เครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาคประชาชน
เย็นนี้ที่ สสท. (ทีวีไทย หรือ ThaiPBS) มีการประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาคประชาชน ซึ่งเดิมใช้ชื่อเล่นว่า คชอ.ภาคประชาชน มีองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ เข้าร่วมประชุม 60 ท่าน — การประชุมที่มีผู้เข้าร่วมเยอะๆ แบบนี้ มักไม่ค่อยมีประสิทธิผลหรอกครับ แต่ว่าในครั้งนี้ ผมคิดว่าต่างคนต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ผ่านประสบการณ์ทำนองเดียวกันมา ถึงตื้นลึกยาวนานไม่เท่ากัน ก็ยังมองไปในทิศเดียวกัน
น่าจะกล่าวได้ว่าที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า การรวมตัวกันเช่นนี้ ไม่ควรหยุดแค่อุทกภัยใหญ่ในครั้งนี้เท่านั้น แต่ควรจะรวมตัวกันต่อไปเนื่องจากการฟื้นฟู ยังจะใช้แรงใจและแรงงานอีกยาวนาน ใช้ประสบการณ์การทำงานร่วมกันให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นในภันครั้งหน้า(หากเกิดขึ้น)
กิจกรรม CSR แบบยกป้ายถ่ายรูป น่าจะเลิกกันได้แล้วครับ บริษัทห้่างร้านต่างๆ ที่ต้องการจะฝึกจิตสาธารณะของพนักงานจริงๆ ควรพิจารณาให้พนักงานสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อผู้อื่นบ้าง ให้ไปช่วยเหลือและเรียนรู้ความจริงจากพื้นที่ เช่นพนักงานขอลาพักร้อนไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม 5 วัน บริษัทยอมให้พักต่อโดยไม่ต้องเข้าทำงานอีก 5 วันโดยจ่ายค่าจ้างตามปกติ — รวมเสาร์อาทิตย์อีก 3 รอบเป็น 16 วัน อบรมสองวัน พักตอนกลับมาสองวัน เหลือเป็นเวลาลงพื้นที่ 12 วัน — เวลา 12 วันนี้ เหลือเฟือสำหรับสร้างบ้านที่เสียหายขึ้นมาใหม่นะครับ มีเวลาที่จะนำความรู้ที่ต่างคนต่างคิดว่ามีไปช่วยชาวบ้าน (หรือเรียนรู้ว่าที่จริงนั้น ตนไม่รู้อะไร) นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่าให้โอกาสพนักงานได้เห็นสังคมไทยตามความเป็นจริง สร้างแรงบันดาลใจขึ้นมาใหม่ เข้าใจความสำคัญของความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ
กลับมาเรื่องการประชุมเครือข่ายอาสาฯ อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ก็ช่วยเสนอโครงของการจัดกลุ่มงาน แบ่งเป็น 5 สายคือ
- ข่าว-ข้อมูล
- คน
- ศูนย์ประสานความร่วมมือ
- กำลังบำรุง-support
- มวลชนพื้นที่
ไม่มีการจัดแบ่งใดจะเป็นคำตอบสมบูรณ์สำหรับทุกเรื่องหรอกครับ แต่ที่เห็นนี้ สามารถเป็นแนวทางกว้างๆ ช่วยให้เริ่มรวมตัวกันตามความรู้ความชำนาญของแต่ละองค์กร/แต่ละคนได้ก่อน จากนั้นค่อยปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็น
NGO ผู้มีประสบการณ์ คงมีคำตอบเดียวกัน คือหากพื้นที่จะฟื้นขึ้นมาได้ ก็ต้องเป็นชาวบ้านผู้ประสบภัย ตัดสินใจยืนหยัดบนขาของตัวเองให้ได้ ยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งพร้อมสำหรับการฟื้นฟูสร้างชีวิตใหม่; ความช่วยเหลือต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะจากภาครัฐหรือจากภาคเอกชน เป็นเพียงการบรรเทา “ชั่วคราว” เท่านั้น
« « Prev : อย่ารอ: เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกอนาถาเพื่อช่วยชาวนาที่น้ำท่วม
1 ความคิดเห็น
[...] โดยก่อนหน้ามีการไปที่ TVThai กับอาสาสมัครอีก 60 คนในวันที่ 1 พย. [...]