ลัทธิมักขลิวาท
อ่าน: 3414จากพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (พุทธทาสภิกขุ แปลพระไตรปิฎก)
ทรงระบุลัทธิมักขลิวาท ว่าเป็นลัทธิทำลายโลก๑
ภิกษุ ท.! ในบรรดาผ้าที่ทอด้วยสิ่งที่เป็นเส้น ๆ กันแล้ว ผ้าเกสกัมพล(ผ้าทอด้วยผมคน) นับว่าเป็นเลวที่สุด. ผ้าเกสกัมพลนี้ เมื่ออากาศหนาว มันก็เย็นจัด, เมื่ออากาศร้อน มันก็ร้อนจัด. สีก็ไม่ งาม กลิ่นก็เหม็น เนื้อก็กระด้าง;ข้อนี้เป็นฉันใด, ภิกษุ ท.! ในบรรดาลัทธิต่าง ๆ ของเหล่าปุถุสมณะแล้ว ลัทธิมักขลิวาท นับว่าเป็นเลวที่สุด ฉันนั้น.
ภิกษุ ท.! มักขลิโมฆบุรุษนั้น มีถ้อยคำและหลักความเห็นว่า “กรรมไม่มี, กิริยาไม่มี, ความเพียรไม่มี” (คือในโลกนี้ อย่าว่าแต่จะมีผลกรรมเลยแม้แต่ตัวกรรมเองก็ไม่มี, ทำอะไรเท่ากับไม่ทำ. กิริยาและความเพียรก็นัยเดียวกัน).
ภิกษุ ท.! แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เคยมีแล้วในอดีตกาลนานไกล ท่านเหล่านั้น ก็ล้วนแต่เป็นผู้กล่าวว่า มีกรรม มีกิริยามีวิริยะ. มักขลิโมฆบุรุษย่อมคัดค้านพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้านั้น ว่าไม่มีกรรม ไม่มีกิริยา ไม่มีวิริยะ ดังนี้.
ภิกษุ ท.! แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่จักมีมาในอนาคตกาลนานไกลข้างหน้า ท่านเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้กล่าวว่า มีกรรมมีกิริยา มีวิริยะ. มักขลิโมฆบุรุษย่อมคัดค้านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ว่าไม่มีกรรม ไม่มีกิริยา ไม่มีวิริยะ ดังนี้.
ภิกษุ ท.! ในกาละนี้ แม้เราเองผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะก็เป็นผู้กล่าวว่า มีกรรม มีกิริยา มีวิริยะ. มักขลิโมฆบุรุษย่อมคัดค้านเราว่า ไม่มีกรรม ไม่มีกิริยา ไม่มีวิริยะ ดังนี้.
ภิกษุ ท.! คนเขาวางเครื่องดักปลา ไว้ที่ปากแม่น้ำ ไม่ใช่เพื่อความเกื้อกูล, แต่เพื่อความ ทุกข์ ความวอดวาย ความฉิบหาย แก่พวกปลาทั้งหลายฉันใด; มักขลิโมฆบุรุษเกิดขึ้นในโลก เป็นเหมือนกับ ผู้วางเครื่องดักมนุษย์ไว้ไม่ใช่เพื่อความเกื้อกูล, แต่เพื่อความทุกข์ความวอดวาย ความฉิบหาย แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก ฉันนั้น.
๑. บาลี โยธาชีววรรค ติก. อํ. ๒๐/๓๖๙/๕๗๗. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.
« « Prev : พบฟอสซิลอายุ 47 ล้านปี อาจเป็น “จุดเชื่อม” ที่หายไป
Next : บริหารแบบไม่บริหาร: Google’s Eric Schmidt » »
1 ความคิดเห็น
เพราะทุนนิยมสุดนั้น ทำอะไรก็ได้ เบียดเบียนใครก็ได้ เพื่อให้ตนได้กำไร ยิ่งเยอะยิ่งดี; ทำน้อยได้เยอะ ก็ยิ่งถือว่าเก่ง ยิ่งได้รับการยกย่อง
ส่วนแบบเก็บสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย หมดสมัยไปนานแล้ว พร้อมกับการเข้ามาของอาหารจานเดียว/อาหารจานด่วน กับนิสัยซื้อแหลกของผู้บริโภค