แผ่นดินบิด

อ่าน: 5699

@DrJoop ให้ลิงก์ของเอกสารสนุกชื่อ The Science behind China’s 2008 earthquake พร้อมทั้ง e-book วิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์อีกกระบิหนึ่ง แต่ตอนนั้นกำลังอลหม่านกับน้ำท่วมทางภาคใต้ จึงเก็บไว้ก่อน ปลายสัปดาห์นี้จะไปต่างจังหวัดหลายวัน จึงพยายามเคลียร์งานที่คั่งค้างให้ได้มากที่สุด

เอกสารดังกล่าวข้างบนมาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งคาลิฟอร์เนีย (คาลเทค) ซึ่งที่นี่ล่ะครับ บีโน กูเทนเบิก และ ชาลส์​ ริกเตอร์ เป็นผู้บัญญัติ Local Magnitude scale (ML) ที่ใช้วัดความแรงของแผ่นดินไหวมาตั้งแต่ปี 2478 เรามักเรียกกันติดปากว่าริกเตอร์สเกล แต่ ML ก็วัดได้ไม่ค่อยดีในกรณีที่แผ่นดินไหวมีความแรงสูงๆ ดังนั้น ในปี 2522 นักธรณีวิทยาของคาลเทคอีกสองคน คือทอมัส แฮงส์ และฮิรู คานาโมริ ได้พัฒนา Moment Magnitude scale (Mw) ขึ้นมาใช้วัดพลังงานที่แผ่นดินไหวปลดปล่อยออกมา เรายังเรียกเหมารวมกันว่าริกเตอร์สเกลเช่นเดิม ทั้งที่ไม่เหมือนกันทีเดียวหรอกครับ

เอกสารในย่อหน้าแรก เป็นงานวิจัยของคาลเทคเหมือนกัน แต่เป็นการมองในภาพที่ใหญ่กว่าสึนามิปี 2547 มาก (อันหลังผมเล่าไว้นิดหน่อย ท้ายบันทึก [แผ่นดินไหวขนาด 10 ริกเตอร์])

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.9 ริกเตอร์ในแคว้นเสฉวน ประเทศจีน แคว้นนี้อยู่ติดกับที่ราบสูงทิเบต ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงบ่อย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น รายงานอย่างเป็นทางการปลายปีนั้น ยืนยันว่ามีเด็กนักเรียนตาย 19,065 คน และมีคนอีก 90,000 ตายหรือสูญหาย ในตอนปลายปี ทางการสร้างบ้านใหม่ไปแล้ว 200,000 หลัง และยังกำลังสร้างอีก 685,000 หลัง แต่ว่ายังมีอีก 1.94 ล้านครอบครัวที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร มีการสร้างโรงเรียนใหม่ 1,900 โรง จำเป็นต้องอพยพ(ปิดตาย)เมือง 25 เมือง

ความเสียหายครั้งนั้นรุนแรงมาก บรรดาผู้เชี่ยวชาญ (และผู้เสมือนเชี่ยวชาญ) ต่างก็บอกว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากแผ่นดินไหวปลายเกาะสุมาตราที่ทำให้เกิดสึนามิปี 2547…แฮ่… ผมสงสัยครับ ถ้าแผ่นดินไหวที่สุมาตรา (ซึ่งรุนแรงมากจริงๆ) ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่เสฉวน ทำไมรอยแยกมีพลังในพม่าจึงไม่ออกฤทธิ์ในระหว่างปี 2548-2551​ (มีแผ่นดินไหวบ้างแต่ไม่รุนแรง)

เอกสารของคาลเทคในย่อหน้าแรก อธิบายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งฟังดูสมเหตุผลกว่ามากนะครับ ถ้าอยากอ่านแบบละเอียดโดยไม่ผ่านการตีความของผม ก็เชิญคลิกที่ลิงก์นั้นได้เลย

รูปข้างบนแสดงแผ่นดินไหวระหว่างปี 2507-2547 ดาวสีขาวคือศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเสฉวน

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดที่จุดกลมสีแดง ซึ่งเป็นแนวของแผ่นเปลือกโลก *แต่ยกเว้นในทิเบตและขอบที่ราบสูงทิเบต* น่าจะมีคำอธิบายว่าทำไม ซึ่งเขาอธิบายว่าทวีปอินเดียพุ่งชนทวีปเอเซีย (ซึ่งเกิดมาต่อเนื่องเป็นเวลา 50 ล้านปีมาแล้ว) ทำให้เกิดที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัยขึ้น

อินเดียพุ่งขึ้นเหนือด้วยความเร็ว 4 ซม./ปี ทิเบตไม่ได้ขยับขึ้นเหนือแต่ว่าขยับออกไปทางตะวันออก; เทือกเขา Longmen Shan เป็นเขตแดนของที่ราบสูงทิเบต ขยับไปบี้ที่ราบเสฉวนด้วยความเร็ว 4 มม./ปี (ไม่ได้พิมพ์ผิด) และเกิดแนวมุดตัวขึ้นที่นี่

รูปข้างล่าง: จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เสฉวน แสดงเป็นรูปดาวสีเหลือง ส่วนจุดกลมๆ เป็นอาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้น; ลูกศรสีขาวแสดงทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน วัดด้วย GPS

ทีนี้ถอยออกมานิดหนึ่ง จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เสฉวนแสดงเป็นรูปดาวสีแดง บรรดาเส้นเล็กๆ คือรอยแยกในภูมิภาคนี้; เมื่อมวลของแผ่นดินประมาณมหาศาลขนาดทิเบตซึ่งเป็นหินทั้งแท่ง กำลังเคลื่อนตัวไปบี้ที่ราบทางตะวันออกในแผ่นดินจีน รอยแยกต่างๆ ไม่ว่ามีพลังหรือไม่มีพลัง ก็น่าจะมีสิทธิ์ขยับได้เหมือนกัน ชิมิ?

จำแผ่นดินไหวในพม่า/ลาวที่ส่งผลมาถึงชายแดนภาคเหนือเมื่อเร็วๆ นี้ได้ใช่ไหมครับ! ยังมีแผ่นดินไหวใหญ่แถวชายแดนพม่า-จีนอีก!!

ทีนี้ลองดูผลการวัด “ความเร็ว” ในการเคลื่อนที่ของแผ่นดินด้วย GPS ดู จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เสฉวนเป็นรูปดาวสีน้ำเงิน

ผมคิดว่าภาพข้างบนนี้ สยองมากเลย แผ่นดินกำลังเคลื่อนตัวตามเข็มนาฬิการอบเมืองไทย อินเดียดันทิเบตไปทางเหนือ ทิเบตดันจีนไปทางตะวันออกและทางใต้ แผ่นเปลือกโลกอินโดออสเตรเลียนดันเกาะสุมาตราและเกิดสึนามิปี 2547 ไปแล้วครั้งหนึ่งแต่ยังดันอยู่ ด้านใต้ของสุมาตราลอยขึ้น (เก็บไว้อธิบายอีกบันทึกหนึ่ง เพราะชักยาวไปแล้ว)

ดูเผินๆ เหมือนเมืองไทยถูกอัดทั้งจากทางเหนือและทางใต้ แต่ที่จริงไม่น่าจะถูกอัดจนแผ่นดินพับแบบหักกลางหรอกครับ ฮ่องกง+ไต้หวัน น่ากลัวกว่า (ไทยควรกังวลตรงนี้ด้วย เพราะเคเบิลใต้น้ำไปผ่านแถวนี้เยอะ เคเบิ้ลใต้น้ำที่ไต้หวันเคยขาดจนอินเทอร์เน็ตเดี้ยงไปทั้งภูมิภาคนานเป็นเดือน) ฟิลลิปปินส์เคลื่อนที่เร็วมาก ยิ่งเคลื่อนที่เร็วก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่

*** การใช้เอกสารฉบับเดียวแถมป็นข้อมูลมือสองซึ่งตรวจสอบไม่ได้ มาอธิบายเป็นวรรคเป็นเวรนั้น ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ***

แต่ผมว่ามันสมเหตุผลเหมือนกันครับ เพราะ

  1. ใช้ GPS วัด
  2. Kerry Sieh จากคาลเทค ซึ่งผมติดตามงานของเขามาตั้งแต่สึนามิปี 2547 มาทำงานอยู่ในภูมิภาคนี้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน พม่า ฯลฯ คิดว่าเขาได้กลิ่นอะไรบางอย่าง
  3. มี field work ของคาลเทคอยู่หลายชิ้น ที่พูดถึงการใช้ GPS วัดการเคลื่อนที่ของหิมาลัย (และได้ระบุว่ามีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่)

ใครอยู่ใกล้รอยแยก ไม่ว่าจะมีพลังหรือไม่ ควรรู้ว่าจะทำอย่างไรนะครับ [รอยเลื่อนมีพลัง ในประเทศไทย]

« « Prev : กำแพงดินอัด

Next : ตายน้ำตื้น (ปะการัง) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 April 2011 เวลา 9:31

    มองอีกนัยหนึ่ง….

    ที่จริงก็ไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงอาหารสมองเท่านั้น คนเมื่อมีเวลาว่าง ไม่เดือดร้อนด้วยปัจจัย ๔ พื้นฐาน ก็จะแสวงหาอาหารอย่างอื่น ซึ่งแต่ละคนจะแสวงหาอาหารแบบไหน ขึ้นอยู่กับอะไรหลายๆ อย่าง…

    มีบทความเล็กๆ ที่น่าสนใจ (อาหาร 4 คลิกที่นี้)

    ไม่รู้ว่าประเด็นเดียวกันหรือไม่ เพียงแต่อ่านๆ ไปแล้ว เกิดความคิดทำนองนี้ จึงนำมาเล่าไว้

    เจริญพร

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 April 2011 เวลา 9:31

    ได้ฟังผู้เสมือนเชี่ยวชาญมาเล่าเรื่องนี้ในทีวี แต่ไม่กระจ่างเท่ากับอ่านที่นี่
    แผ่นดินยังบิดตัว  น้าๆผมจะบิดขี้เกียจบ้าง จะเป็นไรมี

    อ่านแล้วยังพอมีความหวัง บางทีแผ่นดินบิดตัวอาจจะดันแผ่นดินไทยขึ้นไปทางเหนือ เผื่อจะเจอหิมะตก ได้เล่นสกีกับเขาบ้าง อะไรจะเกิดก็เกิด มันอยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะไปวอแวได้ นอกจากจะเตรียมเผ่นกันอย่างไร คราวนี้แหละ ตัวใครตัวมันของจริง ก็จะอลม่านทั้งโลก

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 April 2011 เวลา 10:44
    เมื่อผิวกลมอย่างพื้นผิวของโลก เคลื่อนตัวด้วยความเร็วไม่เท่ากัน ก็จะเกิดการบิดนะครับ

    #1 ผมเป็นคนที่ “มีเวลาว่าง ไม่เดือดร้อนด้วยปัจจัย ๔ พื้นฐาน” และบริโภคอาหาร 4 โดยยังละวางไม่ได้ แต่ก็รู้ตัวว่ายังละวางไม่ได้นะครับ

    #2 เมืองไทยคงจะไม่หนาวจากการที่ถูกแผ่นดินดันขึ้นไปที่ละติจูดสูงๆ หรือว่าแกนหมุนของโลกเปลี่ยนแปลงไปมากมายหรอกครับ แต่ถ้าหนาวจากลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างวิปริตละก็ ไม่แน่นะครับ

  • #4 ลานซักล้าง » ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในพม่า ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 April 2011 เวลา 17:54

    [...] ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้น และในทำนองกลับกัน บริเวณที่ไม่ได้ระบุเอาไว้ในนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นนะครับ [แผ่นดินบิด] [...]

  • #5 ลานซักล้าง » แผ่นดินเคลื่อนสับสน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 April 2011 เวลา 3:50

    [...] คงเป็นตอนต่อมาของ [แผ่นดินบิด] [...]

  • #6 ลานซักล้าง » เฝ้าระวังความสั่น ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2011 เวลา 3:14

    [...] เช่น earth sounding ช้างกับ ELF เมฆแผ่นดินไหว การศึกษาการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.33341717720032 sec
Sidebar: 0.17089295387268 sec