“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า”

โดย Logos เมื่อ 26 August 2008 เวลา 0:10 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4013

“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า” หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างเกิดที่ใจ และดับที่ใจ ทั้งสุข และทุกข์ ทั้งสำเร็จ และล้มเหลว เป็นความจริงที่เข้าใจยาก เพราะว่าคนเราติดสุข ติดความสำเร็จ (ติดสุคติ) โดยไม่เข้าใจว่าสุคติ นำมาซึ่งทุคติเช่นกัน จึงจะเปรียบเทียบกันได้

เราคงรู้จักคำที่ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” กันเป็นอย่างดี ความข้อนี้มาจากคาถาธรรมบทในพระไตรปิฎก ความว่า

[๑๑] ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จ
แล้วแต่ใจ
ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่
ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต
๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไป
อยู่ ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐ
ที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม
ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้นเพราะสุจริต ๓ อย่าง
เหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวร
ไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คน
โน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้น
ย่อมไม่ระงับ ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้น
ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลัก
สิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ ในกาล
ไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อม
ระงับเพราะความไม่จองเวร

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ” ชอบประโยคนี้จังเลยครับ ก็เลยค้นต่อว่ามีพุทธวัจน์นี้ กล่าวไว้ตรงไหนอีกหรือไม่ เจอจริงๆ ครับ

[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้ว
ด้วยอุปกิเลสที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง
ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่มีการอบรมจิต ฯ

[๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้ว
จากอุปกิเลสที่จรมา พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทราบจิตนั้นตามความเป็น
จริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า พระอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมมีการอบรมจิต ฯ

[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุซ่องเสพเมตตาจิต แม้ชั่วการเพียงลัด
นิ้วมือเดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของ
พระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะ
กล่าวไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ

[๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญเมตตาจิต แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ
เดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของ
พระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะกล่าว
ไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ

[๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุใส่ใจเมตตาจิต แม้ชั่วกาลเพียง
ลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอน
ของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะ
กล่าวไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ

[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนอกุศล ที่เป็นไป
ในฝักฝ่ายอกุศลทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรม
เกิดหลังเทียว ฯ

[๕๘]ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนกุศล ที่เป็นไปใน
ฝักฝ่ายกุศลทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น กุศลธรรมเกิด
หลังเทียว ฯ

[๕๙]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่
เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป
เหมือนความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลประมาทแล้ว อกุศลธรรมที่
ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ

[๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็น
เหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป
เหมือนความไม่ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลไม่ประมาทแล้ว กุศลธรรม
ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ

[๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่
เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป
เหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเกียจคร้านแล้ว อกุศล-
*ธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ

จบวรรคที่ ๖

« « Prev : Burj Dubai: สิ่งที่มนุษย์สร้างที่สูงที่สุดในโลก

Next : “ถูกต้อง” » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2008 เวลา 1:08

    สาธุ สำคัญที่ใจ..ใจเขา ใจเรา

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2008 เวลา 1:10

    นอนฟังช่องAstv1 ระดมใจจะเดินพลังใจในวันพรุ่งนี้  ก็ได้แต่เอาใจช่วย อย่าให้บ้านเมืองต้องวิบัติเพราะความไม่เข้าใจกันเลย

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2008 เวลา 1:55

    ขออนุโมทนาในเมตตาจิตด้วยครับ ผมคิดว่าต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนยืนอยู่บนความถูกต้อง โดยมองจากมุมมองของตน แล้วเมื่อตนถูกต้องแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องผิดอย่างแน่นอน ทำไม “ตัวเรา” เท่านั้นที่ถูกต้อง และดีเสมอ

    เอาของแถมขึ้นมาแสดงก่อนครับ

    โสกปริเทวมจฺฉรํ
    น ชหนฺติ คิทฺธา มมายิเต
    ตสฺมา มุนโย ปริคฺคหํ
    หิตฺวา อจรึสุ เขมทสฺสิโน.
    ผู้ติดในสิ่งที่ยึดถือว่าของเรา
    ย่อมละความโศกเศร้า ความรำพัน และความตระหนี่ไม่ได้
    เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอดภัย
    จึงละความยึดถือไปได้.

    ผมนำ เอสุการีสูตร มาฝากครับ ยาวหน่อย แต่พระสูตรนี้น่าศึกษา น่าคิดพิจารณาครับ

    ๖. เอสุการีสูตร
    เรื่องเอสุการีพราหมณ์

    [๖๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล เอสุการีพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    ว่าด้วยการบำเรอ ๔

    [๖๖๒] ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอ ๔ ประการ คือ บัญญัติการบำเรอพราหมณ์ ๑ บัญญัติการบำเรอกษัตริย์ ๑ บัญญัติการบำเรอแพศย์ ๑ บัญญัติการบำเรอศูทร ๑ ท่านพระโคดม ในการบำเรอทั้ง ๔ ประการนั้น พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอพราหมณ์ไว้ว่า พราหมณ์พึงบำเรอพราหมณ์ กษัตริย์พึงบำเรอพราหมณ์ แพศย์พึงบำเรอพราหมณ์ หรือศูทรพึงบำเรอพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอพราหมณ์ไว้เช่นนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อม บัญญัติการบำเรอกษัตริย์ไว้ว่า กษัตริย์พึงบำเรอกษัตริย์ แพศย์พึงบำเรอกษัตริย์ หรือศูทรพึงบำเรอกษัตริย์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอกษัตริย์ไว้เช่นนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้ว่า แพศย์พึงบำเรอแพศย์ หรือศูทรพึงบำเรอแพศย์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอแพศย์ไว้เช่นนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอศูทรไว้ว่า ศูทรเท่านั้นพึงบำเรอศูทรด้วยกัน ใครอื่นจักบำเรอศูทรเล่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอศูทรไว้เช่นนี้ ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติการบำเรอ ๔ ประการนี้แล ท่านพระโคดมเล่าตรัสการบำเรอนี้อย่างไร?

    [๖๖๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ก็โลกทั้งปวงย่อมอนุญาตข้อนั้นแก่พราหมณ์ทั้งหลายว่า จงบัญญัติการบำเรอ ๔ ประการนี้หรือ?

    เอ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม.

    พ. ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษขัดสน ไม่มีของๆ ตน ยากจน ชนทั้งหลายพึงแขวนก้อนเนื้อไว้เพื่อบุรุษนั้นผู้ไม่ปรารถนาว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านพึงเคี้ยวกินก้อนเนื้อนี้เสีย และพึงใช้ต้นทุน ฉันใด พราหมณ์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมบัญญัติการบำเรอ ๔ ประการนี้แก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยไม่ได้รับปฏิญาณ. ดูกรพราหมณ์ เราย่อมไม่กล่าวว่า พึงบำเรอสิ่งทั้งปวง แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ไม่พึงบำเรอสิ่งทั้งปวง. ก็เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ พึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดี เรากล่าวสิ่งนั้นว่าควรบำเรอหามิได้ แต่เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ พึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว เรากล่าวสิ่งนั้นว่าควรบำเรอ. ถ้าแม้ชนทั้งหลายจะพึงถามกษัตริย์อย่างนี้ว่า เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ พึงมีแต่ความชั่ว ไม่มีความดี หรือว่าเมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอพึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว ในกรณีเช่นนี้ท่านจะพึงบำเรอสิ่งนั้น? แม้กษัตริย์เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ ก็พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอพึงมีแต่ความชั่วไม่มีความดี ข้าพเจ้าไม่พึงบำเรอสิ่งนั้น เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ พึงมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว ข้าพเจ้าพึงบำเรอสิ่งนั้น. ถ้าแม้ชนทั้งหลายพึงถามพราหมณ์ … แพศย์ … ศูทรอย่างนี้ว่า เมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอพึงมีแต่ความชั่ว ไม่พึงมีความดี ท่านพึงบำเรอสิ่งนั้น หรือว่าเมื่อท่านบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ พึงมีแต่ความดี ไม่พึงมีความชั่ว ในกรณีเช่นนี้ ท่านจะพึงบำเรอสิ่งนั้น? แม้ศูทรเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ ก็พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า เมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ พึงมีแต่ความชั่ว ไม่พึงมีความดี ข้าพเจ้าไม่พึงบำเรอสิ่งนั้น ส่วนว่าเมื่อข้าพเจ้าบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ พึงมีแต่ความดี ไม่พึงมีความชั่ว ข้าพเจ้าพึงบำเรอสิ่งนั้น.

    [๖๖๔] ดูกรพราหมณ์ เราจะได้กล่าวว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้เกิดในสกุลสูงก็หามิได้ แต่จะได้กล่าวว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้เกิดในสกุลสูงก็หามิได้. เราจะได้กล่าวว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่งหามิได้ แต่จะได้กล่าวว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่งก็หามิได้. จะได้กล่าวว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีโภคะมากหามิได้ แต่จะได้กล่าวว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้มีโภคะมากก็หามิได้. ดูกรพราหมณ์ เพราะว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้เกิดในสกุลสูง ก็ยังเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มักโลภ มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้เกิดในสกุลสูง. บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้เกิดในสกุลสูง ก็เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่โลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้เกิดในสกุลสูง. ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีวรรณะอันยิ่งก็ยังเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความโลภ มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง. ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีวรรณะอันยิ่ง ก็เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้มีวรรณะอันยิ่ง. ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีโภคะมากก็ยังเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความโลภ มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีโภคะมาก. ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มีโภคะมาก ก็เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าเลวทรามเพราะความเป็นผู้มีโภคะมาก. ดูกรพราหมณ์ เราย่อมไม่กล่าวว่า พึงบำเรอสิ่งทั้งปวง แต่เราก็ไม่กล่าวว่าไม่พึงบำเรอสิ่งทั้งปวง ก็เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดอยู่ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาย่อมเจริญ สิ่งนั้นเรากล่าวว่าพึงบำเรอ.

    ว่าด้วยทรัพย์ ๔

    [๖๖๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์ ๔ ประการ คือ ย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของพราหมณ์ ๑ ทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของกษัตริย์ ๑ ทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของแพศย์ ๑ ทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของศูทร ๑. ท่านพระโคดม ในข้อนั้น พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของพราหมณ์ คือ การเที่ยวไปเพื่อภิกษา แต่พราหมณ์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือ การเที่ยวไปเพื่อภิกษา ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมมิใช่กิจ เหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ฉะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของพราหมณ์นี้แล. ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของกษัตริย์ คือ แล่งธนู แต่กษัตริย์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือ แล่งธนู ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมมิใช่กิจ เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ฉะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของกษัตริย์นี้แล. ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของแพศย์ คือ กสิกรรมและโครักขกรรม แต่แพศย์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือ กสิกรรมและโครักขกรรม ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมมิใช่กิจ เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ฉะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของแพศย์นี้แล. ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของศูทรคือ เคียวและไม้คาน แต่ศูทรเมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือ เคียวและไม้คาน ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมมิใช่กิจ เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ฉะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของศูทรนี้แล. ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์ ๔ ประการนี้ ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมจะตรัสว่ากระไร?

    [๖๖๖] ดูกรพราหมณ์ ก็โลกทั้งปวงย่อมอนุญาตข้อนี้แก่พราหมณ์ทั้งหลายว่า จงบัญญัติทรัพย์ ๔ ประการนี้หรือ?

    เอ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม.

    พ. ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษขัดสน ไม่มีของของตน ยากจน ชนทั้งหลายพึงแขวนก้อนเนื้อไว้ให้แก่บุรุษนั้นผู้ไม่ปรารถนาว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านพึงเคี้ยวก้อนเนื้อนี้เสีย และพึงใช้ทุนฉันใด พราหมณ์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมบัญญัติทรัพย์ ๔ ประการนี้แก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยไม่ได้รับปฏิญาณ. ดูกรพราหมณ์ เราย่อมบัญญัติโลกุตรธรรมอันเป็นอริยะ ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของบุรุษ เมื่อเขาระลึกถึงวงศ์สกุลเก่าอันเป็นของมารดาบิดา อัตภาพบังเกิดขึ้นในวงศ์สกุลใดๆ บุรุษนั้นย่อมถึงความนับตามวงศ์สกุลนั้นๆ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลกษัตริย์ก็ย่อมถึงความนับว่าเป็นกษัตริย์ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลพราหมณ์ ก็ย่อมถึงความนับว่าเป็นพราหมณ์ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลแพศย์ ก็ย่อมถึงความนับว่าเป็นแพศย์ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลศูทร ย่อมถึงความนับว่าเป็นศูทร. เปรียบเหมือนไฟอาศัยปัจจัยใดๆ ติดอยู่ ย่อมถึงความนับตามปัจจัยนั้นๆ. ถ้าไฟอาศัยไม้ติดอยู่ ก็ย่อมถึงความนับว่าไฟติดไม้ ถ้าไฟอาศัยหยากเยื่อติดอยู่ ก็ย่อมถึงความนับว่าไฟติดหยากเยื่อ ถ้าไฟอาศัยหญ้าติดอยู่ ก็ย่อมถึงความนับว่าไฟติดหญ้า ถ้าไฟอาศัยโคมัยติดอยู่ ก็ย่อมถึงความนับว่าไฟติดโคมัย ฉันใด เราก็ฉันนั้นแล ย่อมบัญญัติโลกุตรธรรมอันเป็นอริยะ ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของบุรุษ เมื่อเขาระลึกถึงวงศ์สกุลเก่าอันเป็นของมารดาบิดา อัตภาพบังเกิดในสกุลใดๆ ก็ย่อมถึงความนับตามสกุลนั้นๆ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลกษัตริย์ ก็ย่อมถึงความนับว่าเป็นกษัตริย์ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลพราหมณ์ ก็ย่อมถึงความนับว่าเป็นพราหมณ์ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลแพศย์ ก็ย่อมถึงความนับว่าเป็นแพศย์ ถ้าอัตภาพบังเกิดในสกุลศูทร ก็ย่อมถึงความนับว่าเป็นศูทร.

    คนจะดีหรือชั่วมิใช่เพราะวรรณ[ะ]

    [๖๖๗] ดูกรพราหมณ์ ถ้าแม้กุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียดเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์. ถ้าแม้กุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ … จากสกุลแพศย์ … จากสกุลศูทร บวชเป็นบรรพชิตและเขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ ดูกรพราหมณ์ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์เท่านั้นหรือสามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ในที่นั้น กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ?

    เอ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนในที่นั้นได้ แม้พราหมณ์ … แม้แพศย์ … แม้ศูทร … แม้วรรณ ๔ ทั้งหมด ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนในที่นั้นได้.

    [๖๖๘] พ. ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าแม้กุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์ บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์. ถ้าแม้กุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ … จากสกุลแพศย์ … จากสกุลศูทร บวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์. ดูกรพราหมณ์ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์เท่านั้นหรือ สามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำ ไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลี กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ไม่สามารถหรือ.

    เอ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ก็สามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำ ไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลี แม้พราหมณ์ … แม้แพศย์ … แม้ศูทร แม้วรรณ ๔ ทั้งหมด ก็สามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำ ไปยังแม่น้ำแล้วลอยละอองธุลีได้.

    [๖๖๙] พ. ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้ามีกุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ได้. ถ้าแม้กุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ … จากสกุลแพศย์ … จากสกุลศูทร บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ได้. ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ได้มูรธาภิเษกแล้วในโลกนี้ รับสั่งให้บุรุษซึ่งมีชาติต่างๆ กัน ๑๐๐ คนมาประชุมกันว่า จงมานี่แน่ะท่านทั้งหลาย ในท่านทั้งหลาย ผู้ใดเกิดแต่สกุลกษัตริย์ แต่สกุลพราหมณ์ แต่สกุลเจ้า ผู้นั้นจงเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ จงสีไฟให้เกิดขึ้น จงสีไฟให้ติด ส่วนท่านเหล่าใดเกิดแต่สกุลคนจัณฑาล แต่สกุลนายพราน แต่สกุลช่างจักสาน แต่สกุลช่างรถ แต่สกุลคนเทหยากเยื่อ ท่านเหล่านั้นจงเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ จงสีไฟให้เกิดขึ้น จงสีไฟให้ติด. ดูกรพราหมณ์ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน ไฟที่บุคคลผู้เกิดแต่สกุลกษัตริย์ แต่สกุลพราหมณ์ แต่สกุลเจ้า เอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ สีไฟเกิดลุกขึ้น ไฟนั้นเท่านั้นหรือ เป็นไฟมีเปลว มีสี และมีแสง อาจทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นได้ ส่วนไฟที่คนเกิดแต่สกุลคนจัณฑาล สกุลนายพราน แต่สกุลช่างจักสาน แต่สกุลช่างรถ แต่สกุลคนเทหยากเยื่อ เอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ สีไฟเกิดลุกขึ้น ไฟนั้นเป็นไฟไม่มีเปลว ไม่มีสีไม่มีแสง และไม่อาจทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นหรือ?

    เอ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ไฟที่บุคคลเกิดแต่สกุลกษัตริย์ แต่สกุลพราหมณ์ แต่สกุลเจ้า เอาไม้สัก เอาไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ สีไฟเกิดขึ้น ไฟนั้นเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสง และอาจทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นได้ แม้ไฟที่บุคคลเกิดแต่สกุลจัณฑาล แต่สกุลนายพราน แต่สกุลช่างจักสาน แต่สกุลช่างรถ แต่สกุลคนเทหยากเยื่อ เอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ สีไฟเกิดลุกขึ้น ไฟนั้นก็เป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสง และอาจทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟ แม้ทั้งหมดได้.

    [๖๗๐] พ. ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าแม้กุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์. ถ้าแม้กุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ … จากสกุลแพศย์ … จากสกุลศูทร บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตพยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ได้.

    [๖๗๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉันนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.

    จบ เอสุการีสูตรที่ ๖.

  • #4 KL ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2008 เวลา 7:59

    สาธุ..

  • #5 Sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2008 เวลา 10:59

    สาธุค่ะ

  • #6 sawaeng ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 August 2008 เวลา 4:37

    ครับ
    ผมเข้าใจผิดมาตั้งนาน
    ผมคิดว่า “ใจ(ของคน)ที่ดีทั้งหลาย ต้องมีธรรมเป็นหัวหน้า” เสียอีก
    สงสัยต้องไปทบทวนใหม่
    ขอบคุณครับ

  • #7 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 August 2008 เวลา 4:48
    ธรรมในบริบทของบันทึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ [๑๑] [๕๗] [๕๘] ในบันทึก หมายถึงการกระทำครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.0553748607635 sec
Sidebar: 0.36978101730347 sec