การพัฒนา “เผ่า”
อ่าน: 3419มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงมีการรวมกลุ่มกัน ด้วยความเหมือนบางอย่าง
การรวมกันด้วยความเหมือนบางอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปเพราะมนุษย์นี้กระจ้อยร่อย ตัวเราคนเดียวทำอะไรเองมากนักก็ไม่ได้ จึงต้องอาศัยพึ่งพาคนอื่นบ้าง ดังนั้นมนุษย์แต่ละคนเป็นสมาชิกของกลุ่มหลายๆ กลุ่มในเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะเสริมสร้างกำลังใจในการยืนหยัดด้วยความเหมือน และไหว้วานผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ และความสามารถที่แตกต่างในส่วนที่ตัวเองทำไม่ได้
ดังนั้นในชีวิตคน จึงต้องเจอทั้งความเหมือนและความแตกต่าง Dr. David Logan เรียกการรวมกลุ่มนี้ว่า “เผ่า” หรือ Tribe ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนประมาณ 20-150 คน (ใหญ่กว่าทีมหนึ่งทีม ใหญ่กว่ากลุ่มคนที่มั่วสุมกันเองโดยสร้างกำแพงล้อมรอบตัวเอาไว้ จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ในระดับที่กว้างกว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่เป็นบุคคลต่อกลุ่มคน)
ปฏิสัมพันธ์ของบุคคลต่อโลกภายนอกนั้น เป็นไปตามโลกทัศน์ของเขา สิ่งที่เขาแสดงออก ก็สะท้อนสิ่งที่เขาเห็นจนนึกว่าเป็นปกติ
David Logan แบ่งเผ่าออกเป็น 5 ระดับตาม “การพัฒนา”
- “โลกบัดซบ” Life Sucks — ทุกอย่างเลวร้ายไปหมด อะไรๆ ก็ไม่พอใจ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อความอยู่รอด ไม่ต้องสนใจกติกาอะไรทั้งสิ้น เบียดเบียนใครก็ได้โดยไม่รู้สึกผิดอะไร
- “ทำไมเรื่องเลวร้ายจึงเกิดกับฉันอยู่เรื่อย อะไรกันฟะ” My life sucks
- “ฉันเจ๋งที่สุด (แต่แกไม่เจ๋ง)” I’m great (but you’re not!) — ซึ่งมีความหมายแฝงว่าคนอื่นกระจอกทั้งนั้น ฉันรู้ดีที่สุด ฉันดีที่สุด
- “เราเจ๋ง” เปลี่ยน “ฉัน” เป็น “เรา” — เปลี่ยนจากเป้า/เรื่องส่วนตัว เป็นเป้า/เรื่องของส่วนรวม (แต่ยังมี “พวกมัน”) มีความสัมพันธ์กันแบบเน้นที่คุณค่าของการอยู่และทำงานร่วมกัน
- “ทั้งหมดเจ๋ง” Life is Great — ไม่มีคำว่าคนอื่น ทุกคนเชื่อมโยงกันหมด ยกตัวอย่างสาธุคุณ Desmond Tutu ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และรางวัลอันมีเกียรติอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยการจัดตั้งกระบวนการที่ทำให้การแบ่งแยกผิวในอัฟริกาใต้ซึ่งดำเนินมาอย่างเป็นระบบเกือบ 50 ปีสงบลงได้: ความจริงและการสมานฉันท์ สองอย่างนี้ต้องไปคู่กันเสมอ ไม่อย่างนี้จะเป็นการประนีประนอม (ซึ่งไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดเลยพอใจ) หรือ “ยอมเถอะ” แล้วเพิ่มความเก็บกดคับข้องใจขึ้นอีก
ข้อมูลวิจัยบอกว่า ระดับ 1:2:3:4:5 เป็นสัดส่วน 2:25:48:22:2% มีเผ่าน้อยมากที่เป็นเผ่าระดับ 1 หรือระดับ 5 (จะกล่าวอ้างว่าเป็นระดับ 5 ผู้สูงส่งก็ได้ แต่มันมักจะไม่จริงหรอกครับ ถ้ายังชี้นิ้วอยู่ล่ะก็ ยังไม่ใช่นะครับ)
อย่างไรก็ตาม David Logan ให้แง่คิดสำคัญไว้สามเรื่องคือ
- ผู้นำ จำต้องพูดกับคนในเผ่า “ทุกระดับ” ไม่ใช่แค่เผ่าใดเผ่าหนึ่ง หรือเฉพาะเผ่าที่สนับสนุนตน — ผู้นำ นำทุกเผ่าของสังคม/องค์กร
- หน้าที่ของผู้นำ คือพัฒนาเผ่าแต่ละเผ่าให้ก้าวหน้าขึ้นไปในระดับต่อไป เพื่อที่สังคม/องค์กรจะดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น
- ข้อความที่พูดกับแต่ละเผ่านั้น แต่ละเผ่าเข้าใจข้อความในระดับติดกันเท่านั้น อย่าเอาอุดมคติของเผ่าระดับ 5 มาพูดกับกลุ่มคนที่ท้อแท้สิ้นหวัง เขาไม่ฟังหรอกนะครับ ไม่รู้เรื่อง!
« « Prev : คิดใหม่ ทำใหม่ ที่ทางแยก
Next : ลึกกว่าข้อความคือความคิด มีค่ากว่าความคิดคือการกระทำที่ถูกต้อง » »
5 ความคิดเห็น
มีเผ่าหลายเผ่าที่พยายามเหนี่ยวนำและหล่อเลี้ยงเผ่าต่างกันรวมทั้งเผ่าตัวเองให้ดีขึ้น ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
เผ่าที่สอนหนังสือก็เดี้ยง?
เผ่าเกี่ยวกับศาสนาก็มีปัญหา ?
เผ่า……ฯลฯ
เผ่าเฮ….. ทำอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้? อิอิ
แต่นั่นก็เป็นคำถามอันใหญ่โตว่า แต่ละคน แต่ละเผ่า ทำอะไรกันอยู่ ทำไปเพื่ออะไร ต้องการอะไร ได้แล้วเสียอะไร ถ้าไม่ได้แล้วเสียอะไร
หรือจะรอเป็นสถาบันสถาปนาแห่งที่สอง ซึ่งนิ่งเงียบจนสถาบันสถาปนาแห่งแรกล่มสลายไปก่อน
[...] แบบว่าอยากพัฒนาเผ่าตัวเองเป็นแบบเผ่าที่ห้า (เผ่าทั้งหมดเจ๋ง –Life is Great) ที่รอกอดเล่าให้เราฟัง อิอิ [...]
ทำให้นึกได้ว่า แต่ละคนก็เป็นสมาชิกอยู่หลายเผ่า ดังเช่นอาตมาก็(น่าจะ)จัดอยู่ในเผ่าเฮเหมือนกัน…
พิมพ์มาถึงตอนนี้ ใจก็แล่นไป มีข้อความว่า “ไอ แอม ยุโรป” ผุดขึ้นมา รู้สึกว่าจะเป็นเชอชิลด์ หรือใครนี้แหละ… ทำให้นึกต่อไปว่า ฉันคือเผ่า… เผ่าคือฉัน… เราคือเผ่า…. แจกกระจายออกไปได้หลายนัย
ก็นึกถึงปรัชญาเวทานตะ ขึ้นมาอีก ในหัวข้อว่า ฉันคือพรหมัน… สรรพสิ่งคือพรหมัน…. ซึ่งก็มีหลายสำนักย่อยเหมือนกัน
สรุปว่า ถ้าพิมพ์ไปเรื่อย ใจก็ไหลไปเรื่อย…
เจริญพร
[...] ถ้าอยู่ในองค์กร มีบางคนที่อยู่ในฐานะที่สั่งได้ครับ แต่ในสังคมขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายนั้น จะไปสั่งใคร (ถือดีอะไร) รู้หรือเปล่าว่าการยื่นทางเลือกทางเดียว เป็นการไม่เคารพคนฟัง ไม่เคารพความแตกต่างเลย [การพัฒนา "เผ่า"] [...]