การจัดการสิ่งที่จัดการไม่ได้

อ่าน: 4042

ภัยพิบัติจากธรรมชาติทุกครั้ง จัดการไม่ได้หรอกครับ เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่สเกลของมนุษย์กระจ้อยร่อย จะไปต่อกรกับธรรมชาติ ถึงจัดการไม่ได้ ก็ไม่เหมือนกับการปล่อยไปตามยถากรรมหรอกนะครับ

ถึงแม้จะฟังดูโหดร้าย แต่ความช่วยเหลือมีจำกัด สื่อมวลชนจะไม่รายงานข่าวเฉพาะพื้นที่ตลอดไป ความสนใจของสาธารณชนจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ถึงที่สุดแล้ว ผู้ประสบภัยจะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้

ในขณะที่น้ำใจยังหลั่งไหลไปช่วยผู้ประสบภัยอยู่นี้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ยังมีเรื่องปวดหัวรออยู่อีกมากมาย เช่นด้วยข้อจำกัดของพื้นที่รับบริจาค สิ่งของบริจาค ต้องขนออกอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็ใช้รถยนต์ขนของกันตามความเคยชิน แต่หากสิ่งของขนขึ้นโบกี้รถไฟ แล้วไปส่งตามรายทางสถานีละโบกี้ (ไปถึงแล้วปลดโบกี้ทิ้งไว้เลย) จัดตั้งศูนย์กระจายความช่วยเหลือขึ้นตามสถานีรถไฟต่างๆ น่าจะประหยัดค่าขนส่งได้มาก อาจขอความอนุเคราะห์จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ลดค่าขนส่งบ้าง รถขนส่งต่างๆ แทนที่จะวิ่งเข้ามารับสิ่งของจากกรุงเทพ ก็ไปรับจากสถานีกระจายความช่วยเหลือในพื้นที่ ลดเวลาขับรถ+ประหยัดค่าน้ำมัน+เพิ่มความถี่ที่เข้าไปในพื้นที่ ฯลฯ

ข้างบนนี้ผมยกตัวอย่างไปอย่างนั้นล่ะครับ

อย่างไรก็ตามน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ สร้างหายนะเป็นวงกว้าง

ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นความเห็นที่ไม่เป็นที่นิยม ผมกลับคิดว่าควรหาวิธีช่วยที่ยั่งยืนประกอบการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าไปด้วย (ใครๆ ก็คิดล่ะนะครับ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้คิดเท่านั้นเอง)

แน่นอน ต้องอาหารและสุขอานามัยต้องเข้าถึงพื้นที่ก่อน เมื่อน้ำลดแล้ว ผู้ประสบภัยยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ต้องพยายามช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ให้ชาวบ้านยืนหยัดอยู่ได้ เขาเสียหายมากมาย บางคนถึงกับหมดเนื้อหมดตัว แถมยังมีค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมความเสียหาย เทือกสวนไร่นา ผลผลิตที่ลงทุนลงแรงไปแล้วเสียหาย จะเอาทุนมาจากไหน

[เมื่อปริมาณสร้างทางเลือกให้มากขึ้น ทางเลือกนำสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่...]

ปากช่อง ปักธงชัย น้ำลดแล้ว สำหรับปักธงชัยนั้นผมไม่รู้ครับ แต่มวกเหล็กกับปากช่องนั้น เลี้ยงโคนม โคเนื้อกันเยอะ ทางใต้ด้วย ถ้าน้ำไม่ท่วม หลังเก็บเกี่ยว จะหาฟางสดได้ง่าย แต่ว่าน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ที่นาจมน้ำหมด หญ้า+ข้าวเน่าตาย แล้วจะไปหาอาหารโคมาจากไหน

ตัวอย่างอันหนึ่งของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยได้ คือที่ครูบาทดลองเรื่องสับใบไม้เลี้ยงวัว -> หัวข้อวิจัยไทยบ้าน แต่เนื่องจากสไลด์ขัดข้อง จึงไม่มีเวลาพูดในงาน Ignite Thailand++ ครั้งที่สอง [ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (3)]

ถ้าวัวยังมีอาหารกิน (อย่างน้อยก็แก้ขัดไปก่อน) ให้นม ให้เนื้อ หรือจะว่าต้องขายทิ้ง ผู้ประสบภัยส่วนหนึ่ง ก็ยังพอมีกำลังที่จะฟื้นฟูชีวิตกลับมาได้

…คนเราจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อไม่เหลือความหวังอะไรเลย…

หากจะไปเรียนรู้เรื่องนี้ ก็ไปสวนป่า อ.สตึก บุรีรัมย์ ได้เลยนะครับ ไปเรียนเมนูอาหารวัวแบบต่างๆ ให้เหมาะกับพื้นที่

ครูบาทดลองแล้ว ได้ผลที่ดีมาก วัวอ้วนจนมีคนมาขอเหมาไป (แต่ไม่ขาย เพราะจะเอาไว้สาธิตให้ผู้มาเรียนรู้) หากจะขยายความคิดนี้ กระทรวงศึกษาควรจะให้โรงเรียนอาชีวะทั่วประเทศลองศึกษาและสร้างดู ผลิตเยอะๆ จะทำให้ราคาต่อหน่วยลดลงมาก ยิ่งไม่เอาเครื่องจักรต้นกำลัง คือใช้เครื่องยนต์ไถนา-สูบน้ำ-รถอีแต๋น ราคาจะยิ่งลดครับ — แต่ถ้าจะทดลองดู ก็จัดซื้อเอาได้ครับ ซื้อปลีกก็แพงหน่อยเป็นธรรมดา

แต่ละหมู่บ้าน ใช้เครื่องสับกิ่งไม้เครื่องเดียวก็พอ ไม่ต้องซื้อหาไว้ใช้ส่วนตัวหรอกนะครับ อบต.ก็ได้ ราคาถูกกว่าราดยางมะตอยถนนร้อยเมตรตั้งเยอะ! ชาวบ้านเลือกคุณมา ก็ทำอะไรตอบแทนเขาบ้างเถิดครับ

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ พื้นที่ที่เลี้ยงวัวกันเยอะๆ จะไม่มีหญ้าเพียงพอ แล้วจะไปซื้อหัวอาหารสัตว์มา ก็ราคาแพง เงินก็ไม่มี แล้วก็ต้องมาปิดถนนเรียกร้องอีก — พื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม อาจจะหาฟางได้ระยะหนึ่ง แล้วก็จะเจอปัญหาแบบเดียวกัน

ค่าเครื่องสับมีต้นทุน (อบต.ลงทุนให้?) ส่วนใบไม้ก็ต่างคนต่างตัดแล้วใส่รถอีแต๋นมา มาถึงสถานที่ก็เอาเครื่องของตนนั่นแหละสับกิ่งไม้ หรือจ่ายค่าน้ำมัน 10 บาท แล้วขนกลับไป

ถ้าชาวบ้านใช้ใบไม้เป็นอาหารวัว ชาวบ้านก็ต้องช่วยปลูกและรักษาต้นไม้ด้วย เนื่องจากใบไม้เป็นอาหารสัตว์ที่มีราคาถูกมาก มาจากธรรมชาติเป็นอาหาร organic ด้วย ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงวัวต่ำลงมาก แถมวัวอ้วนพี ให้มูลเป็นจำนวนมากเนื่องจากมีอาหารกินเป็นจำนวนมาก ก็จะได้ปุ๋ยคอกมากอีกต่อหนึ่ง ขายปุ๋ยคอกเป็นรายได้เสริม ขายถูกๆ ก็ได้ เพราะว่าแทบไม่มีต้นทุนเลย

ส่วนคนที่ใช้ปุ๋ยคอก ก็ลดความพึ่งพาปุ๋ยเคมี (ซึ่งนำเข้า) รักษาดิน ทำให้จุลินทรีย์ในดินมีชีวิตอยู่ได้ ปลูกต้นไม้เยอะๆ ได้ใบเยอะๆ ดินไม่ถูกแสงแดดเผา ก็รักษาความชื้นไว้ในดินได้ ต้นไม้เติบโต ให้ใบมาก วนไปเป็นวัฏจักร

เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่การพร่ำบ่นบริกรรมคาถานะครับ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นมาก และต้องกล้าปรับตัวด้วย

« « Prev : แผนที่สถานการณ์น้ำท่วมอีกครั้งหนึ่ง

Next : ความเป็นธรรมเรื่องพื้นที่น้ำท่วม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 October 2010 เวลา 18:32

    น้ำท่วมนาข้าว ชาวบ้านปล่อยควายลงไปมุดน้ำกัดกินต้นข้าวที่อยู่ใต้น้ำ
    ถ้าน้ำไม่ลึกจนเกินไป อยู่ในระยะควายจะว่ายผลุบๆโผล่ดำน้ำลงไปกินต้นข้าว
    กัดต้นข้าวได้แล้วก็ต้องรีบโผล่มาหายใจ
    ทำไงได้ในเมื่ออยู่ท่ามกลางน้ำ และน้ำๆๆ
    หลังจากนี้ไปไม่กี่วันต้นข้าวก็จะเน่า
    วัวควายก็คงขัดสนอาหารหนักขึ้นไปอีก
    เรื่องดำน้ำกินอาหารนี่ หมูก็ฝึกได้นะครับ
    ผมเคยเห็นหมูกระโดดลงบ่อเลี้ยงปลา
    เพื่อแย่งกินหัวอาหารปลา
    ตูมลงไป ก็ดำน้ำไปงับหัวอาหารกินอย่างสนุก
    แต่เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่หมูทุกตัวจะทำได้
    หมูที่พบอยู่ใกล้ตลาด เจ้าของโยนอาหารให้ปลา
    หมูก็พัฒนาตนเองที่จะกินอาหารในน้ำ
    เรื่องแบบนี้คงต้องฝึกฝนครับ
    ถ้าหมูทั่วไปกระโดดตูม อาจจะขึ้นอืดในวันหลังก็ได้

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 October 2010 เวลา 21:49
    สาธุ ใช่แล้วครับ ปรับตัวครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.1086950302124 sec
Sidebar: 0.19244503974915 sec