ประชุมสุภาษิตสุนทรภู่ (2)

โดย Logos เมื่อ 22 June 2010 เวลา 0:03 ในหมวดหมู่ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 5964

บันทึกนี้เป็นตอนต่อจากประชุมสุภาษิตสุนทรภู่ (1) ซึ่งต้องแยกเรื่องพระอภัยมณีออกมาเพราะยาวมากครับ

พระอภัยมณี

๏ จะเดินทางกลางป่าพนาดร
จงผันผ่อนตรึกจำคำโบราณ
จะพูดจาสารพัดบำหยัดยั้ง
จนลุกนั่งน้ำท่ากระยาหาร
แม้หลับยอยผ่อนพ้นที่ภัยพาล
อดบันดาลโกรธขึ้นจึงสบาย ๚

๏ มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร
ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี ๚

๏ อันกำเนิดเกิดมาในหล้าโลก
สุขกับโศกมิได้สิ้นอย่าสงสัย ๚

๏ โบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก
จงออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม ๚

๏ ธรรมเนียมหมอรักษาโรคาไข้
พอเดินได้ก็ให้เรียกขวัญข้าวเขา
ไม่ตรึกตราปรารภทำซบเซา
ถ้าฉวยเปล่าแล้วสิอดเหมือนมดแดง ๚

๏ การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดเข้ากรีดหิน ๚

๏ อันหญิงดีเพราะผลปรนนิบัติ
รักษาสัตย์สู้ม้วยอยู่ด้วยผัว
ผัวยิ่งรักหนักหญิงก็ยิ่งกลัว
อย่าถือตัวต่อชายจะหน่ายใจ ๚

๏ อันรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส
ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน
ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย ๚

๏ อันทุกข์โศกโรคภัยในมนุษย์
ไม่รู้สุดสิ้นลงที่ตรงไหน
เหมือนกงเกวียนกำเกวียนเวียนระไว
จงหักใจเถิดเสียเจ้าเยาวมาลย์ ๚

๏ อันแยบยลกลศึกสี่ประการ
เป็นประธานที่ในกายของนายทัพ
ประหนึ่งถึงจะโกรธพิโรธร้าย
หักใหเหายเหือดไปเหมือนไฟดับ
ค่อยคิดอ่านการศึกที่ลึกลับ
แม้จะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย
อนึ่งถ้าข้าศึกยังฮึกฮัก
จะโหมหักเห็นไม่ได้ดังใจหมาย
สืบสังเกตเหตุผลกลอุบาย
ดูแยบคายคาดทั้งกำลังพล
อนึ่งให้รู้รบทีหลบไล่
ทหารไม่เคยศึกต้องฝึกฝน
ทั้งถ้อยคำสำหรับบังคับคน
อย่าเวียนวนวาจาเหมือนงาช้าง
ประการหนึ่งซึ่งจะชนะศึก
ต้องตรองตรึกยักย้ายให้หลายอย่าง
ดูท่วงทีกิริยาในท่าทาง
อย่าละวางไว้ใจแก่ไพรี ๚

๏ อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
ย่อนเปนที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อักตัญญุตาเขา
เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข็ร้อนงอนแหง่ทรพล
พระเวทมนต์เสื่อมคลายทำลายยศ ๚

๏ เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ
ถึงปะเสือก็จะสู้ดูสักหน ๚

๏ นางตอบคำอำมาตย์ด้วยอาจจิต
ท่านนี้คิดแต่จะโง่ด้วยโวหาร
อันสงครามตามบทพระอัยการ
ใครผิดผลาญชีวันให้บรรลัย
ใครทำชอบกอบให้เป็นใหญ่ยิ่ง
ถึงชายหญิงก็ไม่ว่าหามิได้
ว่าใช่การท่านเห็นเป็นอย่างไร
หรือหญิงไซร้ฆ่าชายไม่วายวาง ๚

๏ แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน ๚

๏ รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ๚

๏ ประเพณีตีง฿ให้หลังหัก
มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง
เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย ๚

๏ อันแยบยลกลศึกย่อมลึกลับ
แม้จะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย ๚

๏ อันต้นร้ายปลายดีไม่มีโทษ
เป็นประโยชน์ยาวยืนอยู่หมื่นแสน
จะเที่ยวปล้นคนกินเหมือนสิ้นแกน
ถึงมาตรแม้นมีทรัพย์ก็อับอาย
อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง
ชื่อก็ยังยืนอยู่ไม่รู้หาย ๚

๏ บาดหลวงว่าอย่าประมาทชาติกษัตริย์
เหลือกำจัดกลความตามวิสัย
เมื่อดีเย็นเช่นมหาชลาลัย
โกรธเหมือนไฟฟุนฟอนให้ร้อนทรวง ๚

๏ พระยาลีมีจิตคิดสงสาร
แจ้งวิจารณ์ทางธรรม์ด้วยหรรษา
เพราะมีหูอยู่กี่ปีมีศักดา
แม้หูหาไม่มีปี่ไม่มีฤทธิ์ ๚

๏ บาดหลวงว่าข้าไม่บอกไว้ดอกหรือ
สัญชาติชื่อว่าผู้ชายตายเพราะหญิง
จนของ้อของอนถึงวอนวิง
ราวกะวิ่งเข้ามาวานสังหารกาย
แม้มีรักหนักหน่วงทำลวงล่อ
ขึ้นชี่คอเล่นก็ได้ดังใจหมาย
รูปก็รู้อยู่วิสัยใจผู้ชาย
มันหลงตายติดกับเหมือนหลับตา
อันลมปี่ดีแต่เพราะเสนาะหู
ที่จะสู้ลมปากยากหนักหนา
แต่ความรักมักจะออกกระบอกตา
จะเป็นข้าพวกเขาชาวชมพู ๚

๏ ด้วยวิสัยในประเทศทุกเขตแคว้น
ถึงโกรธแค้นความรักย่อมหักหาย
อันความจริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย
ชายก็ตายลงด้วยหญิงจริงดังนี้ ๚

๏ รักนักหมักหน่ายมักหายรัก
ถ้าคิดนักมักงงมักหลงไหล ๚

๏ เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล ๚

๏ ถึงคับที่มีผู้ว่าอยู่ได้
แต่คับใจอยู่ยากลำบากเหลือ ๚

๏ ขณะนั้นค่อนดึกศึกสงบ
ต่างนอนนบนับถือพระฤๅษี
ไม่กริบเกรียบเงียบสงัดทั้งปฐพี
พระโยคีเทศนาในอาการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้
ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึงให้เห็นเป็นประธาน
หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้
เพราะโลกียตัณหาพาฉิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย
จะตกอบายภูมิขุมนรก
หนึ่งว่าอย่าลักเอาของเขาอื่น
มาชมชื่นฉ้อฉลคนโกหก
หนึ่งทำชู้คู่เขาเล่าลามก
จะตายตกในกะทะอเวจี
หนึ่งสูบฝิ่นกินสุรามุสาวาท
ใครทำขาดศีลห้าสิ้นราศี
ใครซื่อสัตย์มั่นคงในขันตี
จะถึงที่พระนิพพานสำราญใจ ๚

๏ อย่าโกรธขึ้งหึงสาพยาบาท
นึกว่าชาติก่อนกรรมทำไฉน
เหมือนดุมวงกงเกวียนวนเวียนไป
อย่าโทษใครนี่เพราะกรรมจึงจำเป็น ๚

๏ เป็นสาวแส้แร่วิ่งมาชิงผัว
อันความชั่วดังเอามีดเข้ากรีดหิน
ถึงจะคิดปิดหน้าสิ้นฟ้าดิน
ก็ไม่สิ้นสุดอายเป็นลายลือ ๚

๏ อันทุข์สุขชั่วดีทั้งสี่สิ่ง
ให้ชายหญิงหยั่งคิดเป็นปฤศนา
กับข้อหนึ่งซึ่งเกิดกำเนิดมา
มีหูตาปากจมูกสิ้นทุกคน
ที่ต้องใจไนยนาก็พาชื่น
ดูอื่นอื่นเห็นแล้งทุกแห่งหน
ที่คิ้วตาหน้าผากปากของตน
ถ้าแม้คนใดเห็นจะเป็นบุญ
แม้ไม่เห็นเป็นกระบืดทั้งดื้อดุ
มุทะลุเลโลโมโหหุน
ไม่เห็นผลประโยชน์ที่โทษคุณ
ย่อมหมกมุ่นเมามัวว่าตัวดี
เมื่อใครไม่เห็นหน้าหากระจก
จะช่วยยกเงาส่องให้ผ่องศรี
อนึ่งนั้นตัณหาตาไม่มี
ไม่เห็นที่ทางสวรรค์เป็นสันดาน
อนึ่งว่าตาบอดสอดตาเห็น
ให้คิดเป็นทางพระกรรมฐาน
สืบกุศลผลผลาปรีชาชาญ
ตามโบราณรักษาสัจจาใจ ๚

๏ อันแก้วแหวนแสนทรัพย์สำหรับแผ่นดิน
มีแล้วสิ้นเสียเปล่าไม่เข้าการ
แต่กุศลผลผลาอานิสงส์
จะช่วยส่งสืบสมบัติพัสถาน
ใครถือธรรมจำศีลอภิญญาณ
ถึงนิพพานพูนสวัสดิ์อยู่อัตรา ๚

๏ ท้าวทมิฬยินคำที่ร่ำปลอบ
จึงโต้ตอบตามวิสัยน้ำใจหาญ
เราก็รู้อยู่บ้างทางโบราณ
เป็นชายชาญชอบแต่ตามจามรี
สงวนศักดิ์รักยศสู้ปลดปลิด
รักชีวิตเหมือนไม่รักยศศักดิ์ศรี ๚

๏ โบราณว่าสี่ท้าวยังก้าวพลาด
เป็นนักปราชญ์แล้วก็ยังรู้พลั้งผิด ๚

๏ พระอัคนีปรีชาสั่งวาโหม
จงอยู่โสมนัสสาอัชชาสัย
อุปถัมป์บำรุงชาวกรุงไกร
ทั้งอยู่ในยุติธรรมอย่าลำเอียง
ปรึกษาความตามบทในกฎหมาย
อย่ากลับกลายว่ากล่าวให้ก้าวเฉียง
ผู้ใดมีวิชาเอามาเลี้ยง
จึงต้องเยี่ยงอย่างกษัตริย์ขัตติยา
คิดกำจัดศัตรูโจรผู้ร้าย
ให้หญิงชายชื่นจิตทุกทิศา
ทำโทษกรณ์ผ่อนผันกรุณา
ให้เย็นใจไพร่ฟ้าประชาชน
หนึ่งม้ารถคชสารทหารรบ
ให้รู้จบเจนศึกเฝ้าฝึกฝน
แม้มีผู้ยุยงอย่าหลงกล
อย่าคบคนสอพลอทรลักษณ์
ใครเขาขัดทัดทานอย่าหาญฮึก
ค่อยตรองตรึกชอบผิดคิดหน่วงหนัก
แม้มีผู้รู้มาสาพิภักดิ์
ให้ยศศักดิ์สมควรอย่าชวนชัง ๚

๏ พระเล้าโลมโฉมเฉลาว่าเจ้าพี่
พระชนนีชรานักอยู่รักษา
ทั้งลูกน้อยสร้อยสุวรรณจันทร์สุดา
เหมือนมณฑามาลีซึ่งมีรส
ภุมรินบินเคล้าแม้เจ้าของ
ไม่ปกป้องดอกดวงจะร่วงหมด
อันน้ำตาลหวานวางไว้ข้างมด
มดจะอดได้หรือน้องตรึกตรองดู ๚

๏ จะดูวัวชั่วดีก็ที่หาง
จะดูนางดูแม่เหมือนแลเห็น
ถึงลูกยางห่างต้นหล่นกระเด็น
ก็จะเป็นเช่นเหล่าตามเผ่าพันธุ์ ๚

๏ พระทรงฟังสั่งให้ทำคำประกาศ
พวกนักปราชญ์เปรียบเหมือนเพชรทั้งเจ็ดสี
ไม่มีทองรองรับเป็นเรือนมณี
รัศมีไม่สว่างกระจ่างตา
เหมือนคนดีมีครูซึ่งรู้รอบ
ไม่ทำชอบช่วยกษัตริย์ขัดยศถา
ต้องตกอับลับชื่อไม่ลือชา
ดังจินดาไร้เรือนก็เหมือนกัน ๚

๏ นางรำภาว่าวิสัยไตรดายุค
ย่อมเป็นศึกแล้วเป็นสุขทุกกรุงศรี
เมื่อถึงคราวชาวบุรินอยู่กินดี
ก็ไม่มียุคเข็ญย่อมเว้นวาย
เมื่อถึงคราวชาวนครจะร้อนนั้น
จะป้องกันฉันใดก็ไม่หาย
ไม่ถึงกรรมทำอย่างไรก็ไม่ตาย
ถ้าถึงกรรมทำลายต้องวายปราณ ๚

๏ ประเพณีที่อุดมบรมจักร
บำรุงรักษ์ราไชยมไหศวรรย์
เสวบลุขทุกเวลาทิวาวัน
เพราะทรงธรรม์ทศพิธวิสดาร
ประการหนึ่งซึ่งรักษาเมตตาตั้ง
ให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทุกสถาน
ใครยากเย็นเข็ญใจจงให้ทาน
อภิบาลบำรุงทั้งกรุงไกร
หนึ่งคู่ครองของเขามีเจ้าของ
อย่าได้ปองเป็นมิตรพิสมัย
หนึ่งสมบัติพัศดุของผู้ใด
อย่าอยากได้ไปเอาของเขามา
ประการหนึ่งซึ่งคำจะดำรัส
ดำรงสัตย์ซื่อสุทธิ์ไม่มุสา
หนึ่งผู้ผิดมิตรญาติแลอาตมา
จงตรึกตราตัดสินความตามสัจจัง
อนึ่งบทกฎหมายอย่าคลายเคลื่อน
อย่าลดเลื่อนละอย่างแต่ปางหลัง
หนึ่งใครนำคำเสนออย่าเพ้อฟัง
เห็นจริงจังจึงค่อยตรัสตามสัตย์ธรรม์
หนึ่งเอ็นดูผู้ที่มีความชอบ
รางวัลตอบตามวิสัยเจ้าไอศวรรย์
หนึ่งเลี้ยงเหล่าสาวสุรางค์นางกำนัล
เป็นสัตย์ธรรม์เที่ยงธรรมอย่าลำเอียง
หนึ่งอย่าคิดริษยาพยาบาท
อย่างมุ่งมาดหมายถวิลรูปกลิ่นเสียง
คนสอพลอทรลักษณ์อย่ารักเลี้ยง
ให้แท้เที่ยงทางธรรมจึงจำเริญ
รักษายศอตส่าห์ทรงดำรงจิต
เทวฤทธิ์ทุกชั้นจะสรรเสริญ
อย่าถือผิดคิดอ่านทำการเกิน
อย่าละเมินหมั่นอ่านคำมารดร ๚

๏ คำโบราณท่านว่าช้าเป็นการ
ถึงจะนานก็เป็นคุณอย่าวุ่นวาย
วิสัยศึกตรึกตรองจึงต้องที่
ยกไปตีก็ให้ได้ดังใจหมาย
แม้ย่อยยับถอยกลับก็อับอาย
ยิ่งซ้ำร้ายขายหน้าประชาชน ๚

๏ จึงตอบว่าลูกดีเป็นที่รัก
แม้ลูกชั่วหัวดื้นทำซื้อรู้
จนพี่ป้าย่าปู่ไม่รู้จัก
ผลาญพาศ์เผ่าเหล่ากอทรลักษณ์
ชื่อว่าอักตัญญูชาติงูพิษ ๚

๏ บาดหลวงว่าวิสัยในมนุษย์
ฟังจะหลุดแล้วก็ห้ามปรามไม่ไหว
ห้ามเกศาว่าอย่าหงอกยังนอกใจ
มันขืนหงอกออกจนได้มันไม่ฟัง ๚

๏ จะสั่งสอนผ่อนปรนให้พ้นผิด
ตามจริตร่วมวงศ์เผ่าพงศา
จะฆ่าฟังกันเองเกรงนินทา
เหมือนมือขวาถือมีดกรีดมือซ้าย
เมื่อมือซ้ายฟันฟาดบาดมือขวา
ตัวต้องหายกแก้แผลตึงหาย
ใครผลาญวงศ์พงศ์พันธุ์ให้อันตราย
เหมือนมือซ้ายขาดด้วนไม่ควรคิด
วิสัยญาติพลาดพลั้งเหมือนอย่างแผล
มียาแก้แผลก็หายคลายสนิท
คนอื่นนั้นประมาทจึงขาดมิตร
ต่อไม่ติดแตกห่างอย่างศิลา ๚

« « Prev : ประชุมสุภาษิตสุนทรภู่ (1)

Next : เขื่อนส่วนตัว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 June 2010 เวลา 0:15

    -ป้าจุ๋มได้copyไว้เรียบร้อยแล้วทั้งประชุมสุภาษิตสุนทรภู่1&2ค่ะ
    -กลับจากใต้เที่ยวนี้ตั้งจะไปลุยร้านหนังสือสวนจตุจักรค่ะ เดี๋ยวนี้มีที่จอดรถสะดวก เสียตังค์หน่อย แต่สะดวกค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.21706199645996 sec
Sidebar: 0.17103004455566 sec