ถอดบทเรียนน้ำท่วมปลายปี 2553
อ่าน: 3309ช่วงปลายปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติต่อเนื่องกันหลายระลอก
ภัยธรรมชาติเกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทำลายธรรมชาติเองด้วยความต้องการพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ สภาพป่าทั่วประเทศลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของพื้นที่
เมื่อเกิดฝนตกหนัก เราไม่มีป่าเพียงพอที่จะชะลอหรือดูดซับน้ำไว้ได้มากเหมือนในอดีต สภาพดินที่ถูกถางจนเตียน ทำให้หน้าดินเปิดรับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ นอกจากแสงอาทิตย์จะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ยังทำให้ดินร้อนจัด อากาศเหนือพื้นดินก็ร้อนขึ้นตามไปด้วย ยังผลให้เมฆไม่สามารถก่อตัวเหนือพื้นดินได้ ดังนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์ที่เวลาแล้งก็แล้งจัด เวลาฝนตกหนัก การที่ไม่มีต้นไม้มาชะลอน้ำไว้ ทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนเทือกสวนไร่นา เกิดปัญหาเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก
ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ภัยธรรมชาติจะเลื่อนสถานะเป็นภัยพิบัติตามนิยามของสหประชาชาติก็ต่อเมื่อเป็นสถานการณ์หรือเหตการณ์ที่เกินกำลังของคนในพื้นที่ที่จะจัดการเอง จำเป็นต้องร้องขอ ระดมความช่วยเหลือจากคนนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะจากในประเทศหรือระหว่างประเทศก็ตาม
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2553 เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม เกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือของประเทศเป็นปริมาณมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งต่ำมากจนใกล้ระดับวิกฤติ เนื่องจากเขื่อนขนาดใหญ่ปล่อยน้ำซึ่งก็มีไม่มากลงมาบรรเทาภัยแล้งมาตั้งแต่ต้นปี จนเมื่อฝนตกหนักทางเหนือ ร่องน้ำที่นำไปสู่เขื่อนก็เป็นโอกาสที่เขื่อนจะเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ ชดเชยน้ำที่ปล่อยออกไปก่อนหน้า
แต่มีน้ำฝนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตกเหนือเขื่อน น้ำฝนปริมาณมากไม่มีเขื่อนกักเก็บ ไม่มีป่าที่คอยชะลอน้ำไว้ จึงไหลบ่าลงท่วมพื้นที่สุโขทัยและพิษณุโลกมานาน ก่อนที่จะเกิดกรณีฝนตกหนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเกิดน้ำท่วมนครราชสีมาและลุ่มน้ำมูลในอีสานใต้ในเวลาต่อมา ต้นเดือนพฤศจิกายน เกิดพายุดีเพรสชั่นทางใต้ ทำให้ฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมและดินถล่มเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยทั่วประเทศประมาณ 9 ล้านคน — คิดเป็นกว่า 13% ของประชากร เกิดความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วนของสังคมไทยในการบรรเทาทุกข์ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถบรรเทาทุพภิกขภัยอันเกิดเป็นวงกว้างได้อย่างทั่วถึง ยังมีความล่าช้า ยังมีความรั่วไหลในกระบวนการบรรเทาทุกข์ มีความซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก
ในส่วนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือได้รับผลกระทบแล้ว การช่วยเหลือตัวเองน่าจะดีกว่าการรอความช่วยเหลือ น้ำท่วมก็ต้องเอาน้ำออกไปจากพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด แต่ถ้าน้ำท่วมสุดลูกหูลูกตา เป็นเรื่องเกินกำลังที่จะระบายน้ำออกให้หมดในเวลารวดเร็วนั้น แต่เรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องรอรับชะตากรรม รอน้ำลดไปเรื่อยๆ
หมู่บ้านเล็กๆ สามารถสร้างคันดินหนาพอสมควรล้อมรอบหมู่บ้านเอาไว้ แล้วสูบน้ำออก ก็จะมีที่แห้งพออยู่อาศัย กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ห่างที่อยู่อาศัย
บ้านที่อยู่โดดเดี่ยว อาจจะขาดแคลนแรงงานในการทำคันดิน ควรอพยพออกไปหาที่ปลอดภัยก่อนชั่วคราว
กระสอบทราย กั้นน้ำอยู่ได้ด้วยแรงเสียดทานที่ผิวของกระสอบทรายกับดินหรือกับกระสอบอื่น หากน้ำสูงขึ้น จะต่อยอดกำแพงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ แต่จะต้องขยายความหนาของกำแพงกระสอบออกก่อน
น้ำดื่มจะเป็นปัญหามาก น้ำประปาดื่มได้ แต่หากน้ำท่วม บ่อน้ำดิบที่นำไปใช้ผลิตน้ำประปา ก็มักจะท่วมไปด้วย ทำให้ผลิตน้ำประปาไม่ได้
หากฝนยังตกอยู่ รองน้ำฝนไว้บริโภคจะเป็นวิธีการที่ดีสะดวกและปลอดภัยกว่า หากบริเวณนั้นไม่ใช้ปุ๋ยเคมี นำน้ำที่ไม่เน่าเสีย ใส่ขวดมาตากแดด อย่างน้อย 6 ชั่วโมง รังสี UV-A ในแสงแดดฆ่าเชื้อโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ หากตากแดดไว้นานพอ วิธีการนี้เรียกว่า SODIS ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้จัดการกับการขาดแคลานน้ำดื่มสะอาด เพื่อความปลอดภัย ตากแดดสองวันก็ได้ ใช้ภาชนะแก้วดีกว่าพาชนะพลาสติก แต่ SODIS กำจัดสารเคมีที่มากับในปุ๋ยไม่ได้
กรณีดินถล่ม เกิดจากน้ำซึมลงไปได้แค่ผิวหน้าของดิน เป็นชั้นดินแห้งกับชั้นดินเปียก เนื่องจากไม่มีรากของต้นไม้ใหญ่คอยยึดดินเอาไว้ เมื่อแห้งเจอเปียก ก็จะทำให้ชั้นดินเกิดเลื่อนตามความลาดเอียงของภูเขา กลายเป็นดินถล่ม
มนุษย์กระจ้อยร่อย ไม่มีกำลังในการต่อกรกับธรรมชาติ หากฝนตกหนัก 50 มม. พื้นที่ขนาด 1 ตารางกิโลเมตร จะรับปริมาณน้ำฝน 50,000 คิว คิดเป็นน้ำหนักของน้ำห้าหมื่นตัน ถ้าตกหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนสะสมก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าน้ำปริมาณมหาศาลไหลมาในเวลาอันรวดเร็ว จะเอาอะไรไปต้านไหว
ดังนั้นก็ควรหาวิธีการชะลอน้ำเอาไว้ให้ค่อยๆ ไหลมา ในพื้นที่ภูเขา ควรจะพิจารณาเซาะเป็นร่องน้ำเล็กๆ คล้ายกับกรีดยาง เพื่อให้น้ำฝนที่ตกบนภูเขา ไหลไปตามร่องอย่างรวดเร็ว ไปรวมกันยังแหล่งกักเก็บขนาดใหญ่ที่อาจจะอยู่หลังเขา กลายเป็นแหล่งน้ำสำรอง หรือกลายเป็นต้นน้ำลำธารซึ่งน้ำจะค่อยๆ ซึมออกมาตลอดปี ลดความรุนแรงของน้ำลง การที่น้ำค่อยไหลมาตลอดปี
น้ำฝนที่ตกบนภูเขา ยังคิดเป็นปริมาณเท่าเดิม แต่เมื่อขวั้นภูเขา ผันน้ำที่ตกลงบนยอดเขาไปลงเขายังบริเวณอื่นที่ไม่มีบ้านเรือน แม้ดินถล่มก็จะไม่เสียหายต่อชีวิต สิ่งปลูกสร้าง หรือสวนในบริเวณเชิงเขา
ยิ่งต้นน้ำเก็บน้ำไว้ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะมีน้ำเป็น “ทุน” มากขึ้นเท่านั้น สามารถนำน้ำที่ค่อยๆ ปล่อยมา ไปปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้าเอาไว้ใช้เองหรือขายการไฟฟ้าได้ มีน้ำต้นทุนมาก ก็จะยิ่งได้ไฟฟ้ามาก
โดยเฉลี่ย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดงบประมาณการจัดการแหล่งน้ำประมาณ 2% ในขณะที่มีงบซ่อมแซมความเสียหายถึง 6% เรื่องนี้น่าจะพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง งบซ่อมแซมไม่น่าจะสูงกว่างบป้องกัน เพราะเมื่อเกิดความภัยพิบัติขึ้นแล้ว ชาวบ้านในท้องถิ่นแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว สาธารณสมบัติเสียหาย ความเสียหายมากมายจนเทียบไม่ได้กับงบซ่อมแซม
« « Prev : อาสา…อะไร
Next : เปลี่ยนกระดาษอ่อนเป็นกระดาษแข็ง » »
1 ความคิดเห็น
ข้อมูลเรื่องนี้ ควรที่คนไทยจะได้อ่านได้รู้ทุกหมู่เหล่า
เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในชาติ
ไม่งั้น ก็ไปคนละทาง
คนบุกรุกป่าก็บุกไป คนปลูกป่าก็ปลูกไป
โอ่งรั่ว เมื่อไหร่จะเต็ม
แม้มีคนขมวดปัญหาให้ดู ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำไปแก้แค่ไหน
น้ำมาก็แจกเรือ น่าแล้งก็แจกน้ำ
ทำได้แค่ ลูกอีช่างแจกๆๆๆๆ
การแจกนำมาซึ่งภาระงาน ที่ทำให้ดูเหมือนมีบทบาทหน้าที่สำคัญ
ไม่งั้นจะได้ชื่อว่าประเทศด้อยพัฒนา รึ ครับ
ตีความยังไง เข้าข้างยังไง มันก็ไม่ได้ความอยู่นั่นแหละ
พวกดีแต่บ่นก็คิดอย่างนี้ อิอิ