แผ่นดินเคลื่อนสับสน
อ่าน: 5460บันทึกนี้ คงเป็นตอนต่อมาของ [แผ่นดินบิด] แต่เรามองการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในมุมที่กว้างกว่า
NASA JPL ได้วัดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และพบการเคลื่อนตัวด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน และมีทิศทางกลับไปกลับมา เมื่อเกิดเหตุอย่างนี้ เนื้อแผ่นดิน (แผ่นเปลือกโลก) ก็จะมีการปะทะ การบิด และการแยกเป็นธรรมดา
จุดเขียวคือตำแหน่งที่วัด ส่วนแขนสีเหลืองแสดงความเร็วและทิศทางที่แผ่นดินเคลื่อนที่ไป แขนยิ่งยาว ก็ยิ่งเคลื่อนตัวเร็ว ถ้าสองแขนสวนทางกัน ก็เป็นการปะทะกัน ซึ่งเป็นลักษณะแผ่นเปลือกโลกมุดตัว รูปจริงๆ ที่ JPL แบบคลิกได้ ดูตรงนี้ครับ เมื่อคลิกบนจุดเขียว จะเห็นข้อมูลการเคลื่อนที่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งพอที่จะหาความเร็วเฉลี่ยได้แล้ว
ถ้าไม่ชัดเจน ก็มีรูปข้างล่างนี้ครับ มีลูกศรอันหนึ่งด้านล่างซ้าย เขียนว่า 5 cm/yr อันนั้นหมายความว่าถ้าลูกศรยาวเท่ากับตัวอย่าง แผ่นดินก็เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 5 ซม/ปี
มีแผ่นเปลือกโลกอันหนึ่ง ชื่อแผ่นฟิลิปปินส์ครับ แผ่นเปลือกโลกอันนี้ รูปร่างสี่เหลี่ยมเข้าหลามตัด อยู่ใต้ทะเลทั้งหมด มีหมู่เกาะฟิลิปปินส์อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ เกาะไต้หวันอยู่ทางตะวันตก และหมู่เกาะญี่ปุ่นอยู่ทางเหนือ มีแนวมุดตัวอยู่ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
แผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์นี้ กำลังอยู่ในความสนใจเพราะมีคนบอกว่าเป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา
คนที่เล่นอินเทอร์เน็ตมานาน คงจำได้ถึงเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหว จนสถานีเคเบิลใต้น้ำปลายเกาะไต้หวันเจ๊ง และกรณีที่เคเบิลใต้น้ำที่ลากผ่านบริเวณนี้ขาด ทำให้อินเทอร์เน็ตทั้งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เดี้ยงไปเป็นเดือน นี่ล่ะครับอิทธิฤทธิ์ของแผ่นดินไหวในบริเวณนี้
แผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ปะทะแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิคทางด้านตะวันออก แต่ไม่ค่อยมีอะไรอยู่แถวนั้น นอกจากเกาะกวม
ทางด้านตะวันตกน่าสนใจกว่าครับ มีหมู่เกาะฟิลิปปินส์อยู่บนขอบรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ ทั้งสองเคลื่อนไปในทางตะวันตกเหมือนกัน แต่ด้วยความเร็วที่ต่างกัน ส่วนต่างของความเร็วในการเคลื่อนตัวนี้ เกิดเป็นความเค้นซึ่งก็มีแผ่นดินไหวให้เห็น และมีภูเขาไฟระเบิด ยังจำภูเขาไฟพินาตูโบที่ระเบิดในปี 2544 ได้ใช่ไหมครับ เป็น VEI 6 ซึ่งเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ในรอบหลายร้อยถึงพันปีทีเดียว ทำให้โลกสลัวลง และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลง 1-2°C
ก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงมีคำถามที่ผมไม่รู้คำตอบแต่ถูกคาดคั้นให้คาดการณ์ ซึ่งท่านที่รู้จักผมดีคงรู้อยู่แล้วว่าผมไม่สนใจกับการคาดคั้น แต่จะอธิบายยาวๆ ตามที่ศึกษามาบ้าง ให้ไปคิดเอาเอง — ทีนี้พอต่างคนต่างถาม อธิบายทีละคน หลายๆ ครั้งเข้า มันเหนื่อยครับ ฮี่ฮี่ฮี่ ก็ขอรวบยอดมาไว้ตรงนี้ก็แล้วกันครับ
Q: มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แถวฟิลิปปินส์หรือไม่
A: มีครับ ช่วงนี้ก็มีแผ่นดินไหวขนาดกลางอยู่เนืองๆ แผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ถูกแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิคดันมาทางตะวันตก ถ้าเคลื่อนไม่ทัน ก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ส่วนจะไหวใหญ่หรือไม่นั้น ตอบไม่ได้
Q: มีโอกาสเกิดสึนามิหรือไม่
A: มีครับ มีแนวแผ่นเปลือกโลกมุดตัว เหมือนที่เคยเกิดที่ อลาสกา ชิลี สุมาตรา และญี่ปุ่น แต่ละครั้งมีสึนามิรุนแรงขนาดข้ามมหาสมุทรได้
Q: เกาะฟิลิปปินส์บังอ่าวไทยได้หรือไม่
A: มีโอกาสเกิดสึนามิ ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องเกิดแน่ๆ และไม่ได้แปลว่าจะเกิดเร็วๆ นี้; สึนามิวิ่งอ้อมเกาะได้ มีการสูญเสียพลังงานบ้าง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามันมีพลังงานมหาศาล เสียไปบ้างก็ยังแรงอยู่ดี สึนามิไม่ใช่คลื่นในทะเลธรรมดานะครับ โดยเฉลี่ยคลื่นสึนามิยาว 85 กม. (ครึ่งคลื่นก็ยาว 42 กม.) ถ้าสึนามิทำให้น้ำท่วม 10 ซม.แค่ข้อเท้า ก็จงเข้าใจว่ายังมีน้ำสูง 10 ซม.ต่อคิวอยู่ข้างหลังอีก 42 กม. ถ้าข้อเท้าส่วนที่จมน้ำ มีพื้นที่หน้าตัด 10×10 ตร.ซม. ข้อเท้าต้องต้านทานน้ำคิดเป็นน้ำหนักเป็นร้อยตัน — ดังนั้น อย่าทำซ่ากับสึนามิ ร่างกายคนต้านทานไม่ไหวหรอกครับ ไม่ใช่การลุยน้ำแค่ข้อเท้า ถ้ามีการเตือนภัย ให้เผ่นลูกเดียว
Q: จะมีสึนามิเข้ามาในอ่าวไทยหรือไม่
A: ไม่ทราบครับ สึนามิไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวอย่างเดียว ยังมีสาเหตุอื่นอีกเช่นแผ่นดินถล่มปริมาณมหาศาลริมน้ำ ภูเขาไฟระเบิดรุนแรงมากใต้น้ำ อุกาบาตตกลงในน้ำ (ระเบิดนิวเคลียร์ในน้ำ แต่เค้าห้ามทดลองกันแล้ว)
Q: ถ้าแผ่นดินไหวที่ฟิลิปปินส์แล้วเกิดสึนามิ จะทำอย่างไรดี
A: เผ่นซิครับ แต่เราควรจะรู้ตัวก่อนอย่างน้อย 10 ชั่วโมง คลื่นควรจะเข้าฟิลิปปินส์ เกาะบอร์เนียว บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย ก่อนที่จะมาถึงไทย ซึ่งถ้าหนีไม่ทันก็จนใจแล้วครับ
« « Prev : รายได้ปี 2553 ของกรมสรรพากร
Next : ไฮโซจุดไฟ » »
4 ความคิดเห็น
แรกๆ อ่านก็นึกถึงข้อความในคัมภีร์เต๋าเต๋กเก๋งว่า…. “การหวนกลับคือวิถีแห่งเต๋า”
อ่านไปอีกนิดก็นึกถึงข้อความว่า… “ทฤษฎีไร้ระเบียบ”
และก็นึกถึงที่ใครคนหนึ่งเคยพูดไว้ทำนองว่า… “พระผู้เป็นเจ้ามิได้สร้างโลกอย่างการทอดลูกเต๋า”
กรณีว่าสึนามิมีโอกาสเกิดฝั่งอ่าวไทยก็นึกถึงสงขลาและวัดยางทอง…. ตัวเมืองสงขลามีสภาพเป็นแหลมยื่นเข้าไปในทะเล คือมีน้ำล้อมรอบสามด้าน ถ้าเกิดสึนามิจริง ก็คงยากที่จะเผ่นหนีได้…
เมื่อมาถึงนี้ ก็นึกถึง ปัพพโตปมสูตร (คลิกที่นี้)
เจริญพร
ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกละลายหมด เรขาคณิตระดับม. 5 น่าจะคำนวนได้ว่า น้ำทะเลที่ศูนย์สูตรจะไม่สูงขึ้นเกิน 3 เมตร ไปได้หรอกครับ ยกเว้น เกิดดินทรุดพร้อมกันไป ซึ่งตามหลักสถิติ เป็นไปได้ยากมาก
เศษสี่ส่วนสามไพร์อาร์ยกกำลังสาม คือปริมาตร
สี่ไพร์อาร์กำลังสองคือพื้นที่ผิว
ดิฟหน่อย อินติเกรทนิดก็คำนวณได้ นะครับ
ที่น่าหวัวคือ คนไทยที่อ้างว่ามาจากนาซ่า ก็ถอนทุนกันใหญ่ ในยามนี้ แทนที่จะใช้เรขามอห้าให้สติเตือนใจกันบ้าง จะ cash in กันไปถึงไหนหนอ
ผมคิดว่าพลวัตและการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากพอกับการพยายามจะหาโมเดลทางคณิตศาสตร์ ที่อธิบายธรรมชาติได้อย่างครอบจักรวาล และเราเองก็ไม่รู้อะไรทั้งหมด บางอย่างที่ได้ยินมาอาจ”เป็นของจริง” (คืออย่างน้อยก็จริงจนถึงขณะที่พูด) แต่เราก็ไม่รู้อีก ว่าจะแยกแยะของจริง กับเรื่องเล่า เรื่องที่อนุมาณเอาตามเหตุผลทฤษฎี หรือเป็นการฟันธงเอาด้วยสัญญาและอัตตา
สังคมสมัยใหม่รีบร้อนและร้อนรน จะต้องได้คำตอบอย่างรวดเร็วเพราะว่าทุกอย่างเร่งด่วนไปหมด ไม่ได้ตระหนักเลยว่าการตัดสินใจโดยความไม่รู้นั้น มักจะไม่เป็นการตัดสินใจที่ดีหรอกครับ (มีมั่วถูกเหมือนกัน แต่มักจะไม่ยอมรับกันว่ามั่ว จะยกเหตุผลต่างๆ มาอ้างมากมาย)