นิวาปสูตร
อ่าน: 4080พระมหาชัยวุธ ส่งลิงก์ของพระสูตรนี้มาให้เมื่อสองวันก่อนครับ ท่านบอกมาด้วยว่า พระสูตรนี้ น่าอ่านมาก (ความเห็นส่วนตัว) แล้วบอกด้วยว่า คงไม่เขียน ยกให้คุณโยมตามสมควรเลย กราบอนุโมทนาด้วยครับ — เมื่อสองวันก่อน ผมขอเวลาไว้สองวัน ตอนนี้ก็ครบกำหนดแล้ว
ข้อความของพระสูตร อ่านจากพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐได้ที่นี่
ผมจะไม่ยกเอาข้อความในลิงก์มาแสดงซ้ำ แต่จะย่อและโยงส่วนที่คิดว่าเกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน
พระสูตรนี้มีลักษณะ recursive พวกหนึ่งเห็นเหตุแล้วไม่รู้จึงพลาด พวกสองเรียนรู้จากพวกหนึ่ง(ซ้ำ)ทำอีกอย่างหนึ่งก็พลาดเหมือนกัน พวกที่สามเรียนรู้จากพวกที่หนึ่ง(ซ้ำ)และสอง(ซ้ำ)จึงทำอีกอย่างหนึ่งแต่ก็พลาดอีก พวกที่สี่เรียนรู้จากสามพวก(ซ้ำซ้ำซ้ำ)และไม่ข้องแวะกับสาเหตุจึงรอดไป
เรื่องตอนต้นพระสูตร เป็นการอุปมาพรานปลูกหญ้าล่อเนื้อ
- เนื้อพวกแรกกินหญ้าที่นายพรานปลูกไว้ล่อ ลืมตัว มัวเมา ทำให้ประมาท กินกันอย่างเพลิดเพลิน อินกันสุดๆ จึงถูกพรานจับเอาโดยง่าย
- พวกที่สอง เห็นพวกแรกหลงไปกินหญ้าของนายพรานอย่างเพลิดเพลินแล้วโดนจับ ก็ชักขวนกัน ไม่กินก็ได้ แล้วก็ไปหากินตามชายป่าพอประทังชีวิตไปได้ แต่ปลายฤดูร้อน หญ้าฟางแห้งตาย ก็อดอยากผอมโซ เมื่อทนหิวไม่ไหวก็กลับมากินหญ้าที่ปลูกโดยนายพรานอย่างเพลิดเพลิน จึงโดนจับ เรียกได้ว่ารู้สาเหตุ แต่ละเลิกการกินอย่างเพลิดเพลินได้ไม่ขาด จึงได้รับภัย
- พวกที่สามได้บทเรียนจากสองพวกแรก ก็เกิดไอเดียว่าไปแอบซุ่มอยู่ใกล้ๆ ก็แล้วกัน แล้วค่อยแอบไปกินตอนพรานเผลอ แต่ไม่ประมาทนะ ถ้าพรานมาก็รีบหนีไป นายพรานจับเนื้อพวกนี้ไม่ได้ ก็เอาตาข่ายขัดไม้ไปล้อมป่าใกล้บ้าน จับเนื้อพวกนี้ได้อีก แม้จะไม่กินอย่างเพลิดเพลิน แต่ก็ยังอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณที่ีมีภยันตราย ไม่สมควรอาศัยอยู่ จึงพลาดอีกเช่นกัน
- พวกที่สี่ หลีกลี้ไปอาศัยอยู่ในที่ห่างไกลจากที่พักอาศัยของนายพรานและบริวาร ซึ่งอยู่ไกลจากเงื้อมมือนายพรานและบริวาร ไม่มากินหญ้าที่นายพรานปลูกล่อเอาไว้ “ครั้นคิดดังนี้แล้ว ฝูงเนื้อเหล่านั้น ก็พากันอาศัยอยู่ในที่ซึ่งพรานเนื้อกับบริวารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยอยู่ในที่นั้นแล้ว ก็ไม่เข้าไปสู่ป่าหญ้าที่ปลูกไว้ของพรานเนื้อนั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่เข้าไปในป่าหญ้านั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาท ก็ไม่ถูกพรานเนื้อทำเอาตามชอบใจในป่าหญ้านั้น” จึงรอดพ้นภัย
- [๓๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอุปมาให้ฟัง เพื่อให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดขึ้น ในคำอุปมา นั้น มีอธิบายดังนี้:- คำว่า ป่าหญ้า เป็นชื่อของปัญจกามคุณ. คำว่า พรานเนื้อ เป็นชื่อของมาร ผู้มีบาปธรรม คำว่า บริวารของพรานเนื้อ เป็นชื่อของบริวารของมาร. คำว่า ฝูงเนื้อ เป็นชื่อของ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย.
- ปัญจกามคุณ: ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ห้าอย่างนี้ เฉพาะส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เรียกว่า กามคุณ
- พอค้นคำว่าปัญจกามคุณแล้ว ไปเจอคำว่าสุขอีก แบ่งได้เป็นสองอย่างคือ สามิสสุข (สุขอิงอามิส, สุขอาศัยเหยื่อล่อ, สุขจากวัตถุคือกามคุณ) และ นิรามิสสุข (สุขไม่อิงอามิส, สุขไม่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ, สุขปลอดโปร่งเพราะใจสงบ หรือได้รู้แจ้งตามเป็นจริง)
ส่วนกลางของพระสูตรเป็นการอุปมา สมณพราหมณ์กับฝูงเนื้อ
- สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่ง เข้าไปสู่ปัญจกามคุณของมารอันเป็นโลกามิสแล้ว ลืมตัว มัวเมา บริโภคปัญจกามคุณ ทำให้ประมาท จึงไม่พ้นอำนาจของมารไปได้
- สมณพราหมณ์พวกที่สอง เห็นพวกแรกหลงอยู่กับปัญจกามคุณของมารอันเป็นโลกามิส ก็ชักขวนกันละเสียก็ได้ แล้วก็ไปอยู่กันตามชายป่าพอประทังชีวิตไปได้ แต่ปลายฤดูร้อน พืชพันธุ์ธัญญาหารแห้งตาย ก็อดอยากผอมโซ เมื่อทนไม่ไหวก็กลับมาบริโภคปัญจกามคุณอีก
- สมณพราหมณ์พวกที่สาม ยังอาศัยอยู่ใกล้ๆ ปัญจกามคุณของมารอันเป็นโลกามิส เกิดทิฏฐิ เกิดอกุศลกรรมบท ก็ไม่หลุดพ้น
- สมณพราหมณ์พวกที่สี่ อาศัยอยู่ในที่ห่างไกลจากมาร “อย่ากระนั้นเลย เราต้องอาศัยอยู่ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยในที่นั้นแล้ว ก็ไม่เข้าไปหาปัญจกามคุณของมารอันเป็นโลกามิสนั้น จะไม่ลืมตัวบริโภคปัญจกามคุณ เมื่อไม่เข้าไปหา ไม่ลืมตัวบริโภคปัญจกามคุณ ก็จะไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมา ก็จะไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาท ก็จะไม่ถูกมารทำเอาได้ตามชอบใจในปัญกามคุณนั้น ครั้นคิดดังนี้แล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็อาศัยอยู่ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง เมื่ออาศัยในที่นั้นแล้ว ก็ไม่เข้าไปหาปัญจกามคุณของ มารอันเป็นโลกามิสนั้น ไม่ลืมตัวบริโภคปัญจกามคุณ เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคปัญจกามคุณ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมา ก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาท ก็ไม่ถูกมารทำเอาได้ตามชอบใจในปัญจกามคุณนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่สี่นั้น ก็หลุดพ้นอำนาจของมารไปได้. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สี่นี้ว่า เปรียบเหมือนฝูงเนื้อฝูงที่สี่นั้น“
ตอนท้ายของพระสูตร บรรยายถึงที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง ซึ่ง “ภิกษุได้ทำมารให้ตาบอด คือทำลายจักษุของมารให้ไม่เห็นร่องรอยถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม” ด้วยฌาณ — ตรงนี้ผมไม่เขียนหรอกนะครับ ข้อความทั้งหมดศึกษาได้จากลิงก์แรกสุดของบันทึก
- อรรถกถานิวาปสูตร (แก้บาลี)
Next : ฝรั่งพูดเรื่อง 21st Century Enlightenment » »
8 ความคิดเห็น
พระเกจิอาจารย์ในปัจจุบัน แม้ประพฤติดีประพฤติชอบ แต่ก็ยังไม่หลุดพ้น น่าจะสงเคราะห์เข้ากับฝูงเนื้อที่สาม … ส่วนอาตมาเอง พิจารณาตนเองแล้ว รู้สึกว่ากระโดดอยู่ระหว่างฝูงที่สองกับที่สาม…
อนึ่ง ใครต้องการฟังนิวาปสูตรโดยตรงก็ ดาวโหลดไปฟังได้เลย http://bit.ly/bl7NVB
เจริญพร
พระมหานภันต์ (หลวงพี่ติ๊ก) เคยเทศน์บนหลังคาที่พิษณุโลกไว้ว่า รู้ ก สอน ก, รู้ ข สอน ข, รู้ ค สอน ค ไม่ต้องรอจนรู้ ฮ ก็สอนได้ครับ
ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่รู้นั้น เป็นความรู้เฉพาะตัว ภูมิธรรมของผู้สอน เพียงอธิบาย-ตีโจทย์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ชัดเจนขึ้น เพื่อที่ผู้เรียนจะไม่ไปผิดทิศผิดทาง ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรว่า”ถูกทาง”คืออะไร อันนี้คงขึ้นกับภูมิธรรมของแต่ละคนและความเข้าใจในกาลมสูตรแล้วล่ะมั้งครับ
ตามอ่านค่ะ
การถอยถอนตัวจากอุบายนายพราน ด้วยการเห็นเหตุและสังเกตผลแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญานะคะ การถอยของคนเรานั้นบางครั้งเพราะหลงอยู่เหมือนกัน คือถอยเพราะไม่ได้อย่างที่ได้ก็ถอย
สิ่งใดเกิดแล้ว ก็เป็นอดีตไปแล้ว จะระงับไม่ให้เกิดย่อมไม่ได้ แต่ว่าถ้าไม่ชอบผลที่เกิดขึ้น ก็สามารถใช้เป็นบทเรียนไม่ยอมให้เกิดขึ้นซ้ำสองได้ อาจจะเป็นประโยชน์กว่าครับ
ผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือไม่ ต่างก็ไม่จีรังเช่นกัน ทั้งสุขและทุกข์ เกิดได้ ก็จะสลายไปได้ใช่ไหมครับ
ถ้าถามว่าใช่ไหม ก็คิดว่าใช่นะคะ
การระงับเหตุแห่งทุกข์ก็เป็นการไม่สร้างกรรมที่จะนำสู่ผลที่ไม่ต้องการ
เหมือนกรณีที่อยู่ในกลุ่มคนพาล รู้เหตุแล้วเว้นเสียจากการอยู่ร่วม ก็ไม่ต้องรับผลที่ไม่ต้องการ
ที่ไม่แน่ใจไหม คือคำว่าระงับ เพราะการระงับคงเป็นการระงับด้วยใจที่เบิกบานไม่ใช่ระงับการแสดงออกแต่อึดอัดดิ้นรนวุ่นวายภายในนะคะ
ไม่ว่าถูกใครจัดอยู่ในกลุ่มดีหรือไม่ดี สำคัญอยู่ที่เราทำอะไร เบียดเบียนใครหรือไม่ ไม่ใช่หรือครับ ถ้าถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม่ดี แต่เราคิดว่าทำดีแล้ว ควรฉุกคิดเหมือนกันว่าทำไมคนอื่นจัดเราไว้อย่างนั้น ถ้าพบสิ่งใดปรับปรุงได้ ก็ปรับปรุงเสีย ในทางตรงกันข้าม แม้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ดี แล้วเราดีจริงหรือเปล่า มีอะไรปรับปรุงได้ไหม เมื่อพบแล้วก็ปรับปรุงตัวเสีย ผมว่าอย่างนี้มีแต่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเบิกบานด้วยครับ
เรื่องการระงับ ถ้าเป็นการฝืนใจ สงสัยว่าจะเป็นกลุ่มสองในบันทึกนะครับพี่ — ยังมีเรื่องการเตือนที่อาจจะใช้ได้อีกนะครับ การเตือนเป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร ถ้าไม่แคร์หรือพูดด้วยไม่ได้เลยสิครับ อันนั้นต้องปล่อยไปตามทางที่เขาเลือก เคารพการตัดสินใจของเขาแล้ววาง
ก็คงอย่างนั้นนะคะ
แต่พี่ยังสงสัยนะว่า คำว่าเตือนกับตำหนิ …คนส่งสารกับคนรับสาร เข้าใจตรงกันอย่างไร
ปัญหาการสื่อสารผิดพลาด เกิดได้ง่ายจากการที่มีพื้นฐานไม่เท่ากัน อยู่กันคนละบริบท มีความถือตัว ไม่เชื่อใจกัน ถูกส่งข้อความต่อและตีความให้โดยผู้หวังดี ฯลฯ ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าไม่เข้าใจ จึงควรสื่อสารโดยตรงครับ จะได้แสวงหาความจริงได้