เมื่อปริมาณสร้างทางเลือกให้มากขึ้น ทางเลือกนำสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่…

โดย Logos เมื่อ 23 July 2010 เวลา 6:39 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3973

เมื่อปี 2459 มีบทความทรงอิทธิพลชื่อ Crowdsourcing ตีพิมพ์ใน Wired

ลักษณะ 5 อย่างของ
“ฝูงชน” ที่สร้างสรรค์:
1. มีความหลากหลาย อย่าคาดหวังว่าคนจะเป็นเหมือนกันหมดเหมือนสินค้าอุตสาหกรรม
2. มีความสนใจสั้น จำเป็นต้องกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มีความรู้ความชำนาญที่แตกต่างกัน อย่ามองข้ามแม้แต่ประเด็นเล็กๆ
4. แม้ส่วนใหญ่สร้างงานที่ “ไม่ดีพอ” ฉาบฉวย ตื้นเขิน ไม่มีคุณภาพ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งดีปะปนอยู่เลย แค่สิ่งที่ดีเพียงหนึ่งหรือไม่กี่เรื่อง ก็สามารถจะเป็นเรื่องใหญ่ได้
5. เสาะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดเอง ให้ฝูงชนคัดสรรงานกันเอง

บทความนี้ ชี้ถึงลักษณะที่เปลี่ยนไปของการสร้างสรรค์งานซึ่งเปลี่ยนไป จากยุคอุตสาหกรรมการผลิตที่พยายามสร้างขุมกำลัง “จากภายใน” อันเป็นประสบการณ์จากสงครามโลก “บริหารอย่างเหี้ยมโหด” (สำนวนของอาจารย์วรภัทร์) สร้างบรรษัทขนาดใหญ่ ผลิต ทำลายคู่แข่งและยึดครอง รวย รวย รวย รวยอยู่คนเดียว เปลี่ยนเป็นการให้อิสระแก่ “ฝูงชน” จำนวนมาก

ตัวอย่างเช่น บรรดาเว็บที่เป็นตลาดรวมสำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ อย่าง tarad.com ebay.com หรือแม้แต่จะออกแนวเฉพาะตัวมากๆ อย่าง turbosquid.com ที่ขาย 3D model paypal.com ซึ่งรับจัดการเรื่องการชำระเงิน ทำตัวเป็นเครื่องมือของร้านค้าอื่นๆ

และอันที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแม้ไม่ได้ขายอะไรเลยคือ wikipedia.org

ในปี 2535 เมื่อสหภาพโซเวียตแยกเป็นประเทศเล็กๆ กลุ่ม “โลกเสรี” ต่างตีฆ้องร้องป่าว ถึงความสำเร็จของการแข่งขันเสรี และเรียกร้องให้โลกเปิดการค้าเสรีให้มากขึ้น ความคิดในแนวนี้ เป็นการด่วนสรุปจากเหตุการณ์และความเชื่อในเวลานั้น

ในขณะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เรียกร้องประเทศต่างๆ ตัวเองกลับกีดกันทางการค้า — ในเนื้อแท้แล้ว ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลก ไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้นยกเว้นพลังงานจากดวงอาทิตย์ซึ่งเผาโลกครึ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากประเทศหนึ่งประสบความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจ ก็จะมีประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จเสมอ เป็น Zero-sum อีกทั้งความสำเร็จที่วัดเป็นตัวเงินนั้น มีเงินเฟ้อมาเป็นตัวลดทอน ดังนั้นหากได้ดุลย์การชำระเงิน ล้านล้านบาทเท่ากันในปีที่แล้วกับปีนี้ ปีนี้จะ เงิน ล้านล้านบาทจะมีค่าน้อยลง รวยน้อยลง มีกำลังน้อยลง จึงจะต้องแสวงหามากขึ้นไปอีก หากยังคิดกันตามแนวทางนี้

ตามกฎของไตรลักษณ์ ความสำเร็จก็เป็นอนิจจัง ไม่ยั่งยืนถาวร ตลาดเสรีก็เช่นกัน แม้ว่าโลกเสรีจะมั่นอกมั่นใจว่าแนวทางของตนประสบความสำเร็จเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลง สหภาพโซเวียตแยกประเทศ จีนเปิดประเทศและก้าวเข้าสู่กระแสเศรษฐกิจโลก ความสำเร็จของโลกเสรีเป็นเพียง “ภาพปัจจุบัน” (snapshot)

Ian Bremmer แต่งหนังสือขายดีเรื่อง The End of the Free Market: Who Wins the War Between States and Corporations? ซึ่งให้อีกภาพหนึ่ง

ฝั่งซ้ายดำเนินการผลักดันโดย “รัฐ” มีเป้าหมายที่ความ “อยู่ดีกินดี” ของประชาชน เปลี่ยนทรัพยากรของประเทศให้เป็นกำลังทางเศรษฐกิจ

ฝั่งขวาเชื่อว่า “รัฐ” มีหน้าที่เอื้ออำนวยให้กิจการต่างๆ แข่งขันได้ดีขึ้น หากไม่ขยัน ไม่มีความรู้ ก็จะตายไปตามธรรมชาติ

รัฐไทยอยู่ตรงไหน จะทำอะไร เพื่ออะไร?

คนไทยคิดอะไร ทำอะไรกันอยู่?

ถ้าเราขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทางบรรษัท ก็มีขนาดเล็กเกินกว่าจะมีกำลังพอที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ กิจการ SME ตามมาตรฐานของโลกเศรษฐกิจนั้น มีเสกลของทุนเป็นร้อยล้านบาทแล้ว SME ของเราไม่ได้มีลักษณะเป็น Enterprise เลย เป็นกิจการส่วนตัวเสียมากกว่า หา CEO ได้ยากมาก มีแต่เถ้าแก่เก่งๆ หลายคน แต่เถ้าแก่กับซีอีโอมืออาชีพนั้น คิดต่างกันมาก ดังนั้นแนวทางทางด้านขวา ไม่น่าจะนำเมืองไทยไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะหมายถึงอะไร

ส่วนทางด้านซ้ายของรูป มีรัฐเป็นตัวจักรสำคัญ รัฐของเราอ่อนแอเพราะการเมืองแบบแสวงหาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเรื้อรังมานานแล้ว ถ้าถามว่าวันนี้ strategy ของเมืองไทยคืออะไร ผมคิดว่าจะมีคำตอบหลากหลายเลยครับ จะมีคนแย่งกันบอกว่า strategy ของเขาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเมืองไทย ซึ่งนั่นกลับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คือว่าเราไม่รู้ว่าเมืองไทยจะทำอะไรกันแน่ ในเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอะไรกันแล้ว จะไปรวมพลังทำอะไรกันได้ล่ะ

ผมเป็นเพียงหนึ่งในฝูงชน ที่มีแต่บล็อกลานซักล้างนี้ เป็นที่แสดงความคิดเห็น และไม่มีใครที่ต้องมาฟังผม เมื่อมองเรื่องทิศทางนี้แล้ว ไม่คิดว่าเราความจะเป็นสีแดงหรือสีดำ เพราะว่าเราไม่ต้องเลือกจากทางเลือกที่มีคนยื่นมาให้ เรามีชีวิตของเราเอง มีข้อจำกัดของตนเอง และมีความห่วยของตนเอง ใครจะมารู้ดีกว่าตัวเรา ไม่ต้องเอาทฤษฎีใดๆ มาอ้าง เพราะว่าบรรดาผู้ตั้งทฤษฎี ก็ไม่ได้รู้จักเมืองไทยดีพอ (ผมไม่ยกย่องคนที่แนะนำโดยความไม่รู้หรอกนะครับ)

ผมไม่มีคำแนะนำว่าเมืองไทยควรจะเดินไปทางไหน เพราะผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ใคร และไม่เห็นประโยชน์ของการแสร้งทำเป็นผู้ที่รู้ไปหมด

แต่อยากชี้ว่าไม่ว่าเราจะไปทางไหน มีความมั่นคงสามแนวทาง ที่ต้องจัดการก่อน จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ มีเรี่ยวแรงทำอะไรต่างๆ ที่ควรทำ คือ

  1. ความมั่นคงทางอาหาร ตัวเลขเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถึงแม้ว่าประชากร 30% ทำการเกษตร แต่คน 30% นี้เลี้ยงคนทั้งประเทศ ควรจะสำนึกบุญคุณกันเสียที อย่าปล่อยให้ใครเอาเปรียบแบบที่เคยเป็นมาเลย เป็นเรื่องน่าอายที่ตั้งเป้าจะเป็นครัวของโลก แต่ภายในประเทศกลับทำการพาณิชยกรรมเป็นหลัก กินหัวคิวกันไปเป็นทอดๆ ในขณะที่ต้นน้ำไม่เหลืออะไร
  2. ความมั่นคงของน้ำ เป็นอันตรายที่เราไม่พูดถึงกัน น้ำคือชีวิต เมืองไทยไม่มีภูเขาสูงพอที่จะกักเมฆให้กลั่นตัวเป็นน้ำ แหล่งต้นน้ำของเราจึงขึ้นกับสภาวะอากาศ (ฝน) เราสร้างเขื่อนขึ้นมาเก็บกักน้ำ หวังจะมีระบบชลประทานแจกจ่ายน้ำออกไป แต่การพัฒนาตามแนวนี้ตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมาไม่ประสบผล — เขื่อนก็จำเป็น แต่เขื่อนขนาดใหญ่สร้างอีกได้ยากเพราะว่าเขื่อนทำลายป่า เมื่อไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ — ในบางพื้นที่ การส่งน้ำตามระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่น้อยมากจนตกใจ ภาคเหนือครอบคลุมพื้นที่ 15% ภาคอีสานมีแค่ 6% ที่เหลือคงต้องเอาตัวรอดกันเอง ประปาไม่ได้มีทุกพื้นที่เช่นเดียวกับบาดาล ถ้าจะต้องซื้อน้ำจากที่อื่น หาเงินได้เท่าไหร่ก็หมดครับ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี ลองดูที่นี่เป็นตัวอย่าง แล้วช่วยกันขยายผลก็ได้นะครับ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคน บ่อน้ำ: น้ำน้อยมีสำรอง น้ำมากมีที่บรรเทา… อีสานมีฝนตกเฉลี่ย 1000 มม.ทุกพื้นที่ แต่เวลาฝนตกกลับไม่มีที่เก็บกักน้ำ ปล่อยให้ไหลทิ้งไป(เกือบ)หมด เขื่อนปากมูลก็เปิดทิ้งไว้เฉยๆ
  3. ความมั่นคงทางพลังงาน พลังงานคือกำลังที่จะขยายผลของงานที่แต่ละคน แต่ละชุมชน ทำกันอยู่ ถ้าไม่มีพลังงาน เราก็จะไม่มีกำลัง ในวันนี้ แม้ว่าการจัดซื้อจัดหาแหล่งพลังงาน จะไม่(ค่อย)มีปัญหา แต่ว่าแหล่งก๊าซในอ่าวไทย เหลือเวลาอยู่เพียงอีกสิบกว่าปี เมื่อหมดแล้ว เราจะทำกันอย่างไร แหล่งพลังงานที่น่าจะต้องพัฒนากันอย่างจริงจังคือพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ผมหมายรวมไปถึงไบโอแมสด้วยนะครับ ไบโอแมสคือพลังงานแสงอาทิตย์ที่พืชและสัตว์ เก็บสะสมไว้ในรูปของพลังงานทางเคมี เมื่อเผาก็จะปล่อยพลังงานกลับคืนมา

ก่อนจะทำอะไร อยู่รอดให้ได้ก่อนครับ

« « Prev : การพลัดพราก

Next : การสร้างหลักประกันให้ผู้ประกอบการใหม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

15 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 12:48

    …….
    ผมเป็นเพียงหนึ่งในฝูงชน ที่มีแต่บล็อกลานซักล้างนี้ เป็นที่แสดงความคิดเห็น และไม่มีใครที่ต้องมาฟังผม….

    ไม่ได้มาฟัง  แต่มาอ่านครับ  อ่านแล้วคิดตาม……

    %@^&@)^)!%*)__!%@%^_UI%@^&*

    ก็เป็นห่วงประเทศนะ  แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ?

    ย้อนกลับมาเรื่องเจ้าเป็นไผ   พัฒนาตัวเอง  ดูแลคนใกล้ตัว  ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด  พัฒนาหน่วยงานของตัวเอง….

    ทำสิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ดีกว่า……..  อิอิ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 13:36
    ผมคิดว่างานของหมอ เป็นงานที่ทำเพื่อส่วนรวมอยู่แล้วนะครับ

    ผมไม่ได้ยุยงให้ไปเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรที่ใหญ่โตเกินกำลังหรอกครับ อย่างนั้นคงเป็นการไม่รู้จักข้อจำกัดของตัวเองมากกว่า เพียงแต่สิ่งต่างๆ ที่เราทำ นอกจากจะทำให้ดีตามหน้าที่แล้ว ขอให้คิดถึงผลกระทบต่อคนอื่นด้วย ถ้าหากมีแรงมีทรัพยากรเหลือ แทนที่จะปล่อยให้สูญเปล่า หรือว่าจะเริ่มอะไรใหม่ ก็ขอให้คิดกว้างหน่อย ดูผลกระทบให้ถ้วนถี่ Think Globally, Act Locally

    การทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ดีทั้งนั้นไม่ว่าใครจะเห็นหรือไม่เห็น ชื่นชมหรือไม่ก็ตาม ส่วนเล็กจะดีกว่าใหญ่หรือไม่นั้น ผมว่าไม่แน่เหมือนกันนะครับ เพราะคำว่า “ดีกว่า” เป็นการเปรียบเทียบ ซึ่งขึ้นกับมุมมองของผู้เปรียบเทียบ ซึ่งแต่ละคนอาจจะตัดสินไปคนละทาง ยังไงก็ตาม การทำหรือเรียกร้องในสิ่งที่เกินกำลังนั้น เป็นการไม่รู้จักตัวเองแน่นอน ออกไปแนวอธิษฐานในภาษาไทยที่เป็นการเรียกร้อง ซึ่งต่างกับอธิษฐานในความหมายว่าตั้งสัจจะ

    ท้ายบันทึกช่องว่างระหว่างความรู้กับการกระทำ มีข้อความบางตอนจากหนังสือมาตุบูชานุสรณ์ ซึ่งน่าอ่านครับ เป็นตอนที่ท่านพุทธทาสกำลังจะตั้งสวนโมกข์

    ในส่วนของทัศนคติต่องานนั้น ขอนำความบางตอนจาก มาตุบูชานุสรณ์ โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ปีที่ ๑๖ เล่ม ๓ สิงหาคม ๒๔๙๑ ซึ่งท่านพุทธทาสรำลึกถึงโยมแม่ของท่านที่บริจาคเงินเก็บทั้งหมด มาเป็นเงินประเดิมในการเปิดกิจการคณะธรรมทานและจัดสร้างสวนโมกขพลาราม มาให้ท่านผู้อ่านพิจารณา

    ต่อข้อถามของแม่ที่ว่า ดูมันเป็นเรื่อง ใหญ่โตขนาดพลิกแผ่นดิน พวกเรากำลังน้อยเช่นนี้ จะไม่เจียมตัวบ้างเทียวหรือ. เราชี้แจงให้แม่หายเข้าใจผิดว่า เราไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อยๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไร ก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่า การกระทำด้วยความจงรักต่อพระศาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิดไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามมากขึ้น จนกระทั่ง ผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น แต่เราได้รับผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งจะมากยิ่งกว่าโดยตรงเสียอีก.

    แม่ตั้งคำถามที่ไม่สู้ยากแก่การตอบอีกหลายข้อ แต่ก็ผ่านไปได้เช่นเดียวกับข้อที่ยากๆ ข้างต้น เช่นถามถึงว่า มีความรู้พอที่จะทำกันได้หรือ ในเรื่องความรู้นี้ พวกเรามีหลักว่า ส่วนใหญ่แห่งกิจการของเรานั้น เป็นการกระตุ้นผู้ที่มีการศึกษามาแล้ว ให้ขะมักเขม้นในการปฏิบัติธรรม ตามความรู้ที่เรียนมาแล้ว มากกว่าที่เราจะตั้งตนเป็นครูสอนเขา และเราทำตนเป็นผู้อุปัฏฐากหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติ ตามที่เราจะทำได้ (ตามที่เคยประกาศในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ให้เป็นที่ทราบทั่วกันแล้ว) ต่างหาก ส่วนความรู้อื่นๆ เป็นพิเศษนั้น เชื่อว่าเราพอจะหามาแจกจ่ายเป็นธรรมทานได้สมกับที่เป็นองค์การเล็กๆ ในชนบทบ้านนอก แม้จะบกพร่องบ้างก็คงมีคนให้อภัย ส่วนความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะเป็นเอกชนคนหนึ่งนั้น เรามีมากพอในปัญหาที่ว่า เราจะช่วยกันส่งเสริมพระศาสนาของเราได้อย่างไร และอาจเป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้ด้วย ทั้งหมดนี้ จะเป็นผลดีแก่พระศาสนาแน่นอน, ทั้งยังไม่มีใครทำกันเป็นกิจจะลักษณะ นับว่าเราทำในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้เต็ม.

  • #3 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 15:09

    คิดคล้ายกับอ.จอมป่วนค่ะ

    เคยคิดว่า… เราก็แค่คนเล็ก ๆ ไม่มีเงินทอง ไม่มีอำนาจบารมี ความรู้ก็มีนิดหน่อย ๆ ไม่รู้ลึกในเรื่องใด ๆ เลย แล้วจะไปช่วยประเทศชาติบ้านเมือง ช่วยโลกนี้ได้อย่างไรแค่ไหน… เลยหันมามองตนเองว่ามีศักยภาพในเรื่องอะไร ทำเรื่องส่วนตัวและเรื่องในครอบครัวให้ดี ไม่เอาเปรียบสังคม และจะยิ่งดีหากแบ่งปัน ความรู้ ความคิด ให้คนอื่นได้ ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด ทำไปทีละก้าว ทีละเรื่อง … แค่นั้นพอ

    หากดูจากสถานการณ์โดยรวมแล้ว “ทางเลือก” ที่มากมายหลากหลาย เหมือนจะเปิดโอกาสให้เราได้เลือก…
    แต่ทางเลือกต่าง ๆ ล้วนอิงอยู่บนฐานของ ทุนนิยม/บริโภคนิยม ที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก กินกันเป็นทอด ๆ  ประเทศที่ประกาศว่าต้องการเป็น “ครัวของโลก” กลับซุ่มซ่อนความอยากเป็นผู้ค้าหรือการทำพานิชยกรรม (ดังที่คุณLogosว่าไว้) อย่างออกหน้าออกตา เมื่อเป้าหมายกับการกระทำต่างกัน … แน่ล่ะ ก็เหมือนคนเดินเป๋ไปเป๋มา ไม่มีทางมั่นคงไปได้

    ความมั่นคง 3 แนวทาง เรื่องอาหาร น้ำ และพลังงาน นี้ เห็นด้วยอย่างยิ่ง ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นว่าหากประเทศเรา (หรือประเทศใดก็ตาม) มีการจัดการดูแลจนมั่นคงทั้ง 3 เรื่องนี้แล้ว จะพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

    ดีจัง ชอบใจ ขอนำแนวคิดนี้ไปอ้างอิงนะคะ
    ขอบคุณค่ะ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 16:33
    ทุกคนเป็นคนเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ได้ถ้าจะทำนะครับ

    คนที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดอะไรได้ทั้งหมด จะเก่ง จะมีอิทธิฤทธิ์อะไรกันนักหนา ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมถึงยังมีปัญหาอยู่ ที่จริงแล้วคนตัวเล็กๆ อยู่ใกล้เหตุการณ์มากกว่า มองเห็นสถานการณ์และข้อจำกัดชัดกว่า พอรายงานขึ้นไป ข้อเท็จจริงกลับหายไปหมด คนบนหอคอยงาช้างจึงควรแค่ชี้ทิศทาง อยู่สูงเห็นไกลกว่า แต่ไม่ต้องสั่งละเอียดเพราะว่าคำสั่งละเอียดนั้นปฏิบัติไม่ได้…ถ้ารู้ดีนัก ควรลงมือทำเอง

    เช่นเดียวกับการรออัศวินม้าขาว น่าจะฉุกคิดว่าอัศวินตกม้าไปแล้วหรือเปล่า

  • #5 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 16:44

    คนเล็ก ๆ มักจะปากกล้าวาจาหาญ ด่าได้ทุกทีทุกเวที แต่พอต้องทำจริง ๆ ก็ได้แต่ยืนมองฟ้า ตะกายดาว จนหมดแรงไปในที่สุด
    คนใหญ่ ๆ บนหอคอยงาช้าง ก็สบายตัวสบายใจไปแล้ว ไม่มีเสียล่ะที่จะร้อนอาสน์ ข้า ฯ และพวกพ้องข้า ฯ อยู่สบายกินดี มั่นคง เป็นใช้ได้

    รออัศวินม้าขาวจนแห้วกันไปเป็นแถวแล้ว…อย่ารอเลย
    หัดขี่ม้าขาวเองซะบ้าง ดีกว่า ฮา ๆ

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 16:49
    ใครทำอะไรให้ไม่ถูกใจ แผ่เมตตาให้บ่อยๆ ก็ดีนะครับ ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องเจอกันอีก

    คบคนเช่นไร เป็นคนเช่นนั้น

  • #7 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 16:56

    พอเริ่มแผ่เมตตาก็ดี แผ่ไปไม่ทันเท่าไหร่ โกรธใหม่อีกแล้ว…
    แผ่เมตตาแล้วต้องถอยห่าง ๆ เพราะแผ่บ่อย ๆ อาจคุมสติไม่ทัน…ฮา
    แต่โดยมากแล้ว ทั้งรัก โกรธ เกลียด ทางจิตวิทยาสมัยใหม่ เรียกกันในชื่อ พลังดึงดูด (Law of Attraction) มีค่าเท่ากัน ยิ่งเกลียด โกรธ …ก็มีแรงดึงดูดเหมือนรักและชอบเช่นกันค่ะ…กลายเป็นเรื่องยากไปเลย

    โห…การบ้านมาอีกละ  เล่มนี้หลาน ๆ น่าจะมีแล้วค่ะ ขอบคุณที่แนะนำค่ะ
    28 กค.53 นี้มีงานสัปดาห์หนังสือของเครืออมรินทร์ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ค่ะ ไม่แน่ใจว่ากี่วันค่ะ

  • #8 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 20:16

    ชื่อบันทึกทำให้นึกถึงบันทึกหนึ่งของตัวเอง 
    อาจจะคนละประเด็น
    เพียงแต่ฐานในการมองอาจจะพออ้อมแอ้มได้ว่า จะเลือกอะไรบางทีควรหยุดคิดก่อนว่า เลือกเพราะถูกหยิบยื่นมาในลักษณะที่เข้าใจเองว่า ตัวเองมีอำนาจในการเลือกทั้งๆที่ตกหลุมพรางของแนวทางเลือกที่ดักล่อไว้ ของผู้ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจหรือเปล่า

    น่าสนใจทั้งการที่คนเราจะทำอย่างไรถึงจะมองกว้างแต่ทำเล็ก…และทำได้โดยยังคงเข้าใจถึงโยงใยที่ซ่อนเร้นของส่วนเล็กกับส่วนเล็กอื่นๆและส่วนใหญ่ทั้งหมด…..ประเด็นตรงนี้มีความเห็นแนะนำอย่างไรหรือเปล่าคะ

    น่าสนใจในความคิดเห็นของน้อง freemind ด้วยค่ะ

    (ปล. จัดบันทึกอย่างไรให้สามารถมีตัวหนังสือเหมือนเป็นบล๊อคแยกไว้ข้างๆด้านขวาคะ)

  • #9 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2010 เวลา 21:03
    #7 ถ้าวูบวาบก็ต้องฝึกให้นิ่งครับ ยิ่งเกลียดก็ยิ่งเจอ จึงต้องรีบนิ่งเพื่อที่จะไม่ต้องเจอ ไม่มีเวรกรรมต่อกันอีกต่อไป

    #8 คงมีหลายวิธีนะครับ ผมใช้อุบายอย่างนี้
    @ “มองกว้างแต่ทำเล็ก”: จะสร้างบ้านก็ต้องเริ่มจากเรียงหินโบกปูนไปทีละก้อน งานนี้ไม่เสร็จในวันเดียวไม่ว่าจะอยากแค่ไหน ก็ต้องเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง
    @ “ทำได้โดยยังคงเข้าใจถึงโยงใยที่ซ่อนเร้นของส่วนเล็กกับส่วนเล็กอื่นๆ และส่วนใหญ่ทั้งหมด”: นึกถึงต่อจิ๊กซอว์ก็แล้วกันครับ เวลาจะทำคงมองภาพใหญ่ก่อนว่าจะทำอะไร แต่เวลาลงมือ ดูแค่ลักษณะที่เข้ากันได้บนสองแผ่นที่อยู่ติดกันเท่านั้น

    (ปล. ตารางที่แยกตัวออกมาทางขวาในบันทึก เป็น html ครับ พี่สร้อยเปิด view source หน้านี้แล้วค้นคำว่า “ลักษณะ 5 อย่าง” ก๊อบปี้ทุกอย่างระหว่าง <table> กับ </table> ไปใช้ครับ)

  • #10 ลานซักล้าง » ข้อสังเกตรัฐไทย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 September 2010 เวลา 14:46

    [...] พัฒนาความมั่นคงสามแนวทางอย่างจริง

  • #11 ลานซักล้าง » เข้าถึงผู้ประสบอุทกภัย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 October 2010 เวลา 23:59

    [...] อย่างน้อยก็ตามความมั่นคงสามแนวทางครับ คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน — [...]

  • #12 ลานซักล้าง » การจัดการสิ่งที่จัดการไม่ได้ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 November 2010 เวลา 19:46

    [...] [เมื่อปริมาณสร้างทางเลือกให้มากขึ้

  • #13 ลานซักล้าง » ทางเลือกที่ไม่ได้เป็นทางเลือก ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 June 2011 เวลา 19:28

    [...] เมื่อปริมาณสร้างทางเลือกให้มากขึ้

  • #14 ลานซักล้าง » สำหรับคนสายตาสั้นและขี้ตกใจ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 October 2011 เวลา 20:28

    [...] เมื่อปริมาณสร้างทางเลือกให้มากขึ้

  • #15 วิเคราะห์-การตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ | PRASONG.COM เล่าข่าว...จากป ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 October 2011 เวลา 0:56

    http://www.prasong.com/highlight/%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%b0%e0%b8%ab%e0%b9%8c-%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b8%88%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%96%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%9c%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%96%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a8/
    [...] Crowdsourcing เมื่อปริมาณสร้างทางเลือกให้มากขึ้


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 3.6267328262329 sec
Sidebar: 0.50592708587646 sec