูตาม้าตาเรือตัดบริการ มีหวังโกรธกันตาย ไม่เผาผีเชียวแหละ
    -เรื่องวางแผนสู้อุทกภัยไว้ล่วงหน้าในปีต่อๆไป เป็นเรื่องสมควรออกแบบแผนแม่บทไว้ เพราะโจทย์เคลื่อนที่ตลอดเวลา จะมารอให้น้ำท่วมปากอยู่เหมือนเดิมละแย่เลย
    -สิ่งที่นำเสนอความรู้ที่หลากหลายจากทั่วโลกที่ได้อ่านนี้ จึงโดนใจอย่างมาก ขอบอก อิอิ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 October 2010 เวลา 19:26
    น้ำท่วมหนักแบบนี้ อะไรก็เอาไม่อยู่ครับ — แล้วยิ่งไม่ทำอะไร จะรอน้ำไหลผ่านไปอย่่างเดียวนี่ ที่จริงคือการย้ายความเดือดร้อน(น้ำ)จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งนะครับ

    พื้นที่ที่น้ำลดแล้ว ควรทำวิธีแรกใน [ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (2)] เพื่อไม่ให้น้ำฝนตกใหม่ ไหลลงไปซ้ำเติมผู้ที่อยู่ปลายน้ำ — ส่วนพื้นที่ที่น้ำยังท่วมอยู่ ควรทำวิธีตามครึ่งหลังของ [ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (2)] คือเจาะรูพื้นดิน ส่งน้ำลงไปให้ดินชั้นล่างดูดซึมไว้บ้าง ถึงแม้ว่าในที่สุด น้ำท่วมจะไหลผ่านไป แต่การลดปริมาณน้ำลง ก็จะช่วยชาวบ้านที่อยู่ปลายน้ำได้บ้างครับ

    ทีนี้เรื่องเขื่อนถุงน้ำนั้น ที่ว่ากันน้ำไม่ได้สูงก็จริงครับ เขาออกแบบไว้อย่างนี้ — ที่จริงจะทำถุงใบใหญ่ขึ้นกับเปลือกอันใหญ่ก็ได้ แต่ว่าเวลาในการเติมน้ำในแต่ละถุงก็จะนานขึ้นมาก (เพราะมันใหญ่) ดังนั้นเขาจึงทำขนาดแบบนี้

    ถ้าต้องการเขื่อนถุงน้ำที่สูงขึ้น ก็วางซ้อนกันครับ เป็น ΛVΛ แล้วเอา Λ ซ้อนตรงกลางอีกที — อันนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับการวางถุงทราย ถ้าน้ำท่วมสูง อยู่ดีๆ เราจะวางถุงทรายซ้อนๆๆๆ เพื่อต่อความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ต้องขยายความหนาของกำแพง เป็นถุงทรายหลายแถวก่อน แล้วจึงจะต่อความสูงขึ้นไปได้ครับ

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 October 2010 เวลา 8:34

    ชอบถุงน้ำค่ะ น่าสนใจดี

    หลักการช่วยเหลือทางจิตวิทยาคือ
    1. Protect ไม่ต้องสนใจอะไรแต่มุ่งปกป้องคนที่ยังไม่เดือดร้อน(แต่กำลังจะเดือดร้อนแน่ๆถ้าไปถึง) และคนที่กำลังเดือดร้อนให้พ้นภัยเร็วที่สุด ซึ่งภัยก็ได้แก่ภัยเฉพาะหน้าเช่นน้ำที่ทะลักและกำลังตั้งเค้า ภัยที่คุกคามจากสัตว์หนีน้ำ ภัยจากการขาดแคลนปัจจัย 4 เอาให้พออยู่ได้ก่อนผู้ป่วย เด็ก สตรี และคนชราขนออกมาให้พ้นจากตรงนั้น และพยายามให้มารวมกันในจุดใดจุดหนึ่งเพื่อสะดวกต่อการเข้าถึงซึ่งเรากำลังเร่งทำกันอยู่ ถ้าสามารถกระจายข้อมูลและเข้าถึงพื้นที่ต่างๆอย่างไม่ซ้ำซ้อนได้จะเยี่ยมมากเลยนะคะ และวันนี้ก็คงได้อะไรดีๆจากชาว Geek เพิ่มขึ้น

    2. Connect หาทางให้ติดต่อกับโลกภายนอกให้ได้ ผู้ที่เดือดร้อนถ้าได้ติดต่อกับคนที่รัก คนที่รู้ว่าเข้าไปช่วยแน่ๆ ความทุกข์ทนจะลดลงเหมือนที่พี่รุมกอดบอก การส่งสัญญาณมีทั้งมือถือ วิทยุคลื่นสั้น หรือธงใหญ่ๆ สัญลักษณ์ที่เห็นชัด แม้แต่การเข้าถึงตัวให้ได้ เพราะไฟโดนตัดก็คงไม่ทราบข่าวคราวใดๆ

    3. Direct เมื่อภัยเริ่มผ่านพ้น คราวนี้ก็ถึงการชี้แนะแหล่งช่วยเหลือ ใครสูญหายบ้าง ใครเดือดร้อนเรื่องซ่อมบ้านไปที่ไหน ใครเดือดร้อนเรื่องเงินทองทำอย่างไร ที่นาสาโทหมดสิ้น หนังสือหมด โรงเรียนพัง รพ.ไม่อยู่ ผู้ป่วยเรื้อรังต้องรับยาเอาจากที่ไหน ฯลฯ มีหน่วยงานไหน ที่ใดช่วยได้ ข้อมูลเหล่านี้ควรได้รับการจัดหมวดหมู่และเข้าถึงได้ง่ายค่ะ

    4. Education สุดท้ายคือศึกษาสาเหตุและแนวทางป้องกัน ประสานงานทั้งหมดเพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อนและปรับปรุงไม่ให้ซ้ำรอยเดิมอีก คนที่อยู่ในพท.เสี่ยงมีแนวทางป้องกันตัวเองได้อย่างไร จะใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าเกิดเหตุมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ฯลฯ

    ตอนนี้คงได้แต่เอาใจช่วยค่ะ แต่ข้อมูลต่างๆที่หลายๆกรม กองของเราถ้ามีการนำมารวมกันคงบอกอะไรได้มากขึ้นเยอะ อย่างไปรษณีย์ที่แม่นยำในเรื่องขนส่ง รายละเอียดของพื้นที่ ไฟฟ้าที่มีรถใหญ่ๆสูงๆ โทรศัพท์ ชลประทานฯ รพ. เกษตร ทหารช่าง ฯลฯ…เฮ้อ

  • #4 ลานซักล้าง » ถามโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 October 2010 เวลา 18:49

    [...] ความเห็นนักจิตวิทยา [...]

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 October 2010 เวลา 19:37
    เรื่องเขื่อนถุงน้ำ เรียนถามผู้เชี่ยวชาญ(มาก)แล้วครับ — ตามคาด กั้นน้ำได้ประมาณครึ่งของความสูง

    กระสอบทรายหนักกว่าถุงน้ำมาก ขนส่งได้ลำบาก ความต้องการขณะปัจจุบันสูงมากทำให้ราคาแพง แต่เพราะกระสอบทรายหนักมาก จึงทำให้เกิดแรงเสียดทานที่ฐานได้มาก และทนแรงดันน้ำได้มาก จึงรับน้ำได้สูง (ถ้าเรียงกระสอบเป็นเขื่อนได้ทันก่อนน้ำมา)

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 November 2010 เวลา 0:54
    ข่าวจากหาดใหญ่ครับ

    [แจ้งทราบ] AIS ตั้งจุดอำนวยความสะดวกในม.อ.โทรศัพท์ฟรี,ระบบชาร์ตแบตเริ่มให้บริการ20.00นคืนนี้เป็นต้นไป #Thaiflood #hdyflood #fm99

  • #7 ลานซักล้าง » ชัยภูมิมังกรน้ำ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 April 2011 เวลา 20:09

    [...] ชาวบ้านอาจก่อกำแพงดิน [กระสอบทราย หรือกำแพงน้ำ] ขึ้นมาล้อมรอบบ้าน [...]

  • #8 ลานซักล้าง » เสริมตลิ่ง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 July 2011 เวลา 0:05

    [...] เรื่องเขื่อนเขียนไว้หลายบันทึกแล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง [กระสอบทราย] [...]

  • #9 ลานซักล้าง » เสริมความแข็งแรงของคันดินกั้นน้ำ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 October 2011 เวลา 3:10

    [...] [กระสอบทราย] [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.59985399246216 sec
Sidebar: 0.21133494377136 sec